วังเว้และช่างตัดเสื้อ


เพิ่มเพื่อน    


รูปปั้นมังกรทองในพระราชวังต้องห้ามมองไปทางพระที่นั่งบัลลังก์ทองและธงชาติเวียดนามหน้าประตูเมือง

        พระราชวังเมืองเว้ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากสงคราม 2 ครั้งใหญ่ในกลางศตวรรษที่ผ่านมา ได้แก่ สงครามอินโดจีน ครั้งที่ 1 ระหว่างกองทัพประชาชนเวียดนาม หรือเวียดมินห์ กับกองทัพสหภาพอินโดจีนฝรั่งเศส ระหว่างปี ค.ศ.1946-1954 และสงครามอินโดจีน ครั้งที่ 2 หรือสงครามเวียดนาม (เวียดนามเรียกสงครามต้านอเมริกา) ระหว่างเวียดนามเหนือและเวียดกง กับกองทัพสหรัฐอเมริกาและพันธมิตร หรืออาจกล่าวในชื่อเวียดนามใต้ ระหว่างปี ค.ศ.1955-1975

                ผลจากการสู้รบทำให้อาคารในป้อมปราการเมืองเว้ จำนวน 160 หลัง เหลือรอดเพียง 10 หลัง อาคารที่ไม่ถูกทำลายได้รับการซ่อมแซมจนงดงามดังเดิมในเวลาต่อมา และองค์การยูเนสโกก็ได้บรรจุเป็นมรดกโลกเมื่อปี ค.ศ.1993 ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้มาสัมผัสชื่นชม เป็นจุดหมายปลายทางสำคัญในการมาเยือนเวียดนาม

                ผมได้เล่าประวัติป้อมปราการเมืองเว้ พระราชวังต้องห้าม และราชวงศ์เหงียนของเวียดนามไปแล้วเมื่อสัปดาห์ก่อน วันนี้ขอเชิญท่านผู้อ่านเข้าไปชมด้านใน


ช่างภาพกำลังกำกับท่านั่งบัลลังก์ขององค์จักรพรรดิชั่วคราว

                หลังจากผ่านคูเมือง ประตูในกำแพงเมือง และซื้อตั๋วเข้าลอดผ่านประตูเที่ยงวัน ประตูสำคัญที่ในอดีตองค์จักรพรรดิเท่านั้นที่มีสิทธิ์ใช้ แล้วก็เข้าสู่ “วังไทหวา” อาคารพระที่นั่งสีแดงชาด มีพระราชบัลลังก์ตั้งอยู่ในโซนเชือกกั้น พระแท่นราชอาสน์สีทองตั้งอยู่บนฐานยกพื้น 3 ชั้น เสาไม้กลมสีแดงลายมังกรจำนวนหลายต้นค้ำยันอยู่กับเพดานหลังคาที่ไม่สูงมากนัก และป้ายระบุชัดเจน “ห้องนี้ห้ามถ่ายรูป”  

                เดินทะลุห้องบังลังก์สู่ด้านหลังอาคาร มีการฉายวีดิทัศน์ในจอทีวีขนาดใหญ่ เป็นภาพที่ถ่ายงานพิธีและงานฉลองต่างๆ ในพระราชวังสมัยเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ภาพแผนงานการซ่อมแซมพระราชวัง และภาพเสมือนจริงสมัยที่ทั้งป้อมปราการเมืองยังไม่ถูกทำลาย 

                ใกล้ๆ กันมีการติดตั้งแผนที่ขนาดใหญ่ 2 แผ่น ได้แก่ แผนที่ของจีนในยุคปลายราชวงศ์ชิง ปี ค.ศ.1904 ที่แสดงให้เห็นว่าจุดใต้สุดของดินแดนจีนคือเกาะไหหลำ ไม่ได้นับเอาหมู่พาราเซลในทะเลจีนใต้ไว้เป็นส่วนหนึ่งของจีน (จีนเรียกหมู่เกาะซีชา ส่วนเวียดนามเรียกหมู่เกาะหว่างซา) อีกแผ่นคือแผนที่ของฝรั่งเศสในปี ค.ศ.1838 สมัยที่ยังไม่ได้ยึดเวียดนามไปเป็นของตน แผนที่ระบุว่าหมู่เกาะพาราเซลเป็นส่วนหนึ่งของเวียดนาม

                ผมมองว่าเป็นกุศโลบายที่ดีในการแย่งชิงพื้นที่ความรับรู้ของนักท่องเที่ยวต่างชาติในภาวะที่ยังมีความขัดแย้งในการอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนกับชาติเพื่อนบ้าน และทำให้นึกถึงตอนที่ไปเกาหลีใต้ ในรถไฟเชื่อมระหว่างสนามบินอินชอนกับตัวเมืองกรุงโซลนั้นมีการฉายวีดิทัศน์บนจอวนไปวนมาเพื่อบอกว่าหมู่เกาะด็อกโดเป็นของเกาหลีใต้ ไม่ใช่ของญี่ปุ่น (หมู่เกาะทาเคชิมะ)


นิทรรศการภาพถ่ายและประวัติเมืองเว้บริเวณโถงทางเดินในพระราชวังต้องห้าม

                ในพื้นที่หลังห้องบัลลังก์นี้ยังติดตั้งเมืองป้อมปราการย่อขนาดไว้ด้วย ขนาดใหญ่พอที่จะมองเห็นรายละเอียดส่วนต่างๆ ของคูเมือง กำแพงเมือง ตัวเมืองชั้นนอก ตัวเมืองชั้นในที่เรียกว่านครจักรพรรดิ และพระราชวังต้องห้ามที่อยู่ในสุด อาคาร สวน บ่อและบึงต่างๆ ถูกนำมาใส่ไว้ครบ ทั้งหมดถูกครอบไว้ด้วยกระจกใสทรงสี่เหลี่ยม

                ออกจากอาคารพระที่นั่งดังกล่าวก็เข้าสู่พระราชวังต้องห้าม ทางด้านซ้ายมือมีห้องชื่อ Hall of the Mandarins หรือหอขุนนาง จำลองไว้คล้ายๆ กับห้องบัลลังก์ ซึ่งใครๆ ก็สามารถขึ้นไปนั่งบนบัลลังก์ได้ แต่ต้องซื้อตั๋วเพื่อแต่งชุดจักรพรรดิ ทางฝ่ายบริหารจัดการของพระราชวังมีช่างภาพที่คอยแนะนำท่านั่งบนบัลลังก์ให้ สนนราคาท่านละ 135,000 ดอง นั่งเสร็จแล้วจักรพรรดิองค์ใหม่ก็ขึ้นไปครองบัลลังก์ต่อ ใครจะรับนางสนมถือพัดคอยวีทั้งซ้าย-ขวา ต้องจ่ายเพิ่มอีก 60,000 ดอง หากใครควงภรรยามานางสนมก็ต้องถอยออกไป เพราะภรรยาจะแปลงกายเป็นมเหสียืนอยู่ข้างๆ แทน และถ้ามีลูกๆ มาด้วยก็ให้พวกเขาแต่งเป็นพระโอรสและพระธิดาเข้าเฟรมพร้อมกัน ราคาของเด็กจะลดลงไปนิดหน่อย เบื่อบัลลังก์จะลงไปนั่งในเสลี่ยงและรถลากก็ยังได้ แต่ต้องจ่ายเพิ่มอีก 60,000 ดอง เสร็จแล้วจึงรอรับภาพถ่าย อาจจะให้อัดใส่กรอบ ใส่ปฏิทิน หรือถ้วยชากาแฟ ตามแต่สะดวก


ทางเชื่อมที่ไม่ธรรมดาระหว่างประตูในพระราชวังเมืองเว้

                ถัดจากพระราชวังต้องห้ามส่วนหน้านี้ เมื่อเดินผ่านประตูกำแพงที่กั้นอยู่ก็เจอกับลานกว้างขวาง มีโถงทางเดินยาวพร้อมหลังคาที่สร้างขึ้นใหม่ตามแบบเดิมล้อมลานดังกล่าวไว้เป็นรูปตัว U ตรงกลางของลานกว้างมีรูปปั้นมังกรทองขนาดใหญ่มองไปทางวังไทหวา

                โถงทางเดินทั้ง 2 ด้านจัดแสดงนิทรรศการประวัติของพระราชวังเว้ มีภาพถ่ายโบราณของพระราชวัง ภาพถ่ายงานพิธีที่เคยจัดในพระราชวัง ภาพเขียนโบราณเกี่ยวกับธรรมชาติพร้อมบทกวี ภาพถ่ายและประวัติของบุคคลสำคัญในราชสำนักแห่งราชวงศ์เหงียน 

                เมื่อเดินออกจากพระราชวังต้องห้ามไปทางด้านขวามือ มีตำหนักที่สภาพสมบูรณ์ อุทยานและสระน้ำขนาดใหญ่ นำหินมาเรียงเป็นขอบตลิ่ง บางส่วนก่อปูนลงไปเป็นขั้นบันได ไม่ไกลกันคืออาคารโรงละคร เป็นอาคาร 2 ชั้น เพดานสูง โคมไฟสวยงามห้อยลงมาจากเพดานจำนวนหลายดวง จัดวางเก้าอี้ไม้ไว้เป็นระเบียบ เวทีโล่งเพราะการแสดงรอบบ่ายเลิกไปได้สักพักแล้ว แต่ก็ยังเปิดไฟไว้สำหรับให้ผู้มาเยือนถ่ายภาพ ฉากหลังตกแต่งอย่างอลังการ เหนือสุดเป็นมังกร 2 ตัวเหาะขึ้นไปประจันหน้ากัน ด้านข้างของเวทีละครจัดแสดงเครื่องดนตรีโบราณ เครื่องแต่งกายที่ใช้ในการแสดง ทั้งเสื้อผ้าและหน้ากาก ภาพถ่ายขาวดำของศิลปะการแสดงในอดีต ด้านนอกของโรงละครมีศิลปินกำลังเขียนภาพและวางขายไปพร้อมกัน

                มีทางเชื่อมไปยังสวนขนาดกว้างใหญ่ ผมเดินเข้าไปเห็นสระ ศาลากลางน้ำ และสะพานข้ามคลองเล็กๆ เดินไปจนถึงกำแพง ซึ่งกำแพงนี้คือขอบเขตของนครจักรพรรดิ (Imperial City) แล้วขึ้นไปบนเนินใกล้ๆ มีป้อมหกเหลี่ยม ในอดีตอาจเป็นป้อมปืน ต้นไม้ใหญ่ขึ้นอยู่บนเนินนี้ด้วย มองลงไปยังสวนเห็นภาพรวมที่เป็นระเบียบสวยงาม หันไปมองนอกกำแพงเห็นรถราวิ่งบนถนนเลียบกำแพง ใกล้ๆ ยังเห็นต้นไม้อยู่หนาแน่น ห่างออกไปเป็นเขตที่อยู่อาศัย ธุรกิจร้านค้า โรงแรมที่พัก รวมถึงหน่วยงานราชการ สถานศึกษา และพิพิธภัณฑ์หลายแห่ง ซึ่งในอดีตพื้นที่เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของป้อมปราการเมืองไปจนถึงกำแพงด้านนอก


ตำหนักที่อยู่รอดปลอดภัยจากการถูกทิ้งระเบิดในสงครามเมื่อกลางศตวรรษที่ผ่านมา

                ฟ้าใกล้จะมืดลงแล้ว ผมเดินไปบนถนนในนครจักรพรรดิเลียบกำแพงด้านตะวันออกไปเรื่อยๆ เลี้ยวซ้ายจะออกประตู Cua Hien Nhom มีการจัดแสดงงานฝีมือจำพวกโคมไฟ ดอกไม้กระดาษ หมวกงอบจารึกบทกวี และงานจักสานจากไม้ไผ่อีกหลายอย่าง

                ออกมาจากประตู Cua Hien Nhom ที่มีทางออก 3 ช่อง บนหลังคาของประตูคือหอคอย มีประตูอีก 3 ช่องเช่นกัน โดยขนาดเล็กกว่าประตูด้านล่าง ผมหิวและกระหายมาได้สักพักแล้ว แต่ราคาของกินเล่นและเครื่องดื่มในพระราชวังที่เห็นมีขายอยู่ 3-4 จุด ราคาสูงไปนิด ออกมาได้ก็เจอสารพัดของกิน บางคนตั้งแผงขาย บ้างยืนถือเอาง่ายๆ ป้าคนหนึ่งขายมะม่วงสุกหั่นใส่ถุงไว้แล้ว ชิ้นใหญ่แต่สีไม่ค่อยโสภานัก ผมถามราคา ป้าตอบ 50,000 ดอง หรือประมาณ 65 บาท พอลังเลแกก็ลดลงมาเหลือ 40,000 ดอง ผมต่อ 30,000 ดอง แกก็ยินดีขาย เมื่อหาที่นั่งกินได้รู้สึกทันทีว่า 10,000 ดองก็ยังแพงไป จากนั้นซื้อน้ำที่ร้านริมถนน ขวดเล็กราคา 15,000 ดอง แพงกว่าปกติ 2 เท่า ถือว่าเป็นเรื่องปกติของการค้าขายในแหล่งท่องเที่ยว

                ผมเดินไปรับจักรยานที่ฝากไว้ใกล้ๆ ประตูหลักของกำแพงเมืองด้านตรงข้ามแม่น้ำหอม ชอล์กสีขาวที่เขียนเลข 263 บนอานจักรยานยังไม่เลือนหาย ผมยื่นตั๋วระบุหมายเลขเดียวกันให้กับเจ้าหน้าที่เพื่อนำจักรยานออก จากนั้นเลี้ยวซ้ายปั่นไปบนถนน Le Duan เส้นทางเดียวกับขามา เลียบแม่น้ำหอมไปเรื่อยๆ เลี้ยวขวาขึ้นสะพาน Phu Xuan สู่เขตเมืองใหม่ เข้าย่านนักท่องเที่ยว ถึงโรงแรมก็คืนจักรยาน ขึ้นห้องพักไปอาบน้ำแล้วเดินออกไปยังร้านอาหารชื่อ Rose 2 บนถนน Chu Van An ร้านเดียวกับเมื่อวาน มีอาหารที่กินง่ายและค่อนข้างหลากหลาย ผมชอบผัดผักบุ้งแบบเวียดนามเป็นพิเศษ เพราะน้ำมันน้อยและไม่เค็มจัด อีกจานสั่งปลาทูน่าทอดราสซอสพริกไทยดำ กินกับข้าวสวย ค่าอาหารแค่ร้อยกว่าบาท วันนี้ไม่กล้าดื่มเบียร์ เพราะอาการจามและน้ำมูกไหลที่เริ่มมาตั้งแต่เช้ายังไม่หายไป 


โรงละครภายในพระราชวังเมืองเว้ 

               ขาเดินกลับแวะถามราคาตั๋วรถบัสไปฮอยอันที่ออฟฟิศทัวร์ไม่ห่างจากร้านอาหาร ราคา 90,000 ดอง อีกแห่งที่ถามเมื่อวาน 100,000 ดอง จากนั้นแวะร้านขายยาเพื่อซื้อยาแก้แพ้ คุณป้าเภสัชกรแนะนำตัวยา Loratadine แกบอกว่ากินแล้วไม่ง่วง ราคาแผงละ 30,000 ดอง แล้วถามหาพาราเซตามอล คุณป้าบอกว่ามีแต่ชนิดที่ผสมกาเฟอีน คือตัวยาพาราฯ 500 มิลลิกรัม และกาเฟอีน 65 มิลลิกรัม แผงละ 15,000 ดอง ก็ซื้อมาเผื่อๆ ผมนึกว่ากาเฟอีนที่ผสมลงไปนั้นน่าจะเป็นเพราะย่านนี้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเยอะและบางคนก็ดื่มหนัก ตื่นมาอาจมีอาการแฮงก์โอเวอร์ พาราฯ ทำให้หายปวดหัว ส่วนกาเฟอีนทำให้สมองตื่น แต่เมื่อค้นข้อมูลในอินเทอร์เน็ตก็ทราบว่ากาเฟอีนปริมาณน้อยๆ จะทำให้ตัวยาพาราฯ ออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น แต่ผมก็ยังกินเฉพาะยาแก้แพ้ เพราะไม่มีอาการปวดหัว ตื่นมาอีกวันอาการดีขึ้นแค่นิดหน่อยเท่านั้น กินมื้อเช้าของโรงแรมแล้วก็ขึ้นไปนอนต่อจนตื่นอีกทีหลังเที่ยง จากนั้นก็ทำสิ่งที่เหมือนเป็นกิจวัตรคือ ยืมจักรยานของโรงแรมปั่นออกไปกินมื้อเที่ยงที่ร้าน Rose 2 สั่งข้าวผัดทะเลและชาร้อนด้วย หวังว่าอาการน้ำมูกไหลจะดีขึ้น แต่แทบไม่ได้ช่วยอะไร

                ผมมีเพื่อนเยอรมันอยู่คนหนึ่งที่เคยเดินทางมาเว้ไม่น้อยกว่า 5 ครั้ง เขาชื่อมิชาเอล มักตัดเสื้อสูทแจ็กเกตที่ร้านประจำ ช่างของเขาชื่อโบ เป็นสตรีวัยประมาณ 40 ปี ต่อมาโบได้แยกออกมาเปิดร้านของตัวเองในซอย Vo thi Sau เป็นซอยแยกไปจากถนน Chu Van An มิชาเอลกำชับว่าผมต้องไปเจอโบ


สวนสวยมองจากเนินริมกำแพงพระราชวัง

                เมื่อถึง Bo’s Tailor Shop ก็จอดจักรยานหน้าร้านแล้วเดินเข้าไปถามหาโบ เด็กในร้าน 2 คนช่วยกันเรียกโบที่อยู่บนชั้น 2 ให้ลงมา ตอนที่โบลงมาเห็นจากใบหน้าก็ดูออกว่าเธอกำลังนอนกลางวัน ผมขอโทษที่มารบกวน โบบอกว่ารอเจอผมอยู่ เพราะไมเคิลได้ส่งข้อความมาบอกตั้งแต่เมื่อวานแล้ว ไมเคิลมาเยือนเว้ครั้งล่าสุดเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาพร้อมกับแฟนสาวชื่อเลลา เธอเป็นคนจอร์เจียนที่ย้ายไปทำมาหากินในเยอรมนี

                ขณะนี้เป็นเวลาบ่าย 2 นิดๆ ที่เยอรมนียังเช้าอยู่ แต่ผมก็ไม่เกรงใจ วิดีโอคอลหาไมเคิลตามที่เขาสั่งไว้ เขาคุยกับผมแล้วก็คุยกับโบ ทั้งคู่พูดถึงเรื่องการแต่งงานและการมีลูก โบเชียร์ให้ไมเคิลแต่งงานกับเลลาเพื่อจะได้มีลูกให้ทันเธอที่ตอนนี้มีไปแล้ว 3 คน ไมเคิลตอบกลับมาว่าการมีลูกไม่จำเป็นต้องแต่งงาน ผมหัวเราะ แต่โบดูจะเห็นเป็นเรื่องแปลก ไม่แต่งงานกันแล้วจะมีลูกได้อย่างไร ไมเคิลคุยกับโบเสร็จก็คุยกับผมต่อ เขาขอให้ผมกลับมาหาโบอีกครั้งในคืนนี้เพื่อเลลาจะได้ร่วมแจมในวิดีโอคอลด้วย

                ผมคุยกับโบเรื่องน้ำดื่มที่ราคาแพง เธอแนะนำบางยี่ห้อที่คุณภาพดีและราคาถูก และไม่ควรซื้อในร้านสะดวกซื้อสัญชาติเกาหลี เพราะพวกเขาจำหน่ายน้ำดื่ม (และสินค้าอื่นๆ) นำเข้าจากเกาหลี ที่เป็นอย่างนี้เพราะนักท่องเที่ยวเกาหลีในเวียดนามได้พุ่งจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว และบางครั้งนักท่องเที่ยวเกาหลีก็ไม่ไว้ใจน้ำดื่มที่ตัวเองไม่รู้จัก เมื่อเห็นน้ำดื่มจากบ้านตัวเองก็ซื้อมาดื่มอย่างอุ่นใจ แม้ราคาจะแพงกว่ามากมายก็ตาม

                โบยังแนะนำร้านกาแฟข้างๆ ร้านของเธอ ชื่อ Pause Coffee เธอว่าเมล็ดกาแฟก็เหมือนๆ กับร้านอื่น วิธีการทำก็ไม่ต่างกัน แต่ร้านนี้ทำออกมารสชาติดีกว่า เพราะคนทำใส่ใจมากกว่า เช่นเดียวกับเสื้อผ้าที่เหมือนกัน แต่คนตัดมีฝีมือและความใส่ใจต่างกัน ผมไม่ได้พิสูจน์ฝีมือการตัดชุดของเธอ แต่ได้พิสูจน์รสชาติกาแฟร้านที่เธอแนะนำ พบว่าโบพูดไม่ผิดเลย


มุมหัตถศิลป์ในพระราชวังเมืองเว้

                ก่อนออกมาจากโรงแรมเมื่อตอนบ่ายโมง ผมได้สอบถามรีเซฟชั่นสาวเรื่องร้านแลกเงินที่ให้อัตราแลกเปลี่ยนดีๆ เธอเขียนที่อยู่ของร้านให้ ผมเพิ่งจะคลี่ออกมาดูตอนที่คิดจะปั่นจักรยานไปยังเจดีย์เทียนมู่ ซึ่งอยู่อีกฝั่งของแม่น้ำหอม เลยพระราชวังเมืองเว้ไปอีกไกลพอสมควร

                ในกระดาษเขียนชื่อร้าน Phu Cuong ระบุเลขที่ 263 ถนน Tran Hung Dao อยู่ใกล้ๆ ตลาด Dong Ba ผมสะดุดตาเลขที่ร้านเป็นพิเศษ ชอล์กขาวที่มีความเหนียวยังปรากฏจางๆ อยู่บนอานจักรยาน เลข 263 ซึ่งเป็นหมายเลขฝากจักรยานก่อนเข้าพระราชวังเมืองเว้เมื่อวานกับเลขร้านแลกเงินเป็นเลขเดียวกัน

                ผมปั่นจักรยานไปบนถนน Le Loi เลี้ยวขวาขึ้นสะพาน Trang Tien ข้ามแม่น้ำหอมก็ถึงถนน Tran Hung Dao หาเลขที่ 263 เจอก็จอดจักรยานเดินเข้าไป กิจการหลักของร้านนี้คือจำหน่ายทองคำและอัญมณีเครื่องประดับ อัตราแลกเปลี่ยนที่ได้รับถือว่ายุติธรรมดี

                ระยะทาง 6 กิโลเมตรกว่าจะถึงเจดีย์เทียนมู่ในความรู้สึกตอนนั้นดูจะไม่ห่างไกลสักเท่าไหร่ เพราะผมมีตัวเลข 263 อยู่กับตัวถึง 2 แห่ง และหวังอย่างยิ่งว่าจะปรากฏครั้งที่ 3 ในจอทีวีและคอมพิวเตอร์ในวันที่ 16 เหลือแค่ไม่กี่วันหลังจากนั้น

                แต่ทุกท่านก็ทราบดีว่าจนป่านนี้ยังไร้วี่แวว. 

 

แกลลอรี่


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"