เพิ่มขึ้นทุกปีสำหรับปัญหาเด็กและเยาวชน “ฆ่าตัวตาย” เซ่นพิษความรักและผลการเรียนที่ตกต่ำ ส่วนหนึ่งเพราะสังคมไทยในยุคนี้ทุกคนแข่งกันเรียน และไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่เร่งรีบ ทำให้ตัดสินที่ใจปราศจากการไตร่ตรอง ประกอบกับวัยรุ่นเป็นช่วงวัยเลี้ยวหัวต่อ ดังนั้นเมื่อตกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ตึงเครียด และไร้คนปรึกษาที่รับฟังอย่างเข้าใจ หรือแม้มีภาวะอาการป่วยเป็นโรคซึมเศร้าเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก็อาจกระตุ้นให้ตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว เนื่องจากข้อมูลของกรมสุขภาพจิตเผยว่า คนไทยคิดสั้น ชม.ละ 6 คน อีกทั้งคนไทยพยายามฆ่าตัวตายปีละ 53,000 คน และทำสำเร็จปีละประมาณ 4,000 คน ก่อความสูญเสียปีละกว่า 400 ล้านบาท...งานนี้จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ออกมาสะท้อนสาเหตุของปัญหา ตลอดจนการหาทางออกไว้น่าสนใจ
(นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์)
นายแพทย์ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลว่า “ปัญหาการฆ่าตัวตายของวัยรุ่นเพิ่มจำนวนมากขึ้นในช่วง 2-3 ปีหลังมานี้ เรียกได้ว่าเกือบเท่าวัยผู้ใหญ่ ทั้งนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า หากเด็กวัยรุ่นที่เลือกจบชีวิตด้วยการปลิดชีพตัวเองทั้งจากการเรียนและความรัก โดยที่ไม่ได้มีอาการเจ็บป่วยอย่าง “โรคซึมเศร้า” นั่นสะท้อนว่าเด็กได้ตัดสินใจผิดพลาดจากความเครียดที่เกิดขึ้นฉับพลัน ซึ่งมีสาเหตุที่แท้จริงมาจากพื้นฐานของความบอบช้ำ ที่สำคัญเด็กไม่ได้รับการประเมินเพื่อนำมาสู่การช่วยเหลือ ดังนั้นจะแก้ปัญหาเรื่องนี้เราต้องรู้สาเหตุที่แท้จริงก่อน
“สาเหตุของการที่เด็กวัยรุ่นฆ่าตัวตายจากความรักหรือการเรียนที่ตกต่ำนั้นมีด้วยกัน 2 ประเด็นคือ 1.เป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งทำให้เด็กรู้สึกท้อแท้และอยากตาย 2.เด็กติดยา เมื่อไหร่ที่เด็กติดยา เขาจะมีความรู้สึกผิดที่ต้องใช้ยาเสพติด ซึ่งสร้างปัญหาให้พ่อกับแม่ หรือแม้แต่การที่เด็กเป็นโรคจิตในช่วงวัยรุ่น พอกินยารักษาโรคไปได้ระยะหนึ่งและอาการดีขึ้น เขาก็จะรู้สึกผิดว่าต้องเป็นภาระของพ่อแม่เช่นกัน ซึ่งในทางทฤษฎีแล้ว สาเหตุการฆ่าตัวตายของวัยรุ่นทั้ง 2 เรื่อง ถือว่ามีเปอร์เซ็นต์ใกล้เคียงกัน ทั้งการเป็นโรคซึมเศร้าและการที่เด็กติดยาเสพติด
ส่วนแนวทางที่จะเข้าไปช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ เพื่อป้องกันการเลือกปลิดชีพตัวเองนั้น ต้องบอกว่ากลุ่มคนที่ใกล้ชิดเด็กนั้นมีหลายกลุ่ม ซึ่งไม่เฉพาะแต่พ่อแม่เท่านั้น แต่ยังรวมถึงเพื่อน และอาจารย์ในโรงเรียน ดังนั้นหมอแนะนำให้หลัก “3 ส.” คือเริ่มจาก “ส.” ที่ 1 คือ “สอดส่อง” ว่าบุตรหลานหรือเพื่อนของตัวเองเสี่ยงต่อการคิดฆ่าตัวตายหรือไม่ หรือมีความเจ็บป่วยทางด้านโรคจิต หรือติดยาหรือไม่ ส่วน “ส.” อันที่ 2 คือ “ ใส่ใจ” โดยการเปิดใจรับฟังปัญหาของบุตรหลานหรือเพื่อน เพราะการที่พ่อแม่ เพื่อน และครูอาจารย์เปิดใจที่จะรับฟัง จะทำให้เด็กเกิดความไว้วางใจ และเมื่อเขาได้รับการไว้วางใจโดยสามารถเล่าปัญหาให้ผู้อื่นฟังได้แล้ว ก็จะทำให้เด็กค่อยๆ มองเห็นปัญหาหรือทางออกจากการเล่าเรื่องความทุกข์ใจให้คนอื่นฟัง ที่สำคัญเมื่อมีคนฟังเขา เขาก็สามารถทบทวนตัวเองได้ ดังนั้นสิ่งที่หมออยากแนะนำมากที่สุดคือ การที่พ่อแม่ เพื่อน และครูอาจารย์ใส่ใจและรับฟังปัญหาของเด็ก โดยไม่จำเป็นต้องมุ่งแนะการแก้ไข ที่สำคัญต้องไม่ตำหนิเขา แต่การที่เรารับฟังเขาโดยให้เขาเล่าทุกอย่างออกมา นั่นจะทำให้เด็กรู้สึกว่าปัญหาของตัวเองนั้นเป็นสิ่งที่น่าสนใจ เมื่อนั้นเด็กจะเริ่มมองเห็นทางออกด้วยตัว เริ่มเห็นคุณค่าในตัวเอง และทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าไปช่วย หรือดึงรั้งไม่ให้เด็กคิดฆ่าตัวตายได้
ปิดท้ายกันที่ “ส.” ที่ 3 คือ “ส่งต่อ” หมายความว่า เมื่อเรารับรู้ปัญหาของเด็กจากการที่เขาเล่าให้เราฟังแล้ว ก็ให้เพื่อน พ่อแม่ หรือครูอาจารย์ ถามเด็กว่ามีความคิดที่จะฆ่าตัวตายหรือไม่ ซึ่งถ้าเด็กตอบว่า “เขาไม่อยากอยู่ในโลกใบนี้แล้ว” นั่นแปลว่าปัญหาที่เขาเล่าค่อนข้างรุนแรงมาก ดังนั้นอาจต้องรีบพาเด็กไปพบแพทย์หรือจิตแพทย์โดยด่วน ทั้งนี้ หากเด็กไม่ยอมไปพบแพทย์ แต่คนรอบข้างอย่างพ่อแม่หรือเพื่อน กระทั่งครูอาจารย์ประจำชั้นของเด็กสามารถไปพบแพทย์ได้ เพื่อที่จะได้นำความรู้จากจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาที่เฉพาะเจาะจงในแต่ละราย เพื่อนำไปช่วยแก้ปัญหาให้กับเด็กที่คิดจะฆ่าตัวตายได้
แต่ถ้ารับฟังปัญหาและพูดคุยซักถามเด็กว่า “ที่ผ่านมาเด็กอยากมีชีวิตอยู่ต่อเพราะอะไร” และเขาบอกว่าอยากมีชีวิตต่อเพราะกลัวบาป หรือยังศรัทธาในพระพุทธศาสนา หรืออยากมีชีวิตต่อเพราะว่าอยากทำอาชีพที่ตัวเองตั้งใจเอาไว้ หรือกลัวพ่อแม่เสียใจ นั่นสะท้อนให้พ่อแม่ เพื่อน และครู รับรู้ได้ว่าจะสามารถช่วยดึงรั้งไม่ให้เด็กเลือกตัดช่องน้อยแต่พอตัวได้นั่นเอง โดยแก้ไขตามสาเหตุที่เด็กแต่ละคนเล่ามา เช่น หากเด็กอยากทำอาชีพนั้นๆ ก็ให้เรียนในสาขาวิชาที่เขาชอบแทน เป็นต้น”
นายแพทย์ยงยุทธ กล่าวต่อว่า แนวโน้มในอนาคต อัตราการฆ่าตัวตายในเด็กวัยรุ่นช่วง 1-2 ปีจะต้องเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ดังนั้นการแก้ปัญหาเพื่อป้องกันการเลือกตัดช่องน้อยแต่พอตัวของเด็ก ที่นอกจาก “3 ส.” แล้ว ต้องแก้ที่ 3 ปัจจัยสำคัญ คือ 1.ระบบการดูแลป้องกันเรื่องเด็กฆ่าตัวตายนั้น คนในสังคมต้องตระหนักและรับรู้ใหม่ว่า อันที่จริงแล้วไม่ใช่พ่อแม่ แต่เพื่อนที่ใกล้ชิดเด็ก หรือแม้แต่ครูอาจารย์ในโรงเรียน หรือแม้แต่อาจารย์ในมหาวิทยาลัย ก็ต้องให้ความตระหนักในเรื่องดังกล่าวเช่นกัน เพราะปัจจุบันปัญหาเด็กมหาวิทยาลัยกระโดดตึกเสียชีวิตก็เพิ่มขึ้น 2.การลงข่าวที่ขาดความไม่เข้าใจ ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่กระตุ้นให้ปัญหาดังกล่าวทวีความรุนแรงขึ้น เพราะเด็กและเยาวชนจะมองว่าการฆ่าตัวตายนั้นเป็นเรื่องที่ง่าย 3.บทบาทของสื่อออนไลน์ที่ช่วยติดตั้งแอปพลิเคชันออนไลน์ เพื่อให้คนที่มีปัญหาเข้าไปปรึกษา เนื่องจากมีผลวิจัยที่ออกมาระบุว่า เด็กบางคนนั้นได้เข้าไปแสวงหาความช่วยเหลือจากการที่คิดฆ่าตัวเองในรูปแบบของสื่อออนไลน์ หรือการเล่นโซเชียล
“การพาดหัวข่าวใหญ่เกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย พร้อมการอธิบายแคปชั่นข่าวว่า ผู้ที่ฆ่าตัวตายนั้นเพราะอกหัก หรือสอบตกซ้ำชั้นบ่อยๆ หรือดาราที่กระโดดตึกฆ่าตัวตายเพราะอกหัก ซึ่งนั่นอาจทำให้เด็กที่คลั่งไคล้ดาราคนดังกล่าวเกิดการเลียนแบบได้ เนื่องจากสิ่งที่สื่อออกมาสะท้อนว่าการฆ่าตัวตายเป็นเรื่องง่าย หากว่าเด็กเองก็มีปัญหาอยู่แล้ว เพราะเด็กจะคิดสรุปเอาเองว่าปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องที่หนักสุดในชีวิตแล้ว อีกทั้งคนที่ชื่นชอบก็ทำอย่างนั้น ดังนั้นจึงน่าจะจบชีวิตตัวเองเหมือนดาราที่ตัวเองชื่นชอบ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเป็นเรื่องที่ผิดอยากมาก
ดังนั้นในมุมมองของนักจิตวิทยา อยากเห็นทั่วโลกนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตาย ที่ไม่เน้นระบุสาเหตุการตาย (ซึ่งไม่ใช่การอกหักกระโดดตึกฆ่าตัวตาย) แต่เน้นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เช่น บอกถึงสาเหตุของปัญหาการฆ่าตัวตาย ว่ามีเหตุปัจจัยมาจากอะไรได้บ้าง? และอาการเป็นอย่างไร? สุดท้ายคือการช่วยเหลือผู้ที่คิดจะฆ่าตัวตายว่าควรทำอย่างไร? เป็นต้น ที่สำคัญตัวอย่างของเจ้าของสื่อออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ ที่ออกมารับผิดชอบสังคมก็เป็นเรื่องที่ถูกต้อง เนื่องจากสื่อออนไลน์เหล่านี้จะมีรายได้จากค่าโฆษณา จึงต้องกลับมาทำเพื่อสังคมบ้าง โดยปัจจุบันเจ้าธุรกิจดังกล่าวได้ออกมาติดตั้งระบบโปรแกรมคัดกรองเกี่ยวกับการไลฟ์สดฆ่าตัวตาย เพื่อป้องกันไม่ให้คนเข้าไปคอมเมนต์ หรือกดโหวตเกี่ยวกับประเด็นการฆ่าตัวตาย เพราะนั่นจะยิ่งกระตุ้นปัญหาดังกล่าวให้มากยิ่งขึ้น ตรงนี้ยิ่งต้องส่งเสริมให้มีมาตรการป้องกันปัญหาดังกล่าวให้เข้มข้นขึ้นไปเรื่อยๆ
(พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ)
ด้าน พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ จิตแพทย์จากสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ บอกว่า “เวลาที่เราจะช่วยเหลือเด็กที่คิดทำร้ายตัวเอง สิ่งที่ผู้ป่วยจะสะท้อนออกมาว่าเขากำลังต้องการความช่วยเหลือนั้น วิธีสังเกตที่ง่ายที่สุด หากเด็กบ่นออกมาเลยว่าเขาอยากตาย ผู้ที่ใกล้ชิดรอบตัวเด็กจะต้องเป็นผู้ที่รับฟังเขาและซักถามเด็กว่ามันเกิดอะไรขึ้น ไหนเล่าให้พ่อแม่ พี่ ครู ฟังสิ? จากนั้นให้ผู้ที่ใกล้ชิดเด็กถามกลับไปว่า สิ่งที่เด็กพูดออกมาว่าอยากฆ่าตัวตายนั้นจริงแค่ไหน? ซึ่งถ้าเด็กบอกว่าเป็นความจริง ก็ให้พ่อแม่และคนใกล้ชิดถามอีกว่า แล้วเด็กลงมือไปถึงแล้ว? เช่น วางแผนการฆ่าตัวตายอย่างไร ซื้ออุปกรณ์อะไรเตรียมไว้แล้ว หรือคิดว่าจะไปกระโดดน้ำฆ่าตัวตายที่ไหน? ดังนั้นหากถึงขั้นนี้แล้วให้รีบพาเด็กมาโรงพยาบาลและพบจิตแพทย์โดยด่วน แต่ถ้าเด็กไม่ยอมมาพบแพทย์ ผู้ปกครองอาจจำเป็นต้องโทร.ปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้เช่นเดียวกัน เพื่อปรึกษารับแนวทางการช่วยเหลือเด็กเบื้องต้น
“สำหรับคำแนะนำข้างต้นในการป้องกันเด็กฆ่าตัวตายนั้น มีหลักการสำคัญคือการฟังอย่างเข้าใจ ไม่ดุด่าและไม่ตำหนิลูก อีกทั้งต้องไม่พูดว่าปัญหาของลูกเป็นเรื่องเล็ก จากนั้นนำข้อมูลที่เด็กเล่ามาประเมินเพื่อช่วยหาทางแก้ไขในการช่วยเหลือ เพราะเด็กยุคใหม่จะค่อนข้างมีความเครียดเยอะ ดังนั้นเด็กต้องการคนรับฟังอย่างเข้าใจ เพื่อที่เขาจะได้ไปต่อได้ ซึ่งบางครั้งไม่จำเป็นต้องหาทางแก้ไขอะไรเลย เพราะถ้าเด็กได้เล่าปัญหา เขาก็จะสามารถมองเห็นทางออกได้ แต่ในเด็กบางรายที่เมื่อเขามีปัญหา อีกทั้งพ่อแม่ถามและเด็กไม่ยอมพูด ไม่ยอมสื่อสาร ตรงนี้พ่อแม่อาจจะบอกกับเด็กไปเลยว่า “พ่อแม่เป็นห่วงลูกมากนะ ถ้าลูกพร้อมและมีอะไรให้พ่อแม่ช่วยก็บอกนะ” ซึ่งวิธีนี้จะทำเป็นรูปแบบของการเปิดให้เด็กขอความช่วยเหลือค่ะ
ทั้งนี้ สัญญาณเตือนที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายของเด็กนั้น 1.พฤติกรรมของเด็กเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น ฉุนเฉียวและหงุดหงิดเว่อร์ไปจากเดิม 2.พฤติกรรมก้าวร้าวมากขึ้น หรือพ่อแม่ เพื่อนสังเกตว่าเวลาที่ลูกพูดสิ่งต่างๆ ออกมานั้นจะดูแย่มากกว่าเดิม หรือไม่ใช่คนเดิม อีกทั้งลูกเก็บตัวมากขึ้น ถามอะไรก็ไม่โต้ตอบ เป็นต้นค่ะ”
(พิชฐญาณ์ โอสถเจริญผล)
ด้าน พิชฐญาณ์ โอสถเจริญผล ดีไซเนอร์ที่สนใจศึกษาธรรมะ บอกว่า นอกจากการพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อปรับสารเคมีในสมองให้เกิดความสมดุลแล้ว และเมื่อเด็กๆ ได้รับการรักษาและมีสภาพจิตใจที่ดีขึ้น การใช้ธรรมะก็สามารถช่วยได้ค่ะ เพราะหลักการของธรรมะนั้น คือการสอนให้เด็กๆ คิดตามความเป็นจริง มีสติ และไม่คาดหวังอะไรมากเกินไป เพราะยิ่งหวังมากก็ยิ่งทุกข์มาก โดยเฉพาะโปรโมชั่นในช่วงของความรัก
“ปัจจุบันมีหนังสือธรรมะที่อ่านแล้วเข้าใจง่าย และมีเนื้อหาสอนใจวัยรุ่นเรื่องความรักของพระฝรั่ง อย่าง “พระอาจารย์ชยสาโร” ที่เขียนหนังสือเรื่อง “หลักรัก” ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับว่าทำไมเราถึงผิดหวังในความรัก และทำไมต้องฆ่าตัวตาย โดยใช้ภาษาที่อ่านง่าย เข้าใจง่าย และสอนใจวัยรุ่นวัยเรียนได้ดี ทั้งนี้ พระอาจารย์จะไม่พูดถึงเรื่องเนื้อคู่ ว่าคนนั้นไม่ใช่เนื้อคู่ของคนนี้ แต่ท่านใช้คำว่า ถ้าคนเราศีลไม่เสมอกัน นั่นแปลว่าเขาไม่เหมาะสมกับเรา หรือการที่ใช้ฟังธรรมะจาก “ท่านประยุทธ์ ปยุตฺโต” ที่เทศน์เกี่ยวกับวัยรุ่นผ่านทางพอดแคสต์ (เล่าเรื่อง สนทนาเรื่องต่างๆ ผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ต) เวลาที่เด็กๆ ว่างเว้นจากการทำการบ้านหลักเลิกเรียนก็สามารถหาฟังได้ เพื่อเป็นแนวทางในการใช้ชีวิตเกี่ยวกับเรื่องความรักในวัยเรียนอย่างมีสติค่ะ”.
วัยรุ่นวัยเรียนสะท้อนปัญหา“การฆ่าตัวตายเพราะอกหักและเรียนเกรดตก”
(บัญชา ภารสำเร็จ)
บัญชา ภารสำเร็จ นักเรียนชั้น ม.5 รร.นนทรีวิทยา
“ส่วนตัวคิดว่าการฆ่าตัวตายเพราะอกหักเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม เพราะจะทำให้พ่อแม่ พี่น้องเสียใจ และเมื่อตายไปก็เป็นบาปได้ ที่ผ่านมาก็ยังไม่เจอปัญหาดังกล่าวกับตัวเอง แต่อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าถ้าอกหัก อย่างน้อยก็ต้องปรึกษาพ่อแม่ แน่นอนท่านจะต้องบอกให้ลูกทำตัวสบายๆ ปล่อยอารมณ์เหล่านั้นไป และเมื่อถึงวันหนึ่งลูกจะเจอคนที่เหมาะกับเรามากกว่าตอนนี้ ผมก็คงต้องเชื่อฟังพ่อแม่ครับ เพราะในอนาคตเราอาจจะเจอคนที่รักจริง แต่ตอนนี้ก็ต้องเรียนให้จบก่อนครับ”
พคพร ผุดผ่อง นักเรียนชั้น ม.3 รร.ราชวินิตมัธยม
“มองว่าปัญหาวัยรุ่นเครียดและฆ่าตัวตาย เพราะเกรดตกและปัญหาความรัก เป็นเรื่องที่พบได้ค่ะ แต่ส่วนตัวยังไม่มีเพื่อนที่ทำแบบนี้ และหนูก็มองว่าการกระทำดังกล่าวเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม เพราะถ้าเกิดจากสาเหตุการเจ็บป่วยก็ควรรักษาค่ะ และถ้าเกิดปัญหาดังกล่าวกับตัวเองจริงๆ แน่นอนว่าพ่อแม่คือที่พึ่งสำหรับตัวเองค่ะ เพราะท่านมีประสบการณ์มากกว่าเรา และถ้าพ่อแม่บอกให้ตั้งใจเรียน หนูก็จะทำตามค่ะ เพราะคิดง่ายๆ ว่าถ้าเราเป็นอะไรไป แน่นอนครอบครัวคงเสียใจมากกับการกระทำของเรา ดังนั้นถ้ามีปัญหาก็ต้องขอคำปรึกษาจากพ่อแม่ค่ะ อย่าคิดและตัดสินใจอะไรเอง”
(น.ส.บี (นามสมมุติ))
น.ส.บี (นามสมมุติ) นักเรียนชั้น ม.6 รร.สายปัญญา
“หนูคิดว่าไม่ใช่เรื่องไกลตัว สำหรับเด็กวัยรุ่นฆ่าตัวตายเพราะอกหักและผลการเรียนแย่ เพราะเด็กยุคใหม่เติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่กดดันค่ะ ทั้งจากกลุ่มเพื่อนที่อาจจะเรียนเก่งกันทั้งกลุ่มหรือครอบครัวที่อยากให้ลูกเรียนได้เกรดเอ แต่อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างมีทางแก้ไขหรือมีทางออกเสมอ ส่วนตัวหนูถ้ามีปัญหาอกหักก็จะเลือกปรึกษาเพื่อนค่ะ เพราะเพื่อนจะบอกกับเราว่า สาเหตุที่เราทะเลาะกับแฟนอาจจะไม่เข้าใจกัน และควรปรับจูนกันในบางเรื่อง แต่ถ้าปรึกษาพ่อแม่ท่านก็จะบอกว่าไม่เป็นไรหรอกลูก และเราอาจจะไม่เหมาะกับเพื่อนชายคนนี้ ดังนั้นถ้าปรึกษาเพื่อนก็จะช่วยปลอบใจได้ดีกว่าค่ะ ตรงนี้เป็นตัวอย่างที่สามารถปรับใช้ให้ตรงกับสถานการณ์ของแต่ละคนได้ โดยไม่จำเป็นต้องฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตัวเองค่ะ”
(อนุธิดา บุญเสนา)
อนุธิดา บุญเสนา นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 รร.คลองเตยวิทยา
“ปัญหาเด็กวัยรุ่นฆ่าตัวตายเป็นสิ่งที่พบได้ในสังคมไทย แต่เป็นสิ่งที่ไม่ดีและไม่ควรเอาอย่างค่ะ เพราะไม่เพียงแค่ทำให้เสียการเรียน แต่ยังทำให้พ่อแม่ที่เลี้ยงเรามาเสียใจค่ะ ส่วนตัวคิดว่าถ้ามีปัญหาอกหัก หรือการเรียนตกต่ำนั้น ก็ต้องปรึกษาพ่อแม่ก่อนค่ะ เพราะเป็นคนที่รู้ใจหนู โดยเฉพาะเวลาที่เราเสียใจทำข้อสอบได้คะแนนน้อย พ่อกับแม่ก็จะบอกให้เราสู้ๆ นะลูก ที่ผ่านมาก็เคยรู้สึกปลื้มรุ่นพี่ แต่พอเราไปบอกท่าน พ่อแม่ก็บอกว่ายังไม่ควรมีแฟนและให้ตั้งใจเรียนก่อน ส่วนหนึ่งเพราะตัวเองยังเด็ก ก็เลยรู้สึกว่าเราทำใจได้ และต้องตั้งใจเรียนเป็นอันดับแรกอย่างที่พ่อแม่บอกค่ะ”.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |