9 มี.ค.61 - ที่โรงแรมแกรนด์ไฮแอดเอราวัณ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้อดีต ส.ส.ภาคใต้ แสดงความจำนงจะลงสมัครรับเลือกตั้งและเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ภายในวันที่ 9 มี.ค. ว่า เป็นเรื่องของนายนิพิฎฐ์ในฐานะรองหัวหน้าพรรคภาคใต้ ที่อยากจะสำรวจจำนวนอดีต ส.ส.ในภาคใต้ ทั้งนี้อดีตส.ส. ทุกคนต้องมาแสดงตัวเพื่อยืนยันสถานะความเป็นสมาชิกและจ่ายค่าบำรุงพรรคการเมืองต่อหัวหน้าพรรคการเมืองอยู่แล้ว ตั้งแต่วันที่ 1-30 เม.ย. นี้
ส่วนกรณีที่นายธานี เทือกสุบรรณ อดีต ส.ส.สุราษฎรธานี พรรคประชาธิปัตย์ น้องชายนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. จะจัดตั้งพรรคมวลมหาประชาชนฯ เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ของกลุ่ม กปปส.นั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ส่วนตัวยังไม่มีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะยังไม่มีใครแสดงความจำนงที่จะออกจากพรรคประชาธิปัตย์ นอกจากนายธานี
"ขอย้ำว่าจุดยืนต่างกันที่ กปปส. หนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งต้องรอดูท่าที เพราะพล.อ.ประยุทธ์ เองก็ไม่เคยปฏิเสธที่จะมาเป็นนายกฯคนนอก และไม่เคยปฏิเสธพรรคการเมืองใดๆ หากจะมีการเสนอชื่อเพื่อให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี"
ผู้สื่อข่าวถามว่ามีหลายกลุ่มการเมืองที่กำลังจะจดแจ้งจัดตั้งพรรคการเมืองและจะสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ ให้เป็นนายกฯต่อไป จะกระทบฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ต้องรอดูก่อนว่าพล.อ.ประยุทธ์จะตัดสินใจอย่างไร หรือให้พรรคการเมืองใดเสนอชื่อหรือไม่ ส่วนพรรคมวลมหาประชาชนฯ ที่จะเกิดขึ้นจะทำให้ฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์น้อยลงหรือไม่ ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่จะมีการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น เมื่อมีพรรคการเมืองใหม่เกิดขึ้นมา ประชาธิปัตย์เองก็ต้องทำงานหนักขึ้น
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวต่อว่า หลังจากวันที่ 30 เม.ย.หากคนที่เป็นสมาชิกพรรคไม่ยืนยันต่อหัวหน้าพรรค ก็ต้องพ้นจากความเป็นสมาชิกพรรคการเมืองนั้นไป ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้มีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ยอมรับว่าโอกาสที่จะดึงสมาชิกกลับมาก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะพรรคการเมืองยังทำกิจกรรมไม่ได้ และระเบียบต่างๆ ยังเป็นอุปสรรคอยู่
เช่น การถ่ายสำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน ลงลายมือชื่อ ประกอบการยืนยันความเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ประกอบกับระยะเวลาเพียง 30 วัน แต่สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์มีกว่า 2 ล้านคน ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ก็เรียกร้องผู้ตรวจการแผ่นดินไปแล้ว ว่าคำสั่ง คสช. ที่ 53/2560 ที่กำหนดหลักเกณฑ์เหล่านี้ อาจเข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญว่าเป็นกฎหมายที่สร้างภาระโดยไม่จำเป็น จึงอยากให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเร่งการพิจารณาเรื่องนี้ ส่วนคนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมือง ก็ต้องรอจนกว่า คสช. จะปลดล็อคพรรคการเมืองให้ทำกิจกรรมได้ จึงจะมาสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้
นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ส.ว. ทั้ง 250 ที่จะมีส่วนร่วมเลือกนายกฯด้วยนั้น อยากให้ ส.ว.คำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในการเลือกตั้งด้วย และยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์จะไม่มีการร่วมมือทางการเมืองกับพรรคเพื่อไทย ตราบใดที่ยังก้าวข้ามไม่พ้นระบอบทักษิณ เพราะพรรคประชาธิปัตย์ต่อสู้กับระบอบทักษิณมายาวนาน ซึ่งเรื่องนี้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดวิกฤตมาจนถึงทุกวันนี้
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยังกล่าวถึงร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ที่ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ไปเมื่อวันที่ 8 มี.ค.ที่ผ่านมา แต่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ทักท้วงว่าอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญว่า ไม่น่ามีปัญหา เพราะเข้าใจว่าองค์กรที่เกี่ยวข้อง น่าจะมีการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว และไม่น่าจะกระทบกับโรดแม็ปการเลือกตั้ง เพราะ ร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีการขยายเวลาบังคับใช้ออกไป 90 วัน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |