ส้มหวานปลุกผีเผด็จการชำเรารัฐธรรมนูญ


เพิ่มเพื่อน    


    แกนนำส้มหวานปลุกทุกสีทุกฝ่ายร่วมแก้ รธน.60 “ปิยบุตร” จวกวังวน ”อุตสาหกรรมนักร่างรัฐธรรมนูญ” ชงกันเอง ผลัดกันเกาหลัง ขังประชาชนในห้องมืด เป็นเผด็จการครึ่งใบ "ธนาธร" ซัดเผด็จการครึ่งใบทำโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ไม่เห็นหัว ปชช. ต้องหยุดระเบิดเวลา รธน.60 "เพื่อแม้ว" ลั่นทางออกเดียว ปชช.ร่วมฝ่ายค้านไล่รัฐบาลออกไป จับตา ส.ส.จะหักดิบกลางสภาโค่นล้มรัฐบาล "จตุพร" เตือนหากมุ่งเล่นการเมืองเอาชนะคะคานแก้ไขได้อยาก อดีต ส.ส.ร.ดักทางสร้างความขัดแย้งหาเสียงให้ตัวเองโดยไม่ตั้งใจ แก้แล้วโยนบาปฝ่ายอื่น
    เมื่อวันอาทิตย์ ที่ห้องประชุมบุษราคัม โรงแรมแกรนด์ รอยัล พลาซ่า จ.ฉะเชิงเทรา พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) จัดเวที “จินตนาการใหม่ ขอตกลงใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่ ประเทศไทยแบบไหนที่เราอยากอยู่ร่วมกัน” โดยนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค อนค. กล่าวปาฐกถาตอนหนึ่งว่า   รัฐประหารปี 2549 เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับหลัง ที่ออกแบบมาเพื่อการกำจัดศัตรูทางการเมืองของตัวเอง ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อฉันทามติร่วมกันของคนในสังคม แต่เพื่อแก้แค้นเอาคืนศัตรูทางการเมือง เมื่อลองไปแล้วไม่สำเร็จ ก็ต้องรัฐประหารซ่อมอีกครั้งเมื่อ 22 พ.ค.2557 รัฐธรรมนูญ 4 ฉบับหลัง จึงไม่สามารถสร้างฉันทามติและความสมานฉันท์ของคนในชาติได้ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่มาจากรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี บอกว่าไม่เกี่ยว เป็นการร่างโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) พูดให้ตายก็ไม่มีใครเชื่อ เพราะเชื่อมโยงการยึดอำนาจของ คสช. มีที่มาไม่ชอบธรรม 
    “รัฐธรรมนูญ 2560 ยังขาดความชอบธรรมในเรื่องการยกร่างที่ชงกันเอง ผลัดกันเกาหลัง วนเวียนอยู่ในอุตสาหกรรมของนักร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้นเอง นอกจากที่มาและกระบวนการไม่ชอบธรรม ยังมีปัญหาในเรื่องเนื้อหา ต้องการทำให้การรัฐประหารถูกต้องจนกัลปาวสาน และดึงบ้านเมืองถอยหลังลงคลองย้อนไปในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบเหมือนรัฐธรรมนูญปี 2521 ที่เลือกตั้งไปก็ได้ทหารคนเดิมกลับมาเป็นนายกฯ และกองทัพฝังตัวในการเมือง เอาการเลือกตั้งมาแต่งหน้าทาปากเพื่อบอกชาวโลกว่าเป็นประชาธิปไตย แล้วไม่ใช่ประชาธิปไตยครึ่งใบ แต่เป็นเผด็จการครึ่งใบด้วยซ้ำ และยังเป็นรัฐธรรมนูญที่ขังประชาชนในห้องมืด ถ้าใครริอ่านจะแก้รัฐธรรมนูญต้องผ่านด่านจำนวนมาก ต่อให้แก้รัฐธรรมนูญอย่างไรก็ตาม ก็อาจเกิดนายปราการด่านสุดท้ายคือศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่ให้แก้” นายปิยบุตรกล่าว
     นายปิยบุตรกล่าวอีกว่า เราจะออกจากรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เป็นห้องปิดตายได้อย่างไร ก็ต้องกลับไปสู่จุดเริ่มต้นว่าอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน ประชาชนเป็นผู้ทรงสิทธิ์ในการก่อตั้ง แก้ไข ยกเลิก เปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญได้เสมอ เพราะเราเป็นเจ้าของอำนาจ รัฐธรรมนูญจะต้องผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมในการออกแบบโดยประชาชนมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ 13 ปีที่ผ่านมา ประชาชนถูกขโมยอำนาจนี้ไปใช้กันเอง เขียนกันเอง ถึงเวลาแล้วที่จะต้องทวงคืนอำนาจการเขียนรัฐธรรมนูญให้กลับมาที่ประชาชนอย่างแท้จริง โดยต้องรณรงค์อย่างแข็งขัน เพื่อให้เกิดการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาให้ได้ เมื่อประชาชนมีฉันทามติร่วมกัน ก็ไม่มีใครจะมาต้านทานได้ จึงขอชวนเชิญทุกสีทุกฝ่ายให้มาร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ  
     ด้านนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค อนค. กล่าวถึงโครงการพัฒนาอีอีซีเชื่อมโยงว่าทำไมรัฐธรรมนูญจึงมีความสัมพันธ์กับชีวิตความเป็นอยู่ของเรา คือการที่พัฒนาโดยมองไม่เห็นประชาชน ถ้าเกิดการพัฒนาตามนี้ ถามว่าเอาวิถีชีวิตประชาชน เอาความมั่นคงของประชาชน เอาคนที่ถูกรุกไล่ที่ไปอยู่ที่ไหน ตนไม่ได้ต่อต้านการพัฒนา แต่การพัฒนานั้นคนเป็นทั้งทรัพยากรและเป็นเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาด้วย ประชาชนเสียสละสำหรับการพัฒนามาเยอะแล้ว รับกรรม รับมลพิษในนามของการเสียสละมาเยอะ 
ระบอบเผด็จการครึ่งใบ
     "อ.ปิยบุตรบอกว่า รูปแบบการปกครองเราจะย้อนกลับไปเป็นระบอบเผด็จการครึ่งใบ แต่ผมคิดว่า อ.ปิยบุตรใจดีเกินไป ผมคิดว่านี่คือระบอบเผด็จการที่มีการเลือกตั้ง ไม่มีประชาชนอยู่ในการพัฒนา เพราะฐานที่มาอำนาจของคนเป็นนายกฯ ไม่ได้มาจากประชาชน แต่มาจากกลุ่มทุนใกล้ชิด คือ ส.ว. คือองค์กรอิสระ ดังนั้น พวกเขาจึงกล้าถวายสัตย์ฯ เช่นนั้น เพราะไม่มีประชาชนเป็นฐานอำนาจ กล้าตั้งคนที่ถูกครหาว่าค้ายาเสพติดมาเป็นรัฐมนตรี เพราะไม่ต้องเกรงใจประชาชน กล้าบอกกับประชาชนที่เดือดร้อนลำบากเพราะน้ำท่วมบ้านเรือนตัวเองให้ไปตกปลา ให้ไปทำประมง เพราะพวกเขาไม่เข้าใจประชาชน ออกแบบและดำเนินนโยบายอีอีซีเช่นนี้ เพราะพวกเขาไม่เห็นหัวประชาชน เอางบกลางไปซื้อรถถังสไตรเกอร์ได้ แต่ไม่มีงบกลางช่วยน้ำท่วม เพราะพวกเขาไม่ได้มาจากประชาชน" นายธนาธรกล่าว 
    นายธนาธรกล่าวว่า รัฐประหารที่เกิดขึ้นเมื่อ 22 พฤษภาคม พาประเทศไทยเดินทางกลับไปสู่วงวนเดิมๆ สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะไม่เกิดขึ้น ถ้าอำนาจเป็นของประชาชน อย่างไรก็ตาม ยังพอมีเวลาที่เปลี่ยนผ่านรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านวิธีการทางรัฐสภา โดยพรรคการเมือง ประชาชนมาร่วมกัน แม้โอกาสนั้นจะมีอยู่น้อยนิด แต่นี่เป็นเหตุผลว่าพวกเราต้องรณรงค์ด้วยกัน เพราะถ้าช้ากว่านี้ ระเบิดเวลาจะระเบิด เราต้องรณรงค์หาฉันทามติร่วมกันใหม่ สำหรับการแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทุกฝ่ายพูดตรงกันว่ายาก ถ้าคิดว่ายากแล้วเราไม่เริ่ม ก็จะเป็นไปไม่ได้เลย แต่ถ้ากล้าก้าวแรกด้วยกัน จะเปิดประตูความเป็นไปได้
    นายธนาธรตอบคำถามกรณี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกฯ ระบุว่ารัฐธรรมนูญไม่สร้างประชาธิปไตยด้วยว่า "ประชาชนพร้อมเลือกประชาธิปไตยมาตั้งนานแล้ว มีแต่กลุ่มอภิสิทธิ์ชนเท่านั้นที่ไม่พร้อม" 
    นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีกระแสการเข้าร่วมกับพรรค อนค.ว่า พรรค อนค.ชวนตนมาร่วมเสวนาด้วย เพื่อคุยกันเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเรื่องที่ตนให้ความสำคัญอยู่แล้ว และยินดีที่จะเข้าร่วม จึงอยากจะพูดถึงรัฐธรรมนูญเท่านั้น โดยขณะนี้กำลังเกิดกระแส และการรวมกลุ่มกันจัดเสวนากันบ้างแล้วโดยองค์กรต่างๆ ซึ่งจะเป็นเรื่องสำคัญต่อไปอีกสักพัก ตราบจนกว่าจะถูกแก้ไข และประชาชนจะได้เรียนรู้จากปัญหาบ้านเมือง และเกิดความเข้าใจว่าประเทศไทยจะไปไม่รอด ล้าหลัง และจะเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจถ้าไม่แก้รัฐธรรมนูญ 
    เมื่อถามว่า เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราหรือแก้ทั้งฉบับ นายจาตุรนต์กล่าวว่า การแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องถูกแก้ไขโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) แล้วแก้ทั้งฉบับ แน่นอนว่าบางหมวดบางมาตราแก้ไม่ได้อยู่แล้ว หรือหากจะแก้รายมาตรา ในที่สุดก็อาจจะเจอปัญหาว่าไม่สามารถแก้ไขได้ หรือยากที่จะแก้ไข เพราะติดกติกาบางข้อ เช่น หาก ส.ว.ไม่เห็นด้วยก็แก้ไม่ได้ จึงต้องเริ่มแก้ในมาตราที่ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 
     นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญฝ่ายค้านจะเดินหน้าใน 2 มิติคู่ขนานกันไป คือในสภา ญัตติการตั้งกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญศึกษาหลักเกณฑ์แก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เรายื่นไว้มีการขยับขึ้นมาเป็นวาระเร่งด่วนแรก ส่วนอีกแนวทางหนึ่งเป็นการเดินหน้าร่วมกับภาคประชาชน โดยฝ่ายค้านจะสัญจรไปตามภูมิภาคต่างๆ เกือบจะครบทั่วประเทศแล้ว เหลือเพียงภาคใต้ที่จะเดินทางไปในเร็วๆ นี้ ซึ่งผลตอบรับที่ผ่านมาดีมาก ประชาชนต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน และเป็นที่น่ายินดีด้วยว่าองค์กรภาคประชาชนบางส่วนได้เดินหน้าไปก่อนแล้ว ด้วยการล่ารายชื่อครบ 5 หมื่นรายชื่อ ทำเป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญยื่นต่อประธานสภาฯ ไปแล้วด้วยเช่นกัน 
ปลุก ปชช.โค่นรัฐบาล
    "ยืนยันการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องทำควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจสังคม และปัญหาด้านอื่นๆ ของประเทศ เพราะรัฐธรรมนูญถือว่าเป็นโครงสร้างของประเทศ ถ้าโครงสร้างไม่ดี จะเป็นปัญหาต่อการขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาของประเทศ" นายสุทินกล่าว
     พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร ที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการจัดกิจกรรมฝ่ายค้านเพื่อประชาชนสัญจร จ.ชลบุรี ที่ อ.บางละมุง และ อ.ศรีราชา เมื่อวันที่ 21 ก.ย.ที่ผ่านมา ว่าได้รับความสนใจจากคนในพื้นที่มาร่วมพูดคุย โดยเฉพาะประเด็นการได้รับผลกระทบจากโครงการอีอีซี กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งต่างเห็นว่าทั้ง 2 ปัญหาล้วนมีเหตุมาจากรัฐบาลสืบทอดอำนาจทั้งสิ้น เมื่อบรรยากาศของการสร้างความเชื่อมั่นไม่มีปัจจัยหลักของการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ จึงมืดมัว เพราะนอกจากผู้นำสืบทอดอำนาจจะต้องเผชิญกับการถูกกล่าวโทษว่าประพฤติผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรงแล้ว เร็วๆ นี้ยังต้องถูกฝ่ายค้านรุกคืบ ทั้งการอภิปรายงบประมาณปี 2563 และถูกเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจอีกด้วย ทำให้การสร้างความเชื่อมั่นของรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำจึงแทบเป็นไปไม่ได้เลย
    “ทางออกเดียวของเรื่องนี้คือ พี่น้องต้องร่วมกับฝ่ายค้านผลักดันรัฐบาลนี้ออกไป เพื่อให้มีรัฐบาลใหม่ บรรยากาศความเชื่อมั่นของประเทศก็จะกลับมา" พล.ท.ภราดรกล่าว และว่า ขณะนี้ส.ส.ไม่ว่าฝ่ายไหนล้วนมีแนวโน้มเดียวกัน เพื่อผนึกกำลังที่จะดันผู้นำสืบทอดอำนาจออกไป รอยกมือหักดิบในสภาผู้แทนราษฎรโค่นล้มออกไป ซึ่งจะเกิดขึ้นแน่ๆ ในระยะเวลาอันใกล้นี้ ขอพี่น้องเฝ้าจับตาดูอย่างใกล้ชิด
    นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. กล่าวว่า เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นฉบับที่แก้ยากมากที่สุด มีการเสนอให้ตั้ง กมธ.ทั้งจาก ส.ว.ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล แต่จนหมดสมัยประชุมแรกแล้วก็ยังไม่เกิด กมธ.ดังกล่าว การจะหวังเสียงจาก ส.ว. 1 ใน 3 หรือ 84 คน เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญนั้น คิดว่าเสียง ส.ว.ทั้งหมดจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ถ้าเห็นด้วยก็เห็นด้วยทั้งหมด ถ้าไม่เห็นด้วยก็ไม่เห็นด้วยทั้งหมด เพราะฉะนั้นจะต้องผ่านด่านแรกคือ แก้ไขมาตรา 256 ให้ได้เสียก่อน ให้ประชาชนได้เลือก ส.ส.ร.เข้ามา จากนั้นจึงค่อยพูดถึงประเด็นอื่นๆ ที่เราไม่สบายใจกัน อาทิ ส.ว.มีสิทธิโหวตเลือกนายกฯ เป็นต้น แต่หากต่างฝ่ายต่างเสนอแก้เพื่อมุ่งเเต่เล่นการเมือง หรือพยายามเอาชนะทัดทานกัน ก็จะเกิดการแก้ไขได้ยาก 
    นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า ในฐานะเป็นตัวตั้งตัวตีกับเรื่องการผลักดันให้มีการตั้ง กมธ.ศึกษาปัญหาและแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรค จำเป็นจะต้องขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อ โดยระหว่างที่ไม่มีการประชุม ส.ส.ของพรรค ก็ได้ทำหนังสือถึงคณะกรรมการบริหารพรรค อยากจะให้พรรคได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อติดตามสถานการณ์และก็ศึกษาเกี่ยวกับข้อบกพร่องการใช้รัฐธรรมนูญ 
ฟันธงแก้ไม่สำเร็จ
    "ระหว่างปิดสมัยประชุมผมไม่อยากให้พรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งเคลื่อนไหวในลักษณะที่สร้างความเสียหาย ขัดแย้ง เช่น การออกไปพบปะกับประชาชนแล้วมีการพูดในทำนองที่ใช้วาทกรรม เช่นพูดว่ารัฐธรรมนูญเฮงซวยทุกมาตรา สิ่งเหล่านี้ไม่ก่อให้เกิดความเป็นเอกภาพ ความสามัคคี แต่มันเป็นแค่วาทกรรม ไม่ใช่เนื้อหาทางวิชาการ ไม่อยากให้เรื่องแบบนี้เป็นประเด็นขึ้นมาขัดแย้ง แต่อยากให้ทุกฝ่ายคิดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญช่วยกันหาจุดบกพร่องของรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้วผลักดันว่าจะแก้ไขกันอย่างไร" นายเทพไทกล่าว 
    นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงการแก้รัฐธรรมนูญว่า เบื้องต้นจะต้องมีการศึกษาก่อนว่าควรจะแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นใดบ้าง ขณะที่ส่วนตัวเห็นว่าไม่ควรแก้ไขหลายประเด็นเกินไป แต่ควรแก้ไขในประเด็นหลักที่เป็นปัญหา โดยพรรคพปชร.พร้อมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับทุกพรรคการเมือง ส่วนการตั้ง กมธ.ขึ้นมาศึกษานั้น ควรจะเป็นคณะขนาดกลาง ที่ไม่ใหญ่มาก เอาแค่ประมาณ 39 คน กำลังดี เพราะถ้าเป็นคณะใหญ่เกินไป ก็จะคุยกันไม่รู้เรื่อง
     ด้านนายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิก ส.ว. ในฐานะอดีตรองประธาน ส.ส.ร.ปี 50 และ ส.ส.ร.ปี 39 กล่าวว่า บรรยากาศขณะนี้แตกต่างจากสมัยที่ตนเป็น ส.ส.ร. ที่ขณะนั้นสังคมรวมถึงทุกพรรคการเมืองเห็นพ้องให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เพื่อให้เกิดการปฏิรูปการเมือง กลไกการแก้ไขรัฐธรรมนูญขณะนั้นไม่ได้สลับซับซ้อนจนแก้ไขได้ยากเหมือนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันด้วย ตนไม่ได้ขวาง แต่จะสำเร็จได้ต้องเกิดจากความเห็นพ้องของทุกฝ่าย รวมถึงต้องมีมติของมหาชนในบางเรื่องด้วย เพราะรัฐธรรมนูญได้ผ่านการทำประชามติมา การแก้ไขจะต้องมีเหตุผลประเด็นปัญหาที่แสดงให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหาอย่างไร 
    "มติที่ต้องใช้เสียง ส.ส.และ ส.ว. รวมให้ได้กึ่งหนึ่ง คือต้องมีเสียง ส.ว.ประกอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 คือ 85 เสียง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ข้อสำคัญในบางประเด็น การแก้ไขอาจจะต้องทำประชามติอีก หากฝ่ายค้านมาเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ยังพูดหรือนำประเด็นมาโจมตี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ หรือพูดว่าจะแก้ไขเพื่อให้ ส.ว.ไม่มีอำนาจหน้าที่เหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนั้น จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่สำเร็จ และจะเกิดความขัดแย้งมากขึ้น จะกลายเป็นสร้างประเด็นการเมืองเพื่อหาเสียงให้ฝ่ายตัวเองมากกว่า โดยไม่จริงใจ ตั้งใจรัฐธรรมนูญอย่างที่พูดมา และถ้าพูดว่าจะแก้ทั้งฉบับ ยิ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะมาแก้ด้วยวิธีการระดมโจมตีแบบนี้  ถ้าแก้ไม่สำเร็จก็จะโยนบาปเคราะห์ให้อีกฝ่าย" นายเสรีกล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"