เหตุการณ์โจมตีด้วย "กองกำลังโดรน" หรือ Unmanned Aerial Vehicles (UAV) รุ่น X ที่บินได้ไกลถึง 1,500 กิโลเมตรต่อ "เส้นเลือดใหญ่" ทางการผลิตน้ำมันของซาอุดีอาระเบียเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา กำลังจะนำไปสู่ความขัดแย้งในวงกว้างที่น่าเป็นห่วง
ไม่ว่าผู้กระทำจะเป็นกบฏฮูทีในเยเมนหรืออิหร่านซึ่งเป็นพันธมิตรสนิทชิดเชื้อก็ตาม
เพราะการถล่มทางอากาศที่ถล่มเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ โดยที่ระบบต่อต้านขีปนาวุธของซาอุฯ อันทันสมัยไม่อาจจะสกัดได้นั้นย่อมทำให้เกิดความหวาดหวั่นว่าจะเกิด "สงครามโดรน" หรือ drone warfare ในยุคสมัยใหม่นี้ได้อย่างน่ากลัว
อีกทั้งยังตอกย้ำว่าความพยายามที่โดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯ จะนั่งลงพูดจากับฮัสซัน โรฮานีแห่งอิหร่าน เพื่อหาทางออกจากการเผชิญหน้าต่อกันนั้นไม่อาจจะเกิดขึ้นได้แล้ว
ซาอุดีอาระเบียประกาศว่าสามารถจะจัดการกับกบฏฮูทีได้ อเมริกาไม่จำเป็นต้องมาช่วย หลังจากที่ทรัมป์ยกหูไปหาโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารของซาอุฯ หนึ่งวันหลังเหตุการณ์นั้น
ซาอุฯ ต้องเร่งฟื้นฟูความสามารถในการผลิตน้ำมันดิบที่แหล่งน้ำมันสำคัญหลายจุด หลังจากที่เกิดการโจมตีทางอากาศจากเครื่องบินโดรนที่ไม่ประกาศสัญชาติ แต่มีพลังการทำลายที่ค่อนข้างจะทันสมัย
ทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันของซาอุฯ ลดลงครึ่งหนึ่ง ดันให้ราคาน้ำมันดิบโลกพุ่งขึ้นทันทีประมาณ 20%
ประเทศไทยเราก็หนีไม่พ้นจะต้องรับสถานการณ์ที่น่ากังวลนี้ เท่ากับซ้ำเติมผลร้ายต่อเศรษฐกิจที่เกิดจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะผ่อนคลายลงแต่อย่างใด
ผลจากการโจมตีครั้งนี้ทำให้กำลังการผลิตน้ำมันดิบของซาอุฯ ลดลงไม่น้อยกว่า 5.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน
นั่นเท่ากับประมาณ 6% ของปริมาณการผลิตน้ำมันดิบทั่วโลก
ใครเป็นคนก่อเหตุกันแน่?
หากติดตามข่าวจากทุกกระแสจะรู้สึกว่ารายละเอียดยังค่อนข้างสับสน ว่าใครอยู่เบื้องหลังการโจมตีครั้งนี้กันแน่
กลุ่มกบฏฮูทีเยเมนออกมาประกาศแสดงความรับผิดชอบ
โดยโฆษกแถลงว่าทางกลุ่มได้ใช้โดรน 10 ลำโจมตีสถานที่ผลิตน้ำมันหลายแห่งของซาอุฯ เพื่อตอบโต้ที่ซาอุฯ โจมตีใส่กลุ่มฮูทีในเยเมนเมื่อช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
แต่สหรัฐฯ ไม่เชื่อ แสดงภาพว่าเป้าถูกโจมตี 19 จุดในซาอุฯ ซึ่งย่อมไม่อาจเป็นฝีมือของโดรน 10 ลำเท่านั้น
รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ พอมเพโอชี้นิ้วไปที่อิหร่านทันที อ้างว่ารัฐบาลกรุงเตหะรานอยู่เบื้องหลังการโจมตีในซาอุฯ เกือบ 100 ครั้ง และมีรูปแบบไม่แตกต่างกันมากนัก
พอมเพโอบอกว่าไม่มีหลักฐานชี้ว่าการโจมตีครั้งนี้มาจากกลุ่มกบฏในเยเมน
แต่เขาก็ไม่ได้แสดงหลักฐานใดๆ สนับสนุนคำกล่าวอ้างว่าการโจมตีนั้นเป็นฝีมือของอิหร่าน
อิหร่านยืนยันว่าข้อกล่าวหาของสหรัฐฯ เป็นเรื่องไร้สาระ ไม่มีมูลความจริง
ถ้าอ่านข่าวจากสื่อมวลชนบางสำนักในอิรักก็จะได้ข่าวอีกเวอร์ชันหนึ่ง
ข่าวกระแสนี้อ้างว่าการโจมตีครั้งนี้มาจากอิรัก เพราะอิรักอยู่ใกล้โรงงานผลิตน้ำมันของซาอุฯ ที่ถูกโจมตีมากกว่าเยเมน
แน่นอนว่ารัฐบาลอิรักออกมาปฏิเสธข่าวนี้โดยพลัน
ซาอุดีอาระเบียเองก็ยังไม่ได้ชี้เฉพาะเจาะจงว่าเป็นกลุ่มใดที่อยู่เบื้องหลังการโจมตีแหล่งน้ำมันของตน
เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน แกนนำของรัฐบาลซาอุฯ สำทับว่าจะต้องมีการตอบโต้การกระทำแบบก่อการร้ายเช่นนี้อย่างสาสม
สาเหตุแห่งความขัดแย้งรุนแรงระหว่างซาอุฯ กับกลุ่มฮูทีในเยเมนมีที่มาที่ไปที่น่าสนใจ
เพราะกลุ่มฮูทีได้สู้รบกับกองกำลังที่นำโดยซาอุฯ เพื่อแย่งชิงอำนาจการปกครองเยเมนตั้งแต่ปี 2014 หรืออย่างน้อยเมื่อ 5 ปีก่อน
สงครามนี้ยืดเยื้อมาจนถึงวันนี้
เยเมนเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกอาหรับ แต่ได้กลายเป็นสมรภูมิสู้รบของฝ่ายต่างๆ ที่ทำลายสังคมเยเมนโดยสิ้นเชิง
ประชาชนคนเยเมนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งใดๆ ต้องกลายเป็นเหยื่อสงครามอย่างน่าสงสาร
คนเยเมนตายแล้วหลายพันคน ที่ต้องอพยพหนีตายก็หลายล้าน อีกทั้งยังมีผู้คนที่ไร้ที่ซุกหัวนอน ไม่มีอาหารประทังชีวิตก็อีกหลายล้านคน
นอกจากนั้นชุมชนและสถานที่สำคัญจำนวนมาก รวมทั้งโรงพยาบาลต่างๆ ก็ถูกทำลายเพราะการสู้รบของฝ่ายต่างๆ ที่ไม่สนใจคุณค่าชีวิตของชาวเยเมนแต่อย่างใด.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |