ป.ป.ท.ลุยสอบ "นครพนม" พบหลักฐานโกงเงินคนจน หลอกชาวบ้านเซ็นชื่อรับ แจก 50-100บาทปิดปาก เจอ ผอ.โรงเรียนร่วมงาบด้วย มมส.มอบทุนศึกษา-โล่เชิดชูเกียรติน้องแบม "หมอธี" ฟันทุจริตกองทุนเสนาพัฒนาชีวิต สั่งปลัด ศธ.แจ้งความ พร้อมส่งเรื่องให้ ป.ป.ท.-ป.ป.ช.-ปปง. เผย ขรก.ซี 8 สารภาพทำจริง
ที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) นาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ท.กรทิพย์ ดาโรจน์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) พร้อมเจ้าหน้าที่ ได้ใช้ห้องประชุม อบต.นาหว้า เป็นสถานที่สอบสวนปากคำประชาชนที่มีสิทธิได้รับเงินอุดหนุนสงเคราะห์ผู้ยากไร้และไร้ที่พึ่งจังหวัดนครพนม รวมทั้งสิ้น 564 ราย จำแนกออกเป็น ผู้มีรายได้น้อย 176 ราย, ทุนประกอบอาชีพ 286 ราย และผู้ป่วยติดเชื้อเอดส์ 102 ราย
โดย พ.ท.กรทิพย์เปิดเผยว่า จากกรณีการทุจริตเงินอุดหนุนเงินสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่ง ของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำนักงาน ป.ป.ท.ได้มอบหมายให้กองป้องกันและปราบปรามการทุจริต 5 (กปท.5) ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าว ในเขตพื้นที่จังหวัดนครพนม
จากการลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ กปท.5 ระหว่างวันที่ 5-8 มี.ค.ที่ผ่านมา ปรากฏข้อเท็จจริง ดังนี้ 1.มีการปลอมแปลงเอกสารลายมือชื่อในใบรับเงิน สำเนาบัตรประชาชน และยังปลอมลายมือชื่ออยู่ในแบบสำรวจผู้ประสบปัญหาทางสังคม ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งนครพนม พบว่าชาวบ้านไม่เคยได้รับเงินสงเคราะห์ แต่หลักฐานใบรับเงิน มีการระบุข้อความว่าชาวบ้านเหล่านั้นรับเงินไปแล้ว
2.ครั้งแรกมีชาวบ้านยืนยันว่าได้รับเงินครบถ้วน แต่ภายหลังมีกลุ่มหนึ่งเห็นความไม่เป็นธรรม จึงพูดความจริงออกมา ชาวบ้านจึงกลับคำให้การ ยอมรับว่าไม่เคยได้รับเงินตามวันเวลาที่ระบุในใบสำคัญรับเงิน เพิ่งจะมาได้เงินจำนวน 1,000 บาท ช่วงกลางเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ สืบเนื่องจากมีแกนนำเรียกชาวบ้านประชุมซักซ้อม โดยให้ตอบคำถามเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.ไปในแนวทางเดียวกันว่าลงชื่อด้วยลายมือตนเองจริง และรับเงินจริง แต่เมื่อมีผู้หนึ่งยอมรับความจริง ชาวบ้านจึงให้ความร่วมมือ โดยให้ข้อเท็จจริงซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมาก อีกทั้งพวกชาวบ้านยังได้มอบพยานหลักฐานเป็นคลิปเสียง และคลิปวิดีโอบันทึกภาพเคลื่อนไหวของแกนนำ ซึ่งทราบต่อมาว่าแกนนำนั้นเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ สังกัดหน่วยงานอื่นที่เป็นตัวตั้งตัวตีซักซ้อมให้ชาวบ้านโกหกเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. เพื่อจะช่วยเหลือคนในศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดนครพนม โดยเสนอค่าตอบแทนให้ชาวบ้านที่ยอมโกหกช่วยให้พ้นผิด
3.ชาวบ้านยืนยันตรงกันว่าศูนย์ฯ ให้เซ็นชื่อโดยไม่ใช่เอกสารของตนเอง และได้รับค่าลงชื่อในเอกสารคนละ 50-100 บาท จากนั้นเจ้าหน้าที่นำไปประกอบในการเบิกเงินหลายครั้ง คนละ 5,000 บาท และ 4.มีการจ่ายเงินล่าช้าข้ามปี ในใบรับเงินระบุวันที่จ่ายปี 2559 และ 2560 แต่ชาวบ้านเพิ่งได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งให้ไปรับเงินเมื่อกลางเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา หลังจากมีข่าวโกงเงินโด่งดังขึ้นมา
พ.ท.กรทิพย์กล่าวว่า จากการตรวจสอบฎีกาเบิกจ่าย GFMIS พบว่าเงินออกจริงตามวันที่ที่ปรากฏในใบรับเงิน แต่เพิ่งจะมีการจ่ายเงินให้ชาวบ้านเมื่อเวลาล่วงเลยมาถึง 8 เดือน และมีทั้งการจ่ายเงินข้ามปีงบประมาณ ซึ่งเป็นความผิดชัดเจน ฐานเป็นเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 อีกด้วย
นอกจากความผิดดังกล่าวแล้ว ยังอาจเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปลอมแปลงเอกสาร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 161 และความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 162
ผอ.รร.งาบเงินคนจน
"นอกจาก ป.ป.ท.จะดำเนินการสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการแล้ว ยังได้ขยายผลไปยังเจ้าหน้าที่ของรัฐสังกัดหน่วยงานอื่น เช่น ผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งใน อ.นาทม จ.นครพนม ที่ร่วมทุจริตกับเจ้าหน้าที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งด้วย ทั้งนี้เพื่อให้โกงรายเก่าต้องหมดไป โกงใหม่ต้องไม่เกิด เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการปราบปรามการทุจริตเจ้าหน้าที่ของรัฐ” พ.ท.กรทิพย์ระบุ
ที่อาคารบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) ศ.ดร.สัมพันธ์ ฤทธิเดช อธิการบดี มมส., รศ.ดร.วิทยา มะเสนา ประธานคณะกรรมการส่งเสริมกิจการ มมส. และกรรมการฯ ได้มอบทุนการศึกษาจำนวน 50,000 บาท พร้อมโล่เชิดชูเกียรติ ให้กับ น.ส.ปณิดา ยศปัญญา หรือน้องแบม นิสิตชั้นปีที่ 4 สาขาการพัฒนาชุมชน ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มมส. และมอบทุนการศึกษา พร้อมโล่เชิดชูเกียรติ น.ส.ณัฐกานต์ หมื่นพล อดีตลูกจ้างศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดขอนแก่น เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติของทั้งสองคน ในความกล้าหาญทางจริยธรรมและเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เยาวชนและสังคม
น.ส.ปณิดากล่าวว่า ขอบคุณคณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยฯ ที่มอบทุนการศึกษาและโล่รางวัลนี้ให้ รู้สึกมีกำลังใจมากขึ้น สิ่งที่ได้ทำลงไปจนเกิดผลตามมาถึงวันนี้ ไม่ได้ทำเพื่อหวังรางวัลใดๆ แต่ทำไปเพื่อยึดความถูกต้องและต้องการช่วยเหลือผู้ยากไร้จริงๆ เป็นไปตามความตั้งใจของตนเอง ที่ได้เข้ามาเรียนสาขานักพัฒนาชุมชน เพื่อจะเป็นนักพัฒนาชุมชนที่ดี
ด้าน ศ.ดร.สัมพันธ์กล่าวว่า ในนามมหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีความชื่นชม ยกย่อง เชิดชู คุณความดีของน้องแบม ในความกล้าหาญ ไม่ยอมรับในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง โดยมหาวิทยาลัยได้ประกาศมอบโล่รางวัลที่จัดขึ้นเฉพาะ และมอบในวาระที่สำคัญยิ่งของมหาวิทยาลัยในปีนี้คือ งานเฉลิมฉลอง 50 ปี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ชื่อรางวัล "50 ปี คนดี ศรีโรจนากร" ให้กับ น.ส.ปณิดา ในวันที่ 26 มี.ค.นี้
โอกาสเดียวกันนี้ จะได้เชิญน้องแบม ไอดอลผู้กล้าแห่ง มมส. ให้เป็นวิทยากร "ปาฐกถา ต้นกล้า สร้างจิตสำนึกที่ดี ต้านทุจริตคอร์รัปชัน เพื่อผลิตบัณฑิตสู่สังคมไทย" โดยมีผู้เชี่ยวชาญร่วมเป็นวิทยากร เพื่อสร้างจิตสำนึกที่ดี สู่นิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ก่อให้เกิดพลังพัฒนาสังคมไทยให้ยั่งยืนต่อไป ตามปรัชญาการผลิตบัณฑิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ว่า "พหูนัง ปัณฑิโต ชีเว” “ ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน
ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แถลงกรณีการทุจริตเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต โดยมีการโอนเงินทุนการศึกษาของนักเรียนในโครงการเข้าบัญชีของบุคคลอื่นที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ตั้งแต่ปี 2551-2561 เป็นจำนวนเงินรวมกว่า 88 ล้านบาทว่า กองทุนนี้ดำเนินการมา 15 ปี มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดสรรเงินช่วยเหลือให้กับผู้ยากจนที่ต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยให้ทุนการศึกษาในระดับวิชาชีพ และให้ทุนกับสถาบันการศึกษาที่สอนด้านครูและพยาบาล
ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มตรวจสอบบัญชีฯ ได้ตรวจสอบพบว่ามีการยักยอกโอนเงินเข้าบัญชีพรรคพวก ญาติพี่น้องตนเอง รวมกว่า 88 ล้านบาท เฉพาะปี 2560 เป็นเงินประมาณกว่า 10 ล้านบาท ซึ่งทันทีที่ทราบปัญหาดังกล่าว ได้สั่งการให้นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัด ศธ. แจ้งความดำเนินคดีทันที รวมถึงส่งเรื่องให้สำนักงาน ป.ป.ท., สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อตรวจสอบไปพร้อมกัน
ซี 8 รับโกงกองทุนเสมา
รมว.ศธ.กล่าวว่า เรื่องนี้มีข้าราชการฝ่ายปฏิบัติที่เกี่ยวข้องจำนวน 5 ราย ซึ่งเป็นข้าราชการระดับ 8 ที่ผู้รับผิดชอบหน้าที่มาโดยตลอด รับสารภาพว่าทำจริงแล้ว 1 ราย แต่จะต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริง เนื่องจากมีการตั้งข้อสังเกตว่า เรื่องนี้ไม่น่าจะทำคนเดียว โดยเบื้องต้นได้ย้ายข้าราชการทั้ง 5 รายไปปฏิบัติหน้าที่ยังหน่วยงานอื่นแล้ว ส่วนผู้ที่รับสารภาพ 1 ราย ถือว่ามีโทษร้ายแรงถึงขั้นไล่ออกจากราชการ รวมถึงจะต้องถูกดำเนินคดีทางกฎหมายด้วย ขณะเดียวกัน หากมีการตรวจสอบแล้วพบว่ามีการโอนเงินเข้าบัญชีบุคคลใดอย่างไม่ถูกต้อง เจ้าของบัญชีถือว่ามีความผิดด้วย
“กรณีนี้ถือเป็นการทุจริตที่เกิดขึ้นในระดับปฏิบัติการ ซึ่งทันทีที่ตรวจสอบพบ ได้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างรวดเร็ว ทำทุกอย่างเพื่อจะคืนความยุติธรรม ขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ผ่านมา ปลัด ศธ.ที่ดำรงตำแหน่งในช่วงนั้น อนุมัติเงินเพื่อส่งให้เด็ก ซึ่งเท่าที่ทราบ ปลัด ศธ.ไม่ได้มีความเกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ได้สั่งให้นายการุณไปตรวจสอบด้วยว่าบัญชีผู้รับทุนมีจำนวนเท่าไร และได้รับเงินที่ควรจะได้หรือไม่ หากไม่ได้รับจะให้ผู้รับทุนไปแจ้งความว่ามีการยักยอกเงินด้วย พร้อมกันนี้ให้ตรวจสอบไปยังกองทุนอื่นๆ ด้วยว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นหรือไม่ ส่วนกรณีการเยียวยาผู้รับทุน แต่ไม่ได้รับเงิน ก็ขอให้ปลัด ศธ. ศึกษาช่องทาง ซึ่งยืนยันจะให้ความเป็นธรรมแน่นอน” นพ.ธีระเกียรติระบุ
นายการุณกล่าวว่า จะมีการไปตรวจสอบบัญชีปลายทางของบุคคลที่โอนไป 19-20 บัญชีบุคคล มีเด็กที่ได้เงินจากกองทุนไปแล้วกี่คน มีเด็กที่ไม่ได้เงินจากกองทุนกี่คน ใครบ้าง โดยสำรวจทั้ง 3 กลุ่มสถานศึกษา ได้แก่ กลุ่มโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ กลุ่มโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ และกลุ่มวิทยาลัยพยาบาล เมื่อได้ตัวเลขแล้วจะนำเข้าสู่คณะกรรมการกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต พิจารณาว่าจะมีช่องทางการเยียวยาอย่างไรบ้าง
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบการโอนเงินของกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต ย้อนหลังตั้งแต่ปี 2551 ถึงเดือนมีนาคม 2561 พบว่า มีการอนุมัติเงิน 166,347,721 บาท เป็นการโอนเงินเข้าบัญชีหน่วยงาน 77,531,072 บาท และเป็นการโอนเงินเข้าบัญชีบุคคล 88,816,640 บาท เบื้องต้นพบเป็นบัญชีญาติของข้าราชการคนนั้น
และการโอนเงินแต่ละปีจำแนกดังนี้ ปี 2551 และ 2553 ระบบบัญชียืนยันว่าได้จ่ายแล้ว แต่ยังไม่รู้ชัดเจน อยู่ระหว่างการตรวจสอบ ส่วนปี 2552 อนุมัติ 10,892,422บาท โอนบัญชีหน่วยงาน 8,571,276 บาท โอนบัญชีบุคคล 2,320,968 บาท, ปี 2554 อนุมัติ 11,409,860 บาท โอนบัญชีหน่วยงาน 7,377,460 บาท โอนบัญชีบุคคล 4,032,400 บาท
ปี 2555 อนุมัติ 25,407,608 บาท โอนบัญชีหน่วยงาน 9,074,336 บาท โอนบัญชีบุคคล 16,332,272 บาท, ปี 2556 อนุมัติ 37,047,000 บาท โอนบัญชีหน่วยงาน 11,806,000 บาท โอนบัญชีบุคคล 25,241,000 บาท, ปี 2557 อนุมัติ 10,997,000 บาท โอนบัญชีหน่วยงาน 8,754,000 บาท โอนบัญชีบุคคล 2,243,000 บาท, ปี 2558 อนุมัติ 35,227,000 บาท โอนบัญชีหน่วยงาน 16,954,000 บาท โอนบัญชีบุคคล 18,273,000 บาท, ปี 2559 อนุมัติ 18,717,000 บาท โอนบัญชีหน่วยงาน 14,169,000 บาท โอนบัญชีบุคคล 4,548,000 บาท, ปี 2560 อนุมัติ 13,625,000บาท โอนบัญชีหน่วยงาน 825,000 บาท โอนบัญชีบุคคล 12,800,000 บาท, ปี 2561 ถึงเดือนมีนาคม อนุมัติ 3,025,000 บาท โอนเข้าบัญชีบุคคลทั้งหมด
ที่องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์ (อผศ.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงการดูแลกำชับโครงการต่างๆ ภายในกระทรวงกลาโหม หลังจากที่มีข่าวพบการทุจริตหลายโครงการของภาครัฐว่า กำชับทุกครั้งที่มีการประชุม ซึ่งยืนยันว่าในส่วนของกระทรวงกลาโหมไม่มีเรื่องการทุจริต แม้แต่ภายใน อผศ.เองก็ดูแล เพราะเรื่องความโปร่งใสถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |