การเรียกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าว่า รัฏฐาธิปัตย์ เป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ และอำนาจของ คสช.มีมากน้อยเพียงใด เป็นประเด็นที่ถูกตั้งคำถามตลอดมา
เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายณรงค์ ดูดิง อดีต ส.ส.ยะลา พรรคประชาธิปัตย์ออกมาให้ความเห็นว่า เมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญ (รธน.) ฉบับถาวรเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 ซึ่งผ่านการออกเสียงประชามติเมื่อ 7 สิงหาคม 2559 รัฏฐาธิปัตย์ ของ คสช.ย่อมหมดสิ้นไปแล้ว
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ออกมาให้ความเห็นว่า คชส.สิ้นสภาพความเป็นรัฏฐาธิปัตย์มานานแล้ว โดยอ้างถึงคำพิพากษาของศาลฎีกาเมื่อปี 2496 และ 2505
“การที่ในประเทศไทยยอมรับกันเป็นการทั่วไปว่า คณะผู้ยึดอำนาจเป็นรัฏฐาธิปัตย์นั้น มาจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ตัดสินไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2496 (คำพิพากษาศาลฎีกา 45/2496) และ พ.ศ.2505 (คำพิพากษาศาลฎีกา 1662/2505) ซึ่งทำให้เกิดบรรทัดฐานว่า ผู้ที่ยึดอำนาจการปกครองบ้านเมืองสำเร็จย่อมเป็นรัฏฐาธิปัตย์ คือเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย หรืออำนาจสูงสุดในรัฐ ทำอะไรก็ไม่มีวันผิด และประกาศอะไร หรือมีคำสั่งอะไรมาบังคับประชาชนก็ทำได้ทั้งสิ้น โดยศาลจะยอมรับเป็นกฎหมายใช้บังคับประชาชนให้”
นายปริญญาชี้ว่า คสช.เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยหรืออำนาจสูงสุดในรัฐ คสช.เป็นรัฏฐาธิปัตย์แค่ 22 วันเท่านั้น คือ 22 พฤษภาคม 2557 - 22 กรกฎาคม 2557 คสช.จะทำอะไรก็ได้ แต่หลังประกาศใช้ รธน.ฉบับชั่วคราว 2557 ในวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 ได้บัญญัติให้อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย รัฏฐาธิปัตย์ของ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องสิ้นสุดลง
แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น? คสช.ยังมีอำนาจเบ็ดเสร็จต่อมาจนถึงวันนี้ และคงจะเป็นรัฏฐาธิปัตย์ไปจนกว่าจะมี ครม.ชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศแทนที่ การเรียก คสช.ว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์ได้หรือไม่ ไม่สำคัญเท่ากับสิ่งที่บัญญัติไว้ใน รธน.และการปฏิบัติของ คสช.
ผู้ที่เกี่ยวข้องกับ รธน.โดยตรงที่ควรจะให้ความสนใจและหาคำตอบให้ได้ ได้แก่ผู้ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ทั้งตำรวจ ทนายความ อัยการ ศาลยุติธรรม (ใช้อำนาจตุลาการ) ศาลทหาร/ องค์กรอิสระ ได้แก่ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง กกต. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ/ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะทำหน้าที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติแทนสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา/ คณะรัฐมนตรี ทำหน้าที่ใช้อำนาจบริหาร/ สถาบันวิชาการทางกฎหมาย เช่น คณะนิติศาสตร์ เนติบัณฑิตยสภา/ สถาบันวิชาการทางด้านรัฐศาสตร์ เช่น คณะรัฐศาสตร์/ สื่อสารมวลชน
เพราะถ้าตอบไม่ได้และหากคำตอบไม่อยู่ในทำนองครองธรรมที่ควรจะเป็นย่อมกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่
สิ่งที่พิลึกพิลั่นและดูพิกลที่ทำให้สังคมคลางแคลงใจ
ประการแรก การยกเอาอำนาจเบ็ดเสร็จของ คสช. คือมาตรา 44 ที่อยู่ใน รธน.ชั่วคราว 2557 มาใส่ไว้ใน รธน.ฉบับถาวร มาตรา 265 และให้ คสช.ใช้อำนาจไปจนกว่าจะมี ครม.ชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ จึงเท่ากับว่า คสช.ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จมาแล้วเกือบ 4 ปี
ประการที่สอง มาตรา 3 ที่เขียนไว้ใน รธน.ชั่วคราว 2557 และ รธน.ถาวร 2560 จึงเป็นแค่ตัวอักษรที่เขียนไว้เท่ๆ เท่านั้นเอง ตามข้อความ
“อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้”
เพราะแท้จริงแล้ว อำนาจอธิปไตยเป็นของ คสช. มิใช่ของปวงชนชาวไทย
อำนาจอธิปไตยโดยหลักแล้ว ต้องแบ่งแยกกันและถ่วงดุลกัน แต่การใช้อำนาจของ คสช.ตามมาตรา 44 ซึ่งยกเอาอำนาจนี้มาอยู่ใน รธน.2560 เขียนว่า “.. หัวหน้า คสช.ดำเนินการใดๆ ก็ได้ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำ รวมทั้งการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว เป็นคำสั่ง หรือการกระทำ หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด”
รธน.2560 ร่างโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2558 นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน กรธ.
ที่สำคัญ นายมีชัยเป็นสมาชิกของ คสช.มาตั้งแต่วันที่ 11 กันยายน 2557
ดังนั้นนายมีชัยซึ่งเป็นมือกฎหมายของ คสช.ควรจะเป็นผู้ตอบคำถามถึงข้อโต้แย้งเกี่ยวกับเรื่องนี้ ให้ผู้เกี่ยวข้องได้รับทราบเพื่อจะได้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง?
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |