ป.ป.ช.จับตาเป็นพิเศษกรณี ส.ส.ยื่นบัญชีเครื่องรางของขลัง ตีมูลค่าจากอะไร เพื่อปิดช่องทางฟอกเงิน สำนักข่าวอิศราจับพิรุธ "ธนาธร-เมีย" ทำ "Blind Trust" จริงหรือไม่ เพราะไม่ปรากฏหนังสือชี้แจงต่อประธานกรรมการ ป.ป.ช.
นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สัมภาษณ์กรณีมีการตั้งข้อสังเกตถึงการที่ ส.ส. หลายรายแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. กรณีเข้ารับตำแหน่ง ส.ส. เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2562 โดยแสดงทรัพย์สินอื่นจำพวกเครื่องรางของขลัง หรือพระเครื่องชื่อดัง ระบุมูลค่าสูงมาก ตั้งแต่ระดับ 50-1,000 ล้านบาท จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า มูลค่าของทรัพย์สินดังกล่าวตรงกับที่แจ้งไว้จริงหรือไม่ ว่ากรณีที่ ส.ส.ยื่นบัญชีทรัพย์สินจำพวกเครื่องรางของขลังและพระเครื่องนั้น เป็นกรณีที่ ป.ป.ช.จะต้องจับตาดูเป็นกรณีพิเศษ
เลขาฯ ป.ป.ช.กล่าวว่า ตามหลักการในการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมถึงข้าราชการต่างๆ นั้น มี 2 ส่วนคือ 1.ตรวจสอบถึงความถูกต้องของทรัพย์สิน 2.ตรวจสอบความมีอยู่จริงของทรัพย์สิน โดยจะดูว่าทรัพย์สินดังกล่าวนั้นได้มาถูกต้องหรือไม่ มีอยู่จริงตามที่แจ้งหรือไม่ และถูกต้องตามเอกสารแนบที่เป็นรูปถ่ายประกอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินหรือไม่
นายวรวิทย์กล่าวว่า ส่วนมูลค่าของทรัพย์สินนั้น โดยเฉพาะทรัพย์สินจำพวกเครื่องรางของขลัง หรือพระเครื่อง ไม่มีตลาดกลางที่ระบุราคาอย่างชัดเจน ยกตัวอย่าง ถ้าแจ้งว่าครอบครองทองคำ ยังตรวจสอบมูลค่าได้จากตลาดกลางการซื้อขายทองคำ แต่จำพวกของขลัง ไม่มีตลาดกลางตรงนี้ ดังนั้นการตรวจสอบเบื้องต้นคือดูข้อมูลว่าเจ้าของตีมูลค่ามาจากอะไร ตีค่าจากมูลค่าทางจิตใจ หรืออะไรก็แล้วแต่ก็ตาม กรณีนี้สำนักงาน ป.ป.ช.จะต้องจับตาดูเป็นกรณีพิเศษ
เมื่อถามว่า เครื่องรางของขลังหรือพระเครื่องชื่อดังส่วนใหญ่จะมีใบรับรองจากเซียนพระที่ได้รับความน่าเชื่อถือ ป.ป.ช.จะเข้าไปตรวจสอบส่วนนี้หรือไม่ นายวรวิทย์กล่าวว่า เรื่องพวกนี้ต้องยอมรับว่าเป็นมิติใหม่ของการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ดังนั้นต่อจากนี้ไปกลุ่มคนที่แจ้งมูลค่าสิ่งเหล่านี้ ป.ป.ช.จะจับตาดูเป็นกรณีพิเศษ รวมถึงวางกฎเกณฑ์ป้องกันให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น
ช่องทางฟอกเงิน
ถามว่า ต่อจากนี้ไปหากมี ส.ส.บางรายเห็นช่องทางนี้เป็นแหล่งการฟอกเงินให้กับตัวเอง ป.ป.ช.จะมีมาตรการอย่างไร เลขาฯ ป.ป.ช.ตอบว่า อย่างที่เรียนไปแล้วว่า ส.ส. หรือข้าราชการ หรือบุคคลผู้มีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินกับ ป.ป.ช. หากแจ้งข้อมูลทรัพย์สินอื่นเหล่านี้ จะถูกจับตาดูเป็นกรณีพิเศษ และในการตรวจสอบเบื้องต้นจะดำเนินการดูเรื่องความมีอยู่จริง และความถูกต้องของทรัพย์สินอยู่แล้ว
ส่วนกรณีต้องเข้าไปตรวจสอบเชิงลึกเลยหรือไม่นั้น นายวรวิทย์กล่าวว่า ต้องขอตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นก่อน ยังไม่ต้องเข้าไปตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ แจ้งบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน กรณีเข้ารับตำแหน่ง ส.ส. เมื่อวันที่ 21 ก.ย.2562 แจ้งทรัพย์สินร่วมกับคู่สมรส (นางรวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ) รวมกันกว่า 5.6 พันล้านบาท โดยแสดงรายการเงินให้กู้ยืมแก่พรรคอนาคตใหม่ 2 ครั้ง รวมมูลค่า 191.2 ล้านบาท
ประเด็นที่น่าสนใจในการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของนายธนาธรครั้งนี้ นอกเหนือจากเงินให้กู้ยืมแก่พรรคอนาคตใหม่กว่า 191.2 ล้านบาท ที่ถูกร้องเรียนให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบข้อเท็จจริง และมีข่าวว่าในสัปดาห์หน้า พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. จะนำเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ กกต.พิจารณาแล้วนั้น
ยังมีประเด็นการโอนทรัพย์สินให้นิติบุคคลบริหารจัดการ หรือ ‘Trust’ หรือ ‘Blind Trust’ ที่นายธนาธร เคยให้สัมภาษณ์พร้อมกับจัดงานแถลงข่าวที่พรรคอนาคตใหม่เมื่อวันที่ 18 ก.ย.2562 โชว์บันทึกตกลงร่วมกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ภัทร จำกัด โดยจะนำหุ้นในบริษัทมหาชน ที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ โอนให้นิติบุคคลเป็นผู้จัดการทรัพย์สิน
“ขอเหลือบ้านที่ผมอยู่ตอนนี้ รถ และต่างหูของภรรยาเอาไว้บ้าง และผมจะเจอทรัพย์สินของผมอีกที ก็ต่อเมื่อผมเลิกทำงานการเมือง” คือคำกล่าวของนายธนาธรในวันนั้น
อย่างไรก็ดี สำนักข่าวอิศรา w ww.isranews.orgตรวจสอบพบว่าข้อมูลเงินลงทุนของนายธนาธร แจ้งในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ระบุว่า มูลค่า 3,014,693,457 บาท ส่วนนางรวิพรรณ แจ้งว่ามีมูลค่า 192,855,208 บาท รวมทั้งคู่มีรายการเงินลงทุนทั้งสิ้น 3,207,548,665 บาท หรือ ‘เกินครึ่ง’ ของมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมดของนายธนาธรและนางรวิพรรณ (5.6 พันล้านบาทเศษ)
รายละเอียดเงินลงทุน
อย่างไรก็ดี ด้วยข้อจำกัดตามกฎหมายใหม่ของ ป.ป.ช. ที่ไม่อนุญาตให้ผู้สื่อข่าว รวมถึงประชาชนทั่วไปถ่ายภาพรายละเอียดในเอกสารแนบประกอบบัญชีทรัพย์สิน สำนักข่าวอิศราจึงนำรายละเอียดเงินลงทุนที่สำคัญของนายธนาธรและนางรวิพรรณมานำเสนอ แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่
เงินลงทุนในกองทุนอย่างน้อย 3 แห่ง รวมมูลค่า 306,961,493 บาท
1.กองทุน K-SF ได้มาเมื่อวันที่ 23 ก.ค.2558 จำนวน 178,630,831 บาท
2.กองทุน K-PLAN 1 ได้มาเมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2558 จำนวน 126,756,433 บาท
3.กองทุนรวมในบัญชี Sumitomo Mitsui Bangking Corporation 1,574,229 บาท
เงินลงทุนที่ให้นิติบุคคลดูแล (Trust) อย่างน้อย 5 แห่ง 6 รายการ รวมมูลค่า 207,876,117 บาท
1.หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ที่อยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท อาร์เอชบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) จำนวน 153,344,761 บาท
2.กองทุนรวมและหุ้นกู้ภายใต้การดูแลของบริษัท ภัทร จำกัด (มหาชน) จำนวน 24,414,748 บาท
3.หน่วยลงทุนที่อยู่ภายใต้การดูแลของ บล.โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) 3,045 บาท
4.หุ้นที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ภายใต้การดูแลของบริษัท เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด 1,586,567 บาท
5.บัญชีแคลบาลานซ์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด 115,298 บาท
6.หุ้นที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ภายใต้การดูแลของ บล.โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) 21,229,948 บาท
7.หุ้นที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ภายใต้การดูแลของ จีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด 6,911,750 บาท
พอร์ตหุ้นอย่างน้อย 5 แห่ง รวม 39,444,235 บาท
1.หุ้นบริษัท ไทยซัมมิท โอโตพาร์ท อินดัสตรี จำกัด 72,000 หุ้น มูลค่า 2,339,806 บาท
2.หุ้นบริษัท เอช เอส เอช จำกัด 1 หุ้น มูลค่า 2,191 บาท
3.หุ้นบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด 263,200 หุ้น มูลค่า 12,972,238 บาท
4.หุ้นบริษัท The One OC Corporation (จดทะเบียนที่ประเทศลาว) จำนวน 70% มูลค่า 20 ล้านบาท
5.หุ้นบริษัท TS Rubber Service (จดทะเบียนที่ประเทศลาว) จำนวน 1% มูลค่า 70,000 บาท (ของนายธนาธร) และหุ้นบริษัท TS Rubber Service 58% มูลค่า 4,060,000 บาท (ของนางรวิพรรณ)
หากนับเฉพาะในส่วนทรัพย์สินและหุ้นที่ให้กองทุน-นิติบุคคลดูแล (Trust) รายละเอียดที่น่าสนใจ เช่น บริษัทหลักทรัพย์ อาร์เอชบี (ประเทศไทย) จำกัด ทำหนังสือรับรองแก่นายธนาธร เปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์กับบริษัท มีมูลค่ารวมกัน ณ วันที่ 24 พ.ค. 2562 รวม 21 รายการ จำนวนเงิน 153,344,761 บาท โดยหุ้นที่มูลค่าเยอะที่สุดคือ SCC-R 140,100 หุ้น ราคาตลาด 464 บาท มูลค่า 65,006,400 บาท เป็นต้น
ทำ ‘Blind Trust’ จริงหรือไม่
ส่วนบริษัทหลักทรัพย์ จีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด ดูแลด้านหลักทรัพย์ มียอดหุ้นคงเหลือ 2 รายการ 6,911,750 บาท เป็นหุ้นบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) 225,500 หุ้น ราคาตลาด 26.5 บาท มูลค่ารวม 5,975,750 บาท และบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) 200,000 หุ้น ราคาตลาด 4.68 บาท มูลค่า 936,000 บาท
ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ภัทร จำกัด (มหาชน) ที่นายธนาธรเคยโชว์หนังสือบันทึกตกลงการทำ 'Blind Trust' นั้น พบเพียงว่าบริษัทภัทรฯ ทำหนังสือรับรองให้นางรวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ เพื่อแนบเป็นเอกสารประกอบแก่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 8 ส.ค.2562 เลขที่หนังสือ OPS 3757/2019 ระบุว่า ข้อมูลหลักทรัพย์ที่อยู่ในการจัดการของกองทุนภัทร เมื่อวันที่ 24 พ.ค.2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 24,414,748 บาท แบ่งเป็น Asset Class : Fixed Income Security : TUC23DA Value : 20,313,309.60 และ Asset Class : Alternative Security : TFFIF Value : 4,001,550
ส่วนบริษัทหลักทรัพย์ โนมูระฯ ทำหนังสือรับรองคำขอของนางรวิพรรณ เพื่อยืนยันหลักทรัพย์ที่เหลืออยู่กับบริษัท ยื่นประกอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินแก่ ป.ป.ช. โดยระบุว่า นางรวิพรรณเป็นลูกค้าหลักทรัพย์ เปิดบัญชีกับทางบริษัทตั้งแต่วันที่ 11 ก.ค.2554 มีมูลค่าทรัพย์สินคงเหลือในบัญชี ณ วันที่ 25 พ.ค.2562 เป็นมูลค่าหลักทรัพย์ 20,681,057.51 บาท มูลค่าเงินสด 548,890.77 บาท
อย่างไรก็ดี ในแฟ้มเอกสารการแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินกรณีเข้ารับตำแหน่ง ส.ส.ครั้งนี้ ไม่ปรากฏหนังสือของนายธนาธร ที่ต้องชี้แจงต่อประธานกรรมการ ป.ป.ช. หากกรณีประสงค์จะได้รับประโยชน์จากการเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด และต้องโอนหุ้นส่วนหรือหุ้นดังกล่าวให้แก่นิติบุคคลภายใน 30 วัน นับตั้งแต่แจ้งให้ประธานกรรมการ ป.ป.ช.ทราบ ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 แต่อย่างใด
นี่คือข้อมูลพอร์ตหุ้น-เงินลงทุนในกองทุนสำคัญๆ ของนายธนาธรที่แจ้งต่อ ป.ป.ช. ส่วนนายธนาธรได้ตัดสินใจทำ ‘Blind Trust’ จริงหรือไม่ คงต้องรอคำชี้แจงจากเจ้าตัวต่อไป
นายธนาธรให้สัมภาษณ์ว่า ไม่รู้สึกกังวลกรณีที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เตรียมยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้เอาผิดกรณีที่ตนเองปล่อยเงินกู้ให้กับพรรคอนาคตใหม่ พร้อมยืนยันว่า เงินกู้ไม่ใช่รายได้ เชื่อว่าเรื่องนี้จะไม่เป็นปัญหา และตนเองได้ชี้แจงข้อมูลกับ กกต.ไปทั้งหมดแล้ว
ด้านนายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า คดีเงินกู้ยืมของพรรคอนาคตใหม่ ที่แสดงเป็นหลักฐานยื่นต่อป.ป.ช.โดยหัวหน้าพรรค ในอนาคต ไม่ว่าผลการตัดสินจะออกมาเช่นไร ขอให้ทุกฝ่ายเคารพคำตัดสินของศาล เพราะขณะนี้มีบางฝ่ายพยายามสร้างกระแส ลดความน่าเชื่อถือของศาล.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |