วงเสวนาวิกฤติตำรวจชี้เป็นมะเร็งแห่งชาติ ตัวแทนพรรคการเมืองหนุนเดินหน้าปฏิรูปเพื่อประชาชน ให้อัยการร่วมสอบสวน กระจายอำนาจ ด้าน พปชร.อ้างนายกฯ ดึงเรื่องไว้เพราะเป็นเรื่องใหญ่ต้องรอบคอบ ฟุ้งแต่งตั้งโยกย้ายละมุนไม่มีซื้อขายเก้าอี้ "วิรุตม์" ระบุ 3 เดือน พงส.ยิงตัวตาย 4 คน ไม่ใช่เงินไม่พอ แต่ไม่ถนัดกลัวพลาดเสี่ยงติดคุก เชื่อถ้าร่างกฎหมาย 3 ฉบับผ่านแก้ปัญหาได้ครึ่งหนึ่ง
ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน วันที่ 23 กันยายน มีการเสวนา เรื่อง "วิกฤติกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) พรรคการเมืองจะปฏิรูปให้เห็นเป็นรูปธรรมโดยเร็วอย่างไร" จัดโดยสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.), เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (คป.ตร.) และคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา โดยนายสุภาพ คลี่ขจาย เป็นผู้ดำเนินรายการ
โดยนายกษิต ภิรมย์ อดีต รมว.การต่างประเทศ กล่าวว่า เรื่องตำรวจเป็นมะเร็งแห่งชาติ ถือเป็นรัฐซ้อนรัฐ เราต้องตัดสินใจร่วมกันให้เป็นวาระแห่งชาติ ในการปฏิรูปต้องร่วมมือกันทั้งในสภาและนอกสภาให้ได้ในยุคนี้ อย่าฝากผีฝากไข้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เพราะประชาชนเรียกร้องให้ปฏิรูปมานาน แต่ท่านก็ไม่แก้ไขเสียที การปฏิรูปตำรวจเป็นการตัดสินใจทางการเมือง เหตุผลที่ต้องปฏิรูปตำรวจเพราะประชาชนรู้สึกไม่ปลอดภัยกับตำรวจ
"อยากจะยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่น ตำรวจแต่ละโรงพักขึ้นตรงกับผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการ เลือกตั้งของประชาชน ดังนั้นสิ่งที่อยากเสนอคือ 1.เราควรมีการกระจายอำนาจตำรวจให้ไปอยูที่ท้องถิ่น และจังหวัดนั้นๆ เพื่อให้เกิดการตัดสินใจสอดคล้องกับพื้นที่ และดำเนินการอย่างทันท่วงที และ 2.ตำรวจต้องไม่มาจากโรงเรียนเตรียมทหาร ยกเลิกโรงเรียนนายร้อยสามพราน" นายกษิตกล่าว
พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการ สป.ยธ.กล่าวว่า ประเทศที่เจริญแล้วอัยการต้องทำหน้าที่สอบสวนเป็นหลัก กรณี "น้องลัลลาเบล" อัยการไม่รู้เรื่องอะไรเลย ที่ผ่านมา 3 เดือนมีตำรวจยิงตัวตายไป 4 คน ไม่มีใครพูดอะไรเลย ประเทศเรามีการล้มคดีการสอบสวน ยัดข้อหา การซื้อขายตำแหน่งเพิ่งมามีเมื่อ 20 ปีมานี้ เพราะตอนนั้นมีการพิจารณาจากอาวุโส เป็นการเข้าแถวเรียงคิวกันเข้ามา แต่เดี๋ยวนี้เป็นการเรียงหน้ากระดาน แล้วจ่ายเงินให้เลือก มีการเช่าการเซ้งตำแหน่ง ตำรวจทุกวันนี้กลัวการแต่งตั้งโยกย้ายไปอยู่ไกลๆ ตำรวจควรอยู่กับจังหวัด ผู้ว่าฯ ต้องมีบทบาท ตอนนี้เรามีร่างกฎหมายปฏิรูปตำรวจสามฉบับ ถ้าปฏิรูปได้ก็จะแก้ปัญหาไปครึ่งหนึ่ง การให้อัยการไปร่วมสอบสวนเป็นเรื่องสำคัญมากๆ ทำให้คดีอาญาล้มคดีไม่ได้ เปลี่ยนแปลงพยานหลักฐานไม่ได้ สอบแล้วฉีกทิ้งไม่ได้
นายนิกร จำนง ผอ.พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า จากการฟังเรื่องการปฏิรูปตำรวจเห็นว่าไม่ได้เป็นการปฏิรูปเลย เพราะร้อยละ 90 มีแต่ตำแหน่ง เรื่องการแต่งตั้ง โยกย้าย คำถามคือแล้วประชาชนได้อะไร ทั้งที่ประชาชนต้องการการดูแลระงับเหตุ ซึ่งคนที่มีบทบาทมากคือร้อยเวร ดังนั้นหากจะปฏิรูปตำรวจต้องเริ่มเป้าหมายที่ประชาชน และเริ่มปฏิรูปที่ตำรวจชั้นประทวนให้มีศักดิ์ศรี มีรายได้ที่เพียงพอ อย่าเอาสิ่งสำคัญไปไว้ข้างล่าง
นายศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า การปฏิรูปตำรวจต้องทำทั้งโครงสร้าง เรื่องอำนาจการสอบสวนตนไม่เห็นด้วยที่ให้ตำรวจสอบฝ่ายเดียว เห็นว่าอัยการซึ่งเป็นผู้สั่งฟ้องควรทำเรื่องสอบสวนด้วยโดยมีตำรวจเข้าร่วมด้วย โดยเฉพาะสืบหาข้อเท็จจริง เรื่องนี้หากเป็นประโยชน์กับประชาชน พรรคภูมิใจไทยเอาด้วยอยู่แล้ว เพราะเป็นนโยบายของพรรคเช่นกัน เนื้อหาในร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูปตำรวจควรมีอะไรที่มากกว่าเรื่องยศตำแหน่ง หากแสดงให้เห็นมากกว่านี้คิดว่าน่าจะผลักดันให้นายฯ เสนกฎหมายเข้าสภาได้
นายนิรามาน สุไลมาน กรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า ที่ฟังมาเห็นว่าการปฏรูปตำรวจเพื่อตำรวจ ไม่ใช่เพื่อประชาชน สิ่งที่ตนอยากให้มีการปฏิรูปคือ ระบบการกล่าวหาให้เปลี่ยนเป็นระบบไต่สวน สมมุติจะจับผู้ต้องสงสัยต้องผ่านคณะกรรมการกลั่นกรองว่าจะจับคนนี้ด้วยความผิดฐานอะไร เพราะขณะนี้นึกจะจับใครใส่ร้ายใครก็ทำ แล้วไปตบทรัพย์เขา วันนี้ประชาชนกลัวมาก โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ เราอยู่ในวังวนแบบนี้มาตลอด ดังนั้นถึงเวลาสังคายนากระบวนการต้นทางครั้งใหญ่ รวมถึงปฏิรูปเรื่องการซื้อขายตำแหน่ง ตำรวจหลายคนอึดอัดที่ถูกเจ้านายสั่งทำยอดเพื่อโอกาสในการเลื่อนขั้น อาชีพตำรวจต้องปากกัดตีนถีบเพราะเงินเดือนน้อย ต้องพึ่งพ่อค้าวาณิช โดยเฉพาะพ่อค้าที่ทำอาชีพสีเทา สีดำ เป็นต้น นอกจากนี้ยังเห็นว่าเรื่องอำนาจสอบสวนไม่ควรเป็นของตำรวจ แต่ตำรวจควรทำเรื่องสืบสวน
นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เราไม่มีการดำเนินการเรื่องการปฏิรูปตำรวจที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ทำในหนึ่งปี กระบวนการยุติธรรมในขั้นต้นต้องเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง ส่วนตำรวจก็ต้องให้ความสำคัญเช่นกัน แต่ยึดถึงความเป็นธรรมก่อน ถ้าตั้งต้นได้ถูกต้องก็จะดำเนินการไปในทางเดียวกันได้ พรรคการเมืองต้องร่วมกันปฏิรูปตำรวจ และพรรคเองก็มีข้อมูลเรื่องการปฏิรูปตำรวจที่ผ่านการสังเคราะห์จากภาคประชาชนมาแล้ว ถ้า ครม.ไม่มีการเคลื่อนไหวเรื่องนี้ หลังจากมีกรรมการพิจารณากฎหมายแล้วจะลงรายละเอียด
นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ และประธานกรรมาธิการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า เรื่องนี้นายกฯ คงคิดว่าประชาชนจะได้อะไร ข้าราชการตำรวจจะได้อะไร เรื่องการปฏิรูปตำรวจเป็นเรื่องใหญ่ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ส่วนเรื่องซื้อขายตำแหน่งวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ลงมาดูแล คิดว่าเรื่องการโยกย้ายละมุนมาก เพื่อความโปร่งใสอาจจะมีบ้างในระดับล่างที่ฉกฉวยโอกาสตรงนี้ ส่วนเรื่องกระจายอำนาจให้เป็นของจังหวัดนั้น มองว่าพื้นที่ต้องมีความพร้อมมากกว่านี้ หากกระจายไปทั้งที่ยังไม่มีความพร้อมจะยิ่งมีความเหลื่อมล้ำมากขึ้น จะเป็นการสร้างอสูรตัวใหม่ ที่นายกฯ ดึงเรื่องนี้ในมือเพราะเห็นเป็นเรื่องใหญ่ ต้องทำอย่างรอบคอบ
ช่วงท้าย พ.ต.อ.วิรุตม์กล่าวด้วยว่า เราไม่ควรเอาเรื่องเงินเดือนหรือเงินตอบแทนมาพิจารณา จะต้องไม่จัดโครงสร้างให้ตำรวจเป็นแบบทหาร ไม่ต้องมีตำแหน่งแบบนั้น การที่พนักงานสอบสวนยิงตัวตายไม่ใช่ไม่มีเงิน แต่เพราะไม่มีความถนัด กลัวพลาด เสี่ยงต่อการติดคุกมากกว่า มาอยู่สอบสวนไม่มีอนาคต ดังนั้นปัญหาตำรวจไม่ใช่เรื่องเงิน แต่เป็นเพราะอำนาจเป็นพิษ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |