ประธานบอร์ด พอช.-ผู้ว่าฯ ประจวบฯ เยี่ยมชุมชนนำร่อง ‘อ่าว ก ไก่’ เคลื่อน 6 ยุทธศาสตร์แผนพัฒนาภาคประชาชนเพื่อความมั่นคงทุกมิติ


เพิ่มเพื่อน    

จ.ประจวบคีรีขันธ์/ ไมตรี  อินทุสุต  ประธานบอร์ด พอช. และผู้ว่าฯ จ.ประจวบคีรีขันธ์เยี่ยมชุมชนประมงพื้นบ้านนำร่องแผนพัฒนาภาคประชาชนในพื้นที่  ‘อ่าว ก ไก่ 4 จังหวัด ประจวบฯ-เพชรบุรี-สมุทรสงคราม-สมุทรสาคร    ใช้ยุทธศาสตร์  6 ด้านสร้างความมั่นคงในที่ดินทำกิน-ที่อยู่อาศัย  อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง ส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์  ท่องเที่ยว  พัฒนาคุณภาพชีวิตชาวประมงพื้นบ้าน  ฯลฯ  เป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและหลุดพ้นความยากจน  ก่อนขยายผลไปยังพื้นที่ชายฝั่งทะเลทั่วประเทศ

ตามที่ขบวนองค์กรชุมชน 4 จังหวัดในพื้นที่ภูมินิเวศ อ่าว ก ไก่ (อ่าวไทยตอนบนที่มีลักษณะ 4 เหลี่ยมคล้ายพยัญชนะ ก ไก่) คือ  ประจวบคีรีขันธ์  เพชรบุรี  สมุทรสงคราม  และสมุทรสาคร  ได้ร่วมกันจัดทำแผนพัฒนาภาคประชาชนระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ.2562-2565) เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินที่ไม่มั่นคงเนื่องจากอยู่ในพื้นที่ป่าชายเลน   ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่งเสื่อมโทรม  ตลอดจนปัญหาด้านเศรษฐกิจ  รายได้  ฯลฯ 

ขณะเดียวกันหน่วยงานต่างๆ ได้ร่วมกันให้การสนับสนุน  เช่น  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ สนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและการพัฒนาด้านต่างๆ  กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมผ่อนผันให้ประชาชนอยู่อาศัยในพื้นที่ป่าชายเลน (อยู่อาศัยก่อนปี 2557) ตามนโยบายของรัฐบาลนั้น

ชุมชนนำร่องอ่าว ก.ไก่  แก้ปัญหาที่อยู่อาศัย-อนุรักษ์ทรัพยากร

ล่าสุดระหว่างวันที่ 22-23 กันยายน  นายไมตรี  อินทุสุต  ประธานคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.  และคณะ  ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมการดำเนินการตามแผนพัฒนาภาคประชาชนที่ชุมชนบ้านปากคลองหมู่ที่ 5 ตำบลแม่รำพึง  อ.บางสะพานน้อย  จ.ประจวบคีรีขันธ์  เพื่อเยี่ยมชมการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยของชุมชน   การรักษาทรัพยากรธรรมชาติ  การจัดตั้งธนาคารปูม้าเพื่อขยายพันธุ์  ฯลฯ 

นายไมตรีเยี่ยมชุมชนบ้านปากคลอง

ทั้งนี้ชุมชนบ้านปากคลองมี 4 หมู่บ้าน  รวม  247 ครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยในที่ดินป่าชายเลนตามโครงการบ้านมั่นคงชนบทของ พอช.  โดย พอช.สนับสนุนการซ่อมแซมปรับปรุงบ้านเรือนที่ทรุดโทรมจำนวน 11.9 ล้านบาทเศษ  ดำเนินการตั้งแต่ปี 2560  ขณะนี้ซ่อมแซมบ้านไปแล้วประมาณ 70 %  จากจำนวนครัวเรือนทั้งหมด

ขณะเดียวกันชุมชนได้ร่วมกันเพาะพันธุ์และขยายสัตว์น้ำ  เช่น  จัดทำธนาคารปูเพื่อขยายพันธุ์ปูทะเลมาตั้งแต่ปี 2551 สามารถนำแม่พันธุ์ปูมาเพาะพันธุ์ได้ประมาณปีละ 1,500-1,700 ตัว  นอกจากนี้ยังทำ ซั้ง ในทะเลเพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน  ทำให้มีสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น  ชาวประมงพื้นบ้านสามารถจับปูได้มากขึ้น  จากเดิมวันละ 3-4 กิโลกรัม  เพิ่มเป็น 7-8 กิโลกรัมต่อวัน

ในวันที่ 23 กันยายน  นายไมตรี  อินทุสุต  พร้อมด้วยนายพัลลภ  สิงหเสนี  ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์  และผู้แทนจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง  พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) และนายอำเภอบางสะพานน้อย  ได้เดินทางที่ชุมชนบ้านหนองเสม็ดซิตี้  ต.บางสะพาน  อ.บางสะพานน้อย  ซึ่งเป็นชุมชนชายฝั่งทะเลที่กำลังดำเนินโครงการบ้านมั่นคงชนบท  ขณะเดียวกันชาวชุมชนได้ร่วมกันจัดตั้งธนาคารปูเพื่อเพาะพันธุ์ปูทะเล  และปล่อยพันธุ์ปูลงสู่ทะเลปีละหลายล้านตัว  เช่น  ต้นปี 2562 ที่ผ่านมา  ปล่อยปูประมาณ 3 ล้านตัวคืนสู่ทะเล

ทั้งนี้นายไมตรีได้มอบงบประมาณสนับสนุนโครงการบ้านมั่นคงชุมชนหนองเสม็ดซิตี้  จำนวน 29  ครัวเรือน  งบประมาณรวม 1,443,627 บาทให้แก่ผู้แทนชุมชน  และได้เยี่ยมชมธนาคารปูม้า  การแปรรูปอาหารทะเล  รวมทั้งร่วมกิจกรรมการซ่อมแซมบ้านตามโครงการบ้านมั่นคง  โดยมีเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน 4 จังหวัด  และชาวชุมชนเข้าร่วมงานประมาณ 120 คน

นายพัลลภ  ผวจ.ประจวบฯ และนายไมตรีร่วมกันเทปูนซ่อมบ้านให้ชาวหนองเสม็ดฯ

ผู้ว่าฯ ประจวบหนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย

นายไมตรี  อินทุสุต  ประธานคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวว่า  พอช.ทำงาน 4   เรื่องใหญ่  คือ 1.การสนับสนุนขบวนองค์กรชุมชน  เช่น  สภาองค์กรชุมชนตำบลให้ทำงานพัฒนาภาคประชาชน  มีการสร้างเครือข่ายต่างๆ เพื่อให้เกิดพลังในการพัฒนา  2.กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล  เพื่อนำเงินกองทุนมาช่วยเหลือสมาชิกในตำบล  ตั้งแต่เรื่องเกิด เจ็บป่วย  ทุนการศึกษา การพัฒนาเด็กและเยาวชน  ครอบครัว  ดูแลสิ่งแวดล้อม  ช่วยยามภัยพิบัติ  เสียชีวิต  ฯลฯ  ขณะนี้มีการจัดคตั้งกองทุนแล้วทั่วประเทศประมาณ  6,000 กองทุน  มีเงินรวมกันประมาณ 15,600 ล้านบาท

3.สนับสนุนการแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย  เช่น  ‘โครงการบ้านมั่นคงชนบท’ เพื่อให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง  ‘บ้านพอเพียงชนบท’ เพื่อสนับสนุนการซ่อมแซมบ้านเรือนครัวเรือนยากจนที่มีสภาพทรุดโทรม  ไม่ปลอดภัย  ให้มีความมั่นคงแข็งแรง  ขณะนี้ซ่อมแซมบ้านเรือนยากจนทั่วประเทศไปแล้วประมาณ 41,000 หลัง และปี 2563 จะดำเนินการอีกประมาณ 14,000 หลัง  และ 4.สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและทุนชุมชน  เพื่อให้ชุมชนมีเศรษฐกิจเข้มแข็ง  สามารถพึ่งพาตัวเองได้

“แต่ทั้งหมดนี้ พอช.ไม่ได้ทำงานเอง  พอช.มีบทบาทในการสนับสนุนการทำงานของขบวนพี่น้องประชาชน  โดยพี่น้องต้องไปขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง  โดย พอช.และหน่วยงานต่างๆ จะร่วมกันสนับสนุน  ช่วยกระตุ้นการทำงานของพี่น้อง  เช่นเดียวกับแผนการพัฒนาภาคประชาชนในพื้นที่อ่าว ก.ไก่ ที่พี่น้องลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหา  เริ่มจากเรื่องที่อยู่อาศัย และขยายผลไปยังสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิต  สิ่งแวดล้อม  การดูแลรักษาป่าชายเลน  และเรื่องอื่นๆ ต่อไป” นายไมตรีกล่าว

ขณะเดียวกันผู้แทนเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน 4 จังหวัดในพื้นที่ภูมินิเวศอ่าว ก  ไก่  คือ  ประจวบคีรีขันธ์  เพชรบุรี  สมุทรสงคราม  และสมุทรสาคร  ได้ยื่นหนังสือเสนอแผนพัฒนาภาคประชาชนระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ.2562-2565) ให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ด้วย

ผู้แทนภาคประชาชนมอบแผนพัฒนาอ่าว ก ไก่ ให้แก่ ผวจ.ประจวบฯ

นายพัลลภ  สิงหเสนี  ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์  กล่าวว่า  จังหวัดประจวบฯ มีทรัพยากรที่สำคัญ  ทั้งทะเลและภูเขาที่สวยงาม  มีวิสัยทัศน์ 4 ด้าน  คือ 1.เมืองท่องเที่ยวที่ทรงคุณค่า  2.เป็นเมืองหลวงของสับปะรด  มะพร้าว  ประมง  เป็นเมืองเกษตรปลอดภัย  ได้มาตรฐาน  3.มีด่านสิงขรเป็นด่านชายแดนเชื่อมอ่าวไทยกับฝั่งทะเลอันดามัน  เป็นระเบียงเศรษฐกิจในอนาคต  และ 4.สังคมผาสุก  มีการดูแลสิ่งแวดล้อม  พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน

“ดังนั้นการทำงานของ พอช.ที่สนับสนุนเรื่องการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของประชาชนให้เกิดความมั่นคง  การร่วมกันดูแลสิ่งแวดล้อม รักษาป่าชายเลน   จึงสอดคล้องกับวิสัยทัศน์และเป้าหมายของจังหวัดประจวบฯ ในการสร้างสังคมผาสุก   ซึ่งทางจังหวัดพร้อมที่จะให้การสนับสนุนทุกวิถีทาง”  ผวจ.ประจวบฯ กล่าว

ทั้งนี้จังหวัดประจวบฯ มีพื้นที่ที่ พอช. ดำเนินโครงการบ้านมั่นคงในพื้นที่ป่าชายเลนและพื้นที่สาธารณะ  รวมทั้งหมด 17 โครงการ  ดำเนินการเสร็จแล้ว  9 โครงการ  อยู่ระหว่างการดำเนินการ 8 โครงการ  ใช้งบประมาณ รวม 76 ล้านบาทเศษ  มีผู้ได้รับประโยชน์รวม  1,198 ครัวเรือน

เดินหน้าเคลื่อนแผนพัฒนาภาคประชาชนอ่าว ก ไก่

นายพงษ์ศักดิ์ คำทรัพย์  คณะทำงานพัฒนาที่อยู่อาศัยจังหวัดประจวบคีรีขันธ์  กล่าวถึงแผนพัฒนาภาคประชาชนฯ ว่า  เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ภูมินิเวศอ่าว ก ไก่  ส่วนใหญ่เป็นชาวประมงพื้นบ้าน  มีปัญหาความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย   เพราะส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าชายเลน   ได้รับผลกระทบจากการทำประมงพาณิชย์  การจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมชายฝั่งทะเล  อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว  และผลกระทบจากสภาวะโลกร้อน  ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในทะเลและชายฝั่งถูกทำลาย  ความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำในอ่าว ก.ไก่ ที่เคยเป็นแหล่งอาหารสำคัญของประเทศลดน้อยลง   เกิดผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของชาวประมงพื้นบ้าน  รวมทั้งเกิดผลกระทบโดยรวมต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

 “ดังนั้นพวกเราในนามของผู้แทนขบวนองค์กรชุมชนทั้ง 4 จังหวัด  จึงได้รวบรวมข้อมูลและปัญหาต่างๆ  นำมาจัดทำเป็นแผนพัฒนาภาคประชาชน  เพื่อเป็นทิศทางในการพัฒนาและแก้ไขปัญหา  โดยมียุทธศาสตร์ 6 ด้าน  คือ 1.การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวประมงพื้นบ้าน  2.การฟื้นฟู  อนุรักษ์  การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืนและมีส่วนร่วม 

3.ยกระดับการแปรรูปสินค้าและการตลาดของชาวประมงพื้นบ้าน  4.ส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนประมงพื้นบ้าน  5.ฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวประมงพื้นบ้าน  และ 6.การปรับตัวเพื่อบรรเทาปัญหาของชาวประมงพื้นบ้านจากภาวะโลกร้อน  โดยมีเป้าหมายคือการจัดการพื้นที่ชายฝั่งอ่าวทะเล ก ไก่ อย่างยั่งยืน  เพื่อชาวประมงพื้นบ้านจะได้มีที่อยู่อาศัยและทำกินมั่นคง และหลุดพ้นจากปัญหาความยากจน”  ผู้แทนขบวนองค์กรชุมชนกล่าว

ผู้แทนขบวนองค์กรชุมชนฯ ยกตัวอย่างการฟื้นฟู  อนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งอย่างยั่งยืนและมีส่วนร่วมตามยุทธศาสตร์ที่ 2 ว่า  จะมีการจัดตั้งคณะทำงานและสร้างภาคีเครือข่ายขึ้นมา  เพื่อร่วมกันอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรต่างๆ  เช่น  การจัดการขยะและน้ำเสียไม่ให้ไหลทิ้งลงทะเล  โดยร่วมมือกับโรงงานอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ร่วมกันฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ เช่น  จัดตั้งธนาคารปู  ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำต่างๆ  และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในอ่าว ก ไก่  ฯลฯ

ธนาคารปูที่ชุมชนบ้านปากคลอง  อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบฯ

ใช้ที่อยู่อาศัยเป็นเครื่องมือพัฒนาทุกมิติ

ส่วนการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยในพื้นที่ป่าชายเลน 4 จังหวัด ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญของแผนดังกล่าว  มีเป้าหมาย  คือ จังหวัดสมุทรสาคร  รวม 616 ครัวเรือน  จังหวัดสมุทรสงคราม  รวม  76 ครัวเรือน   จังหวัดเพชรบุรี  รวม  89  ครัวเรือน   และประจวบคีรีขันธ์  รวม 502 ครัวเรือน  รวมทั้งหมด  1,283 ครัวเรือน  ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของประชาชนที่มีรายได้น้อย  เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม 

โดยในกรณีที่ดินป่าชายเลน  กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ผ่อนผันให้ประชาชนที่อยู่อาศัยในป่าชายเลนก่อนปี 2557  อยู่อาศัยได้  แต่ไม่อนุญาตที่ดินทำกิน   (ตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งแต่ คสช.เข้ามาบริหารประเทศในปี 2557) โดยมีคณะกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัด (คทช.จังหวัด) มีผู้แทนจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในท้องที่และท้องถิ่น  ผู้นำชุมชน  ฯลฯ  ร่วมเป็นคณะทำงาน  มีหน้าที่สำรวจข้อมูล  แปลงที่ดิน  จำนวนครัวเรือน  ตรวจสอบ  การบริหารจัดการ  และเสนออนุมัติ  โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ลงนามการอนุญาตให้ใช้ที่ดินป่าชายเลนเพื่อการอยู่อาศัย

นายปฏิภาณ  จุมผา  ผู้อำนวยการสำนักงานภาคกลางและตะวันตก  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  หรือ ‘พอช.’กล่าวว่า  การแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยในป่าชายเลนตามแผนพัฒนาภาคประชาชน 4 จังหวัดนั้น   พอช.ให้การสนับสนุนชุมชนต่างๆ ที่ต้องการแก้ไขปัญหาตามโครงการบ้านมั่นคงชนบท  ซึ่งขณะนี้ส่วนใหญ่อยู่ในระหว่างการสำรวจข้อมูล  แปลงที่ดิน  จำนวนครัวเรือนที่เดือดร้อน  และตรวจสอบสิทธิ์ผู้ที่เดือดร้อน  ก่อนเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอนุญาตให้ใช้ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยอย่างถูกต้อง

ขณะที่บางชุมชนอยู่ในระหว่างการดำเนินโครงการ  เช่น  ชุมชนบ้านปากคลอง  และชุมชนหนองเสม็ดซิตี้  อ.บางสะพานน้อย  จ.ประจวบคีรีขันธ์  โดย พอช.สนับสนุนงบประมาณซ่อมแซมตามโครงการบ้านมั่นคงชนบท  เนื่องจากบ้านเรือนส่วนใหญ่ปลูกสร้างมานาน  มีสภาพทรุดโทรมเพราะถูกน้ำทะเลกัดเซาะ  เพื่อให้บ้านเรือนมีความมั่นคง  แข็งแรง  ผู้อยู่อาศัยมีความปลอดภัย  และนำไปสู่การพัฒนาด้านต่างๆ ต่อไป

“แนวทางการพัฒนาชุมชนในพื้นที่ป่าชายเลนเพื่อการอยู่ร่วมกันของ  ‘คน  ป่า และทะเล’ นั้น  พอช.ใช้เรื่องการแก้ไขปัญหาเรื่องบ้านหรือที่อยู่อาศัยเป็นเครื่องมือในการพัฒนา  เพราะนอกจากจะทำให้ชาวบ้านมีที่อยู่อาศัยและที่ดินที่มั่นคงแล้ว  ยังจะนำไปสู่การพัฒนาด้านต่างๆ  เช่น  การสร้างเครือข่ายประมงพื้นบ้านขึ้นมา  เพื่อร่วมกันฟื้นฟู  ดูแล  อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง  พัฒนาอาชีพประมงพื้นบ้าน  ต่อยอดไปสู่การท่องเที่ยวชุมชน  เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจชุมชน  โดยความร่วมมือกับหน่วยงานและภาคีเครือข่ายในท้องถิ่นต่างๆ  รวมทั้งการบูรณาการแผนงานและงบประมาณเข้าด้วยกัน  นอกจากนี้จะนำไปสู่การผลักดันให้มีการแก้ไขปัญหาเชิงนโยบายด้วย  โดยใช้พื้นที่อ่าว ก ไก่  เป็นต้นแบบ  ขยายผลไปสู่พื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศต่อไป”  นายปฏิภาณกล่าว

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"