23ก.ย.62“สมพงษ์” จวกการขับเคลื่อนงานการศึกษา ศธ. อืด ผิดหวังหลายเรื่อง 2เดือนยังไม่เห็นโครงสร้างนโยบายที่ชัดเจน ชี้สังคมคาดหวัง"ณัฏฐพล"จะเป็นตัวจริงเสียงจริง แต่กลับไม่เห็นอะไร การขับเคลื่อนการศึกษาไม่แตกต่างจากที่ผ่านมา เหตุคล้อยตามฟังข้าราชการมากเกินไป ย้ำเรื่องให้สอบ 100% และยุบรร.ขนาดเล็ก เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ถ้าทำจริงเท่ากับทิ้งเด็กมากมายไว้ข้างหลัง
นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการขับเคลื่อนงานของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า ตลอดระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา ตนคาดหวังว่าวิธีการคิดการตัดสินใจจากภาคเอกชน จะฉับไว รวดเร็ว ตรงกับสิ่งที่เป็นที่ปัญหาสังคมด้านการศึกษาของประเทศไทยที่มีจำนวนมากมาย แต่ขณะนี้ถือว่าค่อนข้างผิดหวัง อีกทั้งตอนนี้ยังไม่เห็นถึงความชัดเจนของโครงสร้างของนโยบายเลย ซึ่งงานที่ออกมาจะพบว่าเป็นงานที่เป็นไปตามความสนใจของรัฐมนตรีแต่ละคน เช่น เรื่องกัญชา โค้ดดิ้ง เป็นต้น แต่องค์รวมของนโยบายของรัฐบาลชุดนี้เรายังไม่เห็นชัดเจน เพราะสังคมตั้งความหวังไว้ว่านายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) น่าจะเป็นตัวจริง เสียงจริงสักที แต่ปรากฏว่าระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่าน คำตอบเราก็ยังไม่เห็น ดังนั้นนายณัฏฐพล จำเป็นที่จะต้องหลักที่รวบรวมนโยบายหลักที่จะใช้ในการขับเคลื่อนการศึกษาของประเทศ
“เรากับพบความผิดหวังในหลายเรื่อง ทั้งการที่รัฐมนตรีฟังเสียงข้าราชการมากกว่าบุคคลภายนอก ที่เป็นนักวิชาการหรือแม้แต่กลุ่มภาคประชาสังคมด้านการศึกษา ศธ.ไม่มีการฟังเสียงการทักท้วงเรื่องการสอบเข้าศึกษาต่อ 100% การยุบโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งผมมองว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ข้าราชการต้องการให้ระบบเอื้อกับ ศธ. ไม่ได้เอื้อกับบุคคลภายนอกหรือตัวเด็ก เรื่องการสอบเข้า 100% แน่นอนว่าทุกคนต้องการที่จะสอนเด็กเก่งทุกคน แต่หากมองมาข้างหลังเราจะพบว่าเราทิ้งเด็กไว้อีกกี่ล้านคน แม้ว่าจะมีการระบุว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นละเอียดอ่อน แต่ส่วนตัวผมมองว่าเป็นเรื่องของการไม่กล้าตัดสินใจ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีการพูดกันในวงการภายนอก ว่า หาก ศธ.ยังคงเดินหน้าที่จะยุบโรงเรียนขนาดเล็ก และการสอบเข้า 100% เราจะปฏิเสธความร่วมมือกับ ศธ. ซึ่งถือว่าเป็นการส่งสัญญาณอันตราย ว่า การขับเคลื่อนการศึกษาไทยอยู่แค่ใน ศธ. ผมจึงอยากขอร้องให้มีการคิดเรื่องนี้ใหม่และทบทวนให้ดี รวมถึงฟังเสียงจากบุคคลภายนอกให้มากกว่านี้”อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว
นายสมพงษ์ กล่าวต่อว่า สำหรับปัญหาเร่งด่วนที่จำเป็นจะต้องได้รับการแก้ไขขณะนี้ คือ เรื่องโครงสร้างและระบบ ต้องจัดการความขัดแย้งระหว่างสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) และการปรับปรุงหลักสูตรที่มีการตั้งคณะกรรมการโดยกรรมการก็มาจากคนใน ศธ. ก็จะทำให้หลักสูตรกลายเป็นหลักสูตรที่มาจาก ศธ. ไม่มีการมองออกมายังภายนอก และต้องตั้งเป้าว่าหลักสูตรนี้จะตอบโจทย์เด็ก หรือ ข้าราชการ ซึ่งเนื้องานของ ศธ. ขณะนี้ร้อยละ 60-70 มาจากคนใน ศธ. ไม่มีส่วนร่วมจากภาคส่วนอื่น ทำให้ตนเห็นว่ากาาขับเคลื่อนงานการศึกษาไม่ได้แตกต่างจากที่ผ่านมา ทั้งที่สังคมคาดหวังว่าจะมีความแตกต่าง ทั้งนี้ยังมีเรื่องการวัดและประเมินผล ที่ยังคงเป็นวาทกรรมที่ยังไม่นำไปสู่การปฏิบัติที่เห็นผลอย่างจริงจัง ตนจึงมองว่าการขับเคลื่อนงานของ ศธ.ขณะนี้ยังขาดความหนักแน่น
“ผมมองว่าหากรัฐมนตรีของ ศธ. จริงใจกับระบบการศึกษาก็ควรเปิดรับฟังความเห็นจากภายนอก อย่าไปกลัวคนกลุ่มนี้ เพราะจะทำให้ ศธ. ได้ข้อมูลที่ตรงกับสิ่งที่ควรจะจัดการและตัดสินใจ ไม่ใช่ว่าปล่อยให้ระบบราชการกินรัฐมนตรี เพราะขณะนี้ ศธ. มีรัฐมนตรี 3 คน แต่มีผู้ที่ให้ทิศทางและนโยบายปัจจุบันมีมากกว่า 3 คน ทำให้ผมสงสัยว่าตกลงแล้วใครเป็นผู้กำหนดนโยบาย ทั้งนี้ผมคิดว่าควรที่จะให้มีการสำรวจและประเมินผลการทำงานในช่วงที่ผ่านมา 2 เดือน ว่าประชาชนพึงพอใจมากน้อยเพียงใด ซึ่งจะทำให้เรารู้ว่าการทำงานเป็นไปอย่างช้า และยังดูเหมือนไม่แน่ใจ รวมถึงทำงานกับระบบราชการมากเกินไป เมื่อถึงเวลาที่ต้องตัดสินใจในบางเรื่องก็ยังมีความลังเล”นายสมพงษ์ กล่าว