ผมได้ยินเสียงร้องเรียนจากหอการค้าต่างชาติในไทยเรื่อง ตม.30 ก็เลยสงสัยว่าเรื่องมันเป็นอย่างไร
ผมเจอคุณ Stanley Kang ประธานหอการค้าประเทศร่วม หรือที่เรียกว่า Joint Foreign Chambers of Commerce in Thailand (JFCCT) คราใดในช่วงนี้ก็จะได้ยินเสียงบ่นดังๆ ว่า ประเทศไทยพยายามจะเชิญชวนคนต่างชาติมาลงทุน มาเที่ยว มาช่วยสร้างเศรษฐกิจของไทย แต่ทำไมจึงยังมีกฎระเบียบเกี่ยวกับต่างด้าวที่สลับซับซ้อนและเป็นอุปสรรคต่อเนื่องอย่างนี้
กรณี ตม.30 กลายเป็นประเด็นใหม่ที่ดูเหมือนจะมีเสียงร้องเรียนดังขึ้นมาตลอด แต่ผมยังไม่เห็นกระทรวงการต่างประเทศหรือกระทรวงมหาดไทย หรือกระทรวงอื่นใดตอบตำถามของตัวแทนหอการค้าต่างประเทศ
คุณสแตนลี คังบอกว่า ปัญหาที่เกิดจากการบังคับใช้ ตม.30 กำลังทำให้ภาพลักษณ์ของไทยในสายตาคนต่างประเทศที่ต้องการเข้ามาทำธุรกิจ หรือท่องเที่ยว หรือมีกิจกรรมสร้างสรรค์ทั้งหลาย เริ่มจะท้อแท้และมองเห็นประเทศใกล้บ้านเราแก้ไขปัญหาอย่างนี้ได้ดีกว่าไทย
ผมจึงไปค้นหาข้อมูลว่า ตม.30 ที่ว่าคืออะไรกันแน่
ได้ความว่า คือ
พระราชบัญญัติคนเข้าเมืองของไทย ที่กำหนดให้ชาวต่างชาติทุกคนต้องแจ้งที่อยู่ของตนให้ทางการทราบตลอดเวลา
ที่ผ่านมาโรงแรมจะทำหน้าที่เก็บบันทึกข้อมูลของแขกต่างชาติที่เข้าพัก แต่ในทางปฏิบัติก็มีการทำบ้างไม่ทำบ้าง
ที่เป็นข่าวอยู่ขณะนี้ก็เพราะว่า นับตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมาทางการไทยได้เพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายนี้ โดยไม่มีการผ่อนปรนหรือข้อยกเว้นใดๆ
คล้ายกับว่าที่ผ่านมาก็มีระเบียบนี้อยู่ แต่เจ้าหน้าที่เอาจริงบ้างไม่เอาจริงบ้าง
แต่จะด้วยเหตุผลใดก็ตามที ตอนนี้เจ้าหน้าที่ทำท่าจะเอาจริงไม่มีข้อยกเว้นแล้ว
กฎหมายเขียนไว้ว่า เจ้าของบ้านหรือผู้ครอบครองเคหสถานจะต้องแจ้งต่อทางการว่า คนต่างด้าวได้กลับมายังที่พักหรือไม่หลังจากออกไปจากที่พักถาวรเกิน 24 ชั่วโมง
ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางออกนอกประเทศหรือออกนอกจังหวัด
รายละเอียดอีกข้อหนึ่งบอกว่า กฎเกณฑ์เดียวกันนี้ยังบังคับใช้กับคนต่างชาติที่สมรสกับชาวไทย และหากคู่สมรสชาวไทยเป็นเจ้าของบ้านก็จะต้องเป็นผู้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ด้วยเช่นกัน
แบบฟอร์มแจ้งที่พักอาศัยของคนต่างด้าวนี้เรียกว่า ตม.30 ซึ่งต้องยื่นภายใน 24 ชม.นับแต่คนต่างชาติเข้าพัก หากไม่ทันตามกำหนดเจ้าของที่พักจะต้องเสียค่าปรับ
และถ้าไม่เสียค่าปรับชาวต่างชาติผู้นั้นจะไม่สามารถต่อวีซ่าหรือใบอนุญาตอื่นๆ ได้จนกว่าจะมีการจ่ายค่าปรับให้ถูกต้อง
การบังคับใช้กฎหมายข้อนี้แหละที่ได้ก่อให้เกิดความสับสนและวุ่นวายใจในแวดวงคนต่างด้าวและคนไทยที่เกี่ยวข้อง
มีเสียงบ่นว่าการบังคับใช้กฎหมายในระดับจังหวัดไม่ตรงกัน
อีกทั้งมีกรณีที่เจ้าของที่พักไม่ยอมทำตามหน้าที่ของตน คนต่างชาติก็ต้องรับผิดชอบแทน
ทำให้ชาวต่างชาติที่เข้าพักต้องจ่ายค่าปรับหรือเสี่ยงจะสูญเสียสิทธิ์ในการพำนักในประเทศไทย
เจ้าหน้าที่ไทยบอกว่าความจริงทางการก็มีการจัดทำ apps และ website เพื่อให้กรอกแบบฟอร์มแจ้งที่พักคนต่างด้าวได้
แต่ก็มีเสียงบ่นว่าการเข้าไปใช้งานมีความไม่สะดวก มีปัญหาความยุ่งยากของแบบฟอร์มและเทคนิคต่างๆ ทำให้ต้องเดินทางไปแจ้งเรื่องที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองซึ่งต้องใช้เวลาเกือบทั้งวันสำหรับการนี้
ตัวแทนของชาวต่างชาติที่ร้องเรียนเรื่องนี้อ้างว่า คนต่างชาติที่พำนักในไทยจะต้องรายงานตัวต่อพนักงานสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองทุก 90 วันอยู่แล้ว
นั่นคือการกรอกรายละเอียดในแบบฟอร์ม ตม.47 ยกเว้นผู้ที่ได้สิทธิ์พำนักถาวรหรือผู้มีวีซ่าพิเศษหรือผู้ที่ได้รับการยกเว้นอื่นๆ
เจ้าหน้าที่ที่รู้เรื่องนี้เล่าว่าความจริง พ.ร.บ.ตรวจคนเข้าเมืองเริ่มบังคับใช้เมื่อปี พ.ศ.2522 ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลไทยต้องการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยชาวเวียดนามและกัมพูชาที่หนีความรุนแรงจากสงครามเข้ามาในไทย
อีกบางคนก็คาดเดาว่า สาเหตุที่ทางการเข้มงวดเรื่องนี้อีกครั้งอาจจะมาจากเหตุการณ์ระเบิดที่ศาลพระพรหมเอราวัณเมื่อปี 2558 ซึ่งทำให้เกิดความระแวงสงสัยชาวต่างชาติที่ซ่อนตัวเข้ามาก่อเหตุร้าย หากไม่มีการติดตามความเคลื่อนไหวของคนต่างด้าวอย่างเคร่งครัด
เหตุผลจริงๆ จะเป็นอย่างไรทางการไทยมีหน้าที่ต้องชี้แจงกับองค์กรธุรกิจและการท่องเที่ยวกับการลงทุนทั้งหลายให้เข้าใจตรงกัน และหากมีอุปสรรคและความสับสนอย่างไรในทางปฏิบัติก็ควรจะต้องได้รับการแก้ไขให้เรียบร้อย
มิใช่ปล่อยให้มีการร้องเรียนและกล่าวหาประเทศไทยไป โดยที่ดูเหมือนจะไม่มีใครสนใจฟังและแก้ไขปัญหาที่ต้นตออย่างแท้จริง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |