พบได้บ่อยๆ สำหรับปัญหาผู้สูงอายุที่อยู่บ้านใกล้เรือนเคียงทะเลาะกัน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เพราะสาเหตุของการไม่ลงรอยกันนั้นสามารถกระทบความรู้สึกของผู้สูงวัย และเป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะซึมเศร้า เสียใจ น้อยใจ เพราะอย่าลืมว่าเพื่อนบ้านถือเป็นบุคคลที่เฝ้าระวังภัยให้กับผู้สูงวัยที่อาจจะอาศัยอยู่เพียงลำพังได้
(ผอ.ชำนาญ หลีล้วน)
ดังนั้นเพื่อนบ้านจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากในสังคมไทย ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะพบปัญหาจุกจิกกวนใจดังกล่าวอยู่บ่อยครั้ง เห็นได้จากการจอดรถยนต์ขวางประตูบ้าน ก็เป็นสาเหตุของความขัดแย้งในผู้สูงวัย หรือแม้แต่ต้นไม้ที่คุณตาคุณยายประคบประหงมปลูก กระทั่งกิ่งไม้ยาวเลื้อยไปบ้านข้างเคียง ก็อาจทำให้เกิดปากเสียงได้เช่นกัน ผอ.ชำนาญ หลีล้วน ผู้อำนวยการ รพ.สต.ตำบลดอนกระเบื้อง จ.ราชบุรี มาให้คำแนะนำเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวไว้น่าสนใจ
ผอ.ชำนาญ บอกว่า “อันดับแรกนั้น การเข้าไปเยี่ยมบ้านผู้สูงอายุก็ถือเป็นวิธีแก้ไขปัญหาและไกล่เกลี่ยความไม่ลงรอยกันระหว่างคนแก่ที่เป็นเพื่อนบ้านกันได้ โดย “อาศัยคนกลาง” อย่าง “ทีม อสม.” หรือหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการให้ความช่วยเหลือผู้สูงวัยในชุมชน โดยที่คนกลางดังกล่าวพูดคุยกับผู้สูงวัยทั้ง 2 ฝ่ายด้วยความสุขภาพและปลอบโยน เพื่อหาข้อสรุปตรงกลางที่ดีต่อคนทั้ง 2 ฝ่าย เช่น ปัญหาต้นไม้เลื้อยข้ามไปอีกบ้าน หรือปัญหาเพื่อนบ้านเสียงดัง กระทั่งปัญหาการจอดรถขวางหน้าบ้าน รวมถึงการประสานนักจิตวิทยาเข้าไปพูดคุยกับผู้ที่มีปัญหากันทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อป้องกันปัญหาโรคซึมเศร้าที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย จากการทะเลาะเบาะแว้งกันของคนบ้านใกล้เรือนเคียง
(ตัวอย่างการจอดรถหน้าบ้านคนอื่นโดยการทิ้งเบอร์โทรศัพท์ไว้ กรณีที่ผู้สูงอายุหรือคนในบ้านต้องการออกไปทำธุระนอกบ้าน เพื่อลดการทะเลาะเบาะแว้งกัน)
“สำหรับปัญหาการจอดรถขวางหน้าบ้าน โดยส่วนตัวผมมีประสบการณ์ตรง ซึ่งประเด็นความขัดแย้งดังกล่าวนั้น อันที่จริงเพื่อนบ้านก็มีสิทธิ์จอดรถหน้าบ้านได้ เพราะเป็นพื้นที่สาธารณะ แต่ก็มีข้อจำกัดอยู่ว่า แม้คุณจะจอดรถหน้าบ้านผู้อื่นได้ แต่ให้ปลดเกียร์ว่างเอาไว้ เพราะบางครั้งผมไปเรียกเพื่อนบ้าน แต่ว่าเขาไม่ตื่น หรือหากเคาะเสียงดังก็จะดูไม่ดี แต่ถ้าเราไม่พูดเลย เขาก็จะไม่รู้ว่าตัวเองทำผิดอะไร ตรงนี้ผมใช้วิธีที่เบสิกที่สุด คือการพูดคุยดีๆ และ “พูดในเชิงของการขอความร่วมมือ” เพื่อให้เขาไปคิดเอง เช่น การที่เราบอกกับเพื่อนบ้านว่าเราเดือดร้อนเพราะเข้า-ออกบ้านไม่ได้ แต่ทั้งนี้จะพูดกับเขาโดยตรง จะไม่พูดกับเพื่อนบ้านให้ฝากไปบอก
หรือการที่เรา “เขียนป้ายติดหน้าบ้านว่าห้ามจอด” ตรงนี้ก็เป็นวิธีลดความขัดแย้งได้ทางหนึ่ง เพราะบางครั้งรถยนต์ที่รับนักเรียนและมาจอดหน้าบ้านเรา หรือคนที่มาซื้อของโดยใช้เวลาไม่นาน ถ้าเราจะไม่ให้เขาจอดก็คงไม่ได้ เพราะนั่นจะยิ่งทำให้เขารู้สึกไม่ดี แต่เขียนป้ายห้ามจอดไว้ อย่างน้อยคนที่มาจอดก็รู้ว่าจอดไม่นานมาก หรือต้องปลดเกียร์ว่างทิ้งไว้ รวมถึงผู้ที่ขับรถยนต์มาจอดหน้าบ้านผู้อื่น “เขียนเบอร์โทรศัพท์ทิ้งไว้หน้ารถยนต์” ก็ถือเป็นการลดการทะเลาะกันได้เช่นเดียวกัน เพราะอย่าลืมว่าสังคมไทยนั้น เรามีความอะลุ่มอล่วยกันมาช้านาน ดังนั้นการพูดคุยกันด้วยมนุษยสัมพันธ์ที่ดีก็จะลดการกระทบกระทั่งของคนบ้านใกล้เรือนเคียง รวมถึงคนในชุมชนเดียวกับเราได้เช่นกัน”
ทั้งนี้ หากปัญหากระทบกระทั่งของคนสูงวัยที่อยู่ใกล้เคียงกันเกิดขึ้นไปแล้ว ผอ.ชำนาญ บอกว่าอาจจะเคลียร์หรือปรับความเข้าใจค่อนข้างลำบาก แต่ทว่าก็สามารถที่จะปรับจูนความรู้สึกที่ดีๆ ได้เช่นเดียวกัน โดยการ “ถามตัวเองว่าเรามีความสุขหรืออึดอัด” กับการที่ต้องโกรธเพื่อนบ้านเรือนเคียงหรือไม่??
(ผู้สูงอายุทะเลาะกับเพื่อนบ้าน ยุติได้ด้วยการหันหน้าพูดคุย และเปิดใจรับฟังความเดือดร้อนซึ่งกันและกัน)
“ถ้าหากผู้สูงอายุเกิดปัญหาทะเลาะกันไปแล้ว แม้ว่าจะเคลียร์ยากอยู่บ้าง แต่สิ่งที่สำคัญนั้นอยากให้ทั้งสองฝ่ายลองกลับไปถามตัวเองว่า เวลาที่เราทะเลาะกับใคร และต้องเห็นหน้า หรือต้องอยู่บ้านใกล้ๆ กันนั้น เรารู้สึกอึดอัดแค่ไหน หรือมีความสุขหรือเปล่ากับการที่เราไม่คุยกัน ทั้งที่อันที่จริงแล้วเป็นเรื่องที่สามารถคุยและตกลงกันได้ ดังนั้นถ้าเราตอบตัวเองได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นทำให้เรารู้สึกไม่ดี ผู้สูงอายุท่านนั้นก็สามารถปรับวิธีใหม่ว่า ถ้าหากมีปัญหาอะไรกับเพื่อนบ้าน ก็แนะนำให้คุยกันตรงๆ ด้วยความสุภาพ นุ่มนวล เพื่อหาทางออกร่วมกัน เพราะถ้าเราไปพูดกับอื่นเกี่ยวกับปัญหาความไม่เข้าใจกัน เขาก็จะนำไปต่อยอดและอาจทำให้ปัญหายิ่งลุกลามได้ หรือให้ลอง “ชื่นชมเพื่อนบ้านในเรื่องที่ดีๆ” ให้คนอื่นฟัง เมื่อนั้นข้อมูลดังกล่าวก็จะถูกส่งไปยังเพื่อนบ้านที่ไม่ลงรอยกับเรา ตรงนี้ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการปรับความเข้าใจและหันหน้ามาคุยกันอีกครั้ง”
(“แบ่งปันอาหาร” ช่วยแก้สถานการณ์ความบาดหมาง กระตุ้นความสัมพันธ์เพื่อนบ้านดีขึ้น)
นอกจากนี้ วิธีกระชับความสัมพันธ์จากปมคนบ้านใกล้เรือนเคียงไม่คุยกันนั้น ประเพณีโบราณอย่างการแบ่งปัน และเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน ก็ถือเป็นการขอโทษและขออภัยกันได้อย่างไม่เสียศักดิ์ศรี เพราะอย่าลืมว่าผู้สูงอายุแต่ละคนอาจจะมีอีโก้ เช่น การที่ “ทำกับข้าวหรือขนมแล้วนำไปให้เพื่อนบ้าน” ตรงนี้สามารถให้ลูกหลานนำไปให้ก็ได้เช่นกัน ซึ่งจะทำให้ความรู้สึกที่ไม่ดีต่อกันไม่ระบาด หรือไม่แย่ลงไป หรืออาจทำให้ความสัมพันธ์กลับมาดีกันเหมือนเดิม ที่สำคัญเวลาที่เจอหน้ากันไม่ต้องทักกันก็ได้ แต่ขอให้ยิ้มให้กันก็เพียงพอแล้ว”.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |