จับตา สนช.ยื่นศาล รธน.ตีความ พ.ร.ป.ส.ว.ปมหั่นกลุ่มอาชีพเหลือ 10 กลุ่ม หวั่นก่อปัญหาในอนาคต ขณะที่วิป สนช.ยันไม่มีใครยื่น "วิษณุ" เชื่อไม่กระทบโรดแมป เพราะถ้าตีความมีปัญหาศาลจะสั่งแก้เฉพาะมาตรานั้น ผบ.ทบ.ไม่ติดใจ "ไพร่หมื่นล้าน-นิติราษฎร์" ตั้งพรรค ชี้ขึ้นอยู่กับ ปชช. "มาร์ค" แบะท่าจับมือ 3 พรรคสกัดนายกฯ คนนอก "เสกสรรค์" วิพากษ์ทั้งฝ่ายอนุรักษ์-ก้าวหน้า แข่งกันชี้นำความคิด แนะถอยห่างจากตัวเองหนึ่งก้าว ปลุกอย่าทนกับการกดขี่ข่มเหงละเมิดสิทธิ์ไม่ว่าจะมาจากฝ่ายไหน
เมื่อวันศุกร์ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สนช. โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) กล่าวถึงการที่ สนช.จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความร่าง พ.ร.ป.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ว่าในที่ประชุมวิป สนช. ไม่ได้มีการพูดคุยกันว่าหลังจากที่ สนช.เห็นชอบ กม.ลูกทั้ง ส.ส.และ ส.ว. จะต้องมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) พูดไว้แล้วว่า มีบางประเด็นที่อาจขัดรัฐธรรมนูญ จึงเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ต้องคุยกันว่าจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ส่วนตัวเห็นว่า ไม่มีประเด็นที่ต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ ซึ่งประเด็นที่ตนแปรญัตติไว้ในเรื่องการแบ่งกลุ่มก็ไม่มีจะมีปัญหาแล้ว เพราะ กมธ.ร่วม 3 ฝ่ายได้แก้ไขให้ไปบัญญัติในบทเฉพาะกาลแล้ว แต่เมื่อนายมีชัยท้วงติงมาก็อาจนำเรื่องนี้ไปหารือในที่ประชุมวิป สนช.สัปดาห์หน้า
ด้าน พล.อ.นพดล อินทปัญญา วิป สนช. กล่าวถึงกรณีมีกระแสข่าวว่า การประชุมเมื่อวันที่ 6 มี.ค.ที่ผ่านมา วิป สนช.มีมติให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ว่า ตนเข้าร่วมประชุมวิป สนช.ในวันนั้นด้วย ยืนยันว่าไม่ได้มีมติจะส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความใดๆ ส่วนบรรยากาศมีเพียงกลุ่มเล็กๆ กลุ่มสองกลุ่ม ที่กังวลและพูดคุยกัน แต่ไม่มีมติอะไร แล้วเสียงโหวต สนช.ก็ปรากฏว่าท่วมท้นขนาดนั้น หากมีการไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญ คงจะถูกสังคมตั้งข้อสงสัย ทุกคนเข้าใจสถานการณ์ดีว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช.บอกเอาไว้ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในปี 62 ตนจึงไม่เชื่อว่าจะมีอะไรที่จะทำให้กระทบโรดแมป
นายมนุชญ์ วัฒนโกเมร สมาชิก สนช. กล่าวว่า จากการพิจารณาและลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.นั้น การที่ตนอภิปรายท้วงติงไปนั้นไม่ใช่ไม่เห็นด้วย เพียงแต่เป็นการให้ข้อสังเกตว่าอาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่เมื่อมติออกมาเห็นชอบ ตนก็ยอมรับในมตินั้น และไม่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะการจะยื่นได้ สมาชิก สนช.ต้องช่วยกันลงชื่อ 25 คน แต่ขณะนี้ยังไม่มีใครแสดงตัวว่าจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ดังนั้นจึงเชื่อว่าทาง สนช.ไม่น่าจะมีการยื่นให้ศาลตีความ หากมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความก็อาจจะกระทบโรดแมปเลือกตั้งได้ เพราะยังมีกระบวนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายที่ต้องรอ และต้องรอให้กฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับ เสร็จประกาศใช้ก่อนถึงจะเลือกตั้งได้
มีรายงานว่า ในการประชุมวิป สนช. เมื่อวันที่ 6 มี.ค. ได้มีการพูดคุยในกรณีที่นายมีชัยมีความเป็นห่วงการพิจารณาของคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย เกี่ยวกับการแบ่งกลุ่มเลือก ส.ว. จาก 20 กลุ่ม เหลือเพียง 10 กลุ่ม และนำไปบัญญัติไว้ในบทเฉพาะกาลอาจขัดรัฐธรรมนูญ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต สนช.ควรจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ดังนั้นที่ประชุมจึงได้มีมติให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หลังจากที่ สนช.มีมติให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.ป.ดังกล่าวแล้ว
ทั้งนี้ การยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความต้องรวบรวมรายชื่อสมาชิก 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ ก็คือ 25 คน ซึ่งในการประชุม สนช. เมื่อวันที่ 8 มี.ค.ที่ผ่านมา สมาชิกได้ลงมติในร่าง พ.ร.ป.ส.ว. ด้วยคะแนน 202 เสียง ต่อ 1 เสียง งดออกเสียง 13 เสียง ดังนั้นรายชื่อดังกล่าวต้องมาจากสมาชิกที่ไม่เห็นด้วย 1 คน งดออกเสียง 13 คน และสมาชิกที่ไม่มาร่วมประชุมในวันดังกล่าว 18 คน (รวม 32 คน) ให้ได้รายชื่อเพียง 25 คนขึ้นไป ก็สามารถยื่นต่อศาลได้ คาดว่าอาจจะมีการยื่นภายในสัปดาห์หน้า
เชื่อไม่กระทบโรดแมป
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เชื่อว่าจะไม่เป็นการดึงเวลา เพราะประเด็นการสมัคร ส.ว.ที่เป็นห่วงอยู่นั้น เป็นประเด็นข้อกฎหมายคงใช้เวลาไม่นาน และได้มีการเผื่อเวลาไว้แล้ว แต่หากยื่นไปแล้วศาลตีความว่าขัดรัฐธรรมนูญอาจจะกระทบ แต่อย่าไปสมมุติเช่นนั้น ถึงอย่างไรเชื่อว่าหากมีการยื่นตีความจะยื่นแต่มาตราที่ตั้งข้อสังเกตกัน หากมีปัญหาศาลจะส่งกลับมาให้แก้ไขเฉพาะมาตรานั้น มั่นใจว่าไม่มีอะไรกระทบโรดแมป ตามที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. เคยบอกว่าจะส่งหรือไม่ส่งศาลตีความ เป็นเพียงโรดแมปเล็กที่อยู่ในโรดแมปใหญ่ เพราะฉะนั้นมันไม่เกินโรดแมปใหญ่ไป
ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นวันที่ 6 ของการเปิดให้จดแจ้งจัดตั้งพรรคการเมือง ปรากฏว่ายังคงมีกลุ่มการเมืองทยอยเดินทางยื่นขอจดแจ้งอย่างต่อเนื่อง โดยวันนี้มี 5 กลุ่ม คือ กลุ่มนายสุรพจน์ เพชรกรรพุม ยื่นคำขอตั้งพรรคเพื่อฅนไทย, นายสมัคร พรมวาด ยื่นคำขอตั้งพรรคภูมิพลังเกษตรกรไทย, นายพิเชษฐ สถิรชวาล ยื่นคำขอตั้งพรรคประชาธรรมไทย, นายอนุชิต งามพัฒนพงศ์ชัย ยื่นคำขอตั้งพรรคมติประชา และนายดวงใจ เชื้อคำเพ็ง ยื่นคำขอตั้งพรรคไทยสาธุชน ทำให้มียอดกลุ่มการเมืองขอตั้งพรรคแล้ว 55 พรรค
ส่วนพรรคของกลุ่ม กปปส. ที่นายธานี เทือกสุบรรณ น้องชายนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (มปท.) ระบุว่า จะมายื่นขอจดแจ้งจัดตั้งพรรคภายในวันที่ 6 มี.ค. ล่าสุด นายธานีระบุว่า ยังไม่ชัดเจนว่าจะมาจดจัดตั้งพรรคใหม่ได้เมื่อใด เพราะอยู่ระหว่างการเคลียร์กันอยู่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในจำนวนกลุ่มการเมืองที่มาขอตั้งพรรค มี 7-8 กลุ่ม ที่ได้ทำหนังสือขออนุญาต คสช.จัดประชุมผู้ร่วมจัดตั้งพรรค และหาสมาชิกพรรคให้ครบตามที่กฎหมายกำหนด โดยสำนักงาน กกต.ได้ตรวจสอบหนังสือแล้วปรากฏว่า มีเพียง 1 กลุ่มที่เอกสารถูกต้อง และได้ส่งให้ คสช.พิจารณาแล้ว ขณะที่กลุ่มการเมืองที่เหลือกรอกรายละเอียดไม่ครบตามเงื่อนไข ทางสำนักงานจึงได้ส่งกลับไปให้แก้ไข และในวันนี้ทางสำนักงานจะได้ส่งตัวอย่างการกรอกแบบฟอร์มไปให้กับกลุ่มการเมืองต่างๆ ด้วย ส่วนเรื่องคุณสมบัติของผู้ร่วมจัดตั้งพรรคนั้น ทางสำนักงาน กกต.ได้ทยอยส่งให้ 8 หน่วยงาน อาทิ ป.ป.ช. กรมราชทัณฑ์ ศาลยุติธรรม สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และสำนักงาน ก.พ. ตรวจสอบคุณสมบัติ
ด้านนายพิเชษฐ สถิรชวาล อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศ เข้ายื่นจดแจ้งจัดตั้งพรรคในนามพรรคประชาธรรมไทย กล่าวว่า พรรคเรามีจุดยืนเน้นการแก้ปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และกรุงเทพฯ ด้วยตนทำงานในด้านนี้จึงเห็นถึงความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ถ้าเราได้รับการสนับสนุนเราจะสามารถไปแก้ปัญหานี้ ส่วนพื้นที่ กทม.โดยเฉพาะพื้นที่ตะวันออก เช่น เขตพระราม 9 ห้วยขวาง ดินแดง พระโขนง อย่างไรก็ตาม พรรคเราจะส่งผู้สมัครลงทั่วประเทศ ฉะนั้นพรรคเราจะมีสมาชิก เช่น ข้าราชการ ทหาร ทนายความ และนักธุรกิจ
เมื่อถามว่า มีหลายกลุ่มที่เข้ามาจดแจ้งพรรคและพร้อมยืนยันจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นนายกฯ คนนอก นายพิเชษฐกล่าวว่า ตนพร้อมเป็นนายกฯ ถ้าประชาชนเลือก เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้เอื้อให้กับพรรคเล็ก ทุกคะแนนเสียงมีความสำคัญ ขึ้นอยู่ที่การตัดสินใจของประชาชน
ไม่ติดใจพรรคไพร่หมื่นล้าน
พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. ในฐานะเลขาธิการ คสช. กล่าวถึงกรณีที่พรรคการเมืองใหม่จดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ว่า ถ้ามองในภาพการเมืองนับเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่มีการจัดตั้งพรรคเป็นจำนวนมาก และมีความหลากหลาย จึงเป็นการตื่นตัวทางการเมือง รวมทั้งเป็นทางเลือกให้ประชาชนสามารถได้หลายตัวเลือก ส่วนการที่กลุ่ม กปปส.ที่เคยเป็นกลุ่มม็อบการเมือง แต่จะตั้งพรรคการเมืองนั้น ตนไม่ได้มองในเรื่องนี้ ตนเองไม่เกี่ยว ถ้าจัดตั้งพรรคมาแล้วเป็นที่ยอมรับของพี่น้องประชาชนอย่างไร สิ่งนี้ต่างหากเป็นเรื่องสำคัญ และคิดว่าคงไม่มีความขัดแย้ง เพราะหน้าที่หลักของตนจะดูแลด้านความมั่นคง เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งให้ได้ ซึ่งเรื่องก่อนหน้านี้ไม่มีปัญหาอะไร และเชื่อมั่นว่าจะดูแลสถานการณ์ได้
เมื่อถามถึงกรณี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ตั้งพรรค แล้วมีนายปิยบุตร แสงกนกกุล นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ ผู้ซึ่งเคลื่อนไหวแก้ไข ป.อาญา มาตรา 112 เลขาธิการ คสช. กล่าวว่า ทุกคนมีสิทธิ์จัดตั้งพรรค แต่จะได้รับการสนับสนุนมากน้อยแค่ไหนจากประชาชนเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ละคนก็จะมองว่าพื้นฐานแต่ละพรรคเป็นอย่างไร เชื่อว่าทุกอย่างขึ้นอยู่กับวิจารญาณของประชาชน การเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงนี้ ไม่เชื่อว่าจะนำมาซึ่งความวุ่นวาย ไม่มีอะไรจะต้องกังวล การที่คนรุ่นใหม่เข้ามาเล่นการเมืองจะคาดหวังหรือไม่คาดหวัง เป็นเรื่องปกติ บ้านเมืองเราจะเป็นยุคสมัยเปลี่ยนผ่านไป การเลือกตั้งขึ้นอยู่กับประชาชนว่าคิดเรื่องเหล่านี้อย่างไร
ที่โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และนายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย ร่วมเสวนาในงาน "CLSA Asean Forum 2018 : The Future of Thai politics : Election Ahead" หรือ "การเลือกตั้งไทยในอนาคต" โดยนายอภิสิทธิ์กล่าวถึงกรณี สนช.มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับ ว่า เชื่อว่าไม่น่าจะไม่มีผลกระทบต่อการเลือกตั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์ประกาศไว้ว่า จะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 แม้จะมีการเปิดช่องทางให้สามารถยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ แต่เชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญจะดำเนินการตามกรอบเวลา 90 วัน ซึ่งคาดว่ากฎหมายที่จะถูกส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความคือ กฎหมายการได้มาซึ่ง ส.ว. แต่จะบอกว่าไม่มีผลกระทบเลยก็ไม่ได้ เชื่อมีผลกระทบ แต่คาดว่ามีผลไม่นาน
ส่วนที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ จะจัดตั้งพรรคการเมือง จะเป็นการแย่งฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่นั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ไม่กังวล เพราะถือเป็นสิทธิ์ของทุกคนที่จะจัดตั้งพรรคการเมืองได้ แต่ยอมรับว่าพรรคประชาธิปัตย์ต้องทำงานหนักขึ้น เพราะคนของ กปปส.ก็เป็นส่วนหนึ่งในฐานเดียวของพรรค ส่วนกรณีที่พรรคการเมืองจะสนับสนุนนายกฯ คนนอกนั้น ตนไม่กังวล แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะไม่เคยปฏิเสธ หรือยอมรับว่ามีพรรคการเมืองเสนอชื่อ
ทั้งนี้ ระหว่าง 3 พรรคการเมืองจะมีโอกาสจับมือกันเพื่อป้องกันนายกฯ คนนอกหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า พรรคการเมืองแต่ละพรรคต่างมีจุดยืนของตัวเอง ซึ่งบางจุดยืนของแต่ละพรรคก็มีโอกาสตรงกันได้ ยืนยันว่าไม่ใช่การจับมือ หรือบางคนอาจกล่าวหาว่าเป็นการสมคิดกันซึ่งไม่ใช่
ขณะที่นายจาตุรนต์กล่าวว่า ไม่แปลกใจกับพรรคใหม่ที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ให้เป็นนายกฯ ขณะเดียวกันมองไม่เห็นศักยภาพของพรรคการเมืองที่จะสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ ดังนั้นหาก พล.อ.ประยุทธ์จะมาเป็นนายกฯ ต่อ ก็เชื่อว่าจะต้องหาวิธีอื่นหรือใช้ช่องทางพิเศษในกระบวนการกฎหมายหรือการกระทำใดที่ทำให้พรรคการเมืองเดิมอ่อนแอจนต้องสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ซับซ้อน แต่ก็จะต้องรอดูต่อไป ส่วนพรรคเพื่อไทยยืนยันชัดเจนว่าเราไม่สนับสนุนนายกฯ คนนอก ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทยจะจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์ในอนาคตนั้น ตอนนี้พรรคยังไม่สามารถดำเนินกิจกรรมใดๆ ได้ จึงยังไม่สามารถให้คำตอบได้
ส่วนกรณีที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานบริหาร กลุ่มบริษัทไทยซัมมิท จะตั้งพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่นั้น นายจาตุรนต์เห็นว่า เป็นสิ่งที่ดีสำหรับการเมืองไทย ที่จะมีคนใหม่ๆ มาเล่นการเมือง เพราะนายธนาธรก็ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ ซึ่งน่าจะมีประโยชน์ต่อการบริหารบ้านเมือง
นายอนุทินกล่าวว่า ตนยังเชื่อมั่นว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศยืนยันโรดแมป เพราะผลการเลือกตั้งจะเป็นตัวชี้วัดว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะเป็นอย่างไร
เทือกเมินทะเลาะมาร์ค
ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ให้สัมภาษณ์กรณีมีข้อกังวลอาจมีผู้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความกฎหมายลูก 2 ฉบับ ว่าอย่ามองอะไรในแง่ร้ายมากไป มองในแง่ดีไว้ ว่าเมื่อกฎหมายผ่านแล้ว นายกฯ ก็จะนำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อทรงลงพระปรมาภิไธยเมื่อไร อีก 90 วันก็จะมีผลใช้บังคับ และอีก 150 วันก็จะต้องมีการเลือกตั้ง มองอะไรในแง่ดีไว้ดีกว่า
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีนายธานี เทือกสุบรรณ อดีตส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ประกาศตั้งพรรค นายสุเทพกล่าวว่า นายธานีเป็นประชาชนคนหนึ่ง และบังเอิญนายธานีคิดว่าจะทำพรรคการเมืองของประชาชน เพื่อจะผลักดันให้มีการปฏิรูปประเทศตามเจตนารมณ์ของประชาชน ตนคิดว่ายังมีประชาชนที่มีแนวคิดอย่างนี้อีกมากมาย ส่วนที่มีมวลชนของ กปปส.เสนอให้ตั้งพรรค คงไม่ใช่ ตนบอกแล้วว่าเคยประกาศตัวชัดเจนไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง แล้วไม่ต้องการเป็น ส.ส. ไม่ต้องการตำแหน่งทางการเมือง และจะไม่เข้าไปดำรงตำแหน่งเมืองในพรรคการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าประชาชนตั้งพรรคการเมืองก็เรียกใช้ได้
ส่วนกรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศว่าจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์กับ กปปส.แตกต่างกัน นายสุเทพกล่าวว่า "นายอภิสิทธิ์พูดไปคนเดียวเถอะ อย่ามาชวนผมไปทะเลาะกับนายอภิสิทธิ์เลย"
น.ต.สุธรรม ระหงษ์ ผู้อำนวยการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การที่พรรคให้สมาชิกแจ้งความจำนงว่ายังอยู่กับประชาธิปัตย์อยู่นั้น ไม่ได้เป็นการเช็กชื่อหรือเช็กยอดอะไร เพียงแต่สมาชิกพรรคมีมากถึง 2.5 ล้านคน จึงไม่รู้ว่าเมื่อถึงเวลาแล้วสมาชิกจะมารายงานตัวกันกี่คน จึงต้องให้แจ้งเข้ามาก่อน เพื่อทางพรรคจะได้เตรียมอำนวยความสะดวกไว้ให้ โดยพรรคจะเปิดให้สมาชิกเข้ามายืนยันตัวตนตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. แม้จะเป็นวันหยุด แต่พรรคยังทำการอยู่ เชื่อว่าสมาชิกจะมากันมากในวันที่ 1 เม.ย. รวมทั้งวันที่ 6 เม.ย. ที่เป็นวันเกิดของพรรค และต้องทำพิธีต่างๆ จึงเชื่อว่าคนจะมามาก ทั้งนี้ สมาชิกเก่าจะต้องยืนยันภายในวันที่ 30 เม.ย. ส่วนสมาชิกตามต่างจังหวัดนั้น ทางพรรคจะประชาสัมพันธ์ผ่านเว็บไซต์พรรค ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. เนื่องจากขณะนี้ยังติดคำสั่ง คสช. ดังนั้น เราจึงไม่สามารถทำอะไรได้
"พรรคได้ให้รองหัวหน้าพรรคแต่ละภาคบริหารกันเองว่าจะให้สมาชิกยืนยันถึงวันไหน ซึ่งที่เป็นประเด็นออกมา เพราะนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรค ภาคใต้กำหนดให้ยืนยันภายในวันที่ 9 มี.ค. ซึ่งเท่าที่ผมได้ดูคร่าวๆ อดีต ส.ส.ภาคใต้มากันเกือบครบ จึงเชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร" ผอ.พรรคประชาธิปัตย์กล่าว
ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(ท่าพระจันทร์) มีการจัดงาน “วันอาจารย์ อึ๊งภาภรณ์ ประจำปี 2561” โดยในเวลา 09.30 น. มีการปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภาภรณ์ เรื่อง “ประเทศไทยในความคิด ความคิดในประเทศไทย” โดยนายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
โดยนายเสกสรรค์กล่าวตอนหนึ่งว่า เฉพาะหน้าเราสามารถแบ่งชุดความคิดที่ขัดแย้งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ แนวคิดฝ่ายอนุรักษนิยม และแนวคิดฝ่ายก้าวหน้า ซึ่งนับว่ากว้างมาก เพราะในรายละเอียดยังมีกิ่งก้านสาขาอีกมากมาย และยังมีระดับความเข้มข้นเจือจางแตกต่างกัน โดยฝ่ายอนุรักษนิยม อาจรวมตั้งแต่พวกที่มีแนวคิดชาตินิยม รัฐนิยม และจารีตนิยมอย่างเป็นระบบ จนถึงพวกต่อต้านคอร์รัปชัน ถือศีลกินผัก เป็นอาสาสมัครในวันหยุด ส่วนฝ่ายหัวก้าวหน้า มีตั้งแต่นักประชาธิปไตย นักเสรีนิยม นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน และยังมีผู้คนอีกจำนวนมาก ที่มีความคิดผสมผสานทั้ง 2 รูปแบบ
นายเสกสรรค์ตั้งข้อสังเกตว่า ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศไทยไม่ได้เกิดขึ้นจากแนวคิดที่แตกต่างเพียงอย่างเดียว หากเป็นความคิดที่เชื่อมโยงกับกลุ่มผลประโยชน์ ความสัมพันธ์ทางอำนาจ และประเด็นเชิงโครงสร้างอื่นๆ อีก ฝ่ายอนุรักษนิยมมีปัญหาเรื่องกาละ ส่วนฝ่ายหัวก้าวหน้ามีปัญหาเรื่องเทศะ ซึ่งการที่ทั้งสองฝ่าย แข่งกันบรรจุชุดความคิดฝ่ายตนลงไปใน space and time ของประเทศไทยในปัจจุบัน นับเป็นเรื่องที่กดดันสังคมอยู่ไม่น้อย
แนะถอยคนละก้าว
"ฝ่ายอนุรักษนิยมค่อนข้างมีความได้เปรียบในการช่วงชิงพื้นที่ความคิด เนื่องจากมีโครงสร้างอำนาจรัฐคอยค้ำจุนอยู่ ผ่านระบบการศึกษา และเครื่องมือบังคับควบคุมสามารถผลิตซ้ำชุดความคิดอนุรักษ์ในรูปของอุดมการณ์แห่งรัฐ และสิ่งที่เรียกว่าอัตลักษณ์ของชาติอย่างสม่ำเสมอ และขยายต่อในรูปแบบที่ไม่เป็นทางการโดยจินตนาการที่มีพลังที่สุดอย่างหนึ่งของใยอนุรักษนิยมคือ “ความเป็นคนดี” ซึ่งผูกโยงกับเรื่องศีลธรรม บุญบาป อย่างแยกไม่ออก ขณะเดียวกันก็ตัดขาดจากประเด็นชนชั้นและกลุ่มผลประโยชน์ ตลอดจนโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคม"
อดีตผู้นำยุค 14 ตุลา กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาเราเคยใช้วิธีการลือกตั้ง เพราะถ้าคิดว่าเลือกผิดก็เลือกใหม่ นอกจากนี้ยังมีระบบลงโทษผู้ปกครองที่ออกนอกลู่นอกทาง กระทั่งเอาลงจากตำแหน่งได้ แต่แล้วจู่ๆ ก็มีคนกลุ่มหนึ่งบอกว่าวิธีนั้นใช้ไม่ได้ นัยเรื่องความเป็นคนดี คนไม่ดีของเขาบ่งชัดว่าบ้านนี้เมืองนี้ มีคนที่ควรทำหน้าที่เป็นชนชั้นปกครองอย่างถาวร และมีคนที่ควรถูกปกครอง หรือถูกควบคุมความประพฤติอย่างถาวรเช่นกัน และอุปสรรคใหญ่อย่างหนึ่งคงอยู่ที่ชนชั้นนำภาครัฐ ซึ่งพยายามทวงคืนอำนาจครั้งแล้วครั้งเล่าจากการสืบทอดอำนาจจากกลไกรัฐซึ่งถูกสร้างขึ้นก่อนระบอบประชาธิปไตย
"ขณะที่ฝ่ายประชาธิปไตยเอง ก็มีจุดอ่อนข้อผิดพลาดด้วยเช่นกัน เนื่องจากในแต่ละช่วงที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย นักการเมืองมักเป็นผู้เล่นหลักมากเกินไป ขณะที่นักการเมืองส่วนใหญ่มีแนวคิดประชาธิปไตยค่อนข้างแคบ อาศัยแต่การเลือกตั้งเป็นหนทางขึ้นสู่อำนาจ และหมกมุ่นอยู่กับบทบาทในรัฐสภาจนลืมความสำคัญขององค์ประกอบอื่นๆ จึงไม่มีการขยายพื้นที่ประชาธิปไตยออกไปในระดับโครงสร้าง"
นายเสกสรรค์กล่าวว่า ในระยะ 4 ปีมานี้ บทบาทของนักการเมืองถูกจำกัดลงจนแทบไม่มีเหลือ การเคลื่อนไหวใดๆ ล้วนถูกปิดกั้น การหมดบทบาทชั่วคราวของนักการเมืองมิได้หมายความว่าแนวคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพจะพลอยเงียบสงัดไปทั้งหมด ประเทศไทยจำเป็นต้องมีเสรีภาพทั้งทางการเมืองและทางสังคม เพราะเสรีภาพที่แท้จริงจะช่วยปลดเปลื้องประชาชนจากโซ่ตรวนแห่งการเอารัดเอาเปรียบ การกดขี่ครอบงำและความตื้นเขินทางปัญญา และอย่าปล่อยให้สิ่งที่ไม่ใช่เสรีภาพเข้ามาสวมรอยชูธงเดียวกัน
"สภาพของสังคมไทยทุกวันนี้ ชุดความคิดทั้ง pre-modern, modern และ post modern ต่างมาปรากฏอยู่ในช่วงเวลาและสถานที่เดียวกัน โดยมีคนไทยต่างกลุ่มเป็นเอเยนต์ เราย่อมไม่มีทางเลือกเป็นอื่น นอกจากต้องอดทนต่อกันและกัน และยอมรับความแตกต่าง แต่เรื่องที่ไม่ต้องอดทน และไม่ควรอดทนคือ การกดขี่ ข่มเหง และละเมิดสิทธิผู้อื่น ไม่ว่ามันจะมาจากแนวคิดฝ่ายไหนก็ตาม ซึ่งเราจำเป็นต้องมีทั้งฝ่ายอนุรักษนิยมและฝ่ายก้าวหน้ามาช่วยกันสร้างพลวัตทางสังคม การอยู่ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าพวกเราแต่ละคนไม่ถอยห่างจากตัวเองหนึ่งก้าว เพื่อเปิดพื้นที่ปลูกศรัทธาในเพื่อนมนุษย์ที่ไม่ได้เหมือนเราเสียทีเดียว แต่เราต้องเชื่อมั่นว่าภายใต้ผิวพรรณหลากสี และเรื่องราวที่หลากหลาย คือจิตวิญญาณมนุษย์อันเป็นสากล และนั่นคือสิ่งที่เรามีร่วมกัน" นายเสกสรรค์ กล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |