21 ก.ย. 2562 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ฝ่ายเศรษฐกิจ โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า ที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจได้สั่งเร่งดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) วงเงิน 2.2 แสนล้านบาท เนื่องจากมีเงื่อนไขของกรอบเวลากำหนดไว้ จากเดิมที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะต้องได้ข้อยุติกับกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่มซีพี) ตั้งแต่วันที่ 9 ก.ย. ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 23 ก.ย.นี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี จะเชิญนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) พร้อมด้วยคณะกรรมการคัดเลือกโครงการฯ มาประชุมร่วมกัน เพื่อหารือข้อสรุปให้มีความชัดเจนในการส่งมอบพื้นที่ รวมถึงพิจารณาว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามที่ทีโออาร์กำหนดไว้หรือไม่ ก่อนจะเสนอให้คณะกรรมการอีอีซีต่อไป
“ต้องไปดูเรื่องทีโออาร์การส่งมอบพื้นที่ ว่าเขาเขียนยังไง ว่าตรงนี้ให้ใคร เป็นหน้าที่ของใคร แต่ละเรื่องที่เจรจายังมายุติในทีโออาร์เขียนว่ายังไง จะได้ให้เขามาอธิบายให้ฟัง เรื่องนี้เราไม่สามารถไปแก้ทีโออาร์ได้ จะไปทำนอกเหนือกรอบทีโออาร์ไม่ได้ เพราะเงื่อนเวลาเร่งจนเป็นเงื่อนไข ซึ่งจะสิ้นสุดภายในเดือน พ.ย.นี้ ซึ่งราคาที่ประมูลมายืนถึง พ.ย.นี้ เราปล่อยให้เรื่องนี้ผ่านไปไม่ได้ ถ้าไม่จบต้องถามคณะกรรมการคัดเลือกว่า แนวทางการดำเนินการที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศคืออะไร” นายศักดิ์สยาม กล่าว
อย่างไรก็ตามในส่วนของโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. วงเงินลงทุน 1.79 แสนล้านบาท ในส่วนของสัญญา 2.3 (งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและฝึกอบรมบุคลากร) วงเงิน 50,600 ล้านบาทนั้น ได้รายงานนายกรัฐมนตรีรับทราบถึงข้อหารือระหว่างฝ่ายไทยและจีนในส่วนที่ติดขัดหลักๆ จำนวน 12 ข้อ ที่ได้ข้อยุติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการรอยืนยันอย่างเป็นทางการ ขณะที่แหล่งเงินทุนนั้น อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับสำนักงบประมาณว่าจะใช้เงินกู้ภายในประเทศ หรือเงินกู้จากจีน จากนั้นจะเสนอให้ที่ประชุม ครม. พิจารณาอนุมัติกรอบวงเงินของสัญญา ก่อนจะนัดประชุมทั้ง 2 เพื่อลงนามในสัญญาต่อไป อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะสามารถลงนามได้ภายในเดือน พ.ย. นี้ ก่อนที่จะมีการจัดงานประชุมอาเซียนซัมมิทที่ประเทศไทย ซึ่งจะมีผู้นำรัฐบาลจีนเข้าร่วมด้วย
นายศักดิ์สยาม กล่าวถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ฝั่งตะวันตก บางขุนนนท์- ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย วงเงิน 1.28 แสนล้านบาท ที่จะใช้งบประมาณปี 2563 ว่า ที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจได้ตั้งข้อซักถามถึงรูปแบบของการดำเนินการของโครงการฯ หลังจากกระทรวงการคลังได้ให้ความเห็นว่าหากรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการในส่วนของงานโยธาเอง จะทำให้มีมูลค่าของโครงการที่ถูกลง เช่นเดียวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ฝั่งตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)
ทั้งนี้ ที่ประชุมมอบหมายให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาประชุม เพื่อหาข้อสรุปทั้งรูปแบบการดำเนินการ และการคาดการณ์จำนวนผู้โดยสารของโครงการ ในวันที่ 25 ก.ย. 2562 ก่อนเสนอให้ที่ประชุม ครม.ชุดใหญ่ ในวันที่ 1 ต.ค.นี้ พิจารณาต่อไป อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า โครงการดังกล่าว เป็นประโยชน์ที่จะต้องดำเนินการต่อไป
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ครม. เศรษฐกิจได้เร่งรัดการลงนามในสัญญาโครงการ ในส่วนที่จะเงินจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย หรือไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ (TFF) โดยเฉพาะโครงการทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก ระยะทาง 18.7 กม. งานโยธา จำนวน 4 สัญญา วงเงินรวม 2.91 หมื่นล้านบาทของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามแผน และให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยในขณะนี้ ได้มีการดำเนินการประกวดราคาเรียบร้อยแล้วทั้ง 4 สัญญา แม้ว่าจะมี 2 สัญญาที่ยังติดปัญหาในเรื่องของการตรวจสอบคุณสมบัติ จึงได้สั่งการให้มีการเร่งรัดตรวจสอบให้เรียบร้อย หากตรวจสอบแล้วพบว่าผู้ชนะการประกวดราคาไม่ผ่านคุณสมบัติ จะเรียกผู้ที่เสนอราคาในลำดับที่ 2 มาพิจารณาต่อไป อย่างไรก็ตาม คาดว่าไม่เกิน 2 สัปดาห์จะได้ข้อยุติในเรื่องดังกล่าว
นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมยังได้นำเสนอโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ (Mega Projects) ของกระทรวงคมนาคม ตั้งแต่ก่อนปี 2561-2566 จำนวน 44 โครงการ วงเงินรวม 1.94 ล้านล้านบาทให้ที่ประชุมรับทราบ ประกอบด้วย 1.โครงการสำคัญที่ ครม.อนุมัติแล้วและอยู่ระหว่างการก่อสร้างมีทั้งหมด 17 โครงการแบ่งเป็นเงินงบประมาณ 1.69 แสนล้านบาท, เงินกู้ประมาณ 4.75 แสนล้านบาท, เอกชนร่วมลงทุน (PPP) ประมาณ 1.26 แสนล้านบาท และรายได้/กองทุนประมาณ 1.18 หมื่นล้านบาท 2.โครงการสำคัญที่ ครม.อนุมัติแล้วและอยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการมีทั้งหมด 12 โครงการ แบ่งเป็น เงินงบประมาณ 4.30 หมื่นล้านบาท, เงินกู้ประมาณ 2.86 แสนล้านบาท, PPP ประมาณ 2.36 หมื่นล้านบาท และรายได้/กองทุนประมาณ 5.95 หมื่นล้านบาท
3.โครงการสำคัญที่คณะกรรมการ PPP เห็นชอบแล้ว และ สคร. เตรียมเสนอ ครม. ทั้งหมด 2 โครงการ แบ่งเป็น เงินงบประมาณ 3.29 หมื่นล้านบาท, PPP ประมาณ 1.68 แสนล้านบาท และรายได้/กองทุนประมาณ 1,872 ล้านบาท และ 4.โครงการสำคัญของกระทรวงคมนาคมที่จะนำเสนอ ครม.ในรัฐบาลชุดนี้ ทั้งหมด 13 โครงการ แบ่งเป็น เงินงบประมาณ 1.45 หมื่นล้านบาท, เงินกู้ประมาณ 1.77 แสนล้านบาท, PPP ประมาณ 2.1 หมื่นล้านบาท และรายได้/กองทุนประมาณ 7.62 หมื่น ล้านบาท
ขณะเดียวกัน ยังได้เสนอให้ที่ประชุม ครม. เศรษฐกิจช่วยปลดล็อคโครงการต่างๆ ของกระทรวงคมนาคมที่ยังติดขัดในข้อกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อดำเนินการแก้ไข และเดินหน้าโครงการต่อ อาทิ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ช่วงบางใหญ่-กาญจนบุรี ของกรมทางหลวง (ทล.)
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |