วีรศักดิ์” คลอดแพ็กเกจช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมภาคอีสาน เตรียมจัดหาสินค้าราคาถูกขายผ่านร้านค้าปลีกส่งให้ประชาชนซื้อ ดึงแมคโครช่วยโชวห่วยจัดและปรับปรุงร้าน สมาคมไทยรับสร้างบ้านช่วยซ่อมแซมร้านโดยไม่คิดค่าแรง และขอซัปพลายเออร์ยืดระยะเวลาชำระหนี้ ส่วนภาคธุรกิจประสานแบงก์ให้กู้ ยืดเวลาชำระหนี้ ลดดอก ใช้เครือข่าย MOC Biz Club เป็นพี่เลี้ยงฟื้นฟูกิจการ
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เร่งประสานหน่วยงานพันธมิตรภาคเอกชน ทั้งสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย สมาคมไทยรับสร้างบ้าน และห้างค้าส่งรายใหญ่ กำหนดมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้ครอบคลุมทั้งภาคประชาชน ร้านโชวห่วย และภาคธุรกิจ โดยเฉพาะในจังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วมหนัก เช่น อุบลราชธานี ยโสธร ร้อยเอ็ด และศรีสะเกษ เพื่อให้สามารถฟื้นฟูและกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้เร็วที่สุด
ทั้งนี้ ล่าสุดได้รับรายงานว่ากรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้มีการหารือเพื่อกำหนดมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกับสมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทย สมาคมไทยรับสร้างบ้าน บริษัทผู้ผลิต ผู้แทนจำหน่าย ซัปพลายเออร์รายใหญ่ เช่น บริษัท พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล เทรดดิ้ง ประเทศไทย บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด และห้างค้าส่งขนาดใหญ่ คือ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) รวมทั้ง สถาบันการเงิน เช่น SMEs D Bank และธนาคารกรุงไทย เพื่อสรุปมาตรการการช่วยเหลือเยียวยาทั้งในส่วนของภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และธุรกิจโชวห่วยได้แล้ว
โดยมาตรการการช่วยเหลือภาคประชาชน จะร่วมกับผู้ผลิต ผู้แทนจำหน่าย ส่งสินค้าราคาพิเศษถึงมือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ผ่านร้านค้าส่งค้าปลีกที่กระทรวงพาณิชย์ให้การส่งเสริมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยเร็วที่สุด
สำหรับมาตรการการช่วยเหลือร้านโชวห่วย จะร่วมมือกับสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) และหน่วยงานพันธมิตร จัดทีมงานลงพื้นที่ช่วยเหลือในการจัดร้านค้าและปรับปรุงร้านโชวห่วยที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมมือกับสมาคมไทยรับสร้างบ้าน ลงพื้นที่ซ่อมแซมร้านโชวห่วยในราคาพิเศษ หรือไม่คิดค่าแรง และเจรจาให้ซัปพลายเออร์ ขยายเวลาชำระหนี้ค่าสินค้าจากปกติ 30-45 วัน เป็น 75-90 วัน เพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางธุรกิจ และรับเก็บคืนสินค้าที่เสียหายจากน้ำท่วม
ส่วนมาตรการการช่วยเหลือภาคธุรกิจ ได้ร่วมกับสถาบันการเงิน เน้นความช่วยเหลือด้านการเพิ่มสภาพคล่องทางธุรกิจผ่านมาตรการของธนาคารพันธมิตร เช่น ผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระเงิน ปรับลดอัตราดอกเบี้ย ขยายระยะเวลาผ่อนชำระ พักชำระดอกเบี้ย 3-6 เดือน และการให้เงินกู้ดอกเบี้ยอัตราพิเศษเพื่อใช้ในการปรับปรุง ฟื้นฟู และหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ และมอบหมายให้เครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club เป็นพี่เลี้ยงช่วยฟื้นฟูธุรกิจในพื้นที่ประสบอุทกภัย พร้อมขอให้สมาชิกในเครือข่ายร่วมบริจาคสิ่งของอุปโภคบริโภคที่ผลิตเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และช่วยจัดหาเมล็ดพันธุ์ข้าว กข 43 ให้ชาวนาในพื้นที่ประสบอุทกภัยไปปลูก และจะรับซื้อข้าวที่เป็นผลผลิตทั้งหมด รวมทั้ง ช่วยเหลือด้านการทำการตลาดให้
ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 เม.ย.2562) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด มีร้านโชวห่วยอยู่จำนวนทั้งสิ้น 169,133 ร้าน โดยจังหวัดอุบลราชธานีมีร้านโชวห่วย จำนวน 16,914 ร้าน (คิดเป็นร้อยละ 10 ของจำนวนร้านโชวห่วยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) จังหวัดยโสธรและอำนาจเจริญ จำนวน 3,814 ร้าน (คิดเป็นร้อยละ 2.26) จังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน 9,539 ร้าน (คิดเป็นร้อยละ 5.64) และจังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 9,147 ร้าน (คิดเป็นร้อยละ 5.41)
////////////////