21 ก.ย. 2562 น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือนส.ค.2562 มีมูลค่า 21,914.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4% เป็นการกลับมาลดลงอีกครั้ง หลังจากที่เดือนก่อนหน้าเพิ่งขยายตัวเป็นบวก และแม้การส่งออกจะลดลง แต่มูลค่าถือว่าเป็นการส่งออกที่สูงที่สุดในรอบปี ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 19,862.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 14.62% เกินดุลการค้ามูลค่า 2,052.6 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับการส่งออกในช่วง 8 เดือนของปี 2562 (ม.ค.-ส.ค.) มีมูลค่า 166,090.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 2.19% การนำเข้ามีมูลค่า 159,984.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 3.61% เกินดุลการค้า 6,106.1 ล้านเหรียญสหรัฐ
สาเหตุที่ทำให้การส่งออกลดลง มาจากผลกระทบจากสงครามการค้าที่ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ปัญหาในตะวันออกกลางที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น บางประเทศในยุโรปมีความต้องการซื้อสินค้าลดลง ราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับต่ำ ขณะนี้ราคาอยู่ที่ 50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลให้การส่งออกน้ำมันลดลง และสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันก็หดตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง และเงินบาทแข็งค่า ทำให้กดดันต่อการส่งออกสินค้าเกษตร และยังมีส่วนเกินของสินค้าเกษตรในตลาดโลก ทำให้ความต้องการลดลง
ทั้งนี้ หากดูเฉพาะการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร ลดลง 4.4% โดยสินค้าที่ลดลง เช่น ข้าว ลด 44.7% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ลด25.3% ยางพารา ลด 7.2% กุ้งสดแช่แข็งและแปรรูป ลด 10.8% เครื่องดื่ม ลด 8.9% แต่ผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป เพิ่ม 26.8% น้ำตาลทราย เพิ่ม 15.3% ไก่สด แช่แข็งและแปรรูป เพิ่ม 5.6% ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม ลด 1.9% สินค้าที่ลดลง เช่น สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทั้งน้ำมัน เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ลด 27.7% รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ลด 12.6% คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ลด 10.5% เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว ลด 9.5% แต่อัญมณีและเครื่องประดับ เพิ่ม 51.1% ทองคำ เพิ่ม 377.5% รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เพิ่ม 9.2% เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์และส่วนประกอบ ลด 0.9%
ส่วนตลาดส่งออก ตลาดหลัก ลดลง 0.1% โดยสหรัฐฯ เพิ่ม 5.8% ญี่ปุ่น ลด 1.2% สหภาพยุโรป (15 ประเทศ) ลด 6.2% ตลาดศักยภาพสูง ลด 16% เนื่องจากส่งออกไปอาเซียน 5 ประเทศ ลด 24.6% เอเชียใต้ ลด 20% ส่วนจีนลดไม่มากแค่ 2.7% แต่การส่งออกไปตลาดศักยภาพระดับรอง เพิ่ม 0.2% เช่น ทวีปออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง เพิ่ม 18.4% และ 5.3% ส่วนแอฟริกา กลุ่มประเทศ CIS และลาตินอเมริกา ลด 22.8% , 10.5% และ 8.2%
น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ (ก.ย.-ธ.ค.) หากจะให้ทำได้ตามเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้ที่ 3% การส่งออกแต่ละเดือนต้องทำได้เดือนละ 2.36 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ แต่ถ้าการส่งออกยังทำได้ในระดับเดือนละ 2.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งปีจะขยายตัวเป็นบวกที่ 0% ขึ้นไป และหากในช่วงที่เหลือของปีนี้ สามารถผลักดันให้สินค้าบางตัวขยายตัวได้เพิ่มขึ้น ก็จะทำให้การส่งออกบวกได้เพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ กำลังเร่งขยายตลาดข้าวในอิรัก และขยายตลาดจอร์แดน กาตาร์ บาห์เรน คูเวต ผลักดันเพิ่มการส่งออกในอาเซียนและ CLMV ขยายตลาดจีน ที่จะมีเน้นมณฑลและเมืองรองที่ยังเข้าไม่ถึง ตลาดอินเดีย จะนำคณะไปเยือนเพื่อผลักดันการขายสินค้าเกษตร เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และสินค้าเกษตรอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม จะต้องระวังปัจจัยเสี่ยง จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง เพราะเดิมได้เน้นทำแผนรับมือกับสงครามการค้า แต่ตอนนี้ ผลกระทบได้ส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ทำให้การส่งออกไปประเทศคู่ค้าอื่นๆ เริ่มลดลงชัดเจน ปัญหาในยุโรป และการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ ระดับราคาน้ำมัน ที่ลดลง ยังกระทบต่อการส่งออกน้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ตลาดจีน ที่หดตัว หากเศรษฐกิจจีนชะลอตัว ก็จะกระทบต่อเนื่อง และค่าเงินบาที่แข็งค่า เป็นเรื่องที่สำคัญ ที่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออก
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |