28 ก.ย.62 - นายแก้วสรร อติโพธิ เปิดแพร่บทความเรื่อง "ไฮด์สปีด EEC : โฮปเวลล์ ๒ ???" ผ่าน www.thaipost.net โดยมีเนื้อหาดังนี้
“ข้อตกลงตามร่างเอกสารแนบท้ายสัญญา เรื่องกำหนดส่งมอบพื้นที่นั้นอยู่นอกเหนือข้อกำหนดคัดเลือกเอกชน ร่างแนบท้ายนี้จะมีไม่ได้ ถ้าเปิดไว้จนให้สิทธิเอกชนฟ้องรัฐเรียกค่าเสียหายได้ คณะกรรมการคัดเลือกต้องรับผิดชอบ” ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการคมนาคม ๒๕ กันยา ๒๕๖๒
ถาม อาจารย์ว่า กลุ่มกิจการร่วมค้า CP และพันธมิตร ( CPH ) จะยอมลงนามในสัญญา ตามที่รองนายกฯ และรัฐมนตรีคมนาคม ขีดเส้นตายหรือไม่
ตอบ ผมลองฟังคำชี้แจงของฝ่าย CP ในทีวี TNN แล้ว เขาบอกว่าเขาติดอยู่ ๑ เรื่องที่สำคัญจริงๆ คือขอให้มีการส่งมอบพื้นที่ให้เขาทำงานได้เสร็จในกำหนด ๕ ปี
ถาม มันมีความเสี่ยงอะไรมากมาย ถึงยังไม่ยอมกัน
ตอบ สัญญานี้เป็นสัญญาร่วมลงทุนรัฐกับเอกชน ( PPP ) ให้เอกชนลงทุนไปก่อนทั้งหมด ต้องสร้างให้เสร็จพร้อมให้บริการใน ๕ ปี เป็นเงินกว่า ๒ แสนล้าน ขึ้นปีที่ ๖ เมื่อเสร็จโครงการแล้ว ฝ่ายรัฐถึงจะมาจ่ายเงินร่วมลงทุนในส่วนของตน ให้ CPH แสนล้านบาท จากนั้นเอกชนก็บริหารโครงการเดินรถเก็บรายได้ไป ๕๐ ปี ก็เป็นอันเสร็จสิ้นสัญญา
สัญญาอย่างนี้เมื่อเริ่มนับ ๑ แล้ว ถ้าการรถไฟส่งมอบพื้นที่ให้เขาไม่ได้ตามแผนเอกชนก็เจ๊งได้ ทิ้งเป็นเสาค้างโด่เด่ ไปตลอดแนวจาก ดอนเมือง ไปสุวรรณภูมิ ยาวไปจนถึงอู่ตะเภาเลย
ตรงนี้ถึงมีการตกลงกันเป็นร่างแนบท้ายว่า ลงนามแล้วก็ขอเวลาสำรวจและเจรจา ทำแผนรื้อย้ายผู้บุกรุก ( ๕๑๓ ราย)-เวนคืน( ๘๕๐ ไร่)-ย้ายเสาไฟแรงสูง-ท่อก๊าซรายทาง ทำแผนจนเกิดเป็นแผนส่งมอบพื้นที่ และแผนก่อสร้างที่สอดคล้องกันก่อน พื้นที่ส่วนใดพอมีแผนลงตัวและส่งมอบได้แล้ว ก็เริ่มนับเวลา ๕ ปีได้ ทยอยทำแผนและส่งมอบกันไปเป็นส่วนๆอย่างนี้ให้หมดสิ้นใน ๑ ปี นับแต่วันลงนามในสัญญา โครงการส่วนต่างๆก็จะถูกก่อสร้าง และส่งมอบจนแล้วเสร็จได้ทั้งหมด ส่วนไหนจะช้าจะเร็วก็แล้วแต่สภาพปัญหาที่ยากง่ายต่างกันเป็นเฉพาะพื้นที่ไป นี่คือข้อเจรจาที่ยุติกันในระดับผู้ปฏิบัติแล้ว แต่ระดับรัฐมนตรีไม่ยอมรับ
ถาม ตรงนี้ใช่ไหมครับ ที่รัฐมนตรีคมนาคมบอกว่าเป็นข้อตกลงนอกกรอบข้อกำหนดคัดเลือกเอกชน
ตอบ ครับ รองนายกฯอนุทินสำทับเลยว่า ให้นับ ๑ ทันทีที่ลงนาม กำหนดส่งมอบที่ดินทั้งหมดให้ ใน ๒ ปี ถ้าเกิน ๒ ปี ก็ขยายเวลาในสัญญาได้ นี่ถ้าเงินไม่พอท่านรองฯ ท่านยังให้สัมภาษณ์เกทับไปอีกว่า ถ้ายังมีปัญหาท่านจะช่วยออกค่าทุบเสาโฮปเวลล์ ช่วงดอนเมือง-มักกะสัน ๒๐๐ ล้านบาท ให้ด้วยก็ได้นะครับ
ถาม คราวบริษัทซีโนไทยของรองฯอนุทิน รับเหมาทำแอร์พอร์ตลิงค์สมัยรัฐบาลทักษิณ การรถไฟก็ส่งมอบพื้นที่ล่าช้าไป ๒ ปี คราวซีโนไทยสร้างรัฐสภา รัฐสภาก็ส่งมอบพื้นที่ล่าช้าไปปีครึ่ง ท่านรองฯท่านจึงคิดและคุ้นกับการขยายเวลา ต่อสัญญาอยู่แล้วแน่นอน
ตอบ นั่นเป็นโครงการที่รัฐลงทุนฝ่ายเดียว ซีโนไทยรับเหมาก่อสร้างเท่านั้น ช้าไปเท่าใดรัฐก็ล่าช้าเสียหายเป็นเงินจมเปล่า ส่วนผู้รับเหมานอนเกาพุงสบายไป
ส่วนสัญญาไฮด์สปีดอีอีซีกับ CPH นี้เป็นสัญญาร่วมลงทุนแถมยังให้เอกชนลงทุนไปทั้งหมดก่อนเสียด้วย ซึ่งช้าติดขัดไปเท่าใดเขาก็เสียดอกเบี้ยเสียค่าเตรียมการไปมากมาย ยิ่งถ้าส่งมอบที่ดินให้เขาเป็นฟันหลอก่อสร้างไม่ได้เต็มที่ จน ๕ ปีไม่เสร็จ เขาก็ถูกปรับอีกวันละ ๙ ล้านบาท เงินก้อนที่จะได้จากรัฐก็ล่าไปอีก.. ก็ชิบหายกันพอดี
ถาม ถ้ากลุ่ม CPH ยอมลงนามตามรัฐบาล โอกาสชิบหายก็มีมากสิครับ
ตอบ โดยระดับมาตรฐานความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นแล้ว ผมว่าผู้บริหารซีพีกับ อิตาเลียนไทย เขาต้องคิดหนักมากๆทีเดียวในการตัดสินใจครั้งนี้
ถาม ตกลงถูกผิดอยู่ที่ตรงไหนครับนี่
ตอบ สัญญาร่วมลงทุนเอกชนกับรัฐ มันไม่ใช่สัญญาจ้างเหมานะครับ แต่เป็นสัญญาร่วมมือกันเพื่อความสำเร็จร่วมกัน ข้อกำหนดที่ประกาศคัดเลือก ก็ไม่ใช่ TOR ที่ตกลงเจรจากันเพิ่มเติมไม่ได้ มันเป็นคำเชิญชวนให้ยื่นข้อเสนอ ( Request for Proposal ) เท่านั้น ยังเปิดช่องให้เจรจาได้ในหลายเรื่อง การเจรจาต้องระวังแต่เพียงว่า อย่าให้ฝ่ายที่ได้ที่สองคือฝ่ายซีโนไทยที่นอนรออยู่ เขาเสียเปรียบเท่านั้น
เฉพาะเรื่องหลักประกันความเสี่ยงในการส่งมอบที่ดินให้ต่อเนื่องนี้ ผมว่าสามารถเจรจาให้ชัดเจนให้การรถไฟต้องรับผิดชอบในความเสี่ยง จนผูกมัดเป็นข้อตกลงแนบท้ายสัญญากันได้ครับว่า รัฐจะรับจัดการความเสี่ยงส่วนนี้อย่างไร
ถาม ถ้าทำไม่ได้จริงก็ต้องเสียค่าโง่ อย่างที่รัฐมนตรีศักดิ์สยามท่านเตือนไว้
ตอบ ก็อย่าโง่สิครับ วางแผนให้เป็นไปได้แล้วทุ่มเททำทุกวันให้สำเร็จตามแผนให้ได้ ควรต้องยอมลงเงินชดใช้ชดเชยชาวบ้านเขาให้คุ้ม หน้าไหนบุกรุกเข้ามาอีกก็จับส่งศาลติดคุกทันตาเห็นเลย ทำจริงๆก็ทำได้นะครับ มันอยู่ที่จะยอมรับไหมว่าเรื่องนี้เป็นความเสี่ยงส่วนที่รัฐต้องรับผิดชอบ เพื่อความลุล่วงของงาน
ถาม แล้วจะยุติกันได้อย่างไรครับ ฟังแล้วดูจะเถียงกันยังไงก็ได้ แล้วแต่ว่าใครจะถือหางใครเท่านั้นเอง
ตอบ “ความยุติธรรม”มันไม่ใช่รสนิยมนะครับคุณครับ..การตกลงแบ่งปันความเสี่ยงกันอย่างเป็นธรรมเช่นเป็นหุ้นส่วนกันนี้ กฎหมายร่วมลงทุนรัฐ-เอกชนของไทย ปี ๒๕๖๒ ได้กำหนดไว้ชัดเจนแล้วว่า
“มาตรา๖ การดําเนินการภายใต้พระราชบัญญัตินี้ต้องเป็นไปเพื่อบรรลุเป้าประสงค์ของ การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ดังต่อไปนี้
(๑) ความสอดคล้องกับแผนการจัดทําโครงการร่วมลงทุน
(๒) ความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐและเอกชน ซึ่งต้องมีการจัดสรรความเสี่ยงและผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่เอกชนอย่างเป็นธรรมโดยคํานึงถึงความสําเร็จของโครงการร่วมลงทุน และความคุ้มค่าในการดําเนินโครงการร่วมลงทุน ....”
ถาม ถ้ายอมตามเอกสารแนบท้ายชุดปัจจุบัน ที่ให้ CPH ลงนามไปก่อนแล้ว แล้วถึงเริ่มนับอายุสัญญาตามการส่งมอบที่ดินแต่ละส่วนภายใน ๑ ปีอย่างนี้ โครงการก็ต้องช้าไปอีก ๑ ปี แล้วอย่างนี้ไม่ถือว่าขัดต่อสาระสำคัญของข้อกำหนดหรือครับ
ตอบ ตรงจุดการขยายเวลาแล้วแยกกำหนดแล้วเสร็จเป็นส่วนๆอย่างนี้ ผมว่าฝ่ายรัฐบาลน่าจะถูกต้องนะครับว่าแยกไม่ได้และให้เวลา ๕ ปี ล่าช้าออกไปไม่ได้
ว่าไปแล้วเวลาเจรจาที่ผ่านมา ๔ เดือนเข้าแล้วนี่ ถ้าร่วมมือกันพัฒนาแผน รื้อย้าย เวนคืน ส่งมอบ แล้วปรับเป็นแผนก่อสร้างจนลงตัวเป็นแผนแนบท้ายสัญญา ลงนามแล้วนับ ๑ ได้เลยนี่ ก็ควรจะทำได้และน่าจะเสร็จพร้อมลงนามได้แล้วด้วย ในความเห็นผม ผมว่านี่คือทางออกที่เป็นไปได้และควรจะเป็นว่า แผนส่งมอบต้องมีเป็นข้อตกลงแนบท้ายสัญญา แต่กำหนด ๕ ปีนั้นขยายไม่ได้
อันที่จริงการรถไฟน่าจะลงทุนทำแผนนี้ไว้ในมือตั้งแต่แรกเลยก็ไม่ทำ ทำงานระดับโลกด้วยความรับผิดชอบและฝีมือระดับ อบต.นี่ มันไปไม่ไหวหรอกครับ
ถาม ซ้ำด้วยอำนาจนิยมของรัฐมนตรีไทยอีก โครงการนี้ ก็ตายแน่ๆ
ตอบ งานนี้เห็นชัดว่า..ความคิดและวัฒนธรรมในบ้านเมืองคือตัวชี้ขาดความสำเร็จจริงๆครับ แถมด้วยปัญหาประโยชน์ทับซ้อนอีกต่างหาก
วิธีคิดวิธีทำที่ด้อยพัฒนาอย่างนี้..ผมว่าในที่สุดแล้วชาวไทยเราจะไม่ได้ระเบียงเศรษฐกิจอะไรหรอกครับ เราจะได้โฮปเวลล์ ๒ เป็น “ระเบียงเสารถไฟไฮด์สปีดภาคตะวันออก” เสียมากกว่า
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |