'เสนีย์ ปราโมช' นายกฯ สั่งมาจากนอก!


เพิ่มเพื่อน    

ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช

วันที่ 17 กันยายน พ.ศ.2488 เป็นวันที่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งแรก นับเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 6 ของประเทศ ตอนนั้นท่านยังไม่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองใด รับราชการเป็นทูตไทยอยู่ที่สหรัฐอเมริกา มีชื่อเสียงเพราะเป็นหัวหน้าเสรีไทยสายอเมริกา

    การเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีของท่านต้องถือว่า "สั่งมาจากนอก" เพราะตอนที่จะเข้ามาเป็นนั้น ท่านเป็นทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา

    "ในราวสิ้นเดือนสิงหาคม 2488 มีโทรเลขจากนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการ ถึงปู่ใจความว่า  ปู่ดำเนินงานเสรีไทยมาด้วยดี ขอให้กลับไปเป็นนายกรัฐมนตรี ปู่โทรเลขตอบว่าขอตัวไม่รับเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะไม่มีความรู้ความชำนาญทางการเมือง"

    ข้างบนนี้เป็นคำบอกเล่าที่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เขียนใน "ชีวลิขิต"

    แต่ก็คงจะมีการเจรจากันอีก ท้ายที่สุดท่านก็รับมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากนายทวี บุณยเกตุ ที่เตรียมพร้อมลาออกอยู่แล้วที่กรุงเทพฯ

    เมื่อมาเป็นนายกรัฐมนตรีตั้งรัฐบาลในวันที่ 17 เดือนกันยายน พ.ศ.2488 ท่านก็บอกว่า ท่านขอคนมาร่วมเป็นรัฐมนตรีคนเดียว "ปู่ขอตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ คนเดียวได้แก่ พระสุทธิอรรถนฤมล เพราะท่านผู้นี้ใกล้ชิดเป็นข้าพระบาทในหลวง ตั้งให้มาเป็นรัฐมนตรีเพื่อจะได้รับทราบกิจการในคณะรัฐมนตรีนำไปกราบบังคมทูลให้ทรงทราบฯ"

    ตั้งรัฐบาลแล้วก็นำรัฐบาลไปแถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎร    

    "ในการที่ข้าพเจ้าและคณะรัฐมนตรีนี้เข้ามาบริหารราชการในระหว่างที่ประเทศชาติอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลายย่อมจะทราบอยู่เองว่า รัฐบาลจะต้องมีความรับผิดชอบหนักเพียงใด แต่ถึงกระนั้นก็ดี รัฐบาลก็ขอให้คำมั่นต่อสภาผู้แทนราษฎรฯ ว่าจะบริหารราชการฟันฝ่าอุปสรรค เพื่อประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างดีที่สุดเท่าที่สามารถจะปฏิบัติได้"

    การเมืองภายในของรัฐบาลตอนนั้นคงไม่หนักหนาอะไรมาก แต่การเมืองภายนอกนั้นหากพิเคราะห์ดูแล้วจะเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญมาก เพราะจะต้องเจรจาความเมืองระหว่างประเทศอันสำคัญ

ปรีดี พนมยงค์

    การได้ตัวนักกฎหมาย อาจารย์เก่าของมหาวิทยาลัยและเป็นอดีตทูต หัวหน้าเสรีไทยสายอเมริกา จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญแต่เป็นการเลือกสรรคนมาทำหน้าที่ให้บ้านเมืองในเวลาที่เหมาะสม

    นายดิเรก ชัยนาม อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศที่เข้ามาร่วมรัฐบาลเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เขียนเล่าเอาไว้ว่า รัฐบาลที่ท่านล่มหัวจมท้ายด้วยนั้นมีเรื่องหรือภารกิจสำคัญที่จะต้องตกลงกับชาติมหาอำนาจผู้ชนะสงครามอยู่ 2 เรื่อง

    เรื่องแรกคือ ทำความตกลงกับอังกฤษ

    เรื่องที่สองทำสนธิสัญญาทางไมตรีกับจีน

    เมื่อเป็นนายกรัฐมนตรีได้ 5 วัน นายกฯ ก็ได้รับคำขอจากอังกฤษให้ส่งผู้แทนรัฐบาลไปเจรจากับอังกฤษที่เมืองแคนดี ประเทศศรีลังกา โดยทางอังกฤษเรียกร้องจะเอาข้าวจากไทยเป็นจำนวนมากและยังจะขอให้ไทยใช้เงินเป็นค่าทดแทนความเสียหายที่เกิดในช่วงสงครามอีกด้วย

    การเจรจาช่วงนั้นก็ต้องยกให้ว่าเป็นความสามารถของคณะผู้แทนฝ่ายไทย ตลอดจนทางรัฐบาล คือทั้งตัวแทนที่ไปเจรจาข้างนอกกับคนที่อยู่ดูแลการบริหารในประเทศ และแม้จะถูกทางฝ่ายอังกฤษบีบมาก แต่ทางไทยก็ดำเนินการจนทางสหรัฐอเมริกาได้ช่วยทำให้มีการผ่อนปรนขึ้น

    กระนั้นเมื่อตกลงกันได้ทางฝ่ายไทยก็ต้องยอมรับภาระมากในตอนนั้น มาคิดกันวันนี้ก็ถือว่าเป็นบุญที่เรารอดตัวมาได้

เจียง ไค เชค

    ในกรณีกับจีน เมื่อจีนเป็นฝ่ายชนะสงครามด้วย รัฐบาลจีนของจอมพลเจียง ไค เชค ก็เรียกร้องมา  มีการเจรจากันและรัฐบาลไทยก็ทำสัญญาทางไมตรีกับสาธารณรัฐจีน ทำให้มีการแลกเปลี่ยนผู้แทนทางการทูตและให้ความคุ้มครองสิทธิต่างๆ เขาบอกกันว่าเรื่องสำคัญคือ สิทธิที่คู่ภาคีจะตั้งโรงเรียนเพื่อการศึกษาแก่เด็กเชื้อชาติตนได้ ทำให้สะดวกที่จีนจะตั้งโรงเรียนขึ้นมาในเมืองไทย

    อีกเรื่องหนึ่งก็คือเรื่องโควตาคนต่างด้าวที่เป็นคนจีนจะเข้ามาเมืองไทย ทางจีนต้องการให้โควตาสัมพันธ์กับจำนวนพลเมืองของจีน เพราะจีนมีประชากรมากก็ต้องมีโควตามาก

    เรื่องกับจีนนี้ ถึงกับมีการก่อความวุ่นวายของคนจีนกลุ่มน้อยที่กรุงเทพฯ แต่รัฐบาลก็ควบคุมได้

    กรณีสำคัญอันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสงคราม คือสภาในตอนนั้นได้ผ่านพระราชบัญญัติอาชญากรสงครามออกมาใช้ในวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2488

    อีกสามวันต่อมาก็มีการปรับคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีกลาโหมลาออกจนต้องมีการตั้งคนใหม่และตั้งรัฐมนตรีเพิ่มอีกสองท่าน

    ถัดมาอีกหนึ่งวัน ในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2488 หลังจากเป็นรัฐบาลมาได้ประมาณหนึ่งเดือน  นายกรัฐมนตรีก็ยุบสภาผู้แทนราษฎร

    "รัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พิจารณาเห็นว่า สมาชิกสภาผู้แทนฯ ชุดปัจจุบันซึ่งได้รับเลือกตั้งมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2481 นั้นได้มีพระราชบัญญัติขยายกำหนดเวลาให้อยู่ในตำแหน่งของสมาชิกสภาผู้แทนฯ ต่อมาอีก 2 ครั้ง ทั้งนี้นับเป็นเวลานานเกินควร ย่อมเป็นเหตุให้จิตใจและความคิดเห็นของสมาชิกส่วนมากเหินห่างจากเจตนาและความประสงค์อันแท้จริงของราษฎร"

    เมื่อยุบสภาแล้วสมาชิกสภาก็พ้นตำแหน่ง รัฐบาลก็พ้นจากตำแหน่งเช่นกัน เพียงแต่อยู่รักษาการ  ทำไมเป็นรัฐบาลเดือนเดียวแล้วลาออก เหตุผลจริงๆ ยังไม่ทราบ แต่ไม่น่าจะเป็นเพราะ "ไม่ชอบการเมือง" เพียงอย่างเดียว.
---------------

    ข้อมูล : สถาบันพระปกเกล้า, ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"