ส.ว.หยั่งเชิงร่วมแก้รธน.!


เพิ่มเพื่อน    

 "ศุภชัย" ยันสภาเดินหน้าเปิดซักฟอก "บิ๊กตู่" แม้ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องถือว่ากระบวนการถวายสัตย์ฯ ได้จบลงแล้วก็ตาม แต่ ส.ส.มีข้อสงสัย "คำนูณ" เสนอให้ ส.ว.ร่วม กมธ.ศึกษาแก้รัฐธรรมนูญของสภาผู้แทนฯ เพราะสุดท้าย ส.ว.ต้องร่วมลงมติแก้ไข

    นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 กล่าวถึงการอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152 แบบไม่ลงมติในวันที่ 18 กันยายนนี้ว่า จากการหารือกับนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร และในฐานะที่เป็นผู้พิจารณาญัตติก่อนบรรจุระเบียบวาระ  ตนได้นำรายละเอียดในญัตติที่ 214 ส.ส.ฝ่ายค้านเสนอ กับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีดังกล่าวมาพิจารณาประกอบแล้ว ยังมั่นใจว่าการอภิปรายทั่วไปสามารถทำได้ตามที่สภาได้บรรจุระเบียบวาระไว้ก่อนหน้านี้ แม้ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะระบุว่า เหตุที่ไม่รับคำร้อง เพราะการถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ได้อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด 
    เขากล่าวว่า ในญัตติที่ฝ่ายค้านเสนอเพื่อขออภิปรายทั่วไปนั้น ไม่ถือว่าเป็นการตรวจสอบ แต่เป็นไปเพื่อสอบถามข้อเท็จจริง พร้อมเสนอแนะประเด็นต่อรัฐบาลเท่านั้น ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องก็ถือว่า กระบวนการถวายสัตย์ฯ ได้จบลงแล้ว แต่เมื่อ ส.ส.มีข้อสงสัยว่าอาจจะไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ส.ส.มีสิทธิ์ยื่นญัตติสอบถามข้อเท็จจริงได้ตามกระบวนการของนิติบัญญัติ 
    "ในญัตตินี้ก็ไม่ได้มีเพียงประเด็นเรื่องการถวายสัตย์ฯ เท่านั้น แต่ฝ่ายค้านยังได้สอบถามถึงรายละเอียดของงบประมาณในการจัดทำนโยบายของรัฐบาลด้วย ถือเป็นประเด็นข้อสงสัยว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ จึงเป็นการอภิปรายสอบถาม ขณะที่รัฐบาลก็ชี้แจง กระบวนการก็จบ ไม่ได้มีการเอาผิดเอาถูกกัน” 
    นายศุภชัยกล่าวถึงมติเอกฉันท์ 436 ต่อ 0 ให้มีเลื่อนลำดับญัตติที่เกี่ยวข้องกับการขอตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ขึ้นมาพิจารณาในสมัยประชุมหน้าช่วงเดือนพฤศจิกายนว่า เชื่อว่าไม่มีปัญหา เพราะมติที่ออกมาถือว่าสมาชิกทุกคนเห็นร่วมกัน โดยต่างมองเห็นว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เมื่อบังคับใช้ไปแล้ว อาจจะมีส่วนบกพร่องอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะแย่หรือเลวร้ายทั้งหมด ดังนั้นเมื่อมีข้อบกพร่อง สภาก็ศึกษาหาแนวทางในการแก้ไขเตรียมการรองรับไว้ 
    รองประธานสภาฯ กล่าวว่า การตั้ง กมธ.ศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ได้หมายความว่า ต้องแก้กันทันที แต่เมื่อ กมธ.วิสามัญฯ พิจารณากันเสร็จ ก็ถือเก็บไว้เป็นข้อสอบของสภาผู้แทนราษฎร ถึงเวลาเมื่อไหร่ก็นำข้อมูลนี้ไปประกอบการแก้ไขได้ทันที 
    ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า มีข้อเสนอส่วนตัวต้องการให้การตั้ง กมธ.พิจารณาเรื่องดังกล่าวมี ส.ว.เข้าร่วมเป็น กมธ.ร่วมกันของรัฐสภา เพราะในเงื่อนไขของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กำหนดให้มีเสียง ส.ว.ร่วมเห็นชอบ 1 ใน 3 ทั้งในวาระแรกและวาระสาม ดังนั้นหากให้ ส.ว.มีส่วนร่วมตั้งแต่กระบวนการศึกษาแนวทาง เชื่อว่าจะทำความเข้าใจร่วมกันได้
          เขาบอกว่า การตั้ง กมธ.ร่วมกันของรัฐสภาเพื่อศึกษาเรื่องดังกล่าวสามารถทำได้ ตามข้อบังคับประชุมรัฐสภา หรือตั้งได้ผ่านอำนาจของนายชวน หลีกภัย ฐานะประธานรัฐสภา พิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันศึกษาได้ ส่วนกรณีที่ ส.ส.ซึ่งเสนอญัตติปฏิเสธการมีส่วนร่วมของ ส.ว.นั้น ไม่ติดใจ แต่ต้องการทดลองเสนอความเห็นให้สภาพิจารณา เพราะไม่ว่าอย่างไรการศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่แม้จะมีเป้าหมายตัดเสียง ส.ว.ร่วมลงมติออกไป แต่ชั้นแรกต้องอาศัยเสียง ส.ว.ร่วมลงมติอยู่ดี
    นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเลื่อนญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษารัฐธรรมนูญเป็นมติเอกฉันท์ ไม่มีเสียงคัดค้านเลยแม้แต่เสียงเดียว แสดงให้เห็นว่า ส.ส.ทั้งสภาได้ตระหนักถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้จริงๆ จำเป็นต้องศึกษาปัญหา และแนวทางแก้ไขให้ครบถ้วน ตั้งแต่นี้ไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน จนกว่าจะมีการเปิดประชุมสภาสมัยสามัญครั้งที่ 2 เพื่อพิจารณาญัตติตามวาระการประชุมที่ได้เลื่อนไว้
    "เชื่อว่าพรรคการเมืองทุกพรรคจะต้องเตรียมความพร้อม ส่งคนที่มีความรู้ความสามารถ มีจุดยืนที่ชัดเจนในด้านประชาธิปไตยเข้าเป็นกรรมาธิการในสัดส่วนของพรรคการเมืองนั้นๆ ไม่ควรส่งคนที่สร้างปัญหาหรือประเภทฮาร์ดคอร์มาเป็นกรรมาธิการ เพราะอาจจะทำให้การทำงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ไม่ราบรื่น เข้าไปสร้างความขัดแย้งในการทำงาน เพราะในขณะนี้ทุกฝ่ายในบ้านเมืองอยากให้ก้าวข้ามความขัดแย้งในสังคมไปได้ด้วยดี ด้วยการร่วมมือกันแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ตามที่ทุกฝ่ายต้องการ"
         นายเทพไทกล่าวว่า จากผลการลงมติเลื่อนญัตติเมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา เป็นการส่งสัญญาณให้ทุกฝ่ายเห็นว่า ส.ส.ที่เป็นตัวแทนของประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง มีความเห็นต่อเรื่องรัฐธรรมนูญไปในแนวทางเดียวกัน จึงอยากให้ ส.ว.ที่เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้ตระหนักถึงเจตนารมณ์ของมติที่ประชุม ส.ส.ในครั้งนี้ และร่วมมือกันผลักดันให้การศึกษาและแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ให้เป็นผลสำเร็จให้จงได้
    นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะ 1 ใน 8 ผู้เสนอญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ให้ความเห็นว่า เบื้องต้นการที่สภาผู้แทนราษฎรมีความเห็นร่วมกันในการเลื่อนลำดับการพิจารณาญัตติที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญถือว่าดีพอสมควร อย่างน้อยๆ ก็เป็นเอกฉันท์ในการตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นในสมัยประชุมหน้า หรือในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ 
    อย่างไรก็ตาม เห็นว่าเมื่อมีการตั้ง กมธ.วิสามัญฯขึ้นมาแล้ว ก็ควรเชิญรัฐบาลในฐานะเจ้าของนโยบายเร่งด่วนข้อที่ 12 ที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาส่งตัวแทนเข้าร่วม พร้อมทั้งมีการเชิญตัวแทนที่เป็นสัดส่วนของคนนอก โดยเฉพาะนักวิชาการ นักกฎหมาย เข้ามาร่วมเป็น กมธ.วิสามัญฯ ด้วย โดยเริ่มจากประเด็นที่เกี่ยวข้อง เป็นปัญหากับประชาชนเป็นหลัก อย่างเริ่มด้วยประเด็นทางการเมือง เพราะอาจจะล่อแหลม โดยเฉพาะเนื้อหาในบทเฉพาะกาล 
    "การดำเนินการเรื่องนี้ไม่ใช้เรื่องง่าย ผมไม่อยากให้ฝ่ายการเมืองนำเรื่องนี้ออกไปนอกสภา เพราะควรปล่อยให้ฝ่ายประชาชนข้างนอกทำประเด็นนี้คู่ขนานกันไป"
    นายนิกรกล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่ ส.ว.จะตั้งกรรมาธิการวิสามัญของวุฒิสภาในเรื่องนี้ขึ้นมา โดยต่างฝ่ายต่างทำถือเป็นการเรื่องดี การที่ ส.ว.บางท่านเสนอให้ตั้ง กมธ.ร่วม 2 สภานั้น คิดว่าสภาผู้แทนราษฎรควรจะเป็นหนึ่งเดียวกันให้ได้เสียก่อน แม้ ส.ว.จะเห็นด้วยทั้งหมด แต่ถ้า ส.ส.ไม่เป็นหนึ่งเดียวกัน รัฐธรรมนูญจะไม่สามารถแก้ได้ตั้งแต่กุญแจดอกแรกเลย อีกทั้งด้วยธรรมชาติของ 2 สภาที่มองไม่เหมือนกัน ส.ส.ถือว่าอยู่ในมุมที่ใกล้ชิดกับประชาชน     
    "ส.ว.ก็ไม่ใช่ว่าเขาไม่เกี่ยวข้องกับประชาชน แต่จะมองจากอีกมิติหนึ่ง เช่น มองจากข้าราชการหรือฝ่ายรัฐมากกว่า ซึ่งถือเป็นธรรมชาติ การที่ต่างคนต่างเดินโดยตั้งธงให้ตรงกัน นำประเทศชาติและประชาชนมาเป็นหลัก เชื่อว่าท้ายที่สุดในช่วงเวลาหนึ่งก็จะต้องมาเจอกันอยู่ดี" นายนิกรกล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"