โครงการประชารัฐสวัสดิการถือได้ว่าเป็นโครงการประเภท “ประชานิยม” ที่มีลักษณะการแจกเงินให้กับคนจนโดยตรง ซึ่งริเริ่มโดยรัฐบาลประยุทธ์ 1 ในปี พ.ศ. 2559 และใช้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันภายใต้รัฐบาลประยุทธ์ 2 โดยมีแนวโน้มว่าจะมีอายุยืนยาวต่อไปอีกหลายปี จึงน่าสนใจที่จะตั้งคำถามว่าโครงการนี้มีความเหมาะสมมากน้อยแค่ไหน และหากทำต่อไปควรจะต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง
ในกลางปี 2559 รัฐบาลได้เปิดให้มีการลงทะเบียนสำหรับคนจนที่มีรายได้ปีละไม่เกิน 100,000 บาท และมีทรัพย์สินไม่เกิน 100,000 บาท มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปและมีสัญชาติไทย มีผู้ผ่านการลงทะเบียนจำนวน 7.5 ล้านคน และได้รับเงินสวัสดิการคนละ 3,000 บาทสำหรับผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี และได้คนละ 1,500 บาทสำหรับผู้ที่มีรายได้สูงกว่า 30,000 บาทต่อปี
ต่อมาในปี 2560 รัฐบาลก็เปิดให้มีการลงทะเบียนคนจนอีกครั้งหนึ่งโดยปรับคุณสมบัติให้รัดกุมขึ้น แล้วก็ขยายเวลาการลงทะเบียนจนทำให้มีผู้ผ่านการลงทะเบียนจำนวน 11.4 ล้านคน มีการแจกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อใช้ชำระค่าสินค้าและบริการผ่านเครื่องชำระเงินของร้านที่รัฐบาลกำหนด โดยมีวงเงินซื้อสินค้าคนละ 200 ถึง 300 บาทต่อเดือน มีเงินส่วนลดค่าก๊าซหุงต้ม มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางด้วยรถโดยสารและรถไฟรวมกันเดือนละ 1,500 บาทต่อคน
ในปี 2561 เปิดให้มีการลงทะเบียนเพิ่มเติมในกลุ่มผู้พิการ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียง ปรากฏว่ามีผู้ลงทะเบียนทั้งหมดที่ผ่านคุณสมบัติเพิ่มเป็น 14.5 ล้านคน และก่อนการเลือกตั้งครั้งล่าสุดก็ยังเปิดโอกาสให้มีผู้มาลงทะเบียนเพิ่มเติมได้อีก ทำให้มีผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรวมกันประมาณ 17 ล้านคน ในช่วงหลังมีการแจกเงินเพิ่มเติมให้กับผู้ที่เข้าร่วมโครงการฝึกทักษะที่หน่วยงานของรัฐจัดให้ด้วย
งบประมาณที่ใช้ไปทั้งหมดในโครงการนี้เป็นเงินประมาณ 124,000 ล้านบาท ถ้าถามว่าคุ้มกับเงินที่ใช้ไปเป็นจำนวนมากนี้หรือไม่ ก็คงตอบได้ยาก เพราะเป็นการแจกเงินกับผู้มีรายได้น้อยที่อาจมีความต้องการในการครองชีพจริงๆ แต่ก็เชื่อว่าผู้ถือบัตรสวัสดิการบางส่วนไม่ใช่คนที่ยากจนจริงๆ จึงมีส่วนที่รั่วไหลอยู่บ้าง ประเด็นที่จะต้องมีการประเมินกันต่อไปก็คือคำถามที่ว่าโครงการนี้ช่วยให้คนจนที่ได้รับประโยชน์ช่วยตัวเองได้ดีขึ้นมากน้อยแค่ไหน และสามารถหลุดพ้นจากภาวะความยากจนได้หรือไม่อย่างไร
ผมได้มีโอกาสเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาการทำรายงานวิจัยของนักศึกษาสถาบันพระปกเกล้า หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการบริหารเศรษฐกิจสาธารณะสำหรับนักบริหารระดับสูง (หรือ ปศส.) รุ่นที่ 17 กลุ่มที่ 1 โดยนักศึกษากลุ่มนี้ได้ร่วมกันศึกษาเจาะลึกและประเมินโครงการประชารัฐสวัสดิการนี้
ผมเห็นว่านักศึกษากลุ่มนี้มีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงโครงการในอนาคต จึงขอนำเอาประเด็นเหล่านี้มาเล่าสู่กันฟัง เผื่อผู้มีอำนาจในรัฐบาลจะได้นำไปพิจารณาต่อไป ข้อเสนอแนะสำหรับการดำเนินโครงการประชารัฐสวัสดิการสรุปได้ดังนี้
ประการแรก แทนที่รัฐบาลจะหว่านเงินไปทั่วประเทศ รัฐบาลควรมุ่งเน้นให้ความช่วยเหลือเป็นอันดับแรกแก่ผู้ที่ยากจนในพื้นที่ที่พบว่ามีความยากจนอย่างเรื้อรังและรุนแรง ได้แก่จังหวัดที่มีความยากจนมากที่สุด เช่น แม่ฮ่องสอน นราธิวาส กาฬสินธุ์ และตาก
ประการที่สอง รัฐบาลควรใช้วิธีการช่วยเหลือผู้ยากจนโดยมีการกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือสามารถพัฒนาตนเองและครอบครัวให้มีฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้นได้ โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่มีศักยภาพในการทำงานเลี้ยงชีพได้ ตัวอย่างโครงการที่ดีที่ควรนำมาพิจารณาคือโครงการที่ชื่อว่า Bolsa Familia ของประเทศบราซิลซึ่งกำหนดให้ผู้ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลต้องมีหน้าที่ในการนำเด็กในครอบครัวเข้าโรงเรียนและฉีดวัคซีนตามที่รัฐบาลกำหนดเป็นเงื่อนไข โดยหากไม่ทำตาม รัฐบาลก็สามารถระงับเงินช่วยเหลือได้
ประการที่สาม ในปัจจุบันรัฐบาลได้มอบหมายงานเป็นส่วนๆ ให้กับหลายหน่วยงานในหลายกระทรวงเป็นผู้ดูแล ทำให้การกำหนดมาตรการและการควบคุมดูแลมีลักษณะกระจัดกระจาย ขาดประสิทธิภาพในการบริหารโครงการ จึงควรจัดตั้งหรือมอบหมายกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งให้รับผิดชอบและบูรณาการเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ
ประการที่สี่ ฐานข้อมูลของทะเบียนผู้มีรายได้น้อยควรมีความถูกต้อง ทันสมัย รวมเฉพาะผู้ที่ยากจนจริงๆ และไม่ทำให้ผู้ยากจนบางส่วนตกสำรวจไป การตรวจสอบของข้อมูลจึงไม่ควรอาศัยเฉพาะข้อมูลที่ผู้มาลงทะเบียนกรอกให้แต่เพียงอย่างเดียว แต่จะต้องมีการ cross check กับข้อมูลจากหลายแหล่ง และควรให้บุคคลที่อยู่ใกล้ชิดกับชุมชนเป็นผู้ร่วมกลั่นกรองบุคคลที่สมควรอยู่ในทะเบียนผู้มีรายได้น้อย อีกทั้งควรตัดผู้ที่กำลังเรียนอยู่ในสถาบันการศึกษาออกไปจากทะเบียนคนยากจนด้วย
ประการที่ห้า รัฐบาลควรมีการติดตามและประเมินผลโครงการอย่างต่อเนื่อง เพื่อกำหนดงบประมาณแต่ละปีได้อย่างเหมาะสม และลด/เลิกความช่วยเหลือแก่ผู้ที่หลุดพ้นจากความยากจนแล้ว ซึ่งจะช่วยให้การใช้เงินมีความคุ้มค่ามากขึ้น ในปัจจุบันรัฐบาลยังคงใช้เงินโดยมิได้มีมาตรการติดตามและประเมินผลเลย
ประการที่หก โครงการในปัจจุบันมีลักษณะเป็นโครงการระยะสั้นจัดทำเป็นรอบๆ ตามงบประมาณที่จัดสรรเป็นครั้งๆ ขาดความต่อเนื่องและซ้ำซ้อนกับโครงการอื่นๆ เช่น บัตรผู้สูงอายุ การแก้ปัญหาความยากจนเป็นเรื่องระยะยาวที่อาจต้องใช้เวลาหลายสิบปีจึงจะเห็นผลสำเร็จ รัฐบาลจึงควรกำหนดเป็นนโยบายระยะยาวของประเทศเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการวางแผนด้านการคลังสำหรับสวัสดิการของรัฐ
ประการที่เจ็ด โครงการในปัจจุบันเป็นการแก้ไขความยากจนตามรายบุคคล จึงทำให้ขาดมิติเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาเด็กและเยาวชนในครอบครัว หากโครงการจะยึดเอาครัวเรือนเป็นหน่วยหลักในการให้ความช่วยเหลือ ก็จะทำให้สามารถตัดตอนวงจรของความยากจนในอนาคตได้โดยการพัฒนาเยาวชนให้เข้าถึงการศึกษาและการมีสุขภาพที่ดี (เป็นแนวทางที่ใช้ในโครงการของประเทศบราซิล) การดูแลคนแก่ในครอบครัวโดยลูกหลานของตนก็เป็นอีกมิติหนึ่งที่ควรได้รับการอุดหนุน นอกจากนั้นการพิจารณาความช่วยเหลือเป็นรายครอบครัวยังอาจช่วยคัดกรองผู้ที่ไม่จำเป็นให้ออกไปจากโครงการได้ เช่นในครอบครัวอาจจะมีทั้งผู้มีรายได้น้อยและผู้มีรายได้ปานกลางรวมอยู่ด้วยกัน ซึ่งเมื่อรวมรายได้ของครัวเรือนทั้งหมดก็อาจจะไม่จำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือแก่ครอบครัวนั้น ทำให้สามารถใช้งบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ประการที่แปด ควรมีการติดตามความก้าวหน้าของโครงการและกำหนด exit strategy ที่ชัดเจน โดยหากผู้ร่วมโครงการมีรายได้เกินระดับรายได้ขั้นต่ำอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลก็จะยุติการช่วยเหลือ หรือรัฐบาลอาจให้ความช่วยเหลือด้านการฝึกอบรมฝีมือแรงงานควบคู่ไปด้วยเพื่อเร่งรัดให้ผู้ร่วมโครงการสามารถพัฒนาตนเองจนไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสวัสดิการของรัฐอีกต่อไป
ประการสุดท้าย รัฐบาลไม่ควรให้เงินใช้จ่ายผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือเพื่อหวังผลคะแนนเสียงทางการเมือง เช่น แจกเงินเป็นของขวัญปีใหม่ เงินช่วยเหลือค่าเดินทางไปรับการรักษาพยาบาล ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรักษาวินัยทางการคลังไว้อย่างเคร่งครัด
พรายพล คุ้มทรัพย์
วันที่ 18 กันยายน 2562
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |