เรื่อง "ของติดตัว" คนไปนอก


เพิ่มเพื่อน    

 

 ต้องขอบอก.......

          "ธนบัตรรัชสมัย รัชกาลที่ ๑๐"

            "สวยมาก"

            เห็นแล้วอยากได้ไร้ลิมิต!

            "นายวิรไท สันติประภพ" ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงเมื่อวาน (๘ มี.ค.๖๑)

            ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้รับพระราชทานพระราชานุญาตจาก "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร" จัดพิมพ์และออกใช้ "ธนบัตรแบบใหม่" ทุกชนิดราคา

            ใช้เป็น "ธนบัตรหมุนเวียน" ทั่วไป

            โดยได้รับพระราชทาน "วันออกใช้ธนบัตร" ชนิดราคา ๒๐ บาท ๕๐ บาท และ ๑๐๐ บาท

            ในวันจักรี ๖ เมษายน ๒๕๖๑

            ส่วนชนิดราคา ๕๐๐ บาท และ ๑๐๐๐ บาท ออกใช้ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา

            "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร" คือวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๑ 

            ใครต้องการ "ธนบัตรรัชกาลที่ ๑๐" รุ่นแรก เก็บเป็นฤกษ์-เป็นชัย วันที่ ๖ เมษา. วันที่ ๒๘ กรกฎา. เบิกถอน-แลกได้ตามธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง

            ส่วนใครที่สะสม "ธนบัตรเดิม" ไว้ ไม่ต้องยกมือทาบอก

            ฝังดินไว้ตรงไหน ซุกเซฟลับไว้ที่ไหน ก็เอาไว้ที่เดิมนั่นแหละ

            เพราะผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ยืนยันแล้ว.......

            ประเทศไทยไม่มีนโยบาย "ยกเลิกใช้ธนบัตรเดิม" แน่นอน!     

            "ธนบัตรเดิม" ใช้ควบคู่กับ "ธนบัตรใหม่" ได้ต่อเนื่อง

            ก็รับทราบกันตามนี้นะ!

            ก็มาต่อกันอีกซักเรื่อง ที่ฮือฮา วิพากษ์-วิจารณ์กันมากตอนนี้ คือที่ "กรมศุลกากร" ออกประกาศ

          "ใครเดินทางออกนอกประเทศ หากนำของมีค่าติดตัวไป เช่น นาฬิกา กล้องถ่ายวิดีโอ กล้องถ่ายรูป คอมพิวเตอร์.......

          ต้องแจ้งศุลกากรทุกครั้ง"!

          ก็เป็น "อาหารชั้นดี" ของชนชาวโซเชียล รุม "กินโต๊ะ" กันพรึ่บ

            ดูเผินๆ ก็น่ารุม........

            "ของติดตัว" หมายถึงของใช้นะ อย่าง นาฬิกา กล้องถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอ โน้ตบุ๊ก เป็นต้น

            ยุคนี้มันเป็นของสามัญประจำตัวไปแล้ว ศุลกากรจะมางมโข่งจับกุ้งฝอย-ปล่อยปลากะพงทำไม?

            แต่มองอีกด้าน ก็เข้าใจและเห็นใจกรมศุลกากร คือกฎหมายมันมี และไม่ใช่เพิ่งมี

            มีมานานแล้ว...........

            เพียงแต่ผู้บังคับใช้กฎหมายตามด่านต่างๆ คือเจ้าหน้าที่กรมศุลฯ เขาปรับวิสัยทัศน์การใช้ตามไปกับยุคสมัย คือไม่ "เถรตรง"

            ทุกวันนี้ "ช่องเขียว" ปล่อยเลย

            นานๆ จะ "สุ่มตรวจ" ซักคน-สองคน ที่เห็นว่าในกระเป๋า "อาจมีอะไรเกินเลย" มากไป

            ถือว่าศุลกากร "ผ่อนคลาย" สอดคล้องยุคสมัย ดีกว่าแต่ก่อน

            เดี๋ยวนี้ รับกระเป๋าแล้ว ร้อยละ ๙๙.๙๙ ลากออกไปเลย!

            สมัยก่อนไม่ได้.....
            ไม่เฉพาะบ้านเรา แต่ "ทั่วโลก" รับกระเป๋าแล้ว ต้องเรียงคิว "เปิดทุกใบ" ให้เขาตรวจ รื้อคน "รายคน-รายกระเป๋า-รายชิ้น"

            "กระเป๋าสตางค์" ก็ไม่เว้น

            ว่านำเงินเข้า-ออกเกินจำนวนที่เขากำหนดหรือไม่?

            เรื่องกล้องถ่ายรูป นาฬิกา เครื่องประดับแพงๆ นี่ ต้องสำแดงไว้เลย โน้ตบุ๊ก "ไม่ต้อง" เพราะยังไม่มี

            ไปเข้าอีกประเทศ ก็ต้อง "ยืนกรอก-นั่งกรอก" แบบฟอร์ม จาระไนรายชิ้นอีกเหมือนกัน?

            เขาก็ป้องกันเอาที่ติดตัวเข้าไปขาย เราก็ป้องกันเอาติดตัวเข้ามาขาย

            เช่น ตอนออกไป ใส่นาฬิกาโปเก แต่ตอนกลับเข้ามา เป็น "ริชาร์ด มิลล์" เรือนละ ๑๐-๒๐ ล้าน ฝากเพื่อน!

            มนุษย์ มีทั้ง "คนดี-คนไม่ดี"........

            สังคมจึงจำเป็นต้องมีกฎหมายวางไว้เป็นกรอบปฏิบัติกว้างๆ เพื่อควบคุม "คนไม่ดี"

            ส่วน "คนดี" กฎหมายที่มี ไม่ได้เพ่งเล็งอยู่แล้ว

            ที่จับ-ไม่จับ..........

            ไม่ใช่เลือกปฏิบัติ หรือละเลยปฏิบัติ หากแต่เขาทำหน้าที่ด้วย "เข้าใจเจตนารมณ์" กฎหมาย!

            สรุป คือ.........

            ข้อกฎหมายตรงนี้ มีมานานแล้ว ของติดตัว จะเกินเลยบ้าง ก็พอหอมปาก-หอมคอ

            โดยเฉลี่ย เจ้าหน้าที่ด่านฯ เขาก็ใช้กฎหมายแบบผู้มีสามัญสำนึกแห่งมนุษย์อยู่แล้ว

            เป็นอย่างนี้มานานแค่ไหนก็ไม่ทราบ ทราบแต่ว่า ผมเดินทางออกนอกประเทศ ครั้งแรก เมื่อ ๕๐ กว่าปีก่อน

            กฎข้อนี้ มีใช้อยู่แล้ว!

            ฉะนั้น ที่ "นายกุลิศ สมบัติศิริ" อธิบดีกรมศุลกากร ลงนามในประกาศกรมศุลกากร ๒ ฉบับ

            เรื่อง Check Through...........

            กับเรื่องเรื่อง “การปฏิบัติพิธีการศุลกากรของติดตัวผู้โดยสาร ที่นำติดตัวเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรพร้อมกับตนทางอากาศยาน” เมื่อวันที่ ๗ มี.ค.๖๑ นั่นน่ะ

            ไม่ใช่จู่ๆ "ของขึ้น" อธิบดีก็รำดาบก๋า

            หากแต่ "กฎหมายศุลกากร" มีมาร่วมร้อยปี เขาก็ปรับปรุงให้สอดคล้องสังคมแต่ละยุคสมัยมาเรื่อยๆ

            ปีที่แล้ว มี พ.ร.บ.ศุลกากรใหม่ ของเก่ายกเลิก ก็ต้องประกาศให้ทราบ

            ถ้าศึกษาเรื่องให้เข้าใจ ก็ไม่มีปัญหา

            แต่ถ้าศึกษาแบบหาเรื่อง ขยุ้มๆ โพสต์เอาก่อน-เอาโก้ เพื่อดรามากราฟฟิตี้ ก็จะเป็นอย่างที่เห็น

            คือ "ด่ากันเช็ด" เพราะง่ายดี!

            "คุณกุลิศ สมบัติศิริ" อธิบดีกรมศุลฯ ท่านนี้ เท่าที่ผมเห็นการทำหน้าที่ของคนในตำแหน่งนี้มาในรอบ ๒๐ ปี

            "ผมเคารพ-ศรัทธา" ในความเป็นข้าราชการผู้ทำหน้าที่ซื่อสัตย์-ซื่อตรงในตัวอธิบดีกรมศุลฯ ท่านนี้มากที่สุด

            จาก "เนื้องาน" เท่าที่ตาเห็นนะครับ

            อย่างอื่นไม่ทราบ เพราะไม่เคยรู้จัก ไม่เคยเห็นตัวมาก่อน

            แต่เมื่อมีคนจงใจวิจารณ์ในมุมเดียว ก็ต้องชมกรมศุลฯ เขา ในแง่ ข้าราชการทำงานฟังเสียงประชาชน

            เมื่อวาน (๘ มี.ค.) "นายชัยยุทธ คำคุณ" รองอธิบดี รักษาการที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร

            การออกมาอธิบายเรื่องราว ก็ถือว่าปกติ

            แต่ที่เหนือปกติ คือ วิสัยทัศน์ข้าราชการ ต่างจากข้าราชการทั่วไป ที่ "ไม่เคยทำอะไรผิด"

            แต่รองอธิบดีกรมศุลฯ ยอมรับผิดพลาด ด้วยเนื้อหาว่า.....

          "ขอยืนยัน ไม่ใช่อย่างที่ตั้งข้อสังเกตกัน ว่ากรมศุลฯ เก็บภาษีไม่ได้ตามเป้า ถึงจ้องรีดภาษีผู้โดยสาร

          แต่ยอมรับว่า การออกประกาศดังกล่าว อาจทำให้ประชาชนบางส่วน อ่านแล้วมีความสับสนบ้าง

          ทางกรมศุลฯ จะเร่งปรับแก้ถ้อยคำให้มีความชัดเจนและเข้าใจง่ายขึ้น ภายในกลางเดือนนี้"

            ครับ...กรมศุลฯ ยอมรับ

            ใช้ถ้อยคำในประกาศไม่เคลียร์ จะไปปรับปรุงแก้ไข!

            เมื่อยอมรับผิด.........

            มีหรือที่ "สังคมโซเชียล" จะไม่วางแส้ จริงมั้ย?

            คุณชัยยุทธบอกด้วยว่า

             "............มิได้กำหนดให้ผู้โดยสารทุกคนต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนเดินทางออกนอกประเทศ

            วัตถุประสงค์ของประกาศ ก็เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสาร ที่อาจมีสิ่งของต้องนำออกไป

            เช่น ต้องนำเครื่องเพชรไปแสดงนิทรรศการ หรือเพื่อนำไปประกอบวิชาชีพ

            เช่น ต้องนำอุปกรณ์กล้องจำนวนมากไปถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ

            แล้วเกรง "ตอนกลับ" อาจถูกศุลกากรตรวจพบ และสงสัยเป็นของเพิ่งนำเข้า อยู่ในข่ายต้องเสียภาษี

            มันก็จะยุ่งยาก-เสียเวลา

            ดังนั้น เพื่อตัดปัญหา จึงให้แจ้งเจ้าหน้าที่ไว้ก่อน ขากลับจะได้สะดวก"

          "ทั้งนี้ ขอยืนยัน ไม่ได้เป็นการบังคับผู้โดยสาร และไม่มีบทลงโทษผู้โดยสาร

          แต่เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวก ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้โดยสารจะเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าว เป็นประโยชน์กับตนเองหรือไม่?"

            ครับ...ก็ชัดนะ

            กรณี ซื้อของจากร้านดิวตี้ฟรี ในสนามบิน "ขาออก"

            ตอนกลับเข้ามา..........

            ของมีมูลค่ารวมกัน "ไม่เกินสองหมื่นบาท" นำเข้ามาได้

            ยกเว้น "สุรา-บุหรี่ ซิการ์-ยาเส้น" ต้องตามกำหนด

            อย่างบุหรี่ ไม่เกิน ๒๐๐ มวน ซิการ์-ยาเส้น อย่างละ ๒๕๐ กรัม สุรา ๑ ลิตร เป็นต้น

            ของส่วนตัว ใช้เองหรือใช้ในวิชาชีพ มีราคารวมกันไม่เกิน ๒ หมื่นบาท

            สรุป "กฎหมาย" ก็เหมือน "กำแพงบ้าน"

            มีเพื่อห้ามไม่ให้ใครเข้าไปงั้นหรือ?

            ไม่ใช่........

            มีด้วยเจตนาเป็นกรอบ "คัดกรอง" คนเท่านั้น

            มองแล้ว "มาดี-ไว้ใจได้" ก็เปิดให้เข้าไป

            ดูท่า "ไม่น่าไว้ใจ" ก็สกัดไว้ ตรวจสอบให้แน่ใจก่อน

            กฎหมายเขียนจาระไนสุดขอบรอบจักรวาลไม่ได้ การใช้ จึงมีหัวใจให้ยึด

            คือ "เจตนารมณ์"

            แต่ทุกวันนี้ ใช้ "เจตนามึง-เจตนากู" ในการทำความเข้าใจกับข้อกฎหมาย

            ฉะนั้น ต่อให้ชาติหน้าตอนบ่าย กฎหมายฉบับไหนๆ จ้างก็ "มัดมือ-มัดตีน" ศรีธนญชัยไทยไม่ได้!

            ไงก็...เรื่องนี้ หวังว่า......

            ไม่ถึงขั้น "กราฟฟินิตี้" ที่หน้ากรมศุลฯ นะ?.

                                     

           


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"