9 มี.ค. 61 - ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย
วันนี้เป็นวันคล้ายวันเกิดของศาสตราจารย์ป๋วยอึ๊งภากรณ์ซึ่งเป็นบรรพชนท่านหนึ่งในทางความคิดและจิตวิญญาณของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ดังนั้นจึงต้องถือเป็นวันสำคัญของพวกเรา
ก่อนอื่นผมคงต้องขอขอบคุณคณะเศรษฐศาสตร์ที่กรุณาให้เกียรติเชิญผมมาพูดในวาระพิเศษนี้ในฐานะที่เคยเป็นทั้งนักศึกษาและอาจารย์ธรรมศาสตร์ผมเองก็เคารพนับถืออาจารย์ป๋วยดังนั้นจึงเป็นเรื่องชวนปีติที่จะได้คารวะท่านด้วยความคิดเรื่องบ้านเมืองสักสองสามประเด็น
สิ่งที่จะพูดในวันนี้มาจากมุมมองง่ายๆ ที่ผมไม่ค่อยได้ใช้วิเคราะห์สภาพสังคมหรือใช้พิจารณาสถานการณ์บ้านเมืองเท่าใด แต่จะใช้ค่อนข้างมากในชีวิตส่วนตัว
มุมมองที่ว่านี้คือ โลกที่เราเห็นคือโลกที่เราคิด และเรามักจะมองไม่เห็นสิ่งที่ไม่ได้คิดเอาไว้แล้วล่วงหน้า พูดให้ละเอียดขึ้นคือ คนเราจะเห็นโลกเป็นแบบไหน มักขึ้นอยู่กับความรู้สึกนึกคิดที่เขามีอยู่ สัมผัสของเขามักจะเก็บข้อมูลเฉพาะส่วนที่ความคิดของเขารู้จักเท่านั้น อะไรที่ไม่รู้จักอยู่ก่อนก็ตัดทิ้งไปหรือมองไม่เห็นเสียดื้อๆ เข้าทำนองพ่อครัวไม่สนใจเรื่องสีสันของไก่เท่ากับเนื้อของมัน หรือในทางกลับกันศิลปินก็อาจจะเห็นแต่ความงามของไก่จนลืมนึกถึงด้านที่เป็นอาหาร
ดังนั้น ประเด็นแรกที่สำคัญก็คือ มนุษย์เราโดยทั่วไปมักจะเห็นโลกได้จำกัด และเห็นโลกแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับฐานความคิดที่มีอยู่ในตัวเขา
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าคนเราจะมองเห็นโลกต่างกันแค่ไหน ส่วนใหญ่ก็มีแนวโน้มจะเชื่อว่าโลกที่ตัวเองเห็นเป็นโลกแห่งความจริง จากนั้นก็ผลิตความเห็นออกมายืนยันสายตาของตน รวมทั้งพร้อมจะโต้แย้ง กระทั่งทะเลาะกับคนอื่นเพราะความเห็นไม่ตรงกัน
อันที่จริงคำว่า view ในภาษาอังกฤษกับคำว่า ความเห็น ในภาษาไทยนั้นมีความหมายตรงกันอย่างน่าประหลาด และเรื่องนี้ถ้าเราคิดต่อสักนิดก็คงไม่ต้องทะเลาะกับใคร เพราะมนุษย์แต่ละคนไม่มีวันที่จะเห็นภาพหรือวิวอะไรได้ครบถ้วน เนื่องจากจุดที่ยืนอยู่และความจำกัดของสายตา มีแต่ต้องใช้หลายมุมมอง หรือไม่ก็ถามคนที่มองจากมุมอื่น จึงจะได้ภาพที่สมบูรณ์ขึ้น
แต่ก็อีกนั่นแหละ ในความเป็นจริงของสังคมไทย เราไม่ได้มีพฤติกรรมที่ rational ขนาดนั้น ตลอด 10 กว่าปีมานี้บ้านเมืองของเราตกอยู่ในความขัดแย้งในระดับที่ไม่มีใครฟังใคร และความขัดแย้งทางความคิดก็นับเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เราปรองดองกันได้ยาก
แน่ละ ในสภาพปกติ มนุษย์เราก็มองโลกแตกต่างกันในแทบทุกเรื่องอยู่แล้ว แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะต้องนำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้ง เว้นไว้แต่ว่าจะมีการใช้อำนาจทางกายภาพมาสำทับขับเคลื่อนความคิดเห็นของตน และนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในระดับสังคม… คือสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
เฉพาะหน้าเราอาจจะแบ่งชุดความคิดที่ขัดแย้งกันได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ แนวคิดของฝ่ายอนุรักษนิยมกลุ่มหนึ่ง กับแนวคิดของฝ่ายก้าวหน้าอีกกลุ่มหนึ่ง อันที่จริงการแบ่งกลุ่มความคิดเช่นนี้นับว่ากว้างมาก เพราะในแต่ละกลุ่มใหญ่ยังมีกิ่งก้านสาขามากมาย นอกจากนี้ยังมีระดับเข้มข้นหรือเจือจางแตกต่างกัน
ยกตัวอย่างเช่นฝ่าย Conservative นั้นอาจจะรวมตั้งแต่พวกที่มีความคิดชาตินิยม รัฐนิยม และจารีตนิยมอย่างเป็นระบบ มาจนถึงพวกต่อต้านคอร์รัปชัน ถือศีลกินผัก เป็นอาสาสมัครในวันหยุด อะไรทำนองนี้ ส่วนฝ่าย Progressive ก็เช่นกัน มีตั้งแต่นักประชาธิปไตย นักเสรีนิยม นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน กลุ่ม Feminist กลุ่มเรียกร้องสิทธิ LGBT มาจนถึงกลุ่มย่อยที่นิยมอนาธิปไตย
พ้นจากนี้แล้วยังมีผู้คนอีกจำนวนมากที่มีความคิดผสมผสานกันระหว่างอนุรักษนิยมกับก้าวหน้า ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา หรือเป็นธรรมชาติของคนทั่วไปที่มักมีทัศนะต่อเรื่องต่างๆ เป็นรายประเด็น
ทว่าพูดหยาบๆ ก็คือ ประเทศไทยเรามีทั้งฝ่ายที่อยากรักษาสถานภาพเดิม (status quo) ซึ่งเห็นว่าโลกใหม่คือสังคมที่ปนเปื้อน ดังนั้นจึงควรกลับไปสู่โลกเก่าที่ถูกต้องดีงามกว่า กับฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโลกเพราะเห็นว่าความถูกต้องดีงามรออยู่ในอนาคต ในครรภ์แห่งปัจจุบันสมัย มีสังคมในฝันรอวันถือกำเนิด
ในความเห็นของผม ลำพังความแตกต่างกันทางความคิดเช่นนี้ไม่น่าจะก่อให้เกิดปัญหาใหญ่หลวงอันใด ดังเราจะเห็นได้จากตัวอย่างในประเทศที่เจริญแล้ว ประเทศเหล่านั้นก็มีทั้งฝ่ายอนุรักษนิยมและฝ่ายก้าวหน้า มีฝ่ายขวามีฝ่ายซ้าย แต่โดยพื้นฐานแล้วก็สามารถอยู่ร่วมสังคมเดียวกันได้ ภายใต้กรอบกติกาเดียวกัน
สังคมมนุษย์นั้นอยู่ในภาวะเลื่อนไหลแปรเปลี่ยนตลอดเวลา โดยเฉพาะในยุคโลกาภิวัตน์ ความเร็วในการแปรเปลี่ยนยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ดังนั้นถ้าจะมีคนบางกลุ่มแลไปข้างหลังอย่างเสียดายบ้าง หรือมีคนอีกกลุ่มหนึ่งแลไปข้างหน้าอย่างวาดหวังบ้าง มันก็น่าจะเป็นเรื่องธรรมดา
แล้วทำไมในกรณีของประเทศไทย ความแตกต่างทางความคิดจึงนำไปสู่ความขัดแย้งขั้นแตกหักรุนแรง จนถึงกับต้องเปลี่ยนระบอบการปกครองสลับไปมา?
อันนี้เป็นหัวข้อที่น่าสนใจโดยตัวของมันเอง แต่เฉพาะหน้าไม่ใช่ประเด็นหลักที่ผมจะพูดถึง ผมเพียงขออนุญาตตั้งข้อสังเกตว่าเรื่องการเมืองในบ้านเราไม่ใช่เรื่องความคิดเพียงอย่างเดียว หากเป็นความคิดที่ผูกโยงกับกลุ่มผลประโยชน์ ความสัมพันธ์ทางอำนาจ และประเด็นเชิงโครงสร้างอื่นๆ อีกหลายประการ
แต่ถึงอย่างไรความคิดก็เป็นหัวข้อสำคัญอย่างหนึ่ง ผมได้กล่าวไว้แล้วตั้งแต่แรกว่าโลกที่เราเห็นคือโลกที่เราคิด ถึงตรงนี้ก็คงต้องเติมว่าผู้คนไม่เพียงเห็นโลกจากมุมมองในความคิดเท่านั้น หากยังอยากดัดแปลงโลก หรือเก็บรักษาโลกให้เป็นไปตามความคิดของตนด้วย
หรือพูดให้สั้นขึ้นคือความคิดเป็นจุดเริ่มต้นของการกระทำ เรื่องนี้ทั้งทางโลกและทางธรรมไม่มีอะไรขัดแย้งกัน พระพุทธเจ้าท่านได้สอนไว้แล้วว่ามนุษย์เรามีใจเป็นประธาน ใจในที่นี้หมายถึง Mind ในภาษาอังกฤษ ซึ่งรวมความรู้สึกนึกคิดไว้ด้วยกัน
สำหรับเรื่อง สังคมไทยในความคิดและความคิดในสังคมไทย ผมมีข้อสังเกตอย่างหนึ่งคือในประเทศไทยนั้น มีทฤษฎีทางสังคมการเมืองที่คิดขึ้นใหม่น้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นการผลิตซ้ำและส่งทอดมาจากสองแหล่ง คือมาจากยุคสมัยที่ผ่านพ้นไปแล้วชุดหนึ่งกับมาจากโลกภายนอกอีกชุดหนึ่ง ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ล้วนมีสัดส่วนที่ไม่ได้กลมกลืนกับสภาพที่เป็นอยู่
ดังนั้นความขัดแย้งทางความคิดที่เราเห็นในประเทศไทย จึงมีลักษณะคล้ายความขัดแย้งทางศาสนา ซึ่งออกไปในทางศรัทธาความเชื่อ
สังคมไทยกลายเป็นพื้นที่ช่วงชิง (Contested Area) ระหว่างความคิดสองกระแส โดยฝ่ายอนุรักษนิยมมีปัญหาเรื่องกาละ ส่วนฝ่ายก้าวหน้ามีปัญหาเรื่องเทศะ และทั้งสองฝ่ายต่างพยายามที่จะปรับเปลี่ยนโลกของผู้อื่นให้ตรงกับความคิดของฝ่ายตน
กล่าวอีกแบบหนึ่งก็คือ ทั้งฝ่ายอนุรักษนิยมและฝ่ายก้าวหน้าต่างก็ต้องเหนื่อยกับการปลูกฝังความคิดของตนในสังคมไทยปัจจุบัน ฝ่ายหนึ่งต้องการนำความคิด ความเชื่อ และคุณค่าจากสมัยเก่ากลับมาอยู่ในกาลเวลาที่เปลี่ยนไป ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งก็พบว่าการนำแนวคิดจากโลกภายนอกมาไว้ในพื้นที่อันไม่ใช่เนื้อดินถิ่นกำเนิดนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย
การที่ทั้งสองฝ่ายแข่งกันบรรจุชุดความคิดฝ่ายตนลงไปใน space and time ของประเทศไทยปัจจุบัน นับเป็นเรื่องที่กดดันผู้คนในสังคมอยู่ไม่น้อย ทั้งนี้เนื่องจากปัจจุบันสมัยของไทยก็มีทั้งภูมิลักษณ์และดินฟ้าอากาศของตัวเอง ซึ่งมิใช่กาลเทศะที่จะเกี่ยวร้อยความคิดทั้งสองชุดได้โดยอัตโนมัติ หรืออย่างน้อยไม่ใช่ทุกเรื่องทุกประเด็นพร้อมๆ กัน
ความตึงเครียดดังกล่าวเห็นได้ชัดในระบบการศึกษา ซึ่งครูคนหนึ่งจะต้องสอนให้นักเรียนทั้งเชื่อฟังผู้ใหญ่ เป็นพลเมืองดีในนิยามของรัฐ ไปพร้อมๆ กับเป็นนักประชาธิปไตยและมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
ความอึดอัดทำนองนี้ปรากฏอยู่ในทุกวงการ ดังนั้นเราจึงมักเห็นสภาพที่ทั้งความคิดอนุรักษ์และความคิดก้าวหน้าถูกแรงเหวี่ยงของปัจจุบันสมัยปัดออกไปอย่างน้อยก็ชั่วคราว หรือเป็นระยะๆ ทั้งในวงแคบวงกว้าง สุดแท้แต่ว่าในห้วงยามไหน ใครทำตัวน่าเบื่อมากกว่า
แน่นอน ในการแข่งขันช่วงชิง space and time ระหว่างความคิดหลักสองชุด ฝ่าย Conservative ค่อนข้างจะได้เปรียบ เพราะมีโครงสร้างอำนาจรัฐคอยค้ำจุน
ในด้านหนึ่ง รัฐไทย โดยผ่านระบบการศึกษา และเครื่องมือบังคับควบคุม สามารถผลิตซ้ำชุดความคิดอนุรักษ์ในรูปของอุดมการณ์แห่งรัฐ และสิ่งที่เรียกว่าอัตลักษณ์ของชาติได้อย่างสม่ำเสมอ ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง ชนชั้นที่ใกล้ชิดอำนาจรัฐตลอดจนประชากรที่ชอบเป็นหนึ่งเดียวกับรัฐ ต่างก็คอยขานรับและขยายต่อในรูปแบบที่ไม่เป็นทางการ
ด้วยเหตุดังนี้ ทั้งสองภาคส่วนจึงกลายเป็น reference ให้กันและกัน รัฐอ้างสังคมในการสร้างความชอบธรรมของอำนาจ สังคมส่วนที่ผมเอ่ยถึงก็อิงกรอบอุดมการณ์ของรัฐในการรักษาผลประโยชน์และปรุงแต่งสถานภาพ กระทั่งใช้มันมาเสริมขยายอัตตาของตน
จินตนาการที่มีพลังที่สุดอย่างหนึ่งของฝ่ายอนุรักษนิยมในสังคมไทยคือแนวคิดเรื่อง ‘ความเป็นคนดี’ ซึ่งผูกโยงกับเรื่องศีลธรรม บุญบาป อย่างแยกไม่ออก ทว่าในขณะเดียวกันก็ตัดขาดจากประเด็นชนชั้นและกลุ่มผลประโยชน์ ตลอดจนโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมโดยส่วนใหญ่
พูดง่ายๆ คือตามคติของฝ่ายนี้ดีชั่วไม่จำเป็นต้องมีมีบริบทห้อมล้อม ความเป็นคนดีเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลกับพลังทางศีลธรรมของเขาหรือเธอ คนไทยควรต้องเป็นคนดี สังคมไทยต้องเป็นสังคมของคนดี และที่สำคัญที่สุดคือผู้ปกครองประเทศไทยจะต้องเป็นคนดี
ถามว่าทำไมความคิดดังกล่าวจึงมีพลังอยู่ในสังคมไทยปัจจุบัน ทั้งๆ ที่องค์ความรู้ต่างๆ ได้เติบใหญ่ขยายตัวไปมากแล้ว ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ หรือมนุษยศาสตร์ คำอธิบายพฤติกรรมมนุษย์ที่เกี่ยวโยงกับเหตุปัจจัยต่างๆ ได้รับการค้นคว้าออกมามากมาย ทำไมไม่ดึงมาใช้พิจารณาสังคมบ้าง
คำตอบง่ายๆ เบื้องต้นคือ ความดีเป็น concept ที่อยู่เหนือยุคสมัย นอกจากนี้ยังเป็นจินตภาพเชิงบวกที่กินความกว้างและคลุมเครือมาก จนกระทั่งแทบทุกคนสามารถพยักหน้าเห็นด้วย
แต่ขณะเดียวกันความดีก็เป็นแนวคิดแบบทวิภาวะ (หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า dualism) ที่ไหนมีความดีที่นั่นย่อมมีความไม่ดี ซึ่งทำให้ผู้คนสามารถสมาทานความดีมาเสริมอัตตาได้โดยง่าย แค่คิดว่าตัวเองเป็นคนดีก็รู้สึกมีฐานะเหนือกว่าคนไม่ดีแล้ว
ด้วยเหตุดังนี้ ถ้าไม่ตั้งสติให้มั่น ผู้คนย่อมสามารถพลัดหลงอยู่ในวังวนของความดีได้
อันที่จริงแนวคิดเรื่องความดีในประเทศไทยไม่ได้เหลือที่ว่างให้ใครตีความเองได้มากนัก หากเต็มไปด้วยบทบัญญัติรูปธรรมให้ยึดถือ และเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทางอำนาจในสังคมไทยอย่างลึกซึ้ง มิหนำซ้ำยังมีบทลงโทษคนที่อยู่นอกกรอบความดีดังกล่าวทั้งโดยตรงและโดยอ้อม
ยกตัวอย่างเช่น ทุกวันนี้การดื่มสุราสูบบุหรี่ไม่ว่ามากหรือน้อย หรืออยู่ในบริบทใดมักจะถูกตีตราว่าเป็นพฤติกรรมที่เสื่อมทราม น่ารังเกียจ สมควรถูกต่อต้านและประณาม แม้แต่ภาษีที่จัดเก็บจากบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็ถูกเรียกว่าภาษีบาป ซึ่งเท่ากับยกระดับข้อกล่าวหาขึ้นสู่หลักศาสนาเลยทีเดียว ในทางกลับกันการไม่สูบยาไม่กินเหล้ากลายเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นคนดีแบบไทยๆ
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ผมเห็นว่ามีการแต่งเติมเสริมขยายจนเกินจริงไปไกล
ขอเรียนตรงๆ ด้วยความเคารพและเกรงใจทุกท่าน ผมเห็นว่าถ้าลำพังเรารณรงค์คัดค้านเหล้าบุหรี่ในฐานะปัญหาสุขภาพ หรือในบางกรณีก็คัดค้านพฤติกรรมที่เป็นอันตรายต่อสังคมอย่างเมาแล้วขับ เมาแล้วอาละวาด ก็คงไม่มีเรื่องให้เถียงกันเท่าใด เพราะการบริโภคสิ่งเหล่านี้มากเกินไปเป็นผลเสียต่อสุขภาพและอาจส่งผลกระทบต่อผู้อื่นได้จริงๆ
ประเด็นมันอยู่ที่การต่อต้านประณามกันจนล้นเกิน อยู่ที่การสมมุติตนเป็นคนดีของฝ่ายต่อต้านและการลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ของฝ่ายที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคนไม่ดี การ demonize ผู้บริโภคบุหรี่และสุราเป็นสิ่งเดียวกับการ dehumanize พวกเขา อันนี้ต่างหากที่น่าจะเป็นบาปแท้จริง
ในทัศนะของฝ่ายต่อต้าน คนสูบยากินเหล้าเป็นแค่ ‘คนไม่รักดี’ โดยไม่ต้องมีหมายเหตุอะไรทั้งสิ้น ความคิดเช่นนี้ ใช่หรือไม่ว่าเป็นการลดทอนย่อส่วนชีวิตของพวกเขาให้เหลือแค่มิติเดียวคือร่างกาย โดยไม่มีการพิจารณามิติทางสังคม วัฒนธรรม และคุณค่าอื่นๆ ของชีวิตแม้แต่น้อย
ไม่มีใครปฏิเสธหรอกว่าสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ และทุกคนก็อยากมีสุขภาพดีกันทั้งนั้น แต่ชีวิตคนเรามันมีเนื้อหาสาระมากกว่าการดูแลร่างกายหลายอย่าง ด้วยเหตุดังนี้ จะมากจะน้อย ผู้คนก็ต้องทำเรื่องเสียสุขภาพบ้าง
จำนวนผู้สูบบุหรี่ในประเทศไทยมีประมาณ 11 ล้านคน ส่วนผู้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีประมาณ 18 ล้านคน ซึ่งอาจเป็นจำนวนที่ทาบซ้อนกับผู้สูบบุหรี่อยู่จำนวนหนึ่ง แต่รวมๆ แล้วก็ถือว่ามีประชาชนเกือบ 20 ล้านคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น ‘คนไม่ดี’
ถามว่าแล้วทำไมประชากรไทยจำนวนมหาศาลขนาดนี้จึงถูกย่อนิยามให้เป็นแค่ผู้ติดหลงในอบายมุขหรือเป็นคนบาป ในเมื่อคนเหล่านั้นอาจจะมีตั้งแต่นักธุรกิจ ข้าราชการ วิศวกร สถาปนิก ทนายความ ศิลปินสาขาต่างๆ ครูบาอาจารย์ นักวิชาการ พ่อค้าแม่ขาย มาจนถึงกรรมกรและชาวนา กระทั่งบุคลากรทางการแพทย์จำนวนหนึ่ง ซึ่งทำประโยชน์ให้กับสังคมไม่แพ้ใคร
จากมุมมองของผม คำตอบอยู่ที่การสร้างฐานความคิดไปสู่การมีอำนาจเหนือชีวิตผู้อื่น ซึ่งท่านทั้งหลายอาจจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ได้ จะว่าไปเรื่องของการทำดีนี่พาไปเมาศรัทธากันได้ไม่ยาก
แต่ไหนแต่ไรมา การลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น มักจะนำไปสู่การสถาปนาอำนาจเหนือคนเหล่านั้นเสมอ มันเป็นกลไกการควบคุมที่ใช้มาตั้งแต่ยุคทาสแล้ว
ในเรื่องนี้ก็เช่นเดียวกัน ในที่สุดมันก็นำไปสู่การรวบอำนาจของฝ่ายที่ถือตนเป็นคนดี ซึ่งสามารถเข้าไป connect กับฝ่ายอนุรักษนิยมที่คุมกลไกรัฐ จากนั้นทั้งภาครัฐและสิ่งที่เรียกว่าภาคประชาสังคมก็ผลักดันกฎเกณฑ์จำนวนมากมาควบคุมพื้นที่การใช้ชีวิตของคนกินเหล้าสูบบุหรี่ โดยไม่เคยอนุญาตให้พวกเขามีส่วนร่วมในการพิจารณาความเหมาะควรแม้แต่น้อย กฎระเบียบเหล่านี้ถูกผูกพ่วงมาด้วยบทลงโทษที่รุนแรงถึงขั้นถูกปรับแพงๆ และต้องติดคุกติดตารางราวกับว่าการกินเหล้าสูบบุหรี่เป็นอาชญากรรมร้ายแรง
นอกจากนี้แล้ว ในนามของความหวังดี และเพื่อคุมความประพฤติของคนไม่รักสุขภาพ ฝ่ายรัฐยังสามารถเก็บภาษีเหล้าบุหรี่ได้ตามอำเภอใจ สามารถขึ้นอัตราภาษีครั้งแล้วครั้งเล่า จนทำให้สินค้าประเภทนี้มีราคาแพงเกินต้นทุนการผลิตไปไกล รัฐไทยมีรายได้จากภาษีเหล้าบุหรี่ ปีละกว่า 2 แสนล้านบาท ยังไม่ต้องเอ่ยถึงกำไรจากการค้าที่โรงงานยาสูบนำส่ง ซึ่งเคยขึ้นสูงถึง 7 พันล้านบาท (ในปี 2559)
เรื่องจึงกลายเป็นว่า นอกจากผู้บริโภคบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะถูกประณามหยามเหยียดแล้ว ยังถูกล้วงกระเป๋าอย่างไม่เกรงใจ ไม่มีใครมองพวกเขาในมิติที่เป็นผู้เสียภาษีรายใหญ่ และมีส่วนกระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโต
ใช่หรือไม่ว่ามันต้องมีอะไรสวนทางกับความยุติธรรมสักจุดหนึ่ง?
พูดก็พูดเถอะ การที่มีผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้เรื่องพิษภัยของเหล้าบุหรี่นั้น ผมยังคิดว่าเป็นเรื่องดี แต่ความดีมันจบลงตรงจุดที่เริ่มบีบบังคับให้คนอื่นเป็นคนดีด้วย ทำไมเราไม่ปล่อยให้ผู้คนพลเมืองมีเสรีภาพในการเลือกวิถีชีวิตของตัวเอง โดยให้ข้อมูลพวกเขาเพื่อประกอบการตัดสินใจ ทำไมไม่ยอมให้พวกเขาดูแลสุขภาพไปตามเงื่อนไขและความสมัครใจของแต่ละคน
แต่ก็อีกนั่นแหละ วิธีคิดแบบสุดขั้วนั้นมักจะปิดทางเลือกที่สามเสมอ ถ้าไม่เห็นด้วยกันทั้งหมดก็ไม่ใช่ฝ่ายเดียวกัน ไม่มีการอนุญาตให้เห็นด้วยแค่บางส่วน พูดอีกแบบคือสภาพจิตแบบนี้มักผลักผู้อื่นให้อยู่ในตรอกซอยคับแคบ เดินสวนกันไม่ได้ ถ้าไม่เดินตามกันไปก็ต้องปะทะอย่างเดียว
ในทัศนะของผม ซึ่งอาจจะผิดก็ได้ กรณีเหล้าบุหรี่นี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการสร้างสมการทางอำนาจระหว่าง ‘คนดี’ กับ ‘คนไม่ดี’ ซึ่งนำไปสู่การใช้อำนาจตามอำเภอใจและการทำลายล้างสิทธิของฝ่ายที่ถูกกดเหยียดว่าเป็นคนไม่ดี จากประเด็นสุขภาพธรรมดาเหมือนประเด็นกินหวาน กินมัน กินเค็ม กรณีดังกล่าวถูกขยายความให้เป็นเรื่องศีลธรรม กระทั่งเป็นปัญหาบุญบาป สุดท้ายกลายเป็นเรื่องใช้อำนาจควบคุมสังคมโดยคนกลุ่มน้อยที่ถือตนว่าเป็นคนดีกว่าผู้อื่น
ที่ต้องเน้นคำว่าตามอำเภอใจก็เพราะว่า การตั้งแง่รังเกียจและกฎหมายต่างๆ ที่ออกมาคุมเรื่องเหล้าบุหรี่นั้นแผ่คลุมคนที่ไม่ได้ทำความผิดไว้เป็นจำนวนมากมายมหาศาล เช่น คนที่สูบบุหรี่โดยไม่รบกวนคนอื่น ขจัดก้นยาเป็นที่เป็นทาง หรือคนที่ดื่มสุราสังสรรค์กับเพื่อนๆ โดยไม่ได้เมาอาละวาด ไม่ได้ขับรถทั้งๆ ที่หมดสภาพ คนเหล่านี้เป็นคนส่วนใหญ่ในกลุ่มผู้บริโภคแอลกอฮอล์ แต่ก็กลายเป็นผู้ถูกละเมิดสิทธิไปโดยปริยาย ฝ่ายต่อต้านมักไม่เห็นความแตกต่างระหว่างการดื่มสุรามงคลในงานวิวาห์กับคนเมาที่ทุบตีลูกเมีย
ลักษณะตามอำเภอใจอีกแบบหนึ่งของความเป็นคนดีคนไม่ดีแบบนี้ คือความไม่คงเส้นคงวาของการตัดสินผิดถูก เช่น ขณะที่การกินเหล้าสูบบุหรี่ถูกระบุว่าเป็นบาปกระทั่งเรียกภาษีเหล้าบุหรี่ว่าภาษีบาป แต่การทำบาปทางศาสนาที่ชัดเจนกว่านั้นกลับไม่ถูกรณรงค์ต่อต้าน หรือถูกเก็บภาษีสูงด้วยเหตุผลเดียวกัน ที่ชัดเจนที่สุดคือการฆ่าสัตว์เพื่อการบริโภค ทำไมจึงไม่มีการรณรงค์ต่อต้านคนขายหมูขายไก่ หรือเรียกภาษีจากการฆ่าสัตว์ว่าภาษีบาปบ้าง ทั้งๆ ที่เรื่องนี้เป็นการผิดศีลขั้นร้ายแรงที่สุดในบรรดาข้อห้ามทั้งปวงของพุทธศาสนา
แน่นอน ที่ยกกรณีต้านเหล้าบุหรี่ขึ้นมาไม่ได้หมายความว่าผมสนับสนุนให้คนกินเหล้าสูบบุหรี่ หรืออยากจะเถียงกับใครในเนื้อหาที่เป็นวิทยาศาสตร์ แต่ที่ต้องพูดถึงมันเพราะผมเห็นว่ามีประเด็นเกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนเรือนแสนเรือนล้าน
จากตัวอย่างนี้ เราจะเห็นได้ว่าความเป็นคนดีในบริบทไทยมักมีนัยเรื่องความสัมพันธ์ทางอำนาจค่อนข้างมาก และเชื่อมโยงกับความคิดอำนาจนิยมอย่างแน่นหนา ‘คนดี’ กับ ‘คนรู้ดี’ มักจะแยกกันไม่ออก มันจึงเป็นฐานคิดที่สนับสนุนให้คนจำนวนน้อยมีอำนาจเหนือคนส่วนใหญ่ อีกทั้งเป็นอำนาจที่แทบจะไร้ขอบเขต
ผมคงไม่ต้องพูดก็ได้ว่า concept ความเป็นคนดีแบบนี้ถูกนำมาใช้อย่างเข้มข้นที่สุดในช่วงต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและสนับสนุนรัฐประหารเมื่อต้นปี 2557 ยามนั้นผู้นำการชุมนุมหลายท่านได้พูดถึงเรื่องนี้ บางท่านไปไกลถึงขั้นยืนยันว่าคนเราไม่เท่ากัน อำนาจทางการเมืองควรอยู่ในมือของคนดีเท่านั้นและคนไม่ดีไม่ควรมีสิทธิในเรื่องการเมืองปกครอง
จริงอยู่ ถ้าเราพิจารณาเงื่อนไขบริบทที่ความคิดนี้ถูกนำมาใช้ ก็เข้าใจได้ว่าทำไมความรังเกียจนักการเมืองที่กุมอำนาจจึงขึ้นสู่กระแสสูง อีกทั้งต้องยอมรับด้วยว่ามีนักการเมืองจำนวนหนึ่งที่คดโกงน่ารังเกียจ และเข้าข่ายเป็นคนไม่ดีทั้งในทางโลกและทางธรรม
แต่ประเด็นมีอยู่ว่าการดึงอำนาจกลับมาสู่มือ ‘คนดี’ ดูจะมีช่องโหว่ทั้งในทางทฤษฎีและในทางปฏิบัติอยู่ไม่น้อย
จะว่าไปความเป็นคนดีในทางธรรมนั้น จะต้องไม่ยึดติดในความดีของตน ไม่โฆษณาตัวเอง และไม่ยกตนข่มท่าน เพราะมันจะพาย้อนกลับไปสู่การขยายอัตตาตัวตน ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับจุดหมายในการทำดี เพื่อการหลุดพ้นทางจิตวิญญาณ
แต่ผมเข้าใจว่าความเป็นคนดีที่พูดถึงกันบนเวทีขับไล่รัฐบาลพลเรือนไม่ได้เป็นเรื่องเช่นนี้ หากเป็นการเอาความเป็นคนดีมาใช้สร้างอัตตารวมหมู่ เป็น Collective Ego ซึ่งก่อเกิดเป็นอัตลักษณ์ของกลุ่มผู้ประท้วง ขณะเดียวกันก็กดเหยียดฝ่ายตรงข้ามให้มีฐานะต่ำกว่าในทางศีลธรรม อันนี้แน่นอนเป็นการปูทางไปสู่การจะทำอย่างไรก็ได้ จะจัดการอย่างไรก็ได้ กับฝ่ายที่ถูกระบุไว้แล้วว่าเป็นคนไม่ดี
ปัญหาใหญ่มีอยู่ว่าคนไม่ดีในสายตาของฝ่ายที่ถือว่าตัวเองเป็นคนดีนั้น ไม่ได้มีแค่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หากยังรวมประชาชนที่เลือกรัฐบาลดังกล่าวด้วย ดังนั้นผู้ที่พวกเขาต้องการตัดสิทธิการมีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครองจึงไม่ได้มีแค่นักการเมือง หากยังรวมถึงชาวบ้านนับล้าน หรือประชาชนทั่วทั้งประเทศ
ที่น่าสนใจมากก็คือ เมื่อมองจากบริบทที่ห้อมล้อมเหตุการณ์ในปี 2557 เราจะพบว่าความเป็นคนดีหรือคนไม่ดีที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นนั้น มีลักษณะสอดประสานกับฐานะทางชนชั้นของแต่ละฝ่ายอย่างแยกไม่ออก แถวหน้าสุดของกลุ่ม ‘คนดี’ มักจะหมายถึงคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี มีการศึกษาสูง ส่วน ‘คนไม่ดี’ ส่วนใหญ่เป็นชาวชนบท หรือคนชั้นกลางชั้นล่างในเมือง ซึ่งส่วนมากมีการศึกษาน้อยกว่าและมีรายได้ค่อนไปในทางต่ำ
ดังนั้น ปัญหาจึงถูกพากลับมาสู่ประเด็นพื้นฐานของปรัชญาการเมือง คือประเด็นที่ว่าใครควรมีสิทธิเป็นผู้ปกครอง และใครบ้างที่ไม่ควรมีสิทธิมีส่วนในการเมืองการปกครอง
คำถามนี้จริงๆ แล้วก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในสมัยโบราณเพลโต นักปราชญ์ชาวกรีกได้เคยเสนอไว้แล้วว่าอำนาจการเมืองไม่ควรอยู่ในมือคนทั่วไปที่สนใจแต่เรื่องทำมาหากิน หากควรอยู่ในมือชนส่วนน้อยที่มีคุณสมบัติเหมาะสม คนกลุ่มนี้จะต้องมีทั้งความปรีชาสามารถและคุณธรรมสูงส่ง ไม่มีทรัพย์สินส่วนตัว ใช้ชีวิตรวมหมู่ ไม่มีกระทั่งครอบครัว และต้องทำทุกอย่างเพื่อประโยชน์สุขของผู้อยู่ใต้การปกครอง
ถามว่าแล้ว ‘ความเป็นคนดี’ ในประเทศไทย มีลักษณะใกล้เคียงกับชนชั้นปกครองของเพลโตหรือไม่ คำตอบคือ แค่เรื่องทรัพย์สินส่วนตัวก็สอบไม่ผ่านแล้ว เรื่องภูมิปัญญาก็ไม่แน่นัก อย่าว่าแต่เรื่องครองตัวเป็นโสดปราศจากครอบครัว
ในเมื่อผู้ปกครองในอุดมคติไม่ใช่หากันได้ง่ายๆ เรามีทางเลือกอะไรเหลือบ้างในการแก้ปัญหานี้?
ที่ผ่านมาเราเคยใช้วิธีเลือกตั้ง เพราะคิดว่าถ้าเลือกผิดก็เลือกใหม่ นอกจากนี้ยังมีระบบตรวจสอบที่สามารถลงโทษผู้ปกครองที่ออกนอกลู่นอกทาง กระทั่งเอาลงจากตำแหน่งได้
แต่แล้วจู่ๆ ก็มีคนจำนวนหนึ่งมาบอกว่าวิธีนั้นใช้ไม่ได้ นัยเรื่องความเป็นคนดีคนไม่ดีของเขาบ่งชัดว่าบ้านนี้เมืองนี้มีคนที่ควรทำหน้าที่เป็นชนชั้นปกครองอย่างถาวร และมีคนที่ควรถูกปกครองหรือถูกควบคุมความประพฤติอย่างถาวรเช่นกัน
แล้วใครเล่าที่เป็นฝ่ายแรก ใครกันที่เป็นฝ่ายหลัง ข้อนี้เมื่อถอดสมการการเมืองออกมาอย่างถึงที่สุดแล้ว ก็จะพบว่า กองหน้าของคนดีกลายเป็นข้าราชการกับนายทุนใหญ่ และคนชั้นกลางค่อนไปทางสูง ส่วนคนไม่ดีได้แก่บรรดานักการเมืองกับชาวบ้านที่เลือกพวกเขามา
แน่ละ ข้อยกเว้นรายบุคคลย่อมต้องมีอยู่บ้าง
กระนั้นก็ตาม เรื่องทั้งหมดนี้ไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานของความเป็นจริงเลย ดังนั้นมันจึงเป็นวาทกรรมที่นำไปสู่ทางตัน ไม่มีสังคมไหนในยุคปัจจุบันที่สามารถจำแนกคนดีคนไม่ดีออกเป็นชนชั้นหมู่เหล่าได้ขนาดนั้น อย่างมากที่สุดเราก็พูดได้ว่าคนดีคนไม่ดีอยู่ปนกันในทุกหนแห่ง ไม่ว่าจะรวยหรือจน เป็นนักการเมืองหรือเป็นพลเมืองธรรมดา เป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือนักธุรกิจเอกชน อย่าว่าแต่ในหลายกรณีคนคนเดียวอาจจะมีทั้งความดีและความเลวปะปนอยู่ในตัว
ยิ่งไปกว่านั้น ความดีความเลวยังสามารถพิจารณาได้จากหลายมุม ต่างคนต่างกลุ่มอาจจะมองเรื่องนี้ไม่ตรงกันก็ได้ แล้วใครเล่าจะมีสิทธิผูกขาดคำนิยามอยู่กลุ่มเดียว
ก็จริง สังคมคงตั้งอยู่ไม่ได้ หากมองเรื่องผิดถูกไปคนละทางตลอดเวลา หรือหากไม่มีบรรทัดฐานกลางเอาไว้ยึดถือร่วมกันบ้าง แต่ประเด็นนี้ยิ่งทำให้จำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายมานิยามกฎเกณฑ์ร่วมกัน เพื่อจะได้เกิดความเห็นชอบในเรื่องผิดถูกดีชั่วในระดับที่พอเพียงต่อการจรรโลงสังคม
พูดอีกแบบหนึ่งคือ แนวคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพและระบอบประชาธิปไตยไม่ได้เป็นขั้วตรงข้ามกับความเป็นคนดี หากแต่คัดค้านการผูกขาดในเรื่องนี้ และต้องการทำให้ความดีเป็นเรื่องเข้าถึงได้โดยคนทุกคน
โดยส่วนตัวแล้ว ผมเองก็ไม่ได้ต่อต้านความเป็นคนดีโดยทั่วไป ผมเพียงแต่เห็นว่าการสมมุติตนเป็นคนดีเพื่อรวบอำนาจนั้นไม่ถูกต้อง พ้นจากเรื่องนี้แล้ว ใครอยากจะทำดีเพื่อพัฒนาตน ไม่ว่าจะถือศีล กินเจช่วยเหลือหมาแมว งดเหล้าช่วงเข้าพรรษา หรือนั่งวิปัสสนากรรมฐาน ผมถือเป็นสิทธิของท่าน และในบางเรื่องผมก็เห็นด้วย
ประเด็นต่อไปของฝ่ายอนุรักษนิยมที่ผมอยากจะพูดถึงคือเรื่องของ ‘ความเป็นไทย‘ นี่ก็เป็นวาทกรรมอีกอย่างหนึ่งที่ถูกนำมาใช้มากในความขัดแย้งทางการเมือง
กล่าวโดยเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ แนวคิดความเป็นไทยเป็นสิ่งที่รัฐไทยสร้างขึ้นล้วนๆ และในช่วงประวัติศาสตร์ที่ไม่นานนัก ลักษณะสำคัญของแนวคิดนี้คือมีไว้ใช้กับคนในประเทศมากกว่าใช้ต่อต้านต่างชาติอย่างจริงจัง
ถามว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น คำตอบก็คือว่าสยามประเทศเปลี่ยนรูปเป็นรัฐไทยสมัยใหม่ด้วยการรวมศูนย์อำนาจเหนือแว่นแคว้นที่มีชาติพันธุ์ ภาษา และวัฒนธรรมหลากหลายมาก กระทั่งบางแห่งเคยมีฐานะกึ่งอิสระมานาน ดังนั้นด้วยเหตุผลในการปกครอง แนวคิดเรื่องสร้างภาษาและวัฒนธรรมกลางจึงเกิดขึ้น จากนั้นคลี่คลายขยายตัวไปเป็นเรื่องรัฐนิยม ชาตินิยมแบบไทยๆ กระทั่งกลายเป็นนิยามความเป็นไทยในปัจจุบัน
เนื่องจากเคยพูดเขียนเรื่องดังกล่าวไว้ในที่อื่นๆ แล้ว วันนี้ผมจึงไม่อยากลงสู่รายละเอียด เพียงแต่อยากชี้ให้เห็นว่าแนวคิดนี้มีจุดเน้นอยู่ที่ความจงรักภักดีและเชื่อฟังรัฐ ใครที่ทำตัวเป็นเด็กดีคนนั้นจึงจะถูกนับเป็นคนไทย
และด้วยตรรกะเดียวกัน ใครที่คิดเห็นต่างจากรัฐ ก็มักถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับความเป็นคนไทย กระทั่งถูกขับไล่ไสส่งให้ไปอยู่ประเทศอื่น ทั้งๆ ที่คนคนนั้นอาจเกิดในประเทศไทย ถือสัญชาติไทย มีพ่อแม่พี่น้องเป็นคนไทย และบางทีอาจจะมีรากเหง้าอยู่ในวัฒนธรรมไทยมากกว่าคนที่ขับไล่เขาเสียอีก
อันที่จริงถ้าเรานับว่าแนวคิดเรื่องความเป็นคนไทยนั้น เริ่มก่อรูปขึ้นตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ 5 และเข้มข้นขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 ต่อเนื่องมาจนถึงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 และมีมาจนถึงปัจจุบัน ก็เป็นเรื่องน่าแปลกที่ตลอดช่วงเวลากว่าหนึ่งศตวรรษและท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคมไทย แก่นแกนของความคิดดังกล่าวกลับไม่ได้เปลี่ยนไปเท่าใด
ยังไงๆ ความเป็นไทยก็ไม่ได้รวมถึงการมีสิทธิเสรีภาพและระบอบประชาธิปไตยเอาไว้เป็นเนื้อใน หากยังคงเน้นเรื่องการเชื่อฟังรัฐ และความภูมิใจในชาติแบบลอยๆ
ด้วยเหตุดังนี้แนวคิดเรื่องความเป็นคนไทย จึงถูกนำไปเสริมฐานะให้กับระบอบอำนาจนิยมอย่างเลี่ยงไม่พ้น ยิ่งในช่วงหลังรัฐประหาร 2557 ด้วยแล้ว คนที่เรียกร้องสิทธิเสรีภาพก็ดี พูดถึงประชาธิปไตยก็ดี หรือพูดถึงหลักสิทธิมนุษยชนก็ตาม ล้วนแล้วแต่ถูกเพ่งเล็งว่าความเป็นไทยบกพร่องทั้งสิ้น
ยิ่งในระยะแรกชาติตะวันตกแสดงท่าทีไม่ยอมรับระบอบเผด็จการในประเทศไทย ก็ยิ่งมีคนอ้างถึงความเป็นไทยว่าพิเศษแตกต่างจากฝรั่งนานาประการ ส่วนคนที่คิดต่างก็ถูกหาว่าเป็น ‘ขี้ข้า’ หรือเป็นทาสทางปัญญาของฝรั่งไป
คงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนักที่แถวหน้าของผู้หวงแหนความเป็นไทยมักจะเป็นคนกลุ่มเดียวกันกับที่ถือตนเป็นคนดี แต่สิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกประหลาดใจก็คือในทางปฏิบัติ กลุ่ม Elites และ Upper- Middle Class เหล่านี้มักใกล้ชิดกับโลกตะวันตกและมีวิถีชีวิตแบบฝรั่งมากกว่าคนไทยทั่วไป
ยิ่งไปกว่านั้น หลายคนยังจับมือถือแขนกับชาวต่างชาติในเรื่องการค้าการลงทุนโดยไม่รู้สึกกระดากใจ อันนี้ทำให้เชื่อได้ว่าแนวคิดเรื่องความเป็นไทยเป็นวาทกรรมทางการเมืองเสียมากกว่าจะยึดถือกันอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งในการปกป้องระบอบอำนาจนิยมโดยเชิดชูความเป็นไทยคือการระบุว่าประชาธิปไตยเป็นแนวคิดของโลกตะวันตก ซึ่งอาจจะไม่เหมาะหรือใช้การไม่ได้กับประเทศไทย เรื่องนี้ถ้าถ้าขับเคลื่อนกันจริงๆ ก็นับว่าอันตรายต่อความปรองดองในสังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้เนื่องจากแนวคิดสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยนั้นได้กลายเป็นคุณค่าสากลมานานแล้ว และมีคนไทยจำนวนมากที่มีศรัทธาในคุณค่าดังกล่าว แม้ว่าจะยังไม่ใช่คนไทยทั้งหมดก็ตาม
แน่นอน สาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีคนไทยบางกลุ่มรังเกียจประชาธิปไตยก็เพราะปัญหาทุจริตคอร์รัปชันของนักการเมืองบางคน กับปัญหาความแตกแยกระหว่างมวลชนที่สนับสนุนพรรคการเมืองคนละพรรค เรื่องนี้เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์เลวร้ายจริง
แต่จะว่าไประบอบประชาธิปไตยในโลกล้วนมีปัญหาไม่มากก็น้อยทั้งนั้น อันนี้เปรียบเทียบไปแล้วก็เหมือนปัญหาอันตรายบนท้องถนน เราคงไม่แก้ปัญหาด้วยวิธีเลิกใช้รถยนต์แล้วกลับไปนั่งเกวียน พร้อมกับภูมิใจว่าเกวียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของไทย มิใช่หรือ
ในโลกที่เป็นอยู่การยอมรับคุณค่าสากล เช่น สิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตย ไม่ได้ขัดแย้งกับตัวตนความเป็นคนไทยโดยรวม แม้ว่าหลายท่านอาจจะยังยึดติดกับแนวคิดอนุรักษนิยมในบางเรื่องบางราว คุณค่าเหล่านี้ก็ไม่ได้ทำให้เราเป็นคนไทยน้อยลง อันที่จริงมันจะยิ่งส่งเสริมให้ประเทศเรามีฐานะและศักดิ์ศรีน่าภูมิใจมากขึ้นเสียด้วยซ้ำ
มาถึงวันนี้ประเทศไทยมีเอกภาพของดินแดน และมี National Integration ในระดับที่เพียงพอแล้ว ไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่เราจะนิยามความเป็นไทยให้คับแคบอยู่แค่เชื่อฟังรัฐหรือเน้นแต่ปัญหาความมั่นคง จนกลัวการแตกแยกมากเกินไป ฝันร้ายของรัฐไทย ไม่ว่าจะมาจากยุคล่าอาณานิคมหรือยุคสงครามเย็น ควรจะถูกลืมได้แล้ว ถ้าทุกวันนี้รัฐไทยสามารถผูกมิตรตีสนิทกับศัตรูเก่าอย่างจีน หรือเวียดนามได้ แล้วจะมีเหตุผลอันใดที่ไม่ยอมรับคนไทยที่คิดต่างกัน
ผมไม่ต้องพูดก็ได้ว่าในบริบททางเศรษฐกิจสังคมที่เปลี่ยนไป concept ความเป็นไทยในนิยามเดิมๆ กำลังกลายเป็นตัวปัญหามากกว่าเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ ทั้งนี้เนื่องเพราะมันรองรับความแตกต่างหลากหลายในยุคปัจจุบันไม่ได้ ใช้ integrate ชิ้นส่วนใหม่ๆ ของสังคมไทยไม่ได้ เช่น แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ทุนข้ามชาติ กระแสวัฒนธรรมจากต่างประเทศ เป็นต้น
พูดก็พูดเถอะ ทุกวันนี้ประเทศไทยไม่ได้เป็นเพียงถิ่นที่อยู่ของคนไทยที่คิดอ่านแตกต่างหลากหลายและมีวิถีชีวิตผิดแผกกันไปเท่านั้น หากยังเต็มไปด้วยเพื่อนมนุษย์จากที่อื่นเข้ามาอยู่ร่วมในระยะยาว กล่าวคือนอกเหนือไปจากแรงงานอพยพเรือนล้านและนายทุนไร้พรมแดนแล้ว ยังมีพวกที่ถือว่าตัวเองเป็น Global Citizens บ้าง พวก Digital Nomads บ้าง
ยังไม่ต้องเอ่ยถึงหมู่บ้านญี่ปุ่นที่ศรีราชา หมู่บ้านผู้สูงอายุชาวสวีเดนที่ท่ายาง หมู่บ้านคนแก่ชาวสวิสแถวอีสานใต้ ตลอดจนการตั้งรกรากของคนจีนรุ่นใหม่แถวห้วยขวาง ซึ่งรัฐจีนสนับสนุนและรัฐไทยไม่ห้าม ทั้งหมดนี้ยังไม่รวมอาคันตุกะระยะสั้นอย่างนักท่องเที่ยว ซึ่งเข้ามาเดินขวักไขว่อยู่ในประเทศไทยปีละกว่า 35 ล้านคน
การมาเยือนมาอยู่ของชาวต่างชาติดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ยุคโลกาภิวัตน์ได้กัดกร่อนฐานรากของความเป็นรัฐชาติแบบเดิมๆ ไปไกลพอสมควร ฝ่ายรัฐเองก็รู้และปรับตัวไปไกลเช่นกัน แต่ชุดความคิดหลักกลับตามมาไม่ทัน
อันที่จริง ในยุคสมัยที่โลกแปรเปลี่ยนรวดเร็วจากยุคของรัฐชาติไปเป็นรัฐแบบอื่น ไม่มีใครรู้ชัดว่าเราควรจัดแบบแผนความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบไหน หรือออกแบบโครงสร้างทางการเมืองเช่นใดจึงจะสอดคล้องกับความจริงใหม่ที่ก่อรูปขึ้น
ด้วยเหตุดังนี้ การค้นหาบูรณาการใหม่ (New Integration) ทางสังคมและทางการเมือง จึงเป็นทั้งสิทธิและหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่ได้รับผลกระทบ ทุกชิ้นส่วนของประเทศไทย ทั้งใหม่และเก่า ควรต้องมีพื้นที่เรียงร้อยกันอย่างลงตัวโดยผ่านการเจรจาต่อรอง ไม่ใช่มีคนหยิบมือเดียวมาออกแบบระบอบการปกครองสำหรับศตวรรษที่ 21
ใช่หรือไม่ว่าการใช้ลัทธิชาตินิยมแบบเก่าเป็นหลังพิงทางความคิด คงจะไปกันไม่ได้กับการที่รัฐไทยเสนอลดหย่อนภาษีให้กับทุนต่างชาติ หรือชักชวนให้พวกเขามาเช่าแผ่นดินไทยทำกินในระยะยาวหลายสิบปี ยังไม่ต้องเอ่ยถึงข้อเสนอพิเศษอีกมากมายหลายอย่าง
ขณะเดียวกัน ลัทธิเหยียดเชื้อชาติแบบเก่า ที่มักถูกนำมาใช้กับคนงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ก็ดูจะขัดแย้งกับการที่เราหากินกับหยาดเหงื่อของพวกเขามาหลายปี
เมื่อปีกลาย มีกรณีนัดหยุดงานที่โรงงานแห่งหนึ่งในจังหวัดทางภาคตะวันตกของไทย คนงานทั้งหมดเป็นชาวพม่า ส่วนเจ้าของโรงงานเป็นคนไทย สิ่งแรกที่คนงานพม่าต้องการคือขอให้นายจ้างจ่ายค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมายเท่ากับแรงงานไทย ข้อต่อมา พวกเขาขอให้มีเวลาพักหนึ่งชั่วโมงในแต่ละวันที่ทำงาน และข้อที่สาม อยากให้นายจ้างหรือผู้ควบคุมพวกเขาเลิกด่าทอเสียที
แค่เราได้ยินเรื่องข้อเรียกร้องของคนงานเหล่านี้ ก็จะพบว่าพวกเขาทั้งตกเป็นเหยื่อของการขูดรีดเอาเปรียบและการดูถูกเชื้อชาติอย่างเหลือเชื่อ มันทำให้เห็นชัดถึงสภาพความนึกคิดของคนไทยบางคน
การเอารัดเอาเปรียบที่มาควบคู่กับการดูถูกดูแคลน แท้จริงแล้วก็ไม่ใช่อะไรอื่น หากเป็นลักษณะของอนารยชน ถ้าหากเราภูมิใจในความเป็นไทยจริงๆ ก็ไม่ควรทำให้ภาพลักษณ์ของคนไทยดูล้าหลังน่ารังเกียจแบบนี้
แน่ละ ความเป็นไทยในความหมายเชิงบวกก็มีอยู่ และอาจจะไม่ใช่เรื่องเสียหาย ทุกชาติทุกภาษาย่อมมีสิทธิภูมิใจในอัตลักษณ์ของตัวเอง แต่ความภูมิใจที่ถลำลึกไปสู่ลัทธิชาตินิยมคับแคบ หรือลัทธิเหยียดเชื้อชาติไม่เพียงหาพื้นที่ได้ยากในยุคปัจจุบัน หากยังมีลักษณะขัดแย้งกับคุณค่าของความเป็นคน และต่อต้านการเติบโตทางปัญญา
ยิ่งเอาแนวคิดความเป็นไทยมาใช้ปกป้องระบอบอำนาจนิยมและลิดรอนสิทธิเสรีภาพของคนในประเทศเดียวกันด้วยแล้ว concept นี้จะยิ่งสร้างความแตกแยกและทำร้ายคนไทยที่ดำรงอยู่ในความเป็นจริง
ในอดีตเคยมีการใช้แนวคิด ‘ความเป็นไทย’ มาต่อต้านนักศึกษาฝ่ายซ้าย ผลที่ออกมาคือเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519 และไฟสงครามประชาชน ที่ลุกลามอยู่ในพื้นที่มากกว่า 50 จังหวัด โชคยังดีที่การใช้แนวคิดความเป็นไทยมาต่อต้านต่อต้านประชาธิปไตยในช่วงหลังรัฐประหาร 2557 ไม่ได้ส่งผลรุนแรงขนาดนั้น
กระนั้นก็ตาม เปลวไฟในใจคนอาจจะยังคุกรุ่นอยู่ก็ได้ ในเมื่อธงแห่งความเป็นคนดีและความเป็นไทย ถูกชูโดยกลุ่มชนที่ได้เปรียบเพื่อใช้กดเหยียดชนชั้นล่างๆ ในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำเป็นอันดับ 3 ของโลก ความคิดใดที่เน้นย้ำแต่ความ ‘ด้อยกว่า’ ของคนจำนวนมหาศาล ความคิดนั้นย่อมนำมาซึ่งหายนะมากกว่าความเจริญ
ถึงตรงนี้ ผมคงต้องขอเรียนว่าไม่ได้คัดค้านแนวคิดอนุรักษนิยมไปเสียทั้งหมด และที่ยกเรื่องความเป็นคนดีกับความเป็นไทยขึ้นมาวิจารณ์ก็ยังไม่ใช่ภาพรวมของแนวคิดกระแสนี้ เพียงแต่ผมเห็น ว่า concepts ทั้งสองอย่างมีปัญหาในเรื่องความสมเหตุสมผล และส่งผลเสียต่อประเทศมากกว่าผลดี
จากจุดนี้ไป ผมจะขออนุญาตพูดถึงแนวคิดของฝ่ายก้าวหน้าบ้าง แต่ก่อนอื่นคงต้องขอความเข้าใจว่าผมไม่มีปัญญาและไม่มีเงื่อนไขที่จะพูดถึงความคิดก้าวหน้าในทุกประเด็นหรือทุกกระแส หากจะขอ focus ที่ประเด็นสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย ซึ่งมีปัญหาถูกยึดพื้นที่มาใกล้จะครบ 4 ปีแล้ว
แน่นอน ผมตระหนักรู้ถึงการมีอยู่ของประเด็นอื่นๆ เช่น ประเด็น genders หรือเพศสภาพ เป็นต้น โดยพื้นฐานแล้วผมเห็นด้วยกับความเคลื่อนไหวในเรื่องพวกนี้ แต่คิดว่าทุกกิ่งก้านของประเด็นสิทธิมนุษยชนล้วนงอกไปจากฐานใหญ่เรื่องเสรีภาพและประชาธิปไตยทั้งสิ้น ถ้าสะสางเรื่องดังกล่าวได้ เรื่องอื่นๆ ก็จะคืบหน้าตามมา
พูดกันตามความจริง ในหลายๆ ประเทศ คำถามเรื่องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยดูจะล้าสมัยไปแล้ว เพราะมันกลายเป็นสภาพปกติในชีวิตประจำวันของผู้คน แต่สำหรับประเทศไทยเรื่องนี้ยังไม่ลงตัวโดยง่าย และไม่มีใครรู้ว่าจะเป็น issue ไปอีกนานสักเท่าใด
จากมุมที่ผมมอง ปัญหาใหญ่ของประชาธิปไตยมิได้อยู่ที่การถูกยึดพื้นที่หรือถูกล้มกระดานอยู่เป็นระยะๆ โดยฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น หากอยู่ที่ความไม่สามารถป้องกันตัวของระบอบและผู้คนที่สมาทานแนวคิดชุดนี้ด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น บางครั้งบางคราวฝ่ายที่ล้มระบอบยังอ้างอีกด้วยว่าทำไปเพื่อพิทักษ์ประชาธิปไตยหรือสร้างประชาธิปไตยที่ดีกว่า แสดงว่าจุดอ่อนน่าจะมีอยู่จริง ไม่มากก็น้อย อันนี้ทำให้ผมรู้สึกว่าฝ่ายประชาธิปไตยน่าจะต้องวิจารณ์ตัวเองบ้าง
ผมได้กล่าวไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่า ขณะที่ความคิดหลายอย่างของฝ่ายอนุรักษนิยมถูกยืมมาจากยุคสมัยที่ผ่านพ้น ความคิดของฝ่ายก้าวหน้าส่วนใหญ่ก็ถูกหยิบมาจากต่างประเทศ ดังนั้นทั้งสองฝ่ายต่างก็มีปัญหาพื้นฐานว่าจะผูกพ่วงตัวเองเข้ากับ space and time ของปัจจุบันสมัยได้อย่างไร
กล่าวสำหรับแนวคิดสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย จะว่าไปก็ไม่ใช่ของใหม่ในประเทศไทยเสียทีเดียวเพราะเปิดตัวมา 85 ปีแล้ว ดังนั้นจึงเป็นเรื่องน่าสนใจว่าทำไมแนวคิดนี้จึงหยั่งรากลึกไม่พอที่จะต้านพายุโหมและฤดูมรสุมได้เสียที
จริงอยู่ อุปสรรคใหญ่อย่างหนึ่งคงอยู่ที่ชนชั้นนำภาครัฐ (State Elites) ซึ่งพยายามทวงอำนาจคืนครั้งแล้วครั้งเล่า พวกเขาสืบทอดอำนาจมาจากกลไกรัฐซึ่งถูกสร้างขึ้นก่อนระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นจึงค่อนข้างยากที่จะปรับตัวให้มี ทั้ง respect และ loyalty ต่อระบอบที่ประชาชนเป็นผู้ใช้อำนาจ
แต่ก็อย่างที่ผมเรียนไว้เมื่อสักครู่ เราคงต้องยอมรับว่าฝ่ายประชาธิปไตยเองก็มีจุดอ่อนข้อผิดพลาดด้วย ปัญหาอันดับแรก คือในแต่ละช่วงที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย นักการเมืองมักเป็นผู้เล่นหลักมากเกินไป ในขณะที่นักการเมืองส่วนใหญ่ก็มีแนวคิดประชาธิปไตยค่อนข้างแคบ อาศัยแต่การเลือกตั้งเป็นหนทางก้าวสู่อำนาจและหมกมุ่นอยู่กับบทบาทในรัฐสภาจนลืมความสำคัญขององค์ประกอบอื่นๆ ของระบอบ เช่น บทบาทของประชาสังคม การเมืองภาคประชาชน สื่อมวลชน หรือแม้แต่เสียงวิจารณ์ของสามัญชนคนทั่วไป
ด้วยเหตุดังนี้ บรรดานักการเมืองและพรรคการเมืองจึงไม่ได้พยายามผลักดันให้มีการขยายพื้นที่ประชาธิปไตยออกไปในระดับโครงสร้าง เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงของตัวระบอบ ซึ่งใหญ่กว่าและสำคัญกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ก็รวมถึงความมั่นคงโดยรวมของบรรดาพรรคการเมืองและนักการเมืองด้วย
กล่าวโดยรูปธรรมแล้ว เรื่องที่พวกเขาควรทำแต่ไม่ได้ทำมีอยู่ 3 ประการคือ หนึ่ง กระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง สอง ปฏิรูประบบราชการให้ยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น ตรวจสอบได้ง่ายขึ้น และสาม ขยายงานรัฐสภาด้วยการเกี่ยวร้อยภาคประชาชนเข้ามาไว้ในกระบวนการนิติบัญญัติอย่างสม่ำเสมอ
ถามว่าทำไมนักการเมืองจึงควรทำ 3 เรื่องนี้ ถ้าให้ตอบอย่างละเอียดผมอาจจะต้องใช้เวลาทั้งวัน แต่เฉพาะหน้าพูดได้สั้นๆ เพียงว่า ระบอบการปกครองและระบบราชการแบบรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางถูกออกแบบไว้เพื่อควบคุมกำกับสังคมมากกว่าจะกลับข้างกัน ดังนั้นมันจึงเป็นฐานที่มั่นโดยธรรมชาติของความคิดอนุรักษนิยมหรือกระทั่งอำนาจนิยม
ด้วยสาเหตุดังกล่าว การกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นและการปฏิรูประบบราชการจึงเป็นการปรับความสัมพันธ์ทางอำนาจในสังคมไทยที่มีนัยสำคัญมาก มันจะเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างเมืองหลวงกับภูมิภาค และขยายพื้นที่การใช้อำนาจของฝ่ายประชาชนออกไปอย่างกว้างขวาง ทำให้กลไกทำงานของรัฐมีลักษณะสอดคล้องกับแนวคิดประชาธิปไตยมากกว่า
ส่วนการเกี่ยวร้อยภาคประชาชนเข้ามาเป็นองค์ประกอบของกระบวนการทางนิติบัญญัตินั้น พูดอีกแบบหนึ่งก็คือทำให้ประชาชนเข้าถึงศูนย์อำนาจและกระบวนการกำหนดนโยบาย ซึ่งจะทำให้ระบอบประชาธิปไตยเกาะติดชีพจรความคิดของสาธารณชนได้ตลอดเวลา อันนี้จะทำให้งาน Decision Makingของผู้บริหารประเทศมีรูปธรรมรองรับและมีรากลึกเพิ่มขึ้น
เรื่องนี้จริงๆ แล้วก็มีแนวคิดรองรับอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ เช่น ให้ประชาชนเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายหรือเสนอให้ปลดผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ในระดับหนึ่ง แต่ในทางปฏิบัติแล้วก็ไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเท่าใด
พูดแล้วก็พูดให้หมดเปลือก ที่ผ่านมาบรรดาพรรคการเมืองและนักการเมืองไม่เพียงลืมผลักดันให้มีการขยายโครงสร้างประชาธิปไตยเท่านั้น หากยังใช้ความสัมพันธ์แบบจารีต ไม่เป็นสมัยใหม่ มาสร้างฐานเสียงทั้งในและนอกพรรค
ระบบพรรคการเมืองกลายเป็นอวตารใหม่ของระบบอุปถัมภ์ ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้วขัดกับปรัชญาเรื่องสิทธิเสรีภาพเป็นอย่างยิ่ง แม้แต่สิ่งที่เรียกว่าการเมืองมวลชนในระยะๆ หลังก็ยังมีความสัมพันธ์แบบนี้เข้ามาปะปน ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าการเมืองมวลชนที่นำโดยฝ่ายต่างๆ มักจะลื่นไถลไปสู่ภาวะอนาธิปไตยอยู่บ่อยครั้ง มีการอาศัยกำลังมวลชนกดดันฝ่ายตรงข้ามอย่างล้นเกิน จนกระทั่งระบอบประชาธิปไตยที่ควรจะยืดหยุ่นกลับถูกทำให้เป็น Zero Sum Game หรือระบบ Winner Takes All
ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งยังมักมีท่าทีเป็นปฏิปักษ์ต่อความเคลื่อนไหวทางการเมืองของภาคประชาชนที่เป็นอิสระ โดยเห็นว่าไม่ใช่มวลชนของตน ดังนั้นแทนที่จะดึงประเด็นของประชาชน โดยเฉพาะยิ่งประเด็นของชุมชนท้องถิ่น เข้ามาสู่กระบวนการทำงานของรัฐ กลับมุ่งกำราบปราบปราม ทำให้กลุ่มเคลื่อนไหวของภาคประชาชนจำนวนหนึ่งเกิดความคับแค้นจนขาดสติ หันไปสนับสนุนรัฐประหารและระบอบอำนาจนิยม
การที่นักการเมืองเป็นผู้เล่นหลักบนเวทีประชาธิปไตยแล้วมองไม่เห็นบทบาทของผู้เล่นอื่น มองไม่เห็นความเปราะบางของระบอบดังกล่าวในสังคมไทย ย่อมทำให้เกิดความประมาทในการใช้อำนาจ และทำให้ประชาธิปไตยกลายเป็นโครงสร้างเสาเดียว เมื่อเสานี้ล้มหรือถูกโค่น ทั้งโครงสร้างก็พังทลายลงมา
อย่างไรก็ดี บทบาทของนักการเมืองและพรรคการเมืองนั้น ถึงอย่างไรก็มีความสำคัญในระบอบประชาธิปไตยที่ต้องอาศัยผู้แทน เพียงแต่ว่าต่อไปจะทำแบบเดิมๆ คงไม่ได้ ตัวนักการเมืองเองจะต้องขยายแนวคิดให้กว้างไกลกว่าที่ผ่านมา ต้องมีสำนึกของผู้สร้างระบอบซึ่งยังคงต้องแย่งชิงพื้นที่กับระบอบคู่แข่งอย่างเข้มข้น
แต่ก็น่าเสียดาย ที่ในระยะเกือบ 4 ปีมานี้ บทบาทของนักการเมืองได้ถูกจำกัดลงจนแทบไม่มีเหลือ การเคลื่อนไหวใดๆ ล้วนถูกควบคุมปิดกั้น ด้วยเหตุดังนี้ interaction ระหว่างนักการเมืองกับสังคมจึงสะดุดลงอย่างสิ้นเชิง
กระนั้นก็ตาม การหมดบทบาทชั่วคราวของนักการเมืองมิได้หมายความว่าแนวคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยจะพลอยเงียบสงัดเสียทั้งหมด ทั้งนี้เนื่องเพราะในสังคมไทยยังมีความเคลื่อนไหวขององค์กรภาคประชาชน ชุมชนท้องถิ่น ตลอดจนปัญญาชนทั้งนอกและในมหาวิทยาลัย
องค์กรและเครือข่ายภาคประชาชนมักจะเอาการเอางานในการทักท้วงระบอบเผด็จการโดยยกประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนในด้านต่างๆ ส่วนชุมชนท้องถิ่นก็มีปัญหารูปธรรมจากการถูกรุกล้ำฐานทรัพยากรโดยโครงการรัฐและทุนอุตสาหกรรม สำหรับฝ่ายปัญญาชน ประเด็นสำคัญคือรู้สึกรับไม่ได้ที่ถูกระบอบอำนาจนิยมปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกทางการเมือง
กล่าวเฉพาะเครือข่ายองค์กรประชาชนและชุมชนท้องถิ่น เนื่องจากประเด็นที่พวกเขาจับหรือปัญหาที่พวกเขาเจอมักเป็นกรณีความเดือดร้อนที่เป็นรูปธรรม ความต้องการเสรีภาพในการเคลื่อนไหวจึงมิได้เป็นแค่แนวคิด หากคือความจำเป็นในทางปฏิบัติด้วย ดังนั้นประชาชนส่วนนี้จึงมักต้องเผชิญหน้ากับฝ่ายรัฐอยู่เป็นระยะๆ
ส่วนปัญญาชนคนหนุ่มสาว รวมทั้งนักวิชาการในและนอกมหาวิทยาลัย เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นน่าจะมีความสำคัญเป็นอันดับแรก โดยทั่วไปชนกลุ่มนี้มีบทบาทอย่างสูงในการโต้แย้งกับฝ่ายอนุรักษนิยมและเป็นปากเสียงเถียงแทนฝ่ายประชาธิปไตย ด้วยการผลิต content ป้อนสื่อต่างๆ
แต่ก็แน่ละ ภายใต้การปกครองแบบอำนาจนิยม สื่อหลักทั้งหลายย่อมถูกควบคุมกำกับโดยฝ่ายรัฐทำให้พื้นที่แสดงความเห็นที่ต่างจากผู้กุมอำนาจเหลือไม่มากนัก
โชคดีที่โลกยุคนี้ได้พัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารไปไกล การมีอยู่ของเครือข่าย social media ไม่ว่า Facebook Line Twitter หรือ platform อื่นๆ ล้วนทำให้การแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณชนสามารถทำได้โดยไม่จำเป็นต้องก้าวเท้าออกนอกบ้าน ถึงฝ่ายรัฐจะพยายามควบคุมความเคลื่อนไหวในโลกส่วนนี้อย่างเข้มข้น แต่ก็ยังไม่ได้ผลมากนัก
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการส่งข่าวสารหรือความเห็นผ่าน social media จะมีประโยชน์มหาศาล แต่ก็มีด้านลบซ่อนอยู่ไม่น้อย เพราะมันอาจพาคนดิ่งลึกไปสู่ความหลงใหลในตัวตนและตัดสินหมิ่นประณามผู้อื่นอย่างไม่เป็นธรรมได้
ถามว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น คำตอบคือ เทคโนโลยีชุดนี้มีลักษณะช่วย empower หรือเพิ่มอำนาจให้กับปัจเจกบุคคลธรรมดาได้ในชั่วเวลาข้ามคืน มันทำให้เสียงของเขาดังขึ้น คล้ายไมโครโฟนที่ใช้ในการพูดกับคนจำนวนมาก ดังนั้นคนที่ขาดสติจำนวนหนึ่งจึงรู้สึกเหมือนได้หนังราชสีห์มาสวมใส่ และเริ่มติดหลงในสิ่งที่คิดเอาเองว่าเป็นการคำรามกึกก้อง
สำหรับคนที่มีพฤติกรรมเช่นนี้ แทนที่พวกเขาจะอาศัย social media พาคนมาพบกันเพื่อสร้างฉันทามติในสิ่งที่ถูก และร่วมแรงกันต้านสิ่งที่ผิด หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเพื่อความเติบโตทางปัญญา สภาพกลับกลายเป็นว่าเรื่องดีๆ มักถูกแทรกซ้อนไปด้วยแรงริษยา วาจาที่บ่มเพาะความเกลียดชัง ข่าวสารปลอมๆ และการตัดสินคนด้วยข่าว 3 บรรทัด
เมื่อไม่นานมานี้ นักหนังสือพิมพ์อาวุโสท่านหนึ่งรู้สึกอดรนทนไม่ไหว จึงเขียนวิจารณ์บรรยากาศดังกล่าว โดยเรียกมันว่า ‘ศาลเตี้ย 4.0’
อันที่จริง ปัญหาทำนองดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในเมืองไทย หากแต่แพร่ลามไปทั่วโลก จนกระทั่งเมื่อช่วงปลายปีกลาย Mark Zuckerberg ผู้ก่อตั้ง Facebook ได้ออกมากล่าวคำขอโทษที่เครื่องมือสื่อสารทางสังคมของเขาได้สร้างความแตกแยกไปทั่ว พร้อมกันนั้นก็ได้สัญญาว่าจะปรับปรุงให้ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นไม่นาน Sean Parker ประธานคนแรกของ Facebook ก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าจริงๆ แล้ว พวกเขามองเห็นจุดอ่อนในจิตมนุษย์มาตั้งแต่แรก แต่ก็คิดจะใช้ประโยชน์มันอยู่ดี ในคำพูดของเขาเอง Facebook ทำหน้าที่คล้ายสารสื่อประสาท ‘Dopamine’ ซึ่งทำให้ผู้ใช้ social media รู้สึกมีความสุข เมื่อมีคนมากด like หรือ comment รูปภาพหรือข้อความที่เขาโพสต์ ด้วยเหตุดังนี้มันจึงนำไปสู่พฤติกรรมทำซ้ำ โพสต์แล้วโพสต์อีก เพื่อถูก liked ซ้ำแล้วซ้ำอีก
พูดแบบชาวบ้านคือ Facebook นี้ ยิ่งเล่นยิ่งติด เพราะมันออกฤทธิ์เท่ากับยาเสพชนิดหนึ่งนั่นเอง
ปัจจุบันทั่วโลกมีคนใช้ Facebook รวมทุกเพศทุกวัยมากกว่า 2 พันล้านคน คุณ Sean ได้ยืนยันว่าFacebook ได้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับสังคมเปลี่ยนไปแล้ว รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลด้วย นอกจากนี้เขายังได้แสดงความวิตกกังวลว่าไม่รู้อะไรจะเกิดขึ้นกับสมองของเด็กๆในประเด็นนี้ อดีตผู้บริหารบริษัท Facebook ระดับรองประธานก็ออกมาพูดคล้ายๆ กันว่าเขารู้สึกผิดมหันต์ที่มีส่วนในการก่อตั้ง Facebook ซึ่งกลายเป็นเครื่องมือ ‘ทำลายความสัมพันธ์ในสังคม’
ถามว่าเช่นนี้แล้ว เราจะทำอย่างไรดี ควรจะเลิกใช้ social media เสียดีไหม อันนี้พูดได้ว่าไม่ควรแน่นอน เพราะถึงอย่างไร platform เหล่านั้นก็ยังมีประโยชน์อยู่มากสำหรับฝ่ายประชาชน และแทบจะเป็นพื้นที่แห่งเดียวที่มีร่องรอยของเสรีภาพเหลืออยู่บ้าง
ทว่าอำนาจในการส่งข่าวสารก็เหมือนอำนาจแบบอื่น คือควรต้องมีวัฒนธรรมกำกับ ต้องทำให้มันเป็น soft power ที่ประณีตและน่าเชื่อถือจึงจะได้เพื่อนเพิ่มขึ้น ไม่ใช่ด่าทอกันอย่างดิบเถื่อนเพื่อความสะใจ อย่างหลังนี้เป็นการทำงานของ ego มากกว่าการต่อสู้ที่หวังผลชัยชนะ
แน่ละ บางท่านอาจปกป้องสภาพเช่นนี้ว่ามันเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเป็นการยืนยันความเสมอภาค ที่ใครๆ ก็สามารถถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ ใครๆ ก็ควรถูก ‘Deconstruct’ แม้แต่คนที่อยู่ฝ่ายเดียวกัน
สำหรับเรื่องนี้ผมคงต้องขอแลกเปลี่ยนด้วยสักเล็กน้อย
ก่อนอื่นเราคงต้องจำแนกให้ชัดเจนว่าการวิจารณ์กับการด่าทอนั้นไม่ใช่สิ่งเดียวกัน สิทธิในการวิจารณ์นั้นดี ควรส่งเสริมให้มี แต่การด่าประณามผู้คนตามใจชอบไม่ใช่สิทธิ หากเป็นการละเมิดล่วงเกิน สิทธิของผู้อื่นเสียมากกว่า
เสรีภาพนั้นไม่ใช่สมบัติส่วนตัวที่ดำรงอยู่ลอยๆ หากเป็นความสัมพันธ์ระหว่างเรากับผู้อื่น และระหว่างเรากับสังคม หรือกล่าวได้ว่าเสรีภาพเป็นความสัมพันธ์ทางอำนาจชนิดหนึ่ง ซึ่งถ้าจะให้ปรากฏเป็นจริง ก็ต้องมีความเสมอภาคเป็นฐานรองรับ
ดังนั้นการใช้เสรีภาพอย่างถูกต้องจึงเกี่ยวข้องกับความเข้าใจเรื่องเสมอภาคด้วย ความเสมอภาคไม่ได้หมายความว่าเปลี่ยนการเคารพผู้มีฐานะสูงกว่ามาเป็นไม่เคารพใครเลย ตรงกันกันข้าม กลับยิ่งต้องขยายความเคารพและให้เกียรติไปยังเพื่อนมนุษย์ทุกคน เช่นเดียวกับที่ต้องเคารพตัวเอง
แน่นอน หากเสรีภาพถูกมองว่าเป็นสิทธิส่วนตัวที่มีอยู่โดยปราศจากเงื่อนไข ใครอยากจะละเมิดล่วงเกินใครก็ได้ มันก็มีแต่จะนำไปมาสู่การแตกร้าวของสังคมโดยรวม และตัดเฉือนเยื่อใยที่มนุษย์พึงมีต่อกัน เช่นเดียวกับความเสมอภาคที่ปราศจากภราดรภาพคอยกำกับ สภาพดังกล่าวรังแต่จะนำไปสู่สงครามส่วนตัวระหว่างผู้คน ยามนั้นโรคริษยารวมหมู่จะระบาด และถ้อยคำผรุสวาทจะถูกเชิดชูให้เป็นวีรกรรม
ด้วยเหตุดังนี้ แนวคิดต้นแบบของประชาธิปไตยจึงชูธง เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ ขึ้นมาพร้อมกันและผูกพ่วงไว้ด้วยกันเสมอ
พูดกันตามความจริง ในระยะเกือบ 4 ปีมานี้ สังคมไทยก็ไม่ได้มีเสรีภาพเหลือเท่าใด ดังนั้นจึงเป็นเรื่องน่าเสียดายมาก หากฝ่ายก้าวหน้าบางกลุ่มบางคนไม่ได้ใช้มันอย่างคุ้มค่า ไม่ใช้มันขยายทั้งแนวคิดและแนวร่วมของฝ่ายตน ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการสื่อสารที่ประณีต บรรจง เพื่อเข้าถึงคนหมู่มาก
ผมเห็นด้วยกับศาสตราจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ซึ่งกล่าวไว้ว่า “เสรีภาพก็เหมือนอะไรอื่นๆอีกมากในโลก…จะดีหรือไม่ดีก็ขึ้นอยู่กับว่าเราสร้างเงื่อนไขปัจจัยต่างๆที่เอื้อให้เสรีภาพอำนวยผลดีหรือสร้างเงื่อนไขปัจจัยที่เอื้อให้เสรีภาพอำนวยผลร้าย”
ทั้งนี้และทั้งนั้น ที่ผมพูดมาทั้งหมดไม่ได้หมายความว่าเห็นด้วยกับการจำกัดเสรีภาพ ซึ่งระบอบอำนาจนิยมทำอยู่แล้ว ตรงกันข้าม ผมคิดว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีเสรีภาพ ทั้งในทางการเมืองและในทางสังคม เพราะเสรีภาพที่แท้จริงจะช่วยปลดเปลื้องประชาชนจากโซ่ตรวนแห่งการเอารัดเอาเปรียบ จากการกดขี่ครอบงำ และจากความตื้นเขินทางปัญญา
พูดง่ายๆ คือ เสรีภาพของชนหมู่มากย่อมนำไปสู่การปลดปล่อยพลังสร้างสรรค์ และเสริมขยายกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งจำเป็นมากสำหรับความเจริญเติบโตของสังคม
ผมเพียงอยากติงไว้ว่า อย่าปล่อยให้สิ่งที่ไม่ใช่เสรีภาพเข้ามาสวมรอยชูธงเดียวกัน
การต่อสู้ทางความคิดในประเทศไทยนั้น ถึงอย่างไรก็ยังต้องดำเนินต่อไปอีกนาน กระทั่งตลอดไป ตราบเท่าที่โลกที่เราเห็นคือโลกที่เราคิด ดังนั้นประเด็นจึงไม่ได้อยู่ที่ทำอย่างไรเราจึงจะคิดเห็นและมองโลกเหมือนกันทั้งประเทศ สภาพเช่นนั้นทั้งเป็นไปไม่ได้และอาจจะไม่ใช่ความจำเป็น
ประเด็นที่สมจริงกว่าคือ เราจะนำความขัดแย้งทางความคิดมาไว้ในปริมณฑลที่จัดการได้ด้วยวิธีใด เรื่องนี้ผมเกรงว่าเจ้าของความคิดที่แตกต่างกันจะต้องปรับตัวบ้างไม่มากก็น้อย
ดังที่เรียนไว้แล้วตั้งแต่แรกว่าโลกที่เรามองเห็นนั้น ล้วนมาจากความคิดที่อยู่ในหัวของเราเอง ด้วยเหตุดังนี้ ตราบเท่าที่ความคิดสมบูรณ์แบบไม่มีอยู่ในหัวใคร ก็ย่อมไม่มีใครที่สามารถมองเห็นโลกได้อย่างครบถ้วน
นอกจากนี้แล้ว ในห้วงยามที่มนุษย์เราเสนอความเห็นของตนเอง ทุกคนต่างก็หนีไม่พ้นกับดักของภาษา ซึ่งเป็นเพียงสัญลักษณ์ที่มนุษย์ใช้ย่อความจริง ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าถ้อยคำบางคำที่ถูกนำมาใช้ บางทีก็หลุดไปจากความจริงเสียด้วยซ้ำ ดังนั้นการพรรณนาสภาพของโลกที่เราเห็น จึงมักถูกย่อให้แคบลงมาอีก
ในทางกลับกัน ภาษาที่มนุษย์ใช้ย่อความจริง คือภาษาที่มนุษย์ใช้สร้างความคิดด้วย เราสร้างความคิดด้วยวิธีอื่นไม่ได้ นอกจากจะเอาถ้อยคำมาร้อยเรียงกัน ดังนั้นการมองโลกผ่านความคิด ถึงอย่างไรก็ต้องมีส่วนขาดตกบกพร่อง เป็นแค่ความจริงที่ถูกย่อส่วน หรือถูกตัดทิ้งไปในบางมิติ ซึ่งไม่ใช่ความจริงในส่วนทั้งหมด กระทั่งไม่ใช่ความจริงเอาเสียเลย
ยิ่งในยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งพาเราตกไปอยู่ในวงล้อมของสงครามจินตนาการ ด้วยการรับข่าวสารอย่างชุลมุน และมองโลกผ่านถ้อยคำในคอมพิวเตอร์อย่างเข้มข้น โอกาสจะหลุดจากความเป็นจริงก็ยิ่งมีมากขึ้น และถ้าไม่ตั้งสติให้ดี แทนที่สังคมอุดมปัญญาจะผุดบังเกิด บางที Ignorant Society อาจจะโผล่งอกขึ้นมาแทนก็ได้
แน่ละ เราอาจชดเชยจุดอ่อนตรงนี้ได้ด้วยการออกจากหน้าจอไปสัมผัสโลกภายนอกให้มาก ปรับสมดุลระหว่างโลกจริงกับกับโลกเสมือนจริง รวมทั้งฟังซึ่งกันและกัน หรือฟังผู้อื่นให้มาก นั่นคือส่วนที่เจ้าของความคิดทุกฝ่ายจะต้องปรับตัว
ในมุมมองของผม สิ่งหนึ่งที่พวกเราควรเลิกอย่างเด็ดขาดคือการผลิต hate speech ใส่คนที่คิดต่าง ทั้งนี้เนื่องจากถ้อยคำหมิ่นหยามชิงชังนั้นทำให้ทั้ง debate และ dialogue ในสังคมเกิดขึ้นได้ยาก อันที่จริงการกระทำดังกล่าวไม่ใช่มองโลกตามความคิด หากเป็นการมองโลกโดยไม่คิด ดังนั้นสิ่งที่ดูคล้ายความเห็น แท้จริงแล้วคือแผ่นป้ายดำมืด ทั้งว่างเปล่ากดทับ และปิดบังโอกาสของสังคมในการค้นหาความจริงร่วมกัน
ความขัดแย้งในสังคมนั้นมีทั้งที่จำเป็นและไม่จำเป็น สังคมได้ประโยชน์จากความขัดแย้งที่จำเป็น แต่เสียประโยชน์จากความขัดแย้งที่ไม่จำเป็น ซึ่งหมายถึงความขัดแย้งที่ถูกขยายมากไปจนไร้เหตุไร้ผลและนำไปสู่ความรุนแรง
พูดก็พูดเถอะ ในเมื่อเราพาปัญหาหลายอย่างข้ามกาลเวลามาถึงศตวรรษที่ 21 แล้ว ก็ไม่ควรทำให้เรื่องมันเลวร้ายลงอีกด้วยการลดทอนวิธีแก้ไข
ในเมื่อสภาพของสังคมไทยทุกวันนี้ ชุดความคิดทั้งของ Pre-modern, Modern, และ Post-modern ต่างมาปรากฏอยู่ในเวลาและสถานที่เดียวกันโดยมีคนไทยต่างกลุ่มเป็นเอเยนต์ เราย่อมไม่มีทางเลือกเป็นอื่นนอกจากต้องอดทนต่อกันและยอมรับความแตกต่าง
แต่เรื่องที่ไม่ต้องอดทนและไม่ควรอดทนคือการกดขี่ข่มเหงและการละเมิดสิทธิผู้คน ไม่ว่ามันจะมาจากแนวคิดฝ่ายไหนก็ตาม
อันที่จริงสังคมไทยก็เช่นเดียวกับสังคมอื่น เราจำเป็นต้องมีทั้งการเปลี่ยนแปลงและความต่อเนื่อง ไปพร้อมๆ กัน เราต้องมีทั้ง changes และ continuity เพื่อให้เกิดความเจริญงอกงามอย่างมีราก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีทั้งฝ่ายอนุรักษนิยมและฝ่ายก้าวหน้ามาช่วยกันสร้างพลวัตทางสังคม อันนี้เป็นมุมที่ผมอยากจะใช้มองประเทศไทย ในวันใดก็ตามที่เราได้เสรีภาพคืนมา
ผมคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้อีกแล้วที่จะมองคนไทยในปัจจุบันเป็นอะไรก้อนเดียว คิดเหมือนกัน อยู่เหมือนกัน โดยไม่มีทั้งปัจเจกภาพและปัจเจกบุคคล ไม่มีกลุ่มย่อยรอยแยกในเรื่องวิถีชีวิต ความเชื่อ รสนิยม ตลอดจนความคิดเห็นเรื่องบ้านเมือง
พูดกันตามความจริง content ของประเทศไทยนั้นคือความหลากหลายมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นในด้านเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ภาษา วัฒนธรรม ดนตรี ศิลปะ หรือแม้แต่อาหารการกิน พวกเราล้วน blend ทุกอย่างจากองค์ประกอบที่หลากหลายทั้งสิ้น จนแทบกล่าวได้ว่าความเป็นไทยแท้คือ ‘ลูกผสม’
ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลใดที่เราจะคิดต่างกันไม่ได้ ไม่มีเหตุผลใดที่เราจะหยุด liberalism ไว้ที่เรื่องการทำมาหากินเท่านั้น
แน่นอน ในสังคมที่ผู้คนแตกต่างหลากหลาย ประเด็นความเป็นธรรมและความยุติธรรมย่อมสำคัญที่สุด มิฉะนั้นแล้วจะรักษาเอกภาพไว้ได้ยาก เอกภาพของสิ่งที่แตกต่างจำเป็นต้องมีแกนกลางที่ร้อยใจทุกฝ่ายไว้ได้ ที่ทุกฝ่ายเชื่อถือและมั่นใจว่าตัวเองจะได้รับการปฏิบัติอย่างถูกต้อง ข้อนี้ ผมคงไม่ต้องพูดก็ได้ว่าเป็นหน้าที่ของสถาบันทางการเมืองการปกครองที่ทุกฝ่ายเข้าถึงได้
สุดท้ายการอยู่ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าพวกเราแต่ละคนไม่ถอยห่างจากตัวเองสักหนึ่งก้าวเพื่อเปิดพื้นที่ปลูกศรัทธาในเพื่อนมนุษย์ที่ไม่ได้เหมือนเราเสียทีเดียวเราต้องเชื่อมั่นว่าภายใต้ผิวพรรณหลากสีภายในเรื่องราวหลากหลายคือจิตวิญญาณมนุษย์อันเป็นสากลและนั่นคือสิ่งที่เรามีร่วมกัน
การเชื่อมร้อยระหว่างมนุษย์นั้นไม่ได้มาจากความคิดเพียงอย่างเดียวบ่อยครั้งเราอาจพบคนที่คิดอ่านไม่ตรงกันแต่จิตใจกลับละม้ายคล้ายคลึง
ดังนั้น ในบางห้วงบางขณะเราจึงไม่ควรไว้ใจเหตุผลของตัวเองมากเกินไป ความรู้สึกเบื้องลึกที่ตรงไปตรงมาอาจจะสอดคล้องกับความจริงมากกว่าเหตุผลที่ปรุงขึ้นด้วยอคติหรือฉันทาคติ อย่างหลังนี้บางทีก็เป็นแค่กรงขังที่อยู่ในรูปของจินตนาการ
ในชีวิตจริงของคนเรานั้นจำเป็นต้องมีทั้งที่สถานที่ยึดโยงและหมุดหมายที่จะก้าวไปข้างหน้าเพราะฉะนั้นพวกเราอย่าได้มาเถียงกันเลยว่าสิ่งใหม่ดีไปหมดหรือสิ่งเก่าย่อมดีกว่าใหม่เสมอประเด็นมันอยู่ที่การคัดกรองทั้งสองส่วน
อย่างไรก็ตามชีวิตเป็นอนิจจังสังคมก็เป็นอนิจจังถึงที่สุดแล้วโลกเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาและมีระบบคัดกรองของมันเองว่าจะพาสิ่งใดติดตามไปด้วยจะทิ้งสิ่งใดไว้ข้างหลัง
เมื่อเป็นเช่นนี้บางทีอัตวิสัยของเราก็ต้องแข่งขันกับภววิสัยของโลกหรือบางทีก็ต้องเกาะติดไปกับมันไม่มีความคิดใดกำหนดโลกได้อย่างไร้ขอบเขต
ทั้งหมดนี้คือมุมมองของผมซึ่งก็มาจากความคิดอันจำกัดอีกทั้งถูกย่อส่วนลงไปอีกด้วยความจำกัดของภาษาดังนั้นหากท่านทั้งหลายจะเห็นต่างหรือจะช่วยเพิ่มเติมเสริมขยายผมก็ยินดี
ผมทราบดีว่าที่พูดมาทั้งหมดอาจจะไม่ฉลาดนักในทางการเมือง
แต่ผมไม่ใช่นักการเมืองอีกทั้งยังชราภาพแล้วจึงไม่ได้ยึดถือในคตินั้นแต่ผมก็อยากขออภัย ถ้าสิ่งที่พูดบังเอิญไปขัดใจผู้ใด
ขอบคุณทุกท่านที่ให้เกียรติรับฟัง.
ขอบคุณข้อมูลจาก way magazine
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |