ว่าด้วยความดีและคนดี


เพิ่มเพื่อน    

 

                                                (1)

                ล้นเกล้าฯ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านเคยทรงสรุปไว้ว่า การ ทำความดี เป็นสิ่งที่ ทำได้ยาก ด้วยเหตุผลแบบสั้นๆ ง่ายๆ ว่า การทำความดีนั้น...โดยมากเป็นการเดินทวนกระแสความพอใจ และความต้องการของมนุษย์ จึงทำได้ยาก และแถม เห็นผลช้า อีกต่างหาก ซึ่งข้อสรุปดังกล่าวมีปรากฏอยู่ในหนังสือ 108 มงคลพระบรมราโชวาท ซึ่ง สำนักพิมพ์อมรินทร์ เขาเคยนำมาพิมพ์เผยแพร่ไว้ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2556 โน่นเลย...

                                                      (2)

                ยิ่งถ้านำเอา มาตรฐานทางศาสนา เข้ามาจับด้วยแล้ว ก็น่าจะเป็นไปอย่างที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านสรุปเอาไว้จริงๆ เพราะอะไรที่ถือว่าดีๆ หรือเป็นสิ่งที่ดี ตามพื้นฐานแนวคิดของศาสนาต่างๆ แล้ว ไม่ว่าพุทธ-คริสต์-อิสลาม-ฮินดู ฯลฯ ก็ออกจะเป็นอะไรที่ทวนกระแส ทวนความต้องการ ความพอใจ พึงใจ ของบรรดามวลมนุษย์อย่างเราๆ-ทั่นๆ ซะเป็นหลักใหญ่ หรือเป็นอะไรที่ออกจะขัดแย้ง คัดง้าง กับบรรดาสิ่งที่เรียกๆ กันว่า กิเลส ทั้งหลายนั่นแล โกรธก็ไม่ยอมให้โกรธ โมโหก็ไม่ยอมโมโห อยากได้โน่น ได้นี่ ก็ดันห้ามไม่ให้อยาก ไม่ให้ปรารถนา ไม่ให้ต้องการ ไปซะแทบทุกเรื่อง ทุกราว ถึงขั้นแม้แต่ตัวของตัวเอง หรือตัวตนของตน ยังยุให้ละ ให้วาง ให้ว่าง ไม่ให้เหลืออะไรติดไม้ ติดมือ เอาเลยถึงขั้นนั้น...

                                                         (3)

                ดังนั้น...สิ่งที่เรียกว่า ความดี ที่ดีจริง ดีแท้ ดีตามมาตรฐานของศาสนาแล้ว ออกจะเป็นอะไรที่ลำบาก หรือออกจะยาก สำหรับการกระทำ การประพฤติ-ปฏิบัติ มิใช่น้อย ไม่ได้ง่ายเหมือนกับการควักเงินมาบริจาค แจกโน่น แจกนี่ การทำบุญ-ใส่บาตร หรือการล้วงกระเป๋าควักเศษแบงก์มาใส่ซองผ้าป่า ซองกฐิน ฯลฯ อะไรทำนองนั้น ซึ่งแม้จะเป็นสิ่งที่ดี หรือเป็นความดี ในอีกรูปแบบหนึ่ง แต่ก็คงไม่ถึงกับดีจริง ดีแท้ ดีตามมาตรฐานทางศาสนา หรืออาจจัดอยู่ในประเภทความดีตามระดับมาตรฐานของปุถุชนคนธรรมดาโดยทั่วๆ ไป...

                                                       (4)

                แต่ถึงกระนั้น...ความดีตามระดับมาตรฐานปุถุชนคนธรรมดาโดยทั่วไป ก็น่าจะยังดีกว่า ความไม่ดี หรือ ความชั่ว นั่นแหละ อันเป็นสิ่งที่มีแต่สร้างความทุกข์ ความเดือดร้อน ให้กับผู้อื่น หรือแม้กระทั่งตัวของตัวเอง ขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ย่อมได้ เพียงแต่ว่า ถ้าหากอยากจะให้ดีจริง ดีแท้ ดีมาตรฐานของศาสนาแล้ว มีแต่ต้องหันมา ยกระดับ ตัวเอง ขจัดกวาดล้างสิ่งใดๆ ก็แล้วแต่ ที่เรียกๆ กันว่า กิเลส ทั้งหลาย ภายในตัวตนของตน ให้น้อยลงไปที่สุดเท่าที่จะน้อยได้ ไม่ว่า กิเลส นั้นๆ จะออกไปทางหยาบๆ หรือแม้ละเอียด ประณีต สามารถซุกซ่อน ซึมซ่าน ติดค้างอยู่ในหัวจิต หัวใจ ในอารมณ์ความรู้สึก รูปใด แบบใด ก็แล้วแต่...

                                                        (5)

                อันนี้นี่แหละ...ที่มันเลยเป็นเรื่อง ไม่ง่าย แถมออกจะ ยากซ์ซ์ซ์ เอามากๆ อีกซะล่วย มันเลยส่งผลให้ผู้ซึ่งจัดอยู่ในประเภท คนดี ทั้งหลาย อาจหนักไปทางประเภท ดีวันจันทร์ ส่วนอังคาร-พุธ-พฤหัสฯ-ศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ ต้องขออนุญาตขี้โกรธ ขี้ยัวะ ไปตามสภาวะของความเป็นปุถุชนคนธรรมดาโดยทั่วไป หรือต้องออกไปทางดีมั่ง-ไม่ดีมั่ง ต้องออกอาการดีซ่าน ดีแตก ขึ้นมาไม่วันใด ก็วันหนึ่ง จังหวะใด จังหวะหนึ่ง อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงและปฏิเสธได้ ด้วยเหตุเพราะสิ่งที่เรียกว่า กิเลส นั้น มันมีอยู่ด้วยกันหลายรูป หลายแบบ อีกทั้งยังสามารถฝังราก ฝังลึก อยู่ในตัวตนของตน ได้อย่างแนบสนิทติดทนนาน ยิ่งกว่าเชื้อโรค ไวรัส หรือแบคทีเรียทุกชนิดๆ เอาเลยก็ว่าได้...

                                                      (6)

                โดยถ้าหาก ภูมิคุ้มกัน เกิดบกพร่องขึ้นมาเมื่อไหร่ โอกาสที่ ไวรัส แห่งกิเลสที่ว่านี้ มันจะโผล่เข้าแทนที่ความดีทั้งหลาย จนทำให้ไม่ใช่แต่เฉพาะตัวเอง ต้องเกิดอาการ ชั่ว ขึ้นมา ไม่ว่าในระดับชั่วครั้ง ชั่วคราว หรือระดับคงทน ถาวร ไปอีกนานแสนนาน แต่ยังก่อให้เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อน แก่ผู้อื่น ไม่ว่าในหมู่ผู้ใกล้ชิด ติดพัน กับตัวเอง ไปจนถึงระดับสังคมในวงกว้าง ระดับชุมชน ประเทศ หรือแม้แต่โลกทั้งโลกก็ยังได้ ขึ้นอยู่กับว่าตัวเองนั้นมีสถานะ บทบาท ในรูปไหน แบบไหน ยิ่งโดยเฉพาะผู้ที่เป็นใหญ่ เป็นโต มีอำนาจ วาสนา เป็นคนดัง เป็นเซเลบริตี้ เป็นแบบอย่าง ตัวอย่างของสังคม ยิ่งที่ต้องหาทางสร้าง ภูมิคุ้มกัน ให้กับตัวเองยิ่งขึ้นไปใหญ่...

                                                         (7)

                อย่างไรก็ตาม...ล้นเกล้าฯ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านก็ทรงยืนกราน ให้ยึดมั่นใน “ความดี” ให้หาทางทำความดีให้มากๆ เข้าไว้นั่นแหละเป็นหลัก แม้จะ “ยาก” หรือแม้จะ “ช้า” เพียงใดก็ตามที ดังพระราชดำรัสที่ตีพิมพ์ เผยแพร่ อยู่ในหนังสือ “108 มงคลพระบรมราโชวาท” ที่สรุปเอาไว้ว่า...“การทำความดีนั้น โดยมากเป็นการเดินทวนกระแสความพอใจและความต้องการของมนุษย์ จึงทำได้ยาก และเห็นผลช้า แต่ก็จำเป็นต้องทำ เพราะหาไม่...ความชั่วซึ่งทำได้ง่ายจะเข้ามาแทนที่ และจะพอกพูนขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่ทันรู้สึกตัว...” ดังนั้นบรรดา คนดี ทั้งหลาย ไม่ว่าดีวันจันทร์ วันอังคาร หรือวันใดๆ ก็แล้วแต่ พึงระลึกจดจำไว้เป็น คาถาศักดิ์สิทธิ์ ติดตัว ก็น่าจะดีมิใช่น้อย...

                                ------------------------------------------------------- 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"