25ก.ย.62-ที่ห้องจูปีเตอร์ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น 4 - สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันเปิดตัวโครงการ Children in Street เพื่อค้นหาและวางมาตรการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนบนท้องถนนในพื้นที่ กทม. ให้สอดคล้องกับปัญหาในพื้นที่
โดยนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) กล่าวว่า โครงการเด็กบนท้องถนน หรือ Children in Street เป็นโครงการสำรวจเด็กเร่ร่อน หรือ เด็กที่ใช้ชีวิตตามท้องถนนในพื้นที่ กทม. โดยมอบหมายให้ครูจาก กศน. ในแขวงต่างๆ ซึ่งมีจำนวน 180 แขวง ลงพื้นที่สแกนหาเด็กกลุ่มนี้อย่างเต็มพื้นที่ ตามนโยบายลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยใช้กลไกของ กสศ. มาบูรณาการ ดำเนินงานร่วมกับหน่วยจัดการศึกษาต่างๆ ของกระทรวงศึกษาในทุกระดับการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นระดับก่อนอนุบาล อนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา รวมไปถึงการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งเมื่อทราบตัวเลขและตัวตนเด็กกลุ่มนี้ที่ชัดเจน จะได้เร่งหามาตรการช่วยเหลือให้ได้รับการศึกษาจนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือพัฒนาให้มีความรู้ ความสามารถในการประกอบอาชีพตามความถนัดและศักยภาพที่แตกต่างกัน สามารถพึ่งพาตนเองในการดำรงชีวิตได้ โดยไม่หลุดออกนอกระบบการศึกษา ทั้งนี้ตนคาดว่าปัจจุบันประเทศไทยมีเด็กและเยาวชนที่ตกหล่นไม่ได้รับการศึกษาอยู่นับหลายแสนราย โดยข้อมูลจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ที่ได้ทำการศึกษาประเทศในแถบอาเซียน คาดการณ์ว่า หากปล่อยให้มีตัวเลขเด็กตกหล่น หรือเด็กไม่ได้รับการศึกษาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลกระทบในอนาคตต่อภาครัฐหรือภาคสังคม กับการจัดการศึกษาอย่างเสมอภาค โดยขั้นตอนแรกที่ต้องดำเนินการ คือ ต้องหาเด็กและเยาวชนกลุ่มที่ตกหล่นเหล่านี้ให้พบ เพื่อให้ความช่วยเหลือ และแก้ปัญหาให้เร็วที่สุด
"เด็กกลุ่มเป้าหมายของโครงการนี้ เป็นเด็กด้อยโอกาสหรือเด็กที่อยู่ในภาวะเปราะบาง ซึ่งเป็นเรื่องที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ และตระหนักร่วมกันว่า ต้องเร่งแก้ไขอย่างยั่งยืน ยูนิเซฟคาดการณ์ว่ามีเด็กบนท้องถนนประมาณ 100 ล้านคนทั่วโลก การเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมากของเด็กบนท้องถนนในเขตเมือง โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาได้สะท้อนและสัมพันธ์ถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ เด็กบนท้องถนนส่วนใหญ่ต้องประสบกับปัญหาความยากจน ความรุนแรงทั้งในครอบครัว ชุมชน และท้องถนน การเข้าถึงการศึกษาเรียนรู้ การเข้าถึงสวัสดิการพื้นฐาน และการถูกล่อลวง อันเป็นความเสี่ยงและเป็นอุปสรรคสำคัญในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีหรือการเลื่อนชั้นทางสังคม ในส่วนของประเทศไทยมีการคาดการณ์ว่ามีเด็กบนท้องถนนประมาณ 30,000 คน กระจายอยู่ตามเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ โดยกทม. เป็นเมืองที่มีเด็กข้างถนนกระจุกตัวอยู่มากที่สุด" รมช.ศธ.กล่าว
ด้านนายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า กสศ.ได้สร้างนวัตกรรมการจัดการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อสนับสนุน ศธ.และองค์กรหลักในระบบการศึกษา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและส่งต่อให้หน่วยงานรับผิดชอบหลักนำไปขยายผลเกิดความยั่งยืนเช่น ในปี 2562 กสศ. ได้ช่วยเหลือเด็กนอกระบบการศึกษา ภายใต้โครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา มีเป้าหมายเพื่อให้จังหวัดมีขีดความสามารถที่จะดำเนินการปฏิรูปการศึกษาหรือจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชนได้เองในระยะยาว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) พัฒนาความเข้มแข็งของกลไกความร่วมมือจัดการศึกษาของจังหวัด (2) พัฒนาระบบข้อมูลเพื่อการวางแผนและติดตามช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายเป็นรายบุคคล และ (3) ดำเนินมาตรการเพื่อติดตามช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมาย โดย กสศ. ได้สนับสนุนการดำเนินงานในจังหวัดนำร่อง 20 จังหวัด กระจายอยู่ทุกภูมิภาค ซึ่งแนวทางการดำเนินงานจากจังหวัดนำร่อง อาจไม่สามารถให้ความช่วยเหลือเด็กนอกระบบการศึกษาในพื้นที่ กทม.ได้ เนื่องจากเป็นเมืองขนาดใหญ่ที่บริบทต่างกัน และมีความซับซ้อนของปัญหา จึงจำเป็นต้องมีรูปแบบการดำเนินงานที่แตกต่างจากจังหวัดอื่น ๆ
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |