19 ก.ย.62- กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสภาเภสัชกรรม ร่วมกันจัดการประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานลดความแออัดในโรงพยาบาลโดยร้านยาแผนปัจจุบัน (ข.ย.1) ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยมี นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขเปิดการประชุม
นพ.ประพนธ์ กล่าวว่า ความพยายามในการลดความแออัดของโรงพยาบาล ไม่ได้มีเพียงเฉพาะเรื่องของการจ่ายยาเท่านั้น แต่ที่ผ่านมายังมีความพยายามลดจำนวนผู้รับบริการโรงพยาบาล โดยการใช้นวัตกรรมบริหารจัดการ หรือการเพิ่มจุดบริการ เช่น คลินิกหมอครอบครัว (PCC) เพื่อดูแลคนไข้ที่ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่อาจไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาลใหญ่
เช่นเดียวกับการลดขั้นตอนรับยาที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ซึ่งได้เลือกผู้ป่วยในกลุ่มโรค NCDs ที่โดยปกติมาโรงพยาบาลเพียงเพื่อรอพบหมอพูดคุย 2-3 ประโยค สุดท้ายไปรอรับยาที่ได้เหมือนเดิม ซึ่งกระบวนการเหล่านี้สามารถลดขั้นตอนได้ด้วยร้านขายยา ที่สามารถเข้าถึงชุมชน เข้าถึงพื้นที่ และมีความชุกของงานน้อยกว่าห้องยาโรงพยาบาล
“สิ่งต่างๆ จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง ยกตัวอย่างเหมือนการทำพาสปอร์ต ที่เมื่อก่อนทำยากแต่เดี๋ยวนี้แค่ไม่กี่นาทีเสร็จ หรือธุรกรรมการเงินที่ปัจจุบันทำได้ง่ายดายผ่านสมาร์ทโฟน เราต้องคิดนำนวัตกรรมมาปรับเปลี่ยนระบบบริการสาธารณสุข ซึ่งมีความคาดหวังว่าสักวันระบบโรงพยาบาลจะพัฒนาเหมือนระบบธนาคารได้”
นพ.ประพนธ์ กล่าวต่อว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นการปรับปรุงระบบใหม่ โดยบริหารจัดการภายใต้งบประมาณที่จำกัด แต่อาศัยทรัพยากรที่มีอยู่แล้ว ในระบบสาธารณสุข คือ ร้านยา ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน พร้อมกับประยุกต์ใช้ระบบเทคโนโลยีที่เหมาะสม
“หัวใจหลักของระบบคือทางโรงพยาบาลที่จะเป็นแม่งานหลัก ในการทำข้อตกลงร่วมกันแต่ละพื้นที่ แต่ละเครือข่าย โดยประสานกับร้านยาเพื่อกำหนดเกณฑ์แนวทางที่เหมาะสม สอดคล้องกับบริบทของคนไข้ที่จะกระจายไป ซึ่งมองว่าร้านยาจะเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยได้ซักถามเรื่องโรคหรือยาต่างๆ มากขึ้น ไม่ต้องเร่งรีบเหมือนห้องยาในโรงพยาบาล”
รองปลัดสธ. กล่าวว่า การดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สธ. จะกำหนดนโยบายและแนวทางโครงการฯ สนับสนุนให้เกิดการปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง, สปสช. จะสนับสนุนงบประมาณดำเนินโครงการฯ สนับสนุนเทคโนโลยีเชื่อมต่อการทำงาน, สภาเภสัชกรรม จะกำกับการปฏิบัติงานของร้านยาในภาพรวม เพื่อเพิ่มคุณภาพและความปลอดภัย และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จะทำการติดตามประเมินผล เพื่อจัดทำข้อเสนอแนวทางระยะต่อไป
ด้าน พญ.กฤติยา ศรีประเสริฐ ผู้อำนวยการอาวุโสปฏิบัติหน้าที่ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ในส่วนของขอบเขตและเงื่อนไขการบริการร้านยา จะจ่ายยาให้กับผู้ป่วยใน 4 กลุ่มโรค คือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด จิตเวช หรือโรคเรื้อรังอื่นๆ ที่ไม่มีความซับซ้อนในการดูแล ซึ่งแต่ละโรงพยาบาลอาจเพิ่มเองได้ โดยการรับยาที่ร้านจะต้องเป็นความสมัครใจของผู้ป่วย ซึ่งยาที่ได้จะต้องเป็นยาเดียวกับที่ได้รับจากโรงพยาบาลเดิมที่รับอยู่ และผู้ป่วยไม่ต้องเสียค่าบริการใดๆ เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ คุณสมบัติร้านยาที่จะเข้าร่วมโครงการ ต้องเป็นร้านยาแผนปัจจุบัน (ข.ย.1) ที่มีคุณสมบัติตามประกาศ สธ. มีเภสัชกรปฏิบัติงานไม่น้อยกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน และมีคุณสมบัติตามเกณฑ์การตรวจประเมินเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยร่วมให้บริการด้านเภสัชกรรมของ สปสช. ซึ่งเมื่อขึ้นทะเบียนแล้วร้านยายังจะสามารถร่วมงานกับโครงการอื่นๆ ของ สปสช. ได้อีก
ส่วนแนวทางการกำหนดรูปแบบบริหารจัดการระหว่างหน่วยบริการและร้านยา จะมีใน 3 รูปแบบคือ 1. โรงพยาบาลจัดยารายบุคคลส่งให้ร้านยา 2. โรงพยาบาลจัดสำรองยาไว้ที่ร้านยา 3. ร้านยาดำเนินการจัดการด้านยาเอง ซึ่งรูปแบบไหนจะมีความเหมาะสมนั้น หน่วยบริการกับร้านยาแต่ละพื้นที่สามารถตกลงกันได้ โดยไม่จำกัดรูปแบบ
ทั้งนี้ ประชาชนที่สนใจรับยาใกล้บ้านสามารถตรวจสอบรายชื่อร้านยาที่เข้าร่วมโครงการได้ที่เว็บไซต์สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ www.nhso.go.th หรือตามลิงค์ https://www.nhso.go.th/FrontEnd/page-contentdetail.aspx?CatID=MTI4OA==
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |