จบแบบสะบักสะบอม ต่อไปก็สมานแผล-อุดรูรั่ว


เพิ่มเพื่อน    

      เก้าอี้นายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงมั่นคงต่อไป หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อ 18 ก.ย. ว่าการเป็น หัวหน้า คสช. ในช่วงที่พลเอกประยุทธ์ลงสมัครชิงนายกฯ ในนามพรรคพลังประชารัฐ ไม่ใช่การเป็น เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ จึงไม่เป็นการขาดคุณสมบัติ จนต้องทำให้ต้องหลุดจากการเป็นนายกฯ

          ขณะเดียวกัน ข้อกังวลใจเรื่องเสถียรภาพรัฐบาล เสียงปริ่มน้ำ อย่างน้อยในช่วงปิดสมัยประชุมสภา ร่วม 2 เดือน ก็ทำให้พลเอกประยุทธ์และพรรคพลังประชารัฐคลายกังวลใจในเรื่องนี้ไปได้ระยะ เพียงแต่จะมีฉากกั้นก่อนเปิดสภาเดือน พ.ย. ที่รัฐบาลจะพลาดไม่ได้ นั่นก็คือ การเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ 17-19 ตุลาคม เพื่อพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ซึ่งการที่รัฐบาลมีเสียง ส.ส.ในพรรคร่วมรัฐบาลเวลานี้ แค่ประมาณ 251 เสียง หลังมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ และพิเชษฐ์ สถิรชวาล หัวหน้าพรรคประชาธรรมไทย ถอนตัวออกไปเป็นฝ่ายค้านอิสระ

ซึ่งหากช่วงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯ มีปัญหาการตีรวนเกิดขึ้นในพรรคร่วมรัฐบาลจนร่าง พ.ร.บ.งบฯ ไม่ผ่าน ถูกคว่ำกลางสภา รัฐบาลก็อาจต้องลาออกหรือยุบสภา แม้จะเป็นเรื่องที่ฝ่ายค้านก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น เพราะจะส่งผลกระทบต่อเรื่องการบริหารงบประมาณของหน่วยราชการต่างๆ ที่จะรวนไปหมด ฝ่ายค้านอาจไม่หวังล้มรัฐบาลด้วยวิธีการนี้ แต่ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลก็ประมาทไม่ได้

          ดังนั้น ช่วงปิดสภาสองเดือน ก่อนจะถึงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯ กลางเดือนตุลาคม และตามด้วยการเปิดสภารอบหน้าเดือน พ.ย. ที่เชื่อว่าฝ่ายค้านจะ ยื่นเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่ถึงขั้นล้มนายกฯ และรัฐบาลได้ จึงเป็นงานหนักของพลเอกประยุทธ์และพรรคพลังประชารัฐ ในการรับมือกับศึกหนักที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะต้องหาวิธีการอุดรูรั่ว-ช่องโหว่ที่มีอยู่ ไม่ให้เสถียรภาพรัฐบาลที่คนในรัฐบาลเรียกว่าเป็นรัฐบาลเรือเหล็ก ถูกเจาะจนเรือล่มได้

          ขณะเดียวกัน ถึงตอนนี้พลเอกประยุทธ์คงรู้ถึงรสชาติทางการเมืองในยามที่มีสภาเต็มรูปแบบ มีฝ่ายค้านคอยทิ่มทะลวง ตรวจสอบทุกฝีก้าว แล้วว่า การที่จะยืนอยู่ได้ ต้องอึดและห้ามพลาดทุกกรณี ไม่เช่นนั้นคางเหลือง สะบักสะบอมได้ทุกเมื่อ

          ประสบการณ์การถูกฝ่ายค้านรุมกระหน่ำรุกไล่อย่างหนักกลางห้องประชุมสภา ในการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติของพรรคร่วมฝ่ายค้าน เมื่อวันพุธที่ 18 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งสิ้นสุดลงในช่วง 18.13 น. จึงเป็นประสบการณ์ที่มีค่ายิ่งทางการเมืองสำหรับบิ๊กตู่ต่อจากนี้

          สำหรับการอภิปรายที่ผ่านพ้นไป ประเด็นที่ร้อนแรงที่สุดก็อย่างที่ได้รับยินรับฟัง นั่นก็คือเรื่อง ปมถวายสัตย์ฯ ไม่ครบ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 ที่สุดท้าย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ก็ไม่ได้ลุกขึ้นชี้แจงเรื่องราวดังกล่าวต่อที่ประชุมสภา โดยปล่อยให้เป็นหน้าที่ของวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ Solo ยาวไป ที่ก็ต้องยอมรับว่า ลีลา-เนื้อหาการอภิปรายของฝ่ายค้านบางราย เข้มข้น-ดุดันยิ่งนัก โดยเฉพาะสองแกนนำฝ่ายค้าน ที่เวลานี้ ต้องถือว่าเป็น ดาวสภา-แม่ทัพหลักของฝ่ายค้าน ไปเรียบร้อยแล้ว นั่นก็คือ สุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน จากพรรคเพื่อไทย และปิยบุตร แสงกนกกุล จากอนาคตใหม่

          อย่างเช่นการอภิปรายของ สุทิน ที่หลายคนฟังแล้ว ก็ยังอดหวั่นใจแทนไม่ได้ เพราะเนื้อหาลีลาการอภิปราย แม้จะอภิปรายด้วยท่าทีแบบซอฟต์ๆ แต่รุนแรงด้วยถ้อยคำการอภิปราย ชนิดแทงเข้าขั้วหัวใจพลเอกประยุทธ์ได้เลยทีเดียว กับการยกถ้อยคำบางคำมาเอ่ยอ้างในห้องประชุมสภา ถึงขั้นบอกว่า ท่าทีของพลเอกประยุทธ์และการตอบของวิษณุ เครืองาม เสมือนกับการ ดึงฟ้าต่ำ และระบุว่ายังมี ไม้เด็ด ที่จะมาขย่มพลเอกประยุทธ์และวิษณุอีก กับการมีเอกสารของสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ให้คำแนะนำต่อนายกฯ และรัฐมนตรี ในวันที่เดินทางเข้าเฝ้าถวายสัตย์ฯ ที่จะมีการแถลงข่าวต่อสื่อในวันที่ 19 ก.ย.นี้ เรียกได้ว่า แม้ศึกในสภาจบแล้ว แต่ฝ่ายค้านยังไม่ยอมจบ

          “วันนี้ท่านนายกฯ และนายวิษณุได้ร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นเรื่อง เอาตามแต่ที่สะดวก สาระไม่จำเป็น นายกฯ ทำเรื่องเล็กเป็นเรื่องใหญ่ ฝากเรื่องใหญ่ไว้เป็นแผลใจ เพราะคนก็บอกกันว่า รัฐบาลชุดนี้ทำอะไรก็ไม่ผิด คนข้างๆ กระซิบบอกผม ดึงฟ้าต่ำ มาปกป้องตัวเอง สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ และประวัติศาสตร์นั่น จะลงมาถึงทำลายหลักนิติรัฐ นิติธรรม

           พิธีกรรมที่เคยศักดิ์สิทธิ์ต่อไปนี้ไม่ศักดิ์สิทธิ์แล้ว เราเตือนท่าน ท่านก็ไปทำให้ความศักดิ์สิทธิ์กลับคืนมา การอยู่เฉยๆ เท่ากับลดทอนลง เรื่องแค่นี้ทำไมแสดงออกไม่ได้”

          ขณะที่การรับหน้าเสื่อของวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีในการชี้แจงแทนพลเอกประยุทธ์ สรุปสาระสำคัญได้ว่า วันที่ 16 ก.ค. นายกฯ ได้นำ ครม.เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพื่อถวายสัตย์ฯ โดยนายกฯ ล้วงหยิบเอาบัตรแข็งออกมาจากมากระเป๋า เป็นวิธีปฏิบัติเดียวเหมือนกับนายกฯ ทุกคนในอดีต ซึ่งสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเป็นผู้จัดเตรียม เช่นเดียวกับที่เตรียมไว้ให้กับนายกฯ ทุกคนในอดีต

          “วิษณุ” แจกแจงว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณเป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลกับพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ในหนังสือของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งบอกถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแต่ละมาตรา รวมถึงมาตรา 161 ด้วย คือ การถวายสัตย์ปฏิญาณนั้นเป็นเรื่องที่ต้องการยืนยันต่อองค์ผู้ใช้อำนาจอธิปไตย คือ พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญเขียนมาแบบนี้หลายฉบับ ใช้คำว่ายืนยันเพื่อให้เกิดความไว้วางใจในตัวผู้กล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณ ใครเป็นคนไว้วางใจ คือ พระมหากษัตริย์ ไว้วางใจในตัวใคร คือ ผู้ถวายสัตย์ ซึ่งคือ ครม.

          และเป็นไปตามคาดที่ วิษณุ-มือกฎหมายรัฐบาล ใช้คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่รับคำร้องเรื่องดังกล่าวของผู้ตรวจการแผ่นดินมาเป็นหลักอ้างอิงเพื่อหวังทำให้เรื่องนี้จบได้แล้ว ตั้งแต่การอภิปรายสิ้นสุดลง

“ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งไม่ใช่คำวินิจฉัย โดยเป็นคำสั่งไม่รับคำร้อง บอกว่าการถวายสัตย์ปฏิญาณจึงไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด และองค์กรตามรัฐธรรมนูญใด สภาก็เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ”

แม้ศึกอภิปรายจะจบไปแล้ว แต่เชื่อว่าคงจะยังมีควันหลงออกมาให้เห็นอีกสัก 2-3 ฉาก จากนั้นเรื่องคงมาร้อนแรงอีกครั้ง หากฝ่ายค้านนำเรื่องนี้ไปเป็นอีกหนึ่งประเด็นในการยื่นซักฟอกนายกฯ หลังเปิดสภา ขณะเดียวกัน พลเอกประยุทธ์คงใช้เวลาช่วงต่อจากนี้ แก้ไขปิดช่องโหว่-จุดอ่อนต่างๆ ของรัฐบาลโดยเร็ว เพื่อรับศึกหนักการเมืองต่อไปหลังสภาเปิด.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"