พอมีข่าวรั่วออกมาว่าทรัมป์คุยกับประธานาธิบดียูเครนทางโทรศัพท์เมื่อเดือนกรกฎาคมกระซิบแกมขมขู่ให้สอบสวนข้อหาคอร์รัปชันของอดีตรองประธานาธิบดีโจ ไบเดน ส.ส.เดโมแครตก็มีเหตุผลชัดเจนพอที่จะโค่นทรัมป์ทันที
แนนซี่ เพโลซี หัวหน้าเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎร ประกาศหลังประชุมลับกับประธานกรรมาธิการ 6 ชุดในสภาล่าง เมื่อวานแถลงว่ามีมติว่าจะเดินหน้าเริ่มกระบวนการ “ไต่สวนเพื่อถอดถอน” หรือ Impeachment อย่างเป็นทางการ
เธอประกาศว่าความผิดของทรัมป์ล่าสุดเป็นการละเมิดอำนาจของประธานาธิบดี และเป็นการกระทำที่ผิดรัฐธรรมนูญอย่างรุนแรง
The president must be held accountable. No one is above the law.
นั่นคือประโยคปิดท้ายคำแถลงของเพโลซี ซึ่งก่อนหน้านี้เคยแสดงความลังเลมาตลอดว่าควรจะจัดการกับทรัมป์กับเครื่องมือทางการเมืองที่รุนแรงที่สุดอย่างนี้หรือไม่
ทรัมป์ทวีตโต้ทันทีว่า การตัดสินใจของพรรคเดโมเครตเป็นเรื่องเหลวไหลและไร้สาระ เป็นการตามล่าแม่มดอีกครั้ง
เขาบอกว่านี่เป็นเรื่อง “ขยะ” ของพรรคเดโมแครตที่มุ่งแต่จะทำลายเขา ไม่มีผลงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย
ประเด็นที่เป็นหลักฐานแน่นหนาเพื่อเล่นงานทรัมป์ล่าสุดคือ บทสนทนากับประธานาธิบดี Volodymyr Zelensky
ข่าวร้อนๆ ชิ้นนี้เกิดจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวกรองของสหรัฐเองที่ประกาศตนเป็น Whistle-blower หรือคนวงในที่ต้องการเปิดโปงความชั่วร้ายของผู้มีอำนาจที่อ้างว่ามีบทสนทนาของทรัมป์กับผู้นำยูเครนอยู่ในมือ
ทรัมป์บอกว่าพร้อมจะเปิดเผยรายละเอียดของบทสนทนานั้น
ที่ประเด็นนี้กลายเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเดโมแครต เพราะโจ ไบเดน เป็นหนึ่งในตัวเต็งของพรรคที่จะแข่งกับทรัมป์ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปีหน้า
ข้อหานี้อ้างว่าทรัมป์ได้บอกให้ผู้นำยูเครนสอบสวนข้อหาคอร์รัปชันของโจ ไบเดน และลูกชายที่ชื่อฮันเตอร์ที่มีกิจกรรมเกี่ยวกับธุรกิจในประเทศนั้น
ข้อกล่าวหานั้นบอกว่าทรัมป์ขู่ผู้นำยูเครนว่าสหรัฐจะระงับความช่วยเหลือทางทหารต่อประเทศนั้น (ประมาณ $400 ล้าน) หากไม่ยอมสอบสวนเรื่องคดโกงของคู่แข่งทางการเมืองของเขาในสหรัฐ
ส.ส.เดโมแครตหลายคนออกมาซัดทรัมป์ว่าการกระทำเช่นนั้นเท่ากับเป็นการเชิญชวนต่างชาติเข้ามาแทรกแซงกระบวนการทางการเมืองของสหรัฐ ซึ่งตีความได้ว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงทางการเมือง
พรรคเดโมแครตขณะนี้ในเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ (ประมาณ 235 ต่อ 199 ของพรรครีพับลิกัน) จึงอาจจะผลักดันกระบวนการ impeachment ต่อทรัมป์ผ่านสภาล่างได้
แต่ทรัมป์จะหลุดออกจากตำแหน่งได้จริงก็ต้องมีเสียง 2 ใน 3 ในวุฒิสภา ซึ่งเป็นเรื่องค่อนข้างยาก เพราะพรรครีพับลิกันมีเสียงข้างมากอยู่ในสภาสูง 53-45 โดยมีสมาชิกวุฒิสภาอิสระ 2 คน
นั่นแปลว่าจะต้องมี ส.ว.รีพับลิกันแปรพักตร์หรือแปรสภาพเป็น “งูเห่า” ประมาณ 20 คน จึงจะไล่ทรัมป์ออกได้
ในประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐยังไม่มีประธานาธิบดีคนไหนโดนปลดออกด้วยมาตรการนี้ มีแต่บิล คลินตัน และริชาร์ด นิกสัน ที่เป็นเป้าของการไต่สวนเพื่อสอบสวนอย่างนี้
ปี 1868 ประธานาธิบดีแอนดรู ยอห์นสัน โดนข้อหาร้ายแรง เข้าสู่กระทบวนการ impeachment แต่รอดได้เพราะเสียงในสภาสูงไม่พอจะปลดเขา
หลังจากนั้นก็มีบิล คลินตัน ที่รอดเหมือนกัน เพราะเสียงส่วนใหญ่ในวุฒิสภาอยู่ข้างเขา
นิกสันรอดเพราะชิงลาออกเสียก่อน
ทรัมป์กำลังเจอกับวิกฤติครั้งรุนแรงที่สุดตั้งแต่เข้าทำเนียบขาว...จะรอดหรือไม่รอดไม่สำคัญเท่ากับว่าเขาจะทำลายล้างตัวเองทางการเมืองระหว่างกระบวนการนี้กำลังถึงขับเคลื่อนหรือไม่
และจะถูกปลดหรือไม่ในท้ายที่สุดอาจจะไม่สำคัญเท่ากับว่าทันทีที่กระบวนการไต่สวนนี้เริ่มขึ้น ทรัมป์ก็กลายเป็น “เป็ดง่อย” ที่หมดความน่าเชื่อถือทั้งในประเทศและต่างประเทศ
จีนที่กำลังเผชิญหน้ากับสหรัฐในสงครามการค้าก็ไม่จำเป็นต้องยอมทรัมป์มากไปกว่านี้
อิหร่านที่ถูกทรัมป์กดดันหนักหน่วงก็อาจจะไม่ต้องเกรงใจอเมริกามากกว่านี้อีก
ผลข้างเคียงต่อเศรษฐกิจโลก เพราะข่าวร้ายจะทยอยกันออกมาเป็นระยะๆ จากนี้ไปก็จะมีผลร้ายต่อส่วนอื่นๆ ของโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ไทยเราเตรียมตั้งรับให้จงดีเถิด.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |