การได้เดินทางไปสัมผัสแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้นำชุมนุมต่างจังหวัดเรื่องการศึกษา ทำให้ได้เรียนรู้ถึง "ช่องว่าง" ระหว่างคนวางนโยบายที่กรุงเทพฯ กับผู้ปฏิบัติในระดับท้องถิ่นอย่างเห็นได้ชัด
เป็นช่องว่างที่ทำให้การ "ปฏิรูปการศึกษา" ไม่อาจจะเกิดขึ้นได้ เพราะเริ่มตั้งแต่วิธีคิด ทัศนคติ และความเข้าใจของแต่ละฝ่ายก็แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงแล้ว
กฎหมายใหม่ที่เรียกว่า พระราชบัญญัตินวัตกรรมการศึกษา ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้โดยมีพื้นที่นำร่อง 6 ภาค 8 จังหวัด ได้แก่ ระยอง, ศรีสะเกษ, สตูล, เชียงใหม่, กาญจนบุรี, ปัตตานี, ยะลา และนราธิวาส
แต่เชื่อไหมว่าผู้ปฏิบัติในท้องถิ่นที่ผมพูดคุยด้วยยังไม่แน่ใจว่าพวกเขาจะสามารถสร้าง "นวัตกรรม" ได้มากมายเพียงใด
สิ่งที่ปรากฏบนกระดาษนั้นบอกว่า "พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา" จัดตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
๑.คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมการศึกษาและการเรียนรู้เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียน รวมทั้งเพื่อดำเนินการให้มีการขยายผลไปใช้ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอื่น
๒.ลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา
๓.กระจายอำนาจและให้อิสระแก่หน่วยงานทางการศึกษาและสถานที่ศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารและการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
๔.สร้างและพัฒนากลไกในการจัดการศึกษาร่วมกันระหว่างภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
กฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดให้มี "คณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา" โดยมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกฯ ซึ่งนายกฯ มอบหมาย เป็นประธานกรรมการ, รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาฯ เป็นรองประธาน กรรมการโดยตำแหน่ง 7 คน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่ง ครม.แต่งตั้งโดยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นกรรมการและเลขานุการ และผู้อำนวยการสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สพฐ. และผู้แทนกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเป็นผู้ช่วยเลขาธิการ
จังหวัดใดประสงค์จะเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ให้คณะผู้เสนอโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเพื่อดำเนินการ โดยแสดงให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมขององค์กรภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง
และแสดงให้เห็นว่าจังหวัดนั้นมีความพร้อมที่จะดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
โดยเนื้อหาแล้วพระราชบัญญัติฉบับนี้ต้องการเห็น "นวัตกรรม" ซึ่งเป็นก้าวย่างที่สำคัญและจำเป็น
แต่ "นวัตกรรม" ไม่อาจจะเกิดขึ้นได้หากระเบียบและกฎเกณฑ์ของทางราชการยังไม่ได้รับการแก้ไขปรับปรุงหรือตัดทิ้งไปให้เกิดความคล่องตัว
ดูเหมือนว่าสิ่งที่เรียกว่า "ปฏิรูป" ในประเทศเรานั้นมีสูตรเดียวกัน นั่นคือใช้คำว่า "นวัตกรรม" ขึ้นพาดหัว เพื่อให้เห็นว่าได้ดำเนินการเพื่อการเดินไปข้างหน้าให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่
แต่ในทางปฏิบัตินั้นไม่มีใครกล้าหรือพร้อมที่จะแก้อุปสรรคที่ยังวางขวางลำอยู่เต็มไปหมด
นั่นคือกฎเกณฑ์กติกาทั้งหลายทั้งปวง ที่ยังให้อำนาจแก่ระบบราชการในอันที่จะรักษาไว้ซึ่งอำนาจและการใช้ "ดุลยพินิจ" ของตน
เมื่อไม่มีการยกเลิกและแก้ไขระเบียบราชการเหล่านี้ คำว่า "นวัตกรรม" ก็ไร้ความหมาย
เป็นเพียง "ผักชี" ที่โรยอยู่ข้างบนเพื่อทำให้ดูดี หรือให้หน่วยราชการอ้างได้ว่า "ได้ทำตามนโยบายของหน่วยเหนือ" แล้วเท่านั้น
ผู้อำนวยการโรงเรียนเล็กๆ ที่ศรีสะเกษที่ผมลงไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็นสำหรับรายการ "ฟังเสียงประเทศไทย คำตอบอยู่ในหมู่บ้าน" เมื่อเร็วๆ นี้บอกผมว่า
เราจึงต้องสอนวิชาที่สอดคล้องกับท้องถิ่น เช่นที่บ้านเทิน ต.บัวน้อย อ.กันทรารมย์ ของศรีสะเกษแห่งนี้ เราให้นักเรียนตั้งแต่ ป.4 ถึง ม.3 เรียนวิธีทำบะหมี่เกี๊ยวซึ่งเป็นจุดเด่นของท้องถิ่น จนสามารถสร้างโอกาสเรียนรู้ของจริงและรับงานจริง มีรายได้สำหรับนักเรียน โรงเรียน และชุมชน....ที่สำคัญกว่าอะไรหมดคือประสบการณ์ที่ครู นักเรียน และชุมชนได้เรียนรู้ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์"
โรงเรียนอีกแห่งหนึ่งให้นักเรียนสามารถเลือกเรียนวิชาที่ตนต้องการทุกวันศุกร์ โดยไม่ต้องแต่งตัวเครื่องแบบในวันนั้นให้มีบรรยากาศของการสร้างสรรค์และคิดนอกกรอบได้อย่างเสรีภายใต้การชี้แนะของครูและผู้ปกครอง
ท้ายที่สุดแล้วต้องปล่อยให้ชุมชนท้องถิ่นริเริ่มสร้างสรรค์และบุกเบิกเอง "นวัตกรรม" ของจริงจึงจะเกิดขึ้นได้!
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |