พอช.จับมือ depa ส่งเสริมชุมชนใช้เทคโนโลยีดิจิทัลนำร่อง 16 โครงการ


เพิ่มเพื่อน    

 

กระทรวงดิจิทัล/ พอช.จับมือ  depa ส่งเสริมชุมชนใช้เทคโนโลยีดิจิทัลนำร่อง 16 โครงการ  โดย ผอ.พอช.นำผู้แทนชุมชนที่ได้รับการสนับสนุนโครงการจาก depa เข้าพบ ‘พุทธิพงษ์ ปุณณกัณต์’ รมว.ดิจิทัลฯ เพื่อรายงานความคืบหน้าโครงการ  ด้านเกษตรกรปากช่องโคราชไอเดียเจ๋ง  คิดระบบให้น้ำอัตโนมัติโดยใช้โทรศัพท์มือถือควบคุมการเปิด-ปิดวาวล์น้ำในแปลงเกษตร ใช้งบเพียง 350 บาทต่อจุด  ขณะที่บริษัทคิดราคา 8,000 บาท  ลดเวลาการให้น้ำจาก 3-4 ชั่วโมงเหลือ 15 นาที  ขณะที่ชาวชุมชนเกาะลิบง จ.ตรัง ใช้โดรนบินดูแลพะยูนและท่องเที่ยว  ตำบลพวา จ.จันทบุรี  ใช้แอพฯ ‘Police I lert u’ เตือนภัยช้างป่า

 

ตามที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Promotion Agency - depa) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม  มีแนวทางความร่วมมือในการส่งเสริมและสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อชุมชน  โดยเปิดโอกาสให้ชุมชนชนบทในพื้นที่ที่พอช.ทำงานและชุมชนต่างๆ ที่รวมกลุ่มกันในรูปแบบของสหกรณ์หรือวิสาหกิจชุมชนเสนอโครงการมาที่ depa เพื่อใช้เทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ  มาสนับสนุนการผลิตสินค้าเกษตร  แปรรูป  ท่องเที่ยวโดยชุมชน  การพัฒนาคุณภาพชีวิต ฯลฯ  โดย depa จะสนับสนุนงบประมาณไม่เกินโครงการละ  500,000 บาท  ทั้งนี้ในปีงบประมาณ 2562   มีโครงการที่ผ่านการอนุมัติจาก depa  แล้ว 16  โครงการ 

 

ล่าสุดวันนี้  (16 กันยายน) นายสมชาติ  ภาระสุวรรณ  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) นำผู้แทนชุมชนที่ได้รับการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลนำร่องจาก depa จำนวน  16 โครงการ   เข้าพบนายพุทธิพงษ์  ปุณณกันต์   รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม    เพื่อรายงานความคืบหน้าของโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจาก depa ดังกล่าว  รวมทั้งแลกเปลี่ยนแนวทางการสนับสนุนชุมชนเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก  พัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน  และลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมตามนโยบายของรัฐบาล

นายสมชาติ  ภาระสุวรรณ  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’ กล่าวว่า  โครงการที่ผ่านการอนุมัติจาก depa  มี 3 โครงการที่นำร่องดำเนินการไปแล้ว  เช่น  เทคโนโลยีการพ่นสารน้ำทางการเกษตรด้วยอากาศยานไร้คนขับหรือ   โดรนที่ตำบลคลองหินปูน   อำเภอวังน้ำเย็น  จังหวัดสระแก้ว  (depa สนับสนุน 499,412 บาท ชุมชนสมทบ 320,412 บาท  ซื้อโดรน 2 เครื่อง) เป็นการใช้เทคโนโลยีไปหนุนเสริมให้ชาวบ้านมีพลัง  มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น  ทำให้เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ  ทางด้านสังคม  เป็นการสะท้อนภาพใหญ่ในการเดินไปข้างหน้าที่รัฐบาลประกาศตลอดว่า “เทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญ”  ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นฐานใหญ่ของประเทศ   โดย พอช.ช่วยสนับสนุนส่วนหนึ่ง  แต่ที่สำคัญคือการบูรณาการการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาช่วยหนุนเสริม  เช่นเดียวกับที่ depa ดำเนินโครงการนี้

 

นายพุทธิพงษ์  ปุณณกันต์   รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม  กล่าวว่า    ประเทศเราจะพัฒนาดิจิทัลไปได้ดีและไปได้มากขนาดไหน  ถ้าเราไม่เอาประชาชนฐานหลักของประเทศด้วยก็ไปไม่ไหว   ตนคิดอยู่ตลอดเวลาว่า ทำยังไงให้ดิจิทัลสามารถลงไปถึงพี่น้องเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยได้ใช้ประโยชน์ได้จริง  มิฉะนั้นงบประมาณทุกอย่างเป็นของประเทศแต่ใช้ได้กับคนกลุ่มเดียว  ทำไมไม่เอาเทคโนโลยีตรงนี้มาสนับสนุนภาคสังคม

“เมื่อ 2 อาทิตย์ที่แล้ว  ผมชวนคณะผู้บริหารกระทรวงไปฉะเชิงเทรา  ไปเยี่ยมสวนมะม่วง  แล้วก็ชวน depa ไปด้วย เพื่อไปดูว่าสวนมะม่วงที่มีระบบกำหนดเวลารดน้ำ  แต่เครื่องมันสามารถวัดได้ถึงคุณภาพของดินได้ด้วย  เป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัย  โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่บ้านเราผลิตได้เองต้องนำมาใช้  เพราะถ้าเรานำเอาของต่างประเทศเข้ามา  นอกจากจะแพงแล้ว  รัฐก็ไม่มีงบประมาณจะเอาไปให้ชาวบ้าน  ดังนั้นจะต้องทำให้เทคโนโลยีที่ทันสมัยกับเกษตรกรมาเจอกันได้สักที  ที่ผ่านมาเราเอาแต่พูดเรื่องอินเตอร์เน็ตวางสาย  วางโครงสร้าง  แต่วันนี้ถ้าเราไม่เอาโครงสร้างที่ทำมาไม่รู้กี่แสนล้านบาทเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์กับประชาชน  โดยเฉพาะคนที่เขาเดือดร้อนก็ไม่มีประโยชน์”  รมว.ดิจิทัลฯ กล่าว

 

ทั้งนี้โครงการที่ได้รับอนุมัติการสนับสนุนจาก depa เช่น  1. เครื่องวัดความชื้นกาแฟดิจิทัล  กลุ่มวิสาหกิจกาแฟดอยขุนช้างเคี่ยน  อ.เมือง  จ.เชียงใหม่  2.ระบบโปรแกรมการจัดการร้านค้า  ศูนย์สาธิตการเกษตรร้านค้าชุมชนตำบลท่าเสา จ.กาญจนบุรี  3.เครื่องวัดระดับอ๊อกซิเยนบ่อเลี้ยงปลาดิจิทัล  สหกรณ์การประมงบางจะเกร็ง-บางแก้ว  อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม  4.ระบบการดูแลผู้ป่วยติดเตียง  กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลหนองเหียง อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี  5.เทคโนโลยีเพื่อการท่องเที่ยวและอนุรักษ์ ทรัพยากรชายฝั่งทะเล  ตำบลเกาะลิบง  อ.กันตัง  จ.ตรัง  

 

6.เครื่องติดตามเรือประมง  สมาคมประมงพื้นบ้านชายฝั่งอ่าวไทย  อ.สทิงพระ  จ.สงขลา   7.ภาพถ่ายและวิดีโอภาพเสมือนจริง (Virtual Reality) เพื่อการท่องเที่ยวโดยชุมชน  ตำบลโนนตาล   อ.ท่าอุเทน   จ.นครพนม   8.ระบบ Smart Farmสหกรณ์การเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินปากช่อง  อ.ปากช่อง  จ.นครราชสีมา  9.ระบบเตือนภัยช้างป่า  เทศบาลตำบลร่วมกับสภาองค์กรชุมชนตำบลพวา  อ.แก่งหางแมว  จ.จันทบุรี  10. ระบบ Smart Farm (กลุ่มผู้พิการ)  มูลนิธิสายรุ้ง จ.ระยอง  ฯลฯ

นายนิรันดร์  สมพงษ์  อายุ 41 ปี  ผู้ประสานงานสหกรณ์การเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินปากช่อง  อ.ปากช่อง  จ.นครราชสีมา  เล่าว่า  สหกรณ์ฯ มีสมาชิกทั้งหมด 85 ราย  ได้รับการจัดสรรที่ดิน ส.ป.ก.(ที่ยึดคืนมาจากผู้ครอบครองไม่ถูกต้องตามนโยบาย คสช.) รายละ 6 ไร่  แบ่งเป็นพื้นที่อยู่อาศัย 1 และที่ดินทำกิน 5 ไร่  โดย พอช.สนับสนุนงบประมาณสร้างบ้านหลังละ 40,000 บาท  เริ่มเข้าอยู่อาศัยและทำกินตั้งแต่ปี 2560 ส่วนใหญ่ปลูกผักสวนครัว  เช่น  พริก  ผักชี  มะเขือ  ผักสลัด  ถั่วฝักยาว  ผลไม้  เช่น  ฝรั่ง  แก้วมังกร  พืชไร่  เช่น  ข้าวโพด  มันสำปะหลัง  ฯลฯ 

 

โดยเน้นการปลูกแบบอินทรีย์  แต่มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำ  จึงต้องใช้ระบบการจัดการน้ำในแปลงเกษตร  โดยวางท่อเพื่อรดน้ำแบบสปริงเกอร์และระบบน้ำหยด  ซึ่งในพื้นที่ 1 งานจะต้องใช้วาล์วเพื่อเปิด-ปิดน้ำประมาณ  30 จุด  หากใช้มือเปิด-ปิดวาล์วน้ำในแปลงเกษตร 5 ไร่จะต้องใช้เวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมง  ตนจึงศึกษาเรื่องการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อใช้โทรศัพท์มือถือควบคุมการเปิด-ปิดน้ำแบบอัตโนมัติ  เพราะเรียนจบด้านคอมพิวเตอร์ (จากเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน)

 

“แต่เมื่อนำไปให้บริษัทคิดราคาเพื่อติดตั้งระบบ  บริษัทคิดราคาวาล์วละ 8,000 บาท  แต่ผมไม่มีเงิน  จึงคิดหาอุปกรณ์ที่มีขายอยู่ทั่วไปในร้านขายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์มาประกอบเป็น ‘เครื่องควบคุมน้ำด้วยโทรศัทพ์มือถือ’  โดยใช้แอพพิลเคชั่น E-Welink และใช้เครื่อง Sonoff  ควบคุมการสั่งงานผ่านโทรศัพท์มือถือ  สามารถตั้งเวลาในการเปิด-ปิดน้ำ  สั่งการด้วยเสียงพูดได้  และยังใช้โทรศัพท์มือถือสั่งเปิด-ปิดน้ำจากที่ไหนก็ได้โดยไม่ต้องมาที่ไร่  ใช้เงินไม่เกิน 350 บาทต่อ 1 วาล์ว  ใช้ท่อน้ำพลาสติกขนาดเล็ก 4-6 หุนเพื่อประหยัดงบ  ไม่ต้องใช้ท่อขนาดใหญ่  และใช้แผงโซล่าร์เซลล์มาเป็นตัวจ่ายไฟ  ทำให้ประหยัดค่าไฟฟ้าได้อีก  นอกจากนี้ผมยังใช้อุปกรณ์นี้ควบคุมระบบเปิด-ปิดประตูบ้าน  ไฟฟ้า  และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ในบ้านได้ด้วย”  นายนิรันด์ Smart Farmer รายนี้บอก

 

 นายนิรันด์บอกด้วยว่า  ตนเริ่มใช้เครื่องควบคุมน้ำด้วยโทรศัทพ์มือถือเมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา  หลังจากนั้นทาง พอช.แนะนำให้เสนอโครงมายัง depa เพื่อขอรับการสนับสนุนโครงการในช่วงต้นปี 2562  จากนั้นจึงได้รับการอนุมัติสนับสนุนโครงการจำนวน 300,000 บาท  โดยจะนำงบประมาณไปใช้เพื่อฝึกอบรมการใช้เครื่องควบคุมน้ำด้วยโทรศัทพ์มือถือให้แก่เกษตรกรในที่ดิน ส.ป.ก.ปากช่องจำนวน 60 ครอบครัว  เพื่อช่วยลดต้นทุนในการทำการเกษตร  ประหยัดเวลาจากเดิมต้องใช้เวลารดน้ำในแปลงเกษตร 3-4 ชั่วโมงต่อ 1 ครั้ง  เหลือเพียง 15 นาทีต่อครั้ง 

 

นอกจากนี้การใช้โซล่าร์เซลล์ยังช่วยประหยัดค่าไฟฟ้า  เพราะปัจจุบันลงทุนไม่เกิน 5,000 บาทต่อ 1 แผง  สามารถใช้งานได้ 20-25 ปี  และยังมีความปลอดภัย  เพราะหากไฟฟ้ารั่วในแปลงเกษตรที่มีการใช้น้ำก็อาจจะเกิดอันตรายถึงชีวิตได้  แต่ถ้าใช้โซล่าร์เซลล์จะมีความปลอดภัย   และอุปกรณ์ชุดนี้ยังช่วยคนพิการมือ-เท้า  หรือแขนขาอ่อนแรงให้สามารถใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ในบ้านได้  โดยการสั่งงานด้วยเสียงพูดผ่านโทรศัพท์มือถือหรือรีโมทคอนโทรล 

 

“ส่วนแผนงานต่อไปหลังจากฝึกอบรมเกษตรกรแล้ว  ผมจะใช้โปรแกรมจัดเก็บข้อมูลการใช้น้ำในแปลงเกษตร  คุณภาพดิน  คุณภาพปุ๋ย  แมลงศัตรูพืช   และผลผลิต  เพื่อเอามาวิเคราะห์  และนำไปปรับปรุงผลผลิต  เช่น  ต้องใช้น้ำในปริมาณเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม  ใช้แร่ธาตุหรือสารตัวใดปรับปรุงดิน  หรือไล่แมลง  โดยใช้ระบบสั่งการด้วยโทรศัพท์มือถือ”  นายนิรันด์ Smart Famer จากปากช่องกล่าวในตอนท้าย

 

อย่างไรก็ตาม  นอกจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในที่ดิน ส.ป.ก.ปากช่องแล้ว  ยังมีโครงการอื่นๆ ที่น่าสนใจ  เช่น  กลุ่มวิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวและพัฒนาอาชีพเกาะลิบง  อ.กันตัง  จ.ตรัง  ที่มีบทบาทร่วมกับหน่วยงานราชการดูแลฝูงพะยูนและทรัพยากรชายฝั่งที่เกาะลิบง  เสนอโครงการใช้อากาศยานไร้คนขับหรือ ‘โดรน’ เพื่อการท่องเที่ยวและอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งทะเล  เนื่องจากที่ผ่านมาเคยมีนักท่องเที่ยวนั่งเรือสปีดโบ๊ทมาดูฝูงพะยูนที่เกาะลิบง  แต่พะยูนถูกเรือสปีดโบ๊ทชนตาย  นอกจากนี้ยังเป็นการรบกวนการใช้ชีวิตของพะยูนด้วย

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ จึงมีแผนการใช้โดรนเพื่อถ่ายภาพพะยูนให้นักท่องเที่ยวชมผ่านจอโปรเจคเตอร์  รวมทั้งยังใช้โดรนดูแลการทำประมงผิดกฎหมาย  การลักลอบจับพะยูน  รวมทั้งดูแลป่าชายเลนด้วย  โดย depa ได้อนุมัติงบประมาณในการซื้อ    โดรนและฝึกอบรมการใช้โดรนเป็นเงิน  366,700 บาท   และชุมชนสมทบ 122,700 บาท  ตามแผนงานคาดว่าจะเริ่มใช้โดรนได้ภายในช่วงปลายปีนี้

โครงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อเตือนภัยช้างป่าที่ตำบลพวา  อ.แก่งหางแมว  จ.จันทบุรี  เนื่องจากพื้นที่ตำบลพวาอยู่ติดกับเขตป่าจึงมีโขลงช้างป่าเข้ามากินพืชผลทางการเกษตรที่ชาวบ้านปลูก  บางครั้งยังทำลายบ้านเรือน  และทำร้ายชาวบ้านจนบาดเจ็บและเสียชีวิต  แม้ว่าที่ผ่านมาชาวบ้านและหน่วยงานในท้องถิ่นจะร่วมกันหาวิธีป้องกัน  เช่น  ขุดคูน้ำ  ทำรั้วรังผึ้ง  ฯลฯ  แต่ยังไม่ประสบผล  ชุมชนจึงเสนอโครงการใช้เทคโนโลยีเพื่อเตือนภัยช้างป่า  โดยใช้แอพพลิเคชั่น ‘Police I lert u’ แจ้งเหตุด่วนเหตุร้ายผ่านสมาร์ทโฟน

 

ทั้งนี้ในโครงการนี้จะนำแอพฯ ดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ในการแจ้งตำแหน่งที่อยู่ของช้างป่าให้กับอาสาสมัครและบุคคลที่เกี่ยวข้องทราบ  เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับทราบว่าขณะนี้ช้างกำลังจะไปทางไหน  เพื่อหลีกเลี่ยงหรือเตรียมป้องกันอันตราย  ซึ่งจะช่วยลดการสูญเสียต่างๆ  โดยใช้เทคโนโลยีมาแจ้งเตือน  เช่น  ระบบเตือนภัยแจ้งเตือนเมื่อช้างเข้าใกล้ชุมชน  ระบบคลื่นความถี่ป้องกันช้างเข้าใกล้ชุมชน  ระบบดาวเทียมติดตามโขลงช้าง  ฯลฯ

 

 

แกลลอรี่


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"