ยิ่งใกล้ 1 ตุลา ฮ่องกงยิ่งเครียด


เพิ่มเพื่อน    

                ยิ่งใกล้วันที่ 1 ตุลาคมเข้าไปเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีแรงกดดันจากทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นปักกิ่ง ฮ่องกง หรือผู้ประท้วงที่จะต้องหาทางออกจากกับดักของความขัดแย้งที่ยังมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

                วันที่ 1 ตุลาคมเป็นวันชาติจีน และปีนี้สำคัญเป็นพิเศษเพราะครบรอบ 70 ปีของการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน

                ปักกิ่งเตรียมฉลองใหญ่โต สั่งให้สถานทูตจีนทั่วโลกทำกิจกรรมเฉลิมฉลองอย่างเอิกเกริกเพื่อประกาศความเกรียงไกรของตน

                แต่ที่ฮ่องกงบรรยากาศยังตึงเครียด วันก่อนผู้ประท้วงกลุ่มหนึ่งฉีกแผ่นผ้าผืนใหญ่ที่เขียนประกาศล่วงหน้าว่าจะมีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่เพื่อโอกาสพิเศษนี้

                ท่าทีกร้าวจากกลุ่มฮาร์ดคอร์ของฝ่ายประท้วงยิ่งทำให้ผู้บริหารฮ่องกงและปักกิ่งต้องเครียดหนักขึ้น

 แกนนำประท้วงอย่างโยชัว หว่องยังเดินสายไปประเทศตะวันตกเพื่อกดดันให้รัฐบาลสหรัฐฯ, เยอรมนี,  อังกฤษ และสหภาพยุโรปต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อทำให้จีนยอมรับเงื่อนไขของฝ่ายตน

                แต่ปักกิ่งยืนกรานว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะยอมถอยให้ เพราะหากยอมก็เท่ากับเป็นการยอมรับว่าปักกิ่งไม่สามารถปกครองฮ่องกงซึ่งเป็น "ส่วนหนึ่งของจีน"

                แต่สี จิ้นผิงก็ยังไม่ต้องการใช้วิธีการแข็งกร้าวเกินกว่านี้ที่จะจัดการกับผู้ประท้วง เพราะไม่อยากให้เสียบรรยากาศก่อนวันชาติ แต่ขณะเดียวกันก็ยังทำสงครามข่าวสารและสงครามจิตวิทยากับผู้ต่อต้านอย่างต่อเนื่อง โดยหวังว่าจะสามารถกดดันกลุ่มประท้วงด้วยวิธีการด้านอื่นๆ ก่อนที่จะพิจารณาการใช้กำลัง

                ในขณะเดียวกันสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นางแคร์รี หล่ำ ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกง บอกว่าคณะผู้บริหารของฮ่องกงเตรียมจัดให้มี "การเสวนา" ร่วมกับกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงเพื่อหาทางออกจากความขัดแย้งและความรุนแรงในสัปดาห์นี้

                แต่การเสวนาที่ว่านี้มิใช่เป็นการพบปะกันเฉพาะระหว่างฝ่ายรัฐบาลฮ่องกงกับผู้ประท้วงเท่านั้น

                หากแต่ยังจะเปิดกว้างให้ประชาชนทั่วไปสามารถลงทะเบียนเพื่อมีส่วนร่วมในการพูดจาได้

                เธอรู้ดีว่าคนฮ่องกงจำนวนไม่น้อยที่ร่วมการประท้วงนั้นมีความอึดอัดไม่พอใจรัฐบาลอยู่หลายประเด็น ไม่จำกัดแต่เฉพาะเรื่องเสรีภาพทางการแสดงออกและสิทธิของการเลือกตั้งอย่างกว้างขวางและเท่าเทียมเท่านั้น

                เช่นปัญหาด้านที่อยู่อาศัยและที่ดินภายในฮ่องกง ที่ไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากรที่หนาแน่นราว  7.4 ล้านคน และราคาก็แพงบ้าเลือด

                คนรุ่นใหม่โกรธแค้นมาตลอดกับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นในการหาที่อยู่อาศัย แต่ไม่มีเวทีแสดงออก

                การประท้วงเรื่องการเมืองกลายเป็นการเปิดช่องว่างให้ความไม่พอใจต่างๆ ที่ทับถมกันมาเนิ่นนานเหล่านี้ได้มีช่องทางการต่อต้านอย่างเปิดเผย

                แคร์รี หล่ำยอมรับว่า "ทุกวันนี้ปัญหาทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองได้ฝังรากลึกลงในสังคมฮ่องกง ดิฉันหวังว่าการเจรจาในรูปแบบต่างๆ จะเป็นเวทีสำหรับการพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกัน"

                แต่เธอยืนยันว่า การเจรจาครั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีการบังคับใช้กฎหมายอีกต่อไป ยังจะต้องปราบปรามความรุนแรงต่อไป

                นักวิเคราะห์มองว่า การเปิดเจรจาเป็นแรงกดดันของรัฐบาลจีนที่ต้องการให้ผู้บริหารฮ่องกงพยายามหาทางลดระดับความตึงเครียดของการประท้วงที่ยืดเยื้อมายาวนานเกือบ 4 เดือน

                ก่อนหน้านี้แคร์รี หล่ำประกาศถอนร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนอย่างเป็นทางการ เพราะนั่นเป็นชนวนเหตุตั้งต้นของการประท้วง แต่ผู้ชุมนุมกลับบอกว่า

                "ช้าไป...น้อยไป"

                ฝ่ายต่อต้านมองว่า สถานการณ์ขณะนี้เข้าสู่โหมดที่สายเกินแก้ด้วยการถอนร่างกฎหมายฉบับนี้เท่านั้น พวกเขายังจะเดินหน้าประท้วงอย่างต่อเนื่องเพื่อเรียกร้องสิทธิในการเลือกตั้งของตนเอง รวมถึงการสอบสวนเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุกับกลุ่มผู้ชุมนุม

                ข่าวร้ายยังประดังเข้ามาเรื่อยๆ เพราะนักลงทุนห่อเหี่ยวและนักท่องเที่ยวหดหาย

                สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินระดับโลกอย่าง Moody’s ได้ประกาศปรับลดความน่าเชื่อถือทางการเงินของฮ่องกงลงสู่ระดับ "ติดลบ"

                นั่นแปลว่ามีความเสี่ยงต่อการลงทุนสูงจาก "ความไม่มั่นคงของสถาบันต่างๆ ของฮ่องกง"

                ก่อนหน้านี้ระดับความน่าเชื่อถือของฮ่องกงเคยอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพมากกว่าจีน เพราะสถาบันต่างๆ ของฮ่องกงมีอิสรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจ

                แต่วันนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไปอย่างหนักหน่วงและรุนแรง

                เธอบอกว่าการปรับลดความน่าเชื่อถือของ Moody’s ครั้งนี้เป็นเรื่องน่าผิดหวัง

                "แน่นอนว่าเราไม่เห็นด้วยกับการจัดอันดับให้เราอย่างนี้ โดยเฉพาะเหตุผลของการลดระดับความน่าเชื่อถือ ที่มาจากข้อสงสัยที่ว่าเรายังคงสนับสนุนแนวทางหนึ่งประเทศสองระบบอยู่หรือไม่" เธอบอกนักข่าว

                จีนยืนยันว่ายังมีความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามแนวทาง One Country, Two Systems

                และยืนยันว่าไม่ได้แทรกแซงสถาบันต่างๆ ของฮ่องกง แต่ไม่ลืมที่จะย้ำว่าสถานการณ์ในฮ่องกงเป็นกิจการภายในของจีนอยู่ดี

                ดังนั้นการ "เปิดเจรจา" ของแคร์รี หล่ำจึงไม่น่าจะนำไปสู่หนทางแก้ไขวิกฤติฮ่องกงแต่อย่างใด.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"