คนไทยเป็นหนี้หนักขึ้นทุกวัน และยังไม่มีมาตรการอะไรที่จะลดความหนักหน่วงของปัญหานี้ได้
สะท้อนถึงอาการป่วยลึกๆ ที่หมอวินิจฉัยโรคได้ แต่ยังหาวิธีรักษาไม่ได้
คุณวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยระหว่างร่วมสัมมนาหัวข้อ "แนวพระราชดำริภูมิคุ้มกันสังคม วัคซีนธุรกิจยั่งยืน" จัดโดย "ประชาชาติธุรกิจ" เมื่อเร็วๆ นี้ว่า
ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ที่ 78.7% ต่อจีดีพี
นั่นเป็นเศรษฐกิจแมกโคร
แต่ที่สำคัญมากกว่าคือระดับไมโคร
นั่นคือไปดูคุณภาพของลูกหนี้ และลูกหนี้ประเภทต่างๆ ซึ่งมีความน่ากลัวมากกว่าเยอะ
เพราะเมื่อเอาข้อมูลทุกสัญญาจากเครดิตบูโรมาดูแล้วพบว่า
คนเป็นหนี้กันตั้งแต่อายุยังน้อย
ผู้กู้อายุระหว่าง 29-30 ปี พบว่า 1 ใน 5 ของกลุ่มนี้เป็นหนี้เสีย (NPL)
นั่นย่อมหมายถึงคนที่เป็นกำลังสำคัญของประเทศในอนาคต
คนที่เป็นผู้นำครอบครัว เป็นพนักงานจะกลัวโทรศัพท์มาทวงหนี้
หรือหนี้ภาคเกษตรที่เห็นว่าเป็นการกู้ไปทำธุรกิจ ส่วนหนึ่งเป็นหนี้เกษตรกร ซึ่งพบว่าอายุ 60 ปีไปแล้วหนี้ก็ยังไม่ลด
เมื่อลงไปดูรายละเอียดของประเภทของคนที่เป็นหนี้ จึงเป็นปัญหาที่น่ากังวลมากสำหรับสังคมไทย
ที่บอกว่าเป็นหนี้ครัวเรือน 78.7% ของผลผลิตมวลรวมนั้นยังไม่รวมหนี้ กยศ.หรือหนี้จากการกู้จากกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา และหนี้นอกระบบ
ยิ่งลงไปถึงรายละเอียดยิ่งน่าตกใจ
เพราะส่วนของจีดีพีเพิ่มขึ้นมาจากบริษัทใหญ่ๆ
ถ้าไปดูสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ พบว่าสูงถึง 130-140%
เพราะรายได้ครัวเรือนไม่ได้ขึ้นมากนัก แต่ตัวเลขหนี้เพิ่มเร็วกว่ารายได้ภาคครัวเรือน
คุณปรีดี ดาวฉาย ประธานกรรมการสมาคมธนาคารไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าหนี้ส่วนบุคคลสูงสุดอยู่ที่ 34% หนี้เพื่อธุรกิจ 18% ยานยนต์ 12% และบัตรเครดิต 3%
ท่านบอกว่าผลการศึกษาต่างประเทศระบุว่า หนี้ครัวเรือนที่คาดว่าจะเป็นอันตรายต่อสภาพเศรษฐกิจอยู่ที่ 84% ต่อจีดีพี
"แต่ก็ใช่ว่า 78.7% ต่อจีดีพีจะไม่อันตราย เพราะขึ้นอยู่กับพื้นฐานของแต่ละประเทศ" คุณปรีดี บอก
ผู้ว่าการแบงก์ชาติบอกว่าที่มีมาตการแอลทีวีออกมาก็เพราะเกิด "สินเชื่อเงินทอน" ซึ่งเป็นต้นเหตุหนึ่งของหนี้ครัวเรือนที่คนไม่ได้ตั้งใจ
คุณวิรไทบอกว่า
"ส่วนหนึ่ง ธปท.ส่งสัญญาณไปในส่วนที่กำกับว่าคุณทำธุรกิจแบบนี้ต่อไปไม่ได้ ทั้งแบงก์ บริษัทเครดิต บริษัทสินเชื่อบุคคล และอีกด้านหนึ่งคือการส่งสัญญาณให้กับส่วนที่ ธปท.ไม่ได้กำกับด้วย เพื่อที่จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญที่จะร่วมกัน เพราะถ้ากำกับด้านเดียวก็เหมือนน้ำเปิดด้านนี้แต่ไปออกอีกทาง ก็ต้องพยายามสร้างการรับรู้ร่วมมือกันทุกฝ่าย"
ท่านบอกว่าจากการศึกษาของ ธปท.พบว่าคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับเรื่องหนี้น้อยลง
ทำงานเดือนแรกก็ไปเที่ยวญี่ปุ่นแล้ว เพราะมีผ่อน 0% หกเดือน
นอกจากนี้ก็มีการซื้อของทางอินเทอร์เน็ตกันตลอดเวลา ทำให้เป็นหนี้เพิ่มขึ้น
ผลการศึกษาของแบงก์ชาติที่ดูเรื่องพฤติกรรมการใช้จ่ายพบว่า สัดส่วนการเป็นหนี้ขึ้นกับระยะเวลาการใช้อินเทอร์เน็ตต่อวัน
สิ่งที่แบงก์ชาติทำได้คือ คุมสถาบันการเงินที่กำกับด้วยกฎเกณฑ์ต่างๆ แต่พฤติกรรมคนรุ่นใหม่ ความรู้ความเข้าใจในเรื่องการวางแผนทางการเงินคือโจทย์ใหญ่ของประเทศ
ประเด็นเรื่องหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาลอย่างเดียว และไม่ใช่หน้าที่ใครคนใดคนหนึ่ง หากเป็นเรื่องของสังคมส่วนรวม
ตรงนี้แหละที่ยาก
เพราะปัญหาในสังคมไทยนั้นพอเข้าข่าย "เป็นปัญหาส่วนรวม" ก็มักจะหาเจ้าภาพหรือการบูรณาการเพื่อแก้ปัญหานั้นยากยิ่งนัก
แบงก์ชาติมีหน้าที่ต้องออกกฎเกณฑ์กำกับดูแลให้เหมาะสม ไม่ให้สถาบันการเงินแข่งขันจนไปซ้ำเติมปัญหาให้รุนแรงขึ้น
ที่ผ่านมาจึงออกเกณฑ์เรื่องบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล LTV สินเชื่อที่อยู่อาศัย และล่าสุดก็เรื่องสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ
แต่ธนาคารกลางก็ไม่ได้กำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงินทุกราย เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ ลีสซิงก็ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของแบงก์ชาติแต่อย่างใด
เพราะระดับหนี้ครัวเรือนของไทย ไม่ว่าจะมองจากมุมไหนก็เข้าข่าย "ใกล้จุดอันตราย" แล้ว!
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |