ยังไม่แน่ชัดว่าซาอุดีอาระเบียจะต้องใช้เวลาอีกนานเท่าไหร่จึงจะสามารถฟื้นฟูการทำงานของโรงผลิต, โรงกลั่นและคลังน้ำมันยักษ์ของตนที่ถูกกองกำลังโดรนถล่มโจมตีเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา
แต่ที่แน่ๆ คือราคาน้ำมันโลกพุ่งพรวดพราดขึ้นมาแล้ว มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างปฏิเสธไม่ได้
หากความตึงเครียดระหว่างซาอุฯ กับอิหร่านเพิ่มดีกรีขึ้นหลังจากเหตุการณ์นี้ สำทับด้วยการกดดันจากสหรัฐต่ออิหร่าน และโอกาสจะเกิด “สงครามโดรน” ระหว่างซาอุฯ กับคู่กรณีในเยเมนด้วยแล้ว โลกคงจะตกอยู่ในสภาพความตึงเครียดอย่างต่อเนื่อง
การถล่มด้วยโดรนที่กบฏฮูทีในเยเมนอ้างความรับผิดชอบนั้นพุ่งไปที่โรงผลิตและคลังเก็บน้ำมันในเมือง Abqaiq และแหล่งน้ำมันดิบใหญ่ Khurais ของซาอุฯ
ทั้ง 2 หน่วยเป็นของ Saudi Aramco ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ที่สุดของประเทศ อีกทั้งยังใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีทรัพย์สินระดับต้นๆ ของธุรกิจสากล
Saudi Aramco บอกว่าคลังน้ำมันที่เมือง Abqaiq เป็นโรงผลิตน้ำมันดิบที่ใหญ่ที่สุดในโลก อยู่ห่างจากอ่าวเปอร์เซียเพียง 60 กิโลเมตร สามารถผลิตน้ำมันดิบได้ถึง 7 ล้านบาร์เรลต่อวัน และหากรวมความสามารถในการผลิตกับโรงอื่นๆ ของซาอุฯ แล้วจะตกประมาณ 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน
วันที่ถูกถล่มนั้น ข่าวออกมาบอกว่าความสามารถในการผลิตถูกทำลายลงไปประมาณ 5.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน
เท่ากับว่าการถล่มทางอากาศด้วยโดรนวันนั้นทำให้ความสามารถในการผลิตน้ำมันหายไปครึ่งหนึ่ง
เท่ากับประมาณ 6% ของอุปทานทั้งโลก
รัฐบาลซาอุฯ ยังบอกไม่ได้ว่าจะสามารถผลิตน้ำมันชดเชยปริมาณที่หายไปได้หรือไม่และเมื่อไหร่ แม้บางสำนักจะบอกว่าอาจใช้เวลา 7-10 วัน แต่เอาเข้าจริงๆ ก็คงจะไม่มีใครบอกได้แน่ชัด เพราะเหตุการณ์ร้ายแรงขนาดนี้ไม่เคยเกิดมาก่อน
สถานทูตซาอุฯ ในกรุงวอชิงตันบอกว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้พูดคุยทางโทรศัพท์กับเจ้าชาย บิน ซัลมาน แห่งซาอุฯ และเสนอความช่วยเหลือด้านความมั่นคงให้กับรัฐบาลกรุงริยาดห์
ที่ปรึกษาทำเนียบขาว เคลลีแอนน์ คอนเวย์ กล่าวกับ Fox News Sunday ว่า กระทรวงพลังงานสหรัฐ อาจตัดสินใจนำปริมาณน้ำมันดิบสำรองของสหรัฐออกมาขายเพื่อพยุงเสถียรภาพของปริมาณน้ำมันดิบในตลาดโลก
ซึ่งตรงกับที่ทรัมป์แจ้งในทวิตเตอร์ส่วนตัวว่าเขาพร้อมจะปล่อยน้ำมันสำรองจาก US Strategic Petroleum Reserve เพื่อช่วยเยียวยาสถานการณ์น้ำมันของโลก
แต่ทรัมป์ก็บอกว่ายังไม่รู้จำนวนว่าจะปล่อยออกมาเท่าไหร่ เพราะยังพยายามจะตรวจสอบข่าวว่าการถล่มทางอากาศต่อแหล่งผลิตน้ำมันสำคัญของซาอุฯ ครั้งนี้เป็นฝีมือใครกันแน่น
ความเสียหายต่ออุปทานน้ำมันดิบของซาอุฯ ครั้งนี้หากเปรียบเทียบกับอดีตก็ถือว่าร้ายแรงกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา
ไม่ว่าจะเป็นเมื่อปี 1990 ตอนที่ซัดดัม ฮุนเซน แห่งอิรักบุกคูเวต
หรือเมื่อปี 1979 คราวที่อิหร่านเกิดปฏิวัติอิสลามตามมาด้วยการระงับการส่งน้ำมันจากอิหร่านไปสู่ตลาดโลก
ความเสียหายครั้งนี้ไม่ใช่เพียงแค่การทำให้อุปทานน้ำมันดิบจากซาอุฯ หดหายไปทันทีเป็นจำนวนมากเท่านั้น แต่ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่านั้นคือ การทำลายความสามารถของซาอุฯ ในการผลิต “น้ำมันสำรองเผื่อภาวะฉุกเฉินของตลาดโลก” อีกด้วย
ปกติแล้ว ประเทศกลุ่มโอเปกมีความสามารถในการผลิตน้ำมันสำรองทั้งหมดประมาณ 3.21 ล้านบาร์เรลต่อวัน
เฉพาะซาอุฯ ก็มีความสามารถในการผลิตน้ำมันสำรองส่วนนี้ 2.27 ล้านบาร์เรลต่อวันแล้ว
ส่วนที่เหลือ 940,000 บาร์เรลต่อวันนั้น เป็นของคูเวตและ UAE
ส่วนอิรักและอังโกลามีความสามารถในการผลิตสำรองได้บ้าง แต่เป็นจำนวนเล็กน้อยเท่านั้น
สหรัฐกลายเป็นประเทศที่มีน้ำมันของตัวเอง เพราะได้น้ำมันจาก shale oil หรือ “น้ำมันจากดินดาน” ซึ่งแหล่งหลักอยู่ที่รัฐเทกซัส
อเมริกาผลิตน้ำมันจาก oil shale นี้ได้มากถึงขนาดสามารถส่งออกได้ และตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีนี้ ปริมาณน้ำมันที่สหรัฐส่งออกแซงหน้าซาอุฯ ไปแล้ว
สถานการณ์น้ำมันโลกยังตกอยู่ในสภาวะไร้เสถียรภาพต่อไป เพราะเมื่อหากซาอุฯ ตอบโต้ด้วยอาวุธร้ายแรงต่อกบฏฮูทีและกลุ่มที่อิหร่านสนับสนุนก็จะกลายเป็นสงครามยืดเยื้อที่ไม่มีทีท่าว่าจะจบสิ้นได้ง่ายๆ!.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |