ดัชนีผู้บริโภคดิ่ง เหตุการเมืองฉุด ‘ศก.’ยังไม่ฟื้นตัว


เพิ่มเพื่อน    

 

หอการค้าไทยเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.พ.61 ปรับตัวลดลงในรอบ 7 เดือน เหตุกังวลสถานการณ์ทางการเมือง ราคาสินค้าเกษตรไม่กระเตื้อง ภาพรวมเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว ด้าน สสว.เผยจีดีพีเอสเอ็มอี ปี 60 โตทะลุเป้า 5.1% คาดปีนี้โตสูงสุด 5.5% หนุนสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ 9 หมื่นล้านบาท

        เมื่อวันที่ 8 มีนาคม นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกุมภาพันธ์ 2561 พบว่าปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 7 เดือน นับตั้งแต่สิงหาคม 2560 มาอยู่ที่ระดับ 79.3 จากเดือนมกราคม 2561 อยู่ที่ระดับ 80.0 มาจากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมือง ตลอดจนราคาสินค้าเกษตรที่แม้จะมีแนวโน้มดีขึ้น แต่สินค้าเกษตรส่วนใหญ่อีกหลายรายการยังทรงตัวระดับต่ำ ทำให้กำลังซื้อหลายจังหวัดยังไม่ดีขึ้น รวมทั้งมีความกังวลต่อผลกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น และการปรับขึ้นค่าแรงที่อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 สะท้อนว่าผู้บริโภคยังคงกังวลภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวมากนัก
    นายธนวรรธน์กล่าวว่า การปรับตัวลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกุมภาพันธ์ เป็นประเด็นที่ต้องติดตามไปอีก 2-3 เดือนข้างหน้า เพราะที่ผ่านมามีปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจทั้งการส่งออกที่ดีขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับมีการจับจ่ายเพิ่มขึ้นในช่วงวันวาเลนไทน์และเทศกาลตรุษจีน แต่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคกลับตกลง ซึ่งเป็นผลมาจากความกังวลจากสถานการณ์ทางการเมืองที่มีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไป และเริ่มเห็นการชุมนุมมากขึ้น
    "จากดัชนีความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองที่ปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 อยู่ที่ระดับ 83.0 รวมทั้งดัชนีค่าครองชีพที่ยังลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เนื่องจากยังรู้สึกว่าค่าครองชีพสูงขึ้นมากกว่ารายได้ โดยจากปัจจัยดังกล่าวสะท้อนว่าเศรษฐกิจยังโตแบบกระจุกตัวเฉพาะพื้นที่ แต่หากผู้บริโภคเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ทางการเมือง และรัฐบาลมีการเร่งเบิกจ่ายงบกลางปี และเดินหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี รวมทั้งเร่งดำเนินโครงการไทยนิยมที่จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวแบบกระจายตัวมากขึ้นภายในไตรมาส 2 ของปีนี้ จะทำให้ผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความมั่นใจในการบริโภคสินค้าและบริการมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง และผลักดันให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวร้อยละ 4.2-4.6" นายธนวรรธน์กล่าว
    ด้านนายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ปี 2561 สสว.ประมาณการการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) อยู่ที่ 5-5.5% เพิ่มขึ้นจากปี 2560 จากแรงสนับสนุนในสาขาการก่อสร้างที่มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวได้สูงอีกครั้งจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่คาดว่าเริ่มดำเนินการได้ในปีนี้ อีกทั้งแนวโน้มการบริโภคภายในประเทศ รวมทั้งภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อภาคการค้าและภาคการบริการที่เอสเอ็มอีมีบทบาทอยู่มาก
     “จีดีพีเอสเอ็มอีไตรมาสสุดท้ายของปี 2560 ที่ขยายตัวได้ถึง 6.1% นับเป็นการขยายตัวสูงที่สุดในรอบ 11 ไตรมาส ส่งผลให้จีดีพีเอสเอ็มอีปี 2560 ทั้งปีโต 5.1% มากกว่าที่ สสว.ได้ประมาณการไว้ที่ 5% คิดเป็นมูลค่ากว่า 6.55 ล้านล้านบาท และมีสัดส่วนต่อจีดีพีประเทศรวม 42.2% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่มีสัดส่วน 42.1% สอดคล้องกับจีดีพีไตรมาส 4/2560 ที่มีอัตราการขยายตัว 4% เนื่องจากการขยายตัวในภาคการผลิต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกและภาคบริการ สำหรับเอสเอ็มอีแม้มูลค่าการส่งออกสินค้าจะลดลง แต่จีดีพีเอสเอ็มอียังคงขยายตัวได้สูง จากการเติบโตของภาคการค้าและภาคบริการ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว เอสเอ็มอี ที่มีบทบาทค่อนข้างสูง”
     ผอ.สสว.กล่าวต่อว่า สาขาธุรกิจที่ขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อน ได้แก่ ธุรกิจโรงแรมและภัตตาคาร 15.3%, ธุรกิจการขนส่งและการคมนาคม 8.9% และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 5.6% รวมทั้งภาคการค้าปลีกค้าส่งขยายตัวเร่งขึ้น จาก 6.4% เป็น 6.9% สำหรับความคืบหน้ากองทุนพลิกฟื้นวิสาหกิจขนาดย่อม ขณะนี้ดำเนินการอนุมัติแล้วประมาณ 80% คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในต้นเดือนเม.ย.นี้ ส่วนกองทุนฟื้นฟูวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม อนุมัติแล้ว 391 ราย วงเงิน 304.83 ล้านบาท และเงินกองทุนเพื่อผู้ประกอบการรายย่อย รายละไม่เกิน 200,000 บาท อนุมัติแล้ว 1,894 ราย วงเงิน 316.61 ล้านบาท
     นอกจากนี้ ปี 2561 สสว.เป็นเจ้าภาพการจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการด้านการส่งเสริมเอสเอ็มอีของประเทศเป็นปีที่ 3 โดยประสานความร่วมมือกับ 25 หน่วยงาน เดินหน้าแผนบูรณาการขับเคลื่อนเอสเอ็มอีปี 2561 วงเงิน 3,810.41 ล้านบาท ภายใต้นโยบาย “พลิก SME สู่อนาคต” เน้นปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ พัฒนาขีดความสามารถและความพร้อมเอสเอ็มอีสู่สากล และพัฒนาเครือข่ายให้เข้มแข็งและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ คือการปรับรูปแบบธุรกิจสู่เอสเอ็มอี 4.0 และเชื่อมโยงฐานรากระดับชุมชน โดยภาพรวมตั้งเป้าหนุนเอสเอ็มอีได้รับประโยชน์ 331,315 ราย สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ 90,000 ล้านบาท.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"