รวมมิตรมาตรการช่วยน้ำท่วม


เพิ่มเพื่อน    

 

                สถานการณ์น้ำท่วมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงน่าเป็นห่วง ขณะที่ภาครัฐและเอกชนกำลังเร่งเข้าไปให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง ที่ได้เร่งออกมาตรการในการให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ผ่านกลไกและเครื่องมือต่างๆ

                “อุตตม สาวนายน” รมว.การคลัง ระบุผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจส่วนตัวว่า ขณะนี้ภาครัฐได้พยายามอย่างเต็มที่ในการให้ความช่วยเหลือทุกๆ ด้านอย่างเต็มที่ ทั้งในช่วงที่กำลังประสบปัญหาและการเยียวยาฟื้นฟู โดยในส่วนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่เบื้องต้นได้จัดหาถุงยังชีพ มอบให้ผู้เดือดร้อน และเข้าไปสนับสนุนศูนย์อพยพหรือจุดรวมพลต่างๆ และหลังจากนี้ก็จะมีมาตรการฟื้นฟูหลังสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ อาทิ พิจารณาช่วยเหลือมอบเงินเพื่อสมทบทุนสร้างบ้านหลังใหม่ การซ่อมแซมทรัพย์สินของใช้จำเป็น รวมทั้งการซ่อมแซมเครื่องจักรการเกษตร เป็นต้น

                ด้านภาระหนี้สินที่มีอยู่กับ ธ.ก.ส. ก็จะพิจารณาขยายระยะเวลาชำระหนี้ออกไป และพิจารณาให้สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินที่จำเป็นในครัวเรือน และป้องกันการก่อหนี้นอกระบบไม่เกินรายละ 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 0% ระยะ 6 เดือนแรก พร้อมทั้งมีสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตสำหรับเกษตรกรลูกค้าผู้ประสบภัยตามความจำเป็น ไม่เกินรายละ 500,000 บาท

                นอกจากนี้ ในส่วนของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)  ได้ออก 7 มาตรการเร่งด่วน ภายใต้โครงการ “เงินกู้ที่อยู่อาศัยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติปี 2562” กรอบวงเงินรวม 1,000 ล้านบาท ประกอบด้วย มาตรการลดอัตราดอกเบี้ย, สินเชื่อเพื่อการปลูกสร้างอาคารใหม่หรือซ่อมแซมอาคารที่ได้รับความเสียหาย, ประนอมหนี้, ลูกหนี้ที่เสียชีวิต-ทุพพลภาพถาวร ให้ผ่อนชำระโดยใช้อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ตลอดระยะเวลาที่คงเหลือตามสัญญากู้ และหากอาคารมีความเสียหายทั้งหลังไม่สามารถซ่อมแซมได้ ให้ปลอดหนี้ในส่วนของราคาอาคาร และให้ผ่อนชำระต่อเฉพาะในส่วนของที่ดินที่คงเหลือเท่านั้น

                รวมทั้งพิจารณาสินไหมเร่งด่วน (Fast track) สำหรับลูกค้าที่ทำกรมธรรม์ประกันภัยอัคคีภัยที่อยู่อาศัยซึ่งคุ้มครองภัยธรรมชาติ รวมถึงกรณีน้ำท่วม หรือลมพายุอย่างเร่งด่วนเป็นกรณีพิเศษ 15,000 บาท และหากประเมินความเสียหายของที่อยู่อาศัยแล้วพบว่าสูงกว่า 15,000 บาท หรือมีน้ำท่วมที่อยู่อาศัยตั้งแต่ 100 เซนติเมตรขึ้นไป ลูกค้ามีสิทธิ์ได้รับค่าสินไหมตามจริง แต่ไม่เกิน 20,000 บาท

                ด้านผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ทางธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ ได้ออก 2 มาตรการเร่งด่วนช่วยเหลือ คือ พักชำระหนี้ 6 เดือน และเติมทุนดอกเบี้ยพิเศษ 0.415% ต่อเดือน ใช้หมุนเวียนฟื้นฟูธุรกิจ โดย 1.ลูกหนี้ที่มีวงเงินอนุมัติรวมไม่เกิน 1 ล้านบาท ให้วงเงินกู้ไม่เกิน 5 แสนบาท 2.ลูกหนี้ที่มีวงเงินอนุมัติรวมมากกว่า 1 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 5 ล้านบาท ให้กู้สูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาท และ 3.ลูกหนี้ที่มีวงเงินอนุมัติมากกว่า 5 ล้านบาท ให้กู้สูงสุดไม่เกิน 2 ล้านบาท ทั้งนี้ รวมวงเงินเดิมแล้วไม่เกิน 15 ล้านบาท ส่วนหลักประกันให้พิจารณาหลักประกันเดิมก่อน และสามารถใช้หลักประกันบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกัน เฉพาะมาตรการที่เพิ่มไม่เกิน 2 ล้านบาท

                ด้านธนาคารกรุงไทย ได้ออกมาตรการให้ความช่วยเหลือ โดยสินเชื่อบุคคล โดยพักชำระหนี้นาน 3 เดือน และพักชำระดอกเบี้ยอีก 3 เดือน ในเดือนที่ 4-6 ด้านลูกค้าสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อ Home For Cash ธนาคารไม่คิดดอกเบี้ย นาน 3 เดือน และปรับลดลงอีก 0.25% ในเดือนที่ 4-12  พร้อมทั้งยังมีมาตรการในการให้ความช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็ก ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล รวมถึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอีกด้วย

                ในส่วนของงบประมาณในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยนั้น ขณะนี้กรมบัญชีกลางได้ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้สามารถนำงบประมาณมาใช้ในกรณีฉุกเฉินที่ต้องช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ได้อย่างทันท่วงที เพื่อให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว และเป็นประโยชน์แก่พี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน.

ครองขวัญ รอดหมวน


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"