หรือนี่เป็นจุดเริ่มต้นของ 'สงครามโดรน'?


เพิ่มเพื่อน    

     พอเกิดกรณี "กองกำลังโดรน" ถล่มแหล่งผลิตน้ำมันหลักของซาอุดีอาระเบียเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา  ก็เกิดการวิเคราะห์กันอย่างกว้างขวางว่าต่อไปนี้จะเกิด "สงครามโดรน" หรือ Drone Warfare ที่แหกกฎสงครามยุคสมัยใหม่นี้หรือไม่
    ซาอุฯ ถือว่าเป็นประเทศร่ำรวย มีงบประมาณทหารมากเป็นอันดับที่สามของโลก อีกทั้งยังมีข้อตกลงกับพันธมิตรเช่นสหรัฐฯ ในการซื้ออาวุธทันสมัยใหม่เอี่ยมราคาแพงหูฉี่เพื่อปกป้องตนเอง
    แต่ไฉนเลยระบบต่อต้านขีปนาวุธหรือเรดาร์เพื่อจับการหลงเข้ามาทางอากาศของศัตรูจึงไม่สามารถจับการบุกของโดรนที่เชื่อกันว่ามีถึง 10 ลำพร้อมๆ กันได้?
    นี่เป็นคำถามจากนักวิเคราะห์ด้านศึกสงครามหลายสำนักที่รอคำตอบอยู่
    ก่อนหน้านี้โดรนถูกใช้เพื่อการ "ล่าสังหาร" ในกรณีที่อีกฝ่ายหนึ่งมีความสามารถในการเคลื่อนที่เร็ว  ไม่อาจจะใช้เครื่องบินหรือเฮลิคอปเตอร์ในการติดตามทำลายได้ทันท่วงที
    การใช้โดรนไร้คนขับหรือ Unmanned Aerial Vehicle (UAV) จึงกลายเป็นการทำสงคราม "นอกรูปแบบ" ที่เป็นข่าวใหญ่ในปี 2002 ที่ใช้ตามไล่สังหารผู้นำกลุ่มอัลกออิดะห์ในเยเมน
    ความคล่องตัวของโดรนอยู่ที่การสามารถเกาะติดเป้าหมายและสามารถกำกับสั่งการล็อกเป้าได้อย่างแม่นยำ โดยเฉพาะเมื่อมีเทคโนโลยี GPS ที่จับจุดความเคลื่อนไหวของคนและพาหนะได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง
    ที่สำคัญคือ การกำเนิดของโดรนไร้คนขับนั้นมาจากเหตุผลที่สหรัฐฯ ไม่ต้องการทำสงครามที่ต้องเสี่ยงกับการเสียเลือดเนื้อและชีวิตของทหารอเมริกัน ซึ่งเป็นต้นตอแห่งขบวนการต่อต้านสงครามในสหรัฐฯ มาหลายปีดีดักแล้ว
    นักวิเคราะห์ทางทหารมองว่า หากซาอุฯ โต้กลับด้วยการใช้โดรนถล่มที่ตั้งของกบฏฮูตีในเยเมน  หรือเป้าของอิหร่านที่ซาอุฯ ตั้งข้อสงสัยว่าเป็นจุดที่ส่งโดรนขึ้นมาทำลายเป้าหมายของตน ก็จะเกิดปรากฏการณ์ "สงครามโดรน" ได้อย่างแน่นอน
    แต่ก่อนนี้อาจจะมีคนมองว่าโดรนก็เป็นเพียงส่วนขยายของ "วิดีโอเกม" ซึ่งเป็นของเด็กเล่นเท่านั้น  แต่วันนี้วิทยาการด้าน AI และการปรับยุทธวิธีการสู้รบที่มีทั้งตัวละครที่เป็น "รัฐ" และ "ไร้รัฐ" หรือ states  กับ non-states ทำให้มี "นวัตกรรม" แห่งการทำสงครามในรูปแบบใหม่ๆ ที่มีอำนาจทำลายล้างสูงขึ้น  ประสิทธิภาพดีขึ้นแต่ด้วยค่าใช้จ่ายที่ลดลง
    ย้อนกลับไปเมื่อไม่นานมานี้ หลังเหตุการณ์ 9/11 เมื่อปี 2001 สหรัฐฯ ภายใต้การนำของอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช เริ่มใช้โดรนในการตามไล่ล่ากลุ่มก่อการร้ายภายใต้การนำของโอซามา บิน ลาเดน
    ยิ่งสมัยของประธานาธิบดีบารัก โอบามา ก็ยิ่งใช้โดรนหนักขึ้น เพราะเป็นวิธีการที่นักวางแผนต่อต้านก่อการร้ายเห็นว่าเป็นวิธีที่จะจัดการกับกลุ่มติดอาวุธเคลื่อนที่ได้ดีกว่าอาวุธทันสมัยอื่นๆ พอสมควร
    แต่ต้องไม่ลืมว่าการใช้โดรนปฏิบัติการทางทหารเช่นว่านี้ ได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจจะมีปัญหาความชอบธรรมทางด้านกฎหมายระหว่างประเทศ 
    อีกทั้งยังอาจจะละเมิดกฎหมายสหประชาชาติ และหลักสิทธิมนุษยชนหรือแม้แต่อธิปไตยแห่งชาติอีกด้วย
    ที่เกิดคำถามเช่นว่านี้เพราะเมื่อใช้โดรนถล่มเป้าหมายประเทศใด ก็ไม่อาจแยกแยะเป้าหมายได้ว่าเป็นพลเรือนไร้เดียงสาหรือเป็นกลุ่มติดอาวุธกันแน่
    มีคำถามว่าการใช้โดรนยิงทำลายเป้าหมาย ที่ไม่มีการพิสูจน์ว่าเป็นพลเรือนบริสุทธิ์หรือเป็นกลุ่มติดอาวุธผิดกฎหมายนั้น ย่อมไม่ได้ผ่านกระบวนการไต่สวนทางกฎหมายจึงขาดความชอบธรรม
    เดิมการใช้ UAV ก็เพื่อ "สืบหาข่าว" ด้วยการแอบถ่ายรูปและบันทึกเสียงของฝ่ายตรงกันข้าม แต่เมื่อมีเทคโนโลยีทางทหารที่ทำให้ติดอาวุธได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น
    ทำให้โดรนกลายเป็นปีศาจทางอากาศที่ทำให้เกิดการทำลายล้างกันอย่างน่ากลัวอย่างที่กำลังเกิดขึ้นในตะวันออกกลางวันนี้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"