“บิ๊กฉัตร” สั่ง รมว.พม.ลงดาบเฉียบขาดโกงเงินคนจน “อนันตพร” ชี้สัปดาห์สิ้นเดือน มี.ค.ฟันล็อตแรก รับสอบช้าเพราะขั้นตอนข้าราชการ แพลมอาจขอใช้ ม.44 “ป.ป.ท.” แฉลาม 28 จังหวัด มี 5 ผอ.และเครือข่ายรวม 25 คนพันทุจริต อึ้ง! มีสารพัดกลโกง แต่ยังไม่ถึงขั้นซื้อขายบัตรประชาชน “น้องแบม” ย้ำรักคณะและสถาบัน ลั่นหากรู้ว่าผิดแล้วเมินเฉยเหมือนไม่รักชาติ
เมื่อวันพฤหัสบดี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการตรวจสอบการทุจริตเงินช่วยเหลือผู้ยากไร้ว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้รายงานสรุปว่ามีการส่งทีมเข้าไปตรวจสอบ 2 ทีม คือ ทีมของ พม. และทีมของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) โดยอยู่ระหว่างรอผลสอบอีก 64 หน่วยงาน
พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวต่อว่า ส่วนศูนย์คนไร้ที่พึ่ง จ.สุราษฎร์ธานี ที่ผู้อำนวยการศูนย์ฯ เกษียณอายุออกไปแล้วก็ยังสั่งสอบทางวินัยได้ รวมถึงศูนย์ประสานงานโครงการหมู่บ้านสหกรณ์สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ที่ผู้อำนวยการศูนย์ฯ ลาออกไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 ต.ค.2560 ซึ่ง พม.ได้ตั้งคณะกรรมการสอบแล้ว โดยได้สั่งให้ รมว.พม.ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันสอบสวนวันแรก และรายงานมา ส่วนตัวเลขข้าราชการระดับสูงที่เข้าไปเกี่ยวข้องมีกี่คนนั้น ต้องรอให้เขาสรุปอีกสักพัก แต่ถ้าพบเป็นข้าราชการระดับสูงในพื้นที่เกี่ยวข้อง ได้สั่งการไปยัง รมว.การพัฒนาสังคมฯ ว่าให้สั่งย้ายออกจากพื้นที่ทันที
พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พม. กล่าวว่า พม.ลงพื้นที่ 44 หน่วย ตรวจพบ 15 หน่วยทุจริต ซึ่งได้สั่งย้ายมาช่วยราชการเพื่อสอบสวน 30 วัน ซึ่งเมื่อทราบผลมีความผิดจะลงโทษเบื้องต้นก่อน ซึ่งขอร้องว่าผู้ที่กระทำความผิดต้องรับผิดชอบเอง แต่ถ้าใครโดนบังคับหรือทำเป็นขบวนการ ให้มาสารภาพ โทษหนักจะได้เป็นเบา จะกันไว้เป็นพยาน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ต้องกลั่นกรอง เชื่อ 100% ไม่ได้ เพราะอาจพูดเพื่อเอาตัวรอด ซึ่งแต่ละกรณีจะใช้เวลาตรวจสอบ 30 วัน และในสัปดาห์สุดท้ายของเดือน มี.ค.นี้จะรู้ผลสอบล็อตแรก ซึ่งการสอบใกล้เสร็จแล้ว หากโยงถึงระดับใดก็ดำเนินการหมด แต่ตอนนี้ยังเปิดเผยไม่ได้
“มีคนพาดพิง แต่ต้องไปพิสูจน์ก่อน ยังไม่เชื่อทั้ง 2 ฝ่าย ทุกคนยังมีโอกาสเป็นได้ ทั้งถูกทั้งผิด เมื่อถามต่อว่าล็อตแรกมีระดับไหนบ้าง” พล.อ.อนันตพรกล่าวถึงกรณีปลัดและรองปลัด พม.ที่ถูกโยกมาทำงานที่ทำเนียบรัฐบาล
ถามถึงการตรวจสอบพบมีข้าราชการท้องถิ่น เช่น ภรรยาผู้ใหญ่บ้านหรือกำนันมาเบิกงบดังกล่าวหรือไม่ พล.อ.อนันตพรกล่าวว่า การทำงานของศูนย์เหล่านี้ต้องพึ่งท้องถิ่นอยู่แล้ว ท้องถิ่นเป็นคนส่งชื่อขึ้นมา ก่อนศูนย์ฯ ส่งคนไปตรวจสอบ หากถูกต้องตามหลักการจะจ่ายเงิน แต่ถามว่าร่วมมือกันทุจริตหรือไม่ ต้องไปพิสูจน์ และหากพบร่วมกันทุจริต ถือว่าร้ายแรงมาก
“ที่ตั้งข้อสังเกตว่าทำไมตัวเลขผลสอบของ ป.ป.ท.กับกระทรวงไม่ตรงกันนั้น เนื่องจากต่างคนต่างสอบ ทำให้ความสัมพันธ์ของเอกสารไปด้วยกันไม่ได้ แต่ขณะนี้พยายามคุยเพื่อทำงานร่วมกัน ซึ่งต้องยอมรับขั้นตอนการตรวจสอบทางราชการมีความยาก ต้องป้องกันนักการเมืองหรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่กลั่นแกล้งข้าราชการชั้นผู้น้อย กระบวนดี เพียงแต่ทำให้การตรวจสอบล่าช้า” พล.อ.อนันตพรกล่าว
รอถกบิ๊กตู่ใช้ ม.44
เมื่อถามว่า การตรวจสอบเจอตอบ้างหรือยัง พล.อ.อนันตพรตอบว่า ใหญ่กว่าตอ ขุดได้หมดอยู่แล้ว รับรองไม่มีแน่ และถ้าจำเป็นก็จะขอนายกฯ ใช้มาตรา 44 เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว แต่ตอนนี้ยังไม่ได้ขอ ต้องคุยกับนายกฯ ก่อน แต่ความจริงแล้วมีช่องทางอื่นๆ ทำได้ก่อนไปถึงมาตรา 44
ขณะเดียวกัน มีการประชุม ป.ป.ท. ซึ่ง พล.ต.อ.จรัมพร สุระมณี กรรมการและโฆษก ป.ป.ท. เผยว่า ที่ประชุมมีมติตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงทั้ง 5 จังหวัด คือ จ.หนองคาย, บึงกาฬ, น่าน, สุราษฎร์ธานี และตราด หลังพบการปลอมลายมือชื่อเบิกจ่ายเงินไม่ครบตามจริง และมีการสวมสิทธิ์ผู้ไร้ที่พึ่ง ซึ่งเข้าข่ายความผิด 4 ข้อหา คือ มาตรา 147, มาตรา 157, มาตรา 161 และมาตรา 162 โดยมีเจ้าหน้าที่ระดับผู้อำนวยการศูนย์ฯ 5 ราย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ระดับลูกจ้าง พนักงาน และคนนอก รวม 25 ราย เกี่ยวข้องกับการทุจริตที่เกิดขึ้น
พล.ต.อ.จรัมพรกล่าวอีกว่า เวลานี้อยู่ระหว่างลงพื้นที่แสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐาน และพบความผิดปกติในการเบิกจ่ายเงินอีก 21 จังหวัด ประกอบด้วย พระนครศรีอยุธยา, สระบุรี, กระบี่, ตรัง, สงขลา, นราธิวาส, ยะลา, พัทลุง, อุดรธานี, ร้อยเอ็ด, นครราชสีมา, สุรินทร์, บุรีรัมย์, ชัยภูมิ, ยโสธร, ลำพูน, ลำปาง, เชียงราย, พิษณุโลก, สระแก้ว และอ่างทอง ซึ่งเท่ากับปัจจุบันพบการกระทำที่เข้าข่ายการทุจริตแล้ว 28 จังหวัด ซึ่งเป็นการตรวจสอบงบประมาณปี 2560 และอาจตรวจย้อนหลังไปถึงปี 2558 หากพบความเชื่อมโยง
สำหรับพฤติการณ์นั้น ได้แก่ 1.นำชื่อคนเสียชีวิตมาเป็นบุคคลที่ได้รับสิทธิรับเงิน 2.นำข้อมูลบุคคลที่ไปร่วมในโครงการอื่นมาเป็นชื่อผู้มีสิทธิได้รับเงิน โดยบุคคลนั้นไม่รับรู้ 3.นำชื่อคนที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์มาเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงิน 4.ปลอมลายมือชื่อข้อมูลในแบบสำรวจ สำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียน 5.ให้ประชาชนลงลายมือชื่อในเอกสารเกี่ยวกับการขอรับเงินฯ โดยแจ้งว่าเพื่อนำไปใช้ในการกิจกรรมต่างๆ ของศูนย์ฯ 6.ให้หน่วยงานของรัฐอื่น เช่น โรงเรียน องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ส่งรายชื่อผู้เข้าหลักเกณฑ์พร้อมเอกสารประกอบให้ศูนย์ฯ แต่ศูนย์ฯ จ่ายเงินให้ไม่ครบตามจำนวนฎีกา 7.รายชื่อที่ปรากฏในแบบสำรวจ เมื่อตรวจสอบกับข้อมูลทะเบียนราษฎรไม่ปรากฏชื่อ หรือไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร และ 8.คัดสำเนาบัตรประชาชนจากทะเบียนราษฎรแล้วมาปลอมลายมือชื่อ แต่ยังไม่พบว่ามีขบวนการขายสำเนาบัตรประชาชนให้เจ้าหน้าที่รัฐ ขณะที่บางจังหวัดมีเจ้าหน้าที่หน่วยงานอื่นเข้ามาสนับสนุนการกระทำผิด เช่น ปลอมลายมือชื่อของผู้รับเงิน, ปลอมใบสำคัญการรับเงิน มีชื่อแต่ไม่ได้รับเงิน และได้รับเงินไม่ครบตามจำนวนจริง
แจงเหตุไม่รับรางวัล
วันเดียวกัน น.ส.ปณิดา ยศปัญญา หรือน้องแบม นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชาพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) ผู้ออกมาร้องเรียนและเปิดโปงขบวนการทุจริตเงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้และผู้ป่วยโรคเอดส์ ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งขอนแก่น ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีไม่เดินทางไปรับทุนการศึกษาและเกียรติบัตรเชิดชูเกียรติว่า เป็นการประสานงานที่ผิดพลาดและคลาดเคลื่อน เนื่องจากมีอาจารย์และเจ้าหน้าที่ติดต่อกันมาซ้ำซ้อนกันและรวดเร็วเกินไป เดิมติดต่อให้มารับทุนการศึกษา แต่อาจารย์อีกท่านแจ้งมาเมื่อช่วงกลางดึกวันที่ 6 มี.ค. ว่าจะขอมอบรางวัล ทำให้เกิดความสับสนว่าเป็นรางวัลเดียวกันหรือแยกกัน เพราะทั้งทุนการศึกษาและเกียรติบัตรที่คณะมอบให้ ส่วนตัวและครอบครัวยังคงไม่ขอรับ เนื่องจากรอผลการสอบสวนของคณะกรรมการสภา มมส.ให้แล้วเสร็จเสียก่อน เพราะเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของการสอบสวนแล้วใน 4 ประเด็นหลัก คือ การสั่งกราบเท้า, การทำร้ายร่างกาย, การไม่ให้การช่วยเหลือนักศึกษาในปกครอง และการละเมิดสิทธินักศึกษา
“หนูรักในสถาบัน รักในคณะ รักในสาขาที่เรียนมา ที่ตัดสินใจไม่รับรางวัลครั้งนี้ ไม่เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยแต่อย่างใด และหนูขอไม่พูดกับคณะครูที่เปรียบเสมือนแม่คนที่ 2 ของหนู เพราะตั้งแต่เด็ก นอกจากต้องการเป็นทหารแล้ว ยังต้องการเป็นนักพัฒนาชุมชนเพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้ คนเร่ร่อน คนยากคนจน จึงตัดสินใจเลือกเรียนสาขาวิชานักพัฒนาชุมชน โดยมีหัวหน้าภาควิชาและอาจารย์ที่สอน เป็นเสมือนแม่อีกท่านหนึ่งที่คอยสั่งสอนตลอดเวลา 4 ปี พอหนูนำสิ่งที่ไม่ถูกต้องและสิ่งที่ผิดกฎหมายนำเรื่องมาบอก กลับถูกกระทำในลักษณะเช่นนี้ หนูจึงต้องออกมาเรียกร้องสิทธิ์ และสิ่งที่ถูกต้องให้ตัวเองและครอบครัวด้วยเช่นกัน” น.ส.ปณิดากล่าว
น.ส.ปณิดากล่าวอีกว่า ในวันจันทร์ที่ 12 มี.ค. คณะกรรมการที่มหาวิทยาลัยได้แต่งตั้งขึ้น โดยสภาคณาจารย์และองค์กรนิสิต มมส. ที่ร่วมขับเคลื่อนจะออกแถลงการณ์ในเรื่องนี้ และขอขอบคุณทุกกำลังใจจากใจจริง ที่สนับสนุนและให้กำลังใจตนเองและครอบครัวมาโดยตลอด วันนี้ได้ถูกยกให้เป็นเน็ตไอดอลด้านการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งตกใจมาก
“หนูถูกสั่งสอนมาโดยตลอดในเรื่องของการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน เพราะครอบครัวเน้นย้ำเสมอในเรื่องระเบียบวินัยและเรื่องการทำในสิ่งที่ถูกต้อง ยอมรับว่ากลัวและร้องไห้คนเดียวมาตลอดหลังจากตัดสินใจร้องเรียนต่อ คสช. จนนำมาสู่การสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง และมารู้ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ใช่แต่เฉพาะที่ขอนแก่น แต่กระจายไปทั่วทั้งประเทศ เรื่องการสืบสวนก็ขอให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทำเต็มที่แ ละนำความจริงมาเสนอต่อสาธารณชนนั้นได้รับทราบ เพราะเป็นการกระทำกับคนยากคนจน คนยากไร้อย่างแท้จริง” น้องแบมกล่าว
ขอใช้ชีวิตนิสิตจนจบ
น.ส.ปณิดายืนยันว่า ไม่เสียใจที่เรียน มมส. ไม่เสียใจที่เรียนคณะมนุษยศาสตร์ฯ และสาขาวิชาพัฒนาชุมชน การออกมาร้องเรียนในสิ่งที่ผิด คิดดี ทำดีแล้ว และตั้งใจเดินหน้าสู้ต่อไปเพื่อตัวเองและคนยากคนจน อีกอย่างถ้าเรารู้ว่าผิด ถ้าเรายังคงทำต่อไป เหมือนกับว่าเราไม่ทำอะไรให้กับประเทศไทย เหมือนกับว่าเรานั้นไม่รักชาติอีกด้วย ซึ่งจากนี้ไปเหลือเวลาเพียงแค่ 2 เดือนที่สำเร็จการศึกษา ขอทำหน้าที่นิสิตลงพื้นที่ทำวิจัย เก็บข้อมูลตามระยะเวลาที่มหาวิทยาลัยกำหนด เพื่อให้สำเร็จการศึกษาได้ทันพร้อมกับเพื่อนๆ ที่ผ่านมาได้ให้ความร่วมมือกับทุกฝ่ายโดยตลอด แม้จะถูกหลายหน่วยงานและสื่อมวลชนต่อว่าบ้าง แต่ก็ทำอย่างเต็มที่แล้ว จากนี้ไปขอมุ่งในเรื่องเรียนอย่างเดียว เพื่อให้สำเร็จการศึกษา และก้าวสู่การเป็นนักพัฒนาชุมชนที่ดีตามที่ตั้งใจไว้
ขณะเดียวกัน ดร.เอกอนันต์ สมบัติสกุลกิจ อธิการบดีมหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ขอเป็นส่วนหนึ่งในการยกย่องเชิดชูเกียรติและให้กำลังใจกับ น.ส.ปณิดา ลูกหลานชาวขอนแก่น ที่ได้ทำความดีเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน และแสดงออกถึงการเป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ใจกล้าออกมาทำความดีเพื่อปกป้องประเทศและปกป้องผู้ยากไร้ มหาวิทยาลัยในฐานะสถาบันการศึกษาที่ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านเกิดของน้องแบม ที่มีปณิธานมุ่งมั่นสนับสนุนคนดี คนเก่ง และคนกล้า จึงยินดีให้การสนับสนุนทุนการศึกษาในระดับปริญญาโท ตามที่น้องแบมจะเลือกหลักสูตร หรือหลักสูตรที่ต่อเนื่องจากสาขาพัฒนาชุมชน คือหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต
“หากน้องแบมติดปัญหาด้านการเรียน มหาวิทยาลัยก็พร้อมรับโอนย้ายทันที รวมทั้งเมื่อสำเร็จการศึกษา ต้องการความมั่นคงในการทำงาน มหาวิทยาลัยพร้อมรับเข้าทำงานในกลุ่มบุคลากรทางการศึกษา โดยจะจัดสรรตำแหน่งและหน้าที่ในงานด้านนิสิตและงานชุมชนให้ ซึ่งระหว่างทำงานที่มหาวิทยาลัยก็สามารถศึกษาในระดับปริญญาโทควบคู่ไปด้วย และหากสำเร็จในระดับปริญญาโท น้องแบมต้องการเป็นครูผู้สอน มหาวิทยาลัยก็จะสนับสนุนงานด้านวิชาการ จนน้องแบมได้เป็นครูผู้สอนที่ตรงกับเกณฑ์และมาตรฐานของ สกอ.ที่กำหนดไว้อีกด้วย” ดร.เอกอนันต์กล่าว
คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ซึ่งดูแลพื้นที่ภาคอีสาน กล่าวยกย่อง น.ส.ปณิดาเช่นกันว่า เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมที่เยาวชนไทยมีจิตสำนึกที่ดี ไม่เพิกเฉยอ่อนข้อต่อการโกงชาติบ้านเมือง ถือเป็นต้นแบบอย่างที่ดีให้เยาวชนอีสาน และขอให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องดูแล ปกป้องคนที่เป็นพยาน กล้าพูดความจริงเรื่องของการทุจริตคอร์รัปชันให้ปลอดภัย ได้รับการคุ้มครองจริงจัง เพื่อเป็นตัวอย่างให้คนอื่นจะได้กล้าที่จะออกมาเปิดเผยข้อเท็จจริงในกรณีอื่นๆ ต่อไป
ส่วนที่ห้องประชุม 2 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้จัดงานสัมมนา “เวทีประชาชนกล่าวหา-ตรวจสอบการคอร์รัปชัน” โดยนายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่า การโกงเงินคนจนเกิดในสมัยที่ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ดำรงตำแหน่ง รมว. พม. ซึ่ง สตง.เคยทำหนังสือไปยัง พล.ต.อ.อดุลย์ เมื่อปีที่แล้ว แต่ข้าราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกลับได้รับตำแหน่งปลัดและรองปลัดกระทรวง ซึ่ง พล.ต.อ.อดุลย์ยังไม่ได้ออกมาชี้แจงเลย
“ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา องค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตของภาครัฐ ถูกบั่นทอนกำลังมาโดยตลอด ขณะที่ในภาคประชาชนกลับถูกคุกคามโดยภาครัฐ ทั้งที่ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญที่ได้ระบุไว้ แต่เราขอยืนยันว่า เครือข่ายภาคประชาชนจะยังเดินหน้าตรวจสอบการทุจริตของภาครัฐต่อไปแน่นอน”
นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน กล่าวว่า อดีตที่ผ่านมาประชาชนมักมองว่านักการเมืองจะเข้ามากอบโกยหาประโยชน์ แต่ปัจจุบันกลับพบการทุจริตคอร์รัปชันจำนวนมาก และเรื่องก็มักเงียบหายไป เมื่อทวงถามกลับไม่มีความชัดเจน ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์บอกนับครั้งไม่ถ้วน ว่าจะจัดการกับการทุจริตคอร์รัปชัน และรัฐบาลไม่มีการทุจริต แต่มีเรื่องฉาวโฉ่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่แน่ว่าในอนาคตอาจร่วมกันยื่นเรื่องให้ตรวจสอบการทำหน้าที่ของ พล.อ.ประยุทธ์ก็เป็นได้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |