ดร.โจรอดคดีซื้อที่ตาบอด คุก2ลูกน้อง‘ชยุต’หลุดสว.


เพิ่มเพื่อน    

 "ดร.โจ" รอด! ศาลฎีกาพิพากษาแก้ยกฟ้องคดีทุจริตจัดซื้อที่จอดรถแพงเกินจริง-รับค่านายหน้า ขณะที่ยืนลงโทษจำคุก 5 ปีอดีตเลขาฯผู้ว่าฯ กทม. คุก 7 ปีอดีต ผอ.เขตบางซื่อ "ชยุต" หลุดเก้าอี้ ส.ว.ทันที จ่อขยับ "จัตุรงค์ เสริมสุข" นั่งแทน

    ที่ห้องพิจารณา 802 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เมื่อวันที่ 26 กันยายน ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีทุจริตจัดซื้อที่ดิน หมายเลขดำ อ.3387/2553 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 2 เป็นโจทก์ ฟ้องนายพิจิตต รัตตกุล หรือ ดร.โจ อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.), นายญาณเดช ทองสิมา อดีตรองผู้ว่าฯ กทม., นายมหินทร์ ตันบุญเพิ่ม อดีตที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม., นายสมคาด หรือนายชยุต สืบตระกูล สมาชิกวุฒิสภา อดีตเลขานุการผู้ว่าฯ กทม., นายประเสริฐ สมะลาภา อดีตปลัด กทม., นายสมควร รวิรัฐ หรือรวิรัช อดีตผู้อำนวยการสำนักการคลัง กทม., นางอรุณพรรณ แก้วมรินทร์ อดีตผู้อำนวยการกองระบบการคลัง กทม. และนายชวน พัฒนวรานนท์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานเขตบางซื่อ กทม. เป็นจำเลยที่ 1-8
    ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตฯ ร่วมกันเรียก รับ หรือยอมจะรับ ทรัพย์สินสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบฯ และร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ  กรณีเมื่อระหว่างวันที่ 4 ธ.ค.2538-16 ก.ย.2540 พวกจำเลยใช้อำนาจในหน้าที่ให้กรุงเทพมหานครจัดซื้อที่ดินใช้เป็นที่จอดรถขยะ รถน้ำ และรถอื่นๆ ของ กทม. ย่านบางซื่อ ในราคา 270 ล้านบาท ซึ่งแพงเกินจริงเป็นเงินกว่า 36 ล้านบาท และรับค่านายหน้าขายที่ดินเป็นเงิน 18 ล้านบาท ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 157
    คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 14 พ.ค.2558 ให้จำคุกนายสมคาด จำเลยที่ 4 รวม 8 ปี และนายชวน จำเลยที่ 8 รวม 10 ปี ส่วนจำเลยอื่นพิพากษายกฟ้อง ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษาเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.2559 พิพากษาแก้ให้จำคุกนายพิจิตต จำเลยที่ 1 กับนายสมคาด จำเลยที่ 4 คนละ 5 ปี และจำคุกนายชวน จำเลยที่ 8 รวม 7 ปี ส่วนจำเลยอื่นยกฟ้อง จากนั้นจำเลยที่ถูกลงโทษยื่นฎีกา
    วันนี้ นายพิจิตต จำเลยที่ 1 และนายชวน จำเลยที่ 8 ซึ่งได้ประกันตัวเดินทางมาศาลฟังคำพิพากษาศาลฎีกาตั้งแต่ช่วงเช้า ส่วนนายสมคาด จำเลยที่ 4 เดินทางตามมาภายหลัง
    ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1, 4, 8 กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่านายชวน จำเลยที่ 8 ซึ่งฎีกาเรื่องการได้รับเงิน 18 ล้านบาท เป็นค่ามัดจำที่ดิน แต่ภายหลังทราบว่าที่ดินไม่มีทางเข้าออก จึงคืนเงินมัดจำไปแล้วนั้น จำเลยที่ 8 ไม่มีพยานหลักฐานใดมาสืบยืนยันให้รับฟังได้ตามที่กล่าวอ้าง ส่วนที่ฎีกาว่าไม่มีเจตนาปกปิดข้อเท็จจริงและช่วยเหลือให้ผู้ขายไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ เพราะเชื่อโดยสุจริตว่าเมื่อมีการยกสิ่งปลูกสร้างให้ กทม. แล้วจึงไม่ต้องแจ้งนั้น เห็นว่าจำเลยที่ 8 ทราบโดยตลอดว่าที่ดินพิพาทมีสิ่งปลูกสร้าง ย่อมต้องมีหน้าที่แจ้งไปตามความเป็นจริงว่ามีสิ่งปลูกสร้าง จึงเป็นข้อบ่งชี้ว่าจำเลยที่ 8 มีเจตนาปกปิดเพื่อช่วยเหลือให้ผู้ขายไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ จึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
    สำหรับนายสมคาด จำเลยที่ 4 ที่ฎีกาเรื่องเงินตามแคชเชียร์เช็ค 4 ฉบับ ที่เปลี่ยนการสั่งจ่ายและพยานโจทก์เบิกความมีพิรุธนั้น เห็นว่าในขณะเกิดเหตุ พยานโจทก์หัวหน้าฝ่ายการคลัง สำนักงานเขตบางซื่อ เป็นลูกน้องจำเลยที่ 8 แต่เบิกความไม่รู้จักจำเลยที่ 4 ส่วนพยานโจทก์อีกปากเป็นนักศึกษาร่วมรุ่นกับจำเลยที่ 4 กรณีไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าพยานโจทก์ทั้งสองจะแกล้งปรักปรำจำเลยที่ 4 คำเบิกความพยานโจทก์สอดคล้องกันไม่เป็นพิรุธตามที่จำเลยที่ 4 กล่าวอ้าง รับฟังได้ว่าเงิน 3 ล้านบาท เป็นเงินส่วนหนึ่งที่จำเลยที่ 4 ได้รับมาจากจำเลยที่ 8 จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันเรียกรับทรัพย์สินฯ โดยมิชอบ
    ส่วนนายพิจิตต จำเลยที่ 1 ที่ฎีกาเรื่องเงิน 10 ล้านบาท ไม่ใช่เงินที่ได้รับจากจำเลยที่ 8 เห็นว่า โจทก์มีเพียงพยานปากเดียวมาเบิกความว่าเงิน 10 ล้านบาท น่าจะเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อที่ดินพิพาท เป็นความเชื่อหรือความรู้สึกของพยาน โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดมานำสืบเชื่อมโยง กรณีจึงอาจเป็นไปตามข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 ว่าเป็นเงินที่มีอยู่แต่เดิม ตามแบบแสดงรายการสินทรัพย์และหนี้สินของปี 2539 ยังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 4 และ 8 กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 1
    พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องนายพิจิตต จำเลยที่ 1 ส่วนนายสมคาด จำเลยที่ 4 และนายชวน จำเลยที่ 8 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องให้ยืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ที่ให้จำคุกนายสมคาด จำเลยที่ 4 เป็นเวลา 5 ปี กับนายชวน จำเลยที่ 8 เป็นเวลา 7 ปี โดยหลังจากศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้นแล้ว เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้ควบคุมตัวจำเลยที่ 4 และ 8 ไปคุมขังยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อรับโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดต่อไป
    ภายหลังฟังคำพิพากษา นายพิจิตตเปิดเผยถึงความรู้สึกว่า ในการสอบสวน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อัยการ ทนายทุกคน ได้ทำหน้าที่ของตนเองอย่างครบถ้วน วันนี้อยากทำงานสาธารณประโยชน์ต่อไป ไม่ต้องมีตำแหน่งอะไรเลยดีที่สุด ส่วนสิ่งที่อยากจะฝากนั้น มีเรื่องภัยพิบัติที่จะประมาทไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเมืองใหญ่ กทม. ปัญหาเรื่องน้ำ และอาจจะมีปัญหาเรื่องอื่นตามมา เสี่ยงภัยพิบัติสูง บางคนอาจไม่มีความกังวลเรื่องนี้มากนัก แต่ตนคิดว่าเราต้องช่วยกันคิดเรื่องนี้ตลอดเวลา ไม่ใช่อุบัติเหตุ แต่เป็นสิ่งที่เราต้องอยู่กับมัน การเตรียมพร้อมจัดการภัยพิบัติเป็นเรื่องสำคัญ ตนทำงานอยู่องค์กรระหว่างประเทศเรื่องการจัดการภัยพิบัติใน 26 ประเทศ ในส่วนของไทยก็ทำงานกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ความเข้มข้นของหน่วยราชการในการนำแผนจัดการภัยพิบัติมาใช้เตรียมรับมือล่วงหน้ามีความจำเป็น
    ทางด้านนายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา (ส.ว.) คนที่ 2 กล่าวภายหลังศาลฎีกาอ่านคำพิพากษาจำคุก 5 ปี นายชยุต สืบตระกูล ส.ว.ว่า ถือว่านายชยุตสิ้นสภาพการเป็น ส.ว.ทันทีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 เนื่องจากถูกจำคุกจากคำพิพากษาในศาลฎีกาที่ไม่สามารถอุทธรณ์ใดๆ ได้อีกเเล้ว ขั้นตอนต่อไปก็จะต้องเลื่อนลำดับ ส.ว.ที่อยู่ในบัญชีสำรองลำดับที่ 1 สายวิชาชีพ ขึ้นมาเป็นเเทน ซึ่งคาดว่าคือนายจัตุรงค์ เสริมสุข แต่จะต้องตรวจสอบคุณสมบัติอีกครั้ง ว่าครบถ้วนถูกต้องหรือมีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายหรือไม่.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"