มท.2 กับท่าที ปชป. แก้ไข รธน.-เลือกตั้งท้องถิ่น
ทิศทางการเคลื่อนไหวเพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเริ่มเห็นความชัดเจนมากขึ้น เช่นกรณีที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันศุกร์ที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา มีมติด้วยคะแนนเสียงมติเอกฉันท์ 436 ต่อ 0 เห็นชอบให้มีการเลื่อนญัตติการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญขึ้นมาเป็นวาระเร่งด่วน อันดับต้นๆ เพื่อรอคิวการพิจารณาเห็นชอบในการประชุมสภาสมัยหน้าเดือนพฤศจิกายน ขณะที่หลายพรรคการเมือง แม้แต่พรรคพลังประชารัฐ พรรคแกนนำรัฐบาล ก็ขยับแล้วด้วยการยื่นญัตติเสนอให้สภาตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาการแก้ไข รธน.เช่นกัน หลังก่อนหน้านี้พรรคร่วมรัฐบาลคือ ประชาธิปัตย์และชาติไทยพัฒนาเสนอไปแล้ว
นิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย-รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แกนนำพรรค ปชป. ให้ความเห็นทางการเมืองหลายแง่มุม เช่น เรื่องแนวทางการแก้ไข รธน. หรือท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ต่อการเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศต้นปีหน้า ตลอดจนการบริหารงานในกระทรวงมหาดไทย
นิพนธ์-มท.2 ซึ่งตอนจัดตั้งรัฐบาล เขาคือคีย์แมนของพรรคประชาธิปัตย์ในการไปเจรจาต่อรองเรื่องการร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐและแกนนำ คสช.ในเวลานั้น โดยในฐานะรองหัวหน้าพรรค ปชป. เขายืนยันว่าเงื่อนไขของพรรค ปชป.ที่เสนอต่อพรรคพลังประชารัฐ ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังคงเหมือนเดิม เพราะเห็นว่าหากไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจทำให้การเมืองในอนาคตถึงทางตัน และเห็นว่าเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญกับการแก้ปัญหาปากท้อง ปัญหาเศรษฐกิจสามารถทำควบคู่ไปด้วยกันได้
“ผมคิดว่าการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อรัฐบาลประกาศเรื่องการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้เป็นนโยบายเร่งด่วน 12 ข้อ ที่แถลงต่อรัฐสภาแล้ว ดังนั้นการจะเริ่มต้นอย่างไร เป็นสิทธิที่จะเริ่มได้ เพราะเป็นแนวนโยบายของรัฐบาลอยู่แล้ว ส่วนการแก้ไขประเด็นไหน อย่างไร ก็ต้องรอให้ผลการศึกษาของกรรมาธิการฯ ที่สภาฯ จะตั้งออกมา เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และสมาชิกวุฒิสภา ต้องให้เขาเห็นชอบด้วย การเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการฯ จึงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเป็นวิธีการหนึ่งในการนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญได้” รมช.มหาดไทยกล่าว หลังเราถามถึงท่าทีของประชาธิปัตย์ หลัง ส.ส.ในพรรคอย่างเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช ไปยื่นญัตติให้สภาตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาการแก้ไข รธน.
เมื่อถามเพื่อขอให้พูดให้ชัดว่า พรรค ปชป.ตกลงเอาจริงใช่ไหมเรื่องการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะหลายคนก็มองว่า พรรค ปชป.ถึงเวลาจริงๆ ก็ยังต้องเกรงใจพลังประชารัฐ นิพนธ์-รองหัวหน้าพรรค ปชป. ยืนยันว่า เรื่องการแก้ไข รธน. เป็นเหตุผลหนึ่งในการที่พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาล ก็เป็นหนึ่งในเรื่องที่เรานำไปเจรจา ให้ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งประชาธิปัตย์หยิบยกขึ้นมา จึงถือว่าประชาธิปัตย์ให้ความจริงจังกับเรื่องนี้ ส่วนการจะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นใดบ้าง ก็ต้องไปดูรายละเอียดกัน แต่หัวหน้าพรรค คุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ก็บอกไว้ก่อนแล้วว่า อย่างน้อยที่สุดก็ควรต้องลดเงื่อนไขการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
“เพราะปัจจุบันนี้แทบจะแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้เลย หากไม่มีการปรับปรุงแก้ไขก็ควรลดเรื่องนี้ลงไปด้วย เพื่อที่วันข้างหน้าจะได้แก้ไขรัฐธรรมนูญกันได้ไม่ยาก หากเราไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็อาจก่อให้เกิดทางตันทางการเมืองขึ้นมาได้อีกในวันข้างหน้า เพื่อที่เมื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วเวลาประเทศอาจเข้าสู่ทางตัน มันก็จะไม่เข้าสู่ทางตัน เปิดทางเอาไว้ อย่าให้มีปัญหาในวันข้างหน้า”
เมื่อถามถึงเสียงคัดค้านไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข รธน.เวลานี้ โดยบอกว่าควรแก้ไขปัญหาปากท้องไปก่อน การแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่สำคัญ นิพนธ์-รมช.มหาดไทย ยืนยันว่า เรื่องนี้ทำควบคู่กันไปได้ คือที่จริงไม่ใช่ว่ามาถึงก็พูดเรื่องการเมืองอีกแล้วไม่ใช่ ผมไม่อยากพูดว่าต้องทำอะไรก่อน ทำอะไรหลัง แต่ว่าหลายอย่างมันทำควบคู่กันไปได้ มันเดินคู่ขนานกันไปได้ อย่างเวลานี้ประชาธิปัตย์ทำเรื่องการประกันรายได้พืชผลทางการเกษตร แต่ไม่ใช่ว่า 4 ปีเราจะทำแต่เรื่องพืชผลอย่างเดียว-ไม่ใช่ คณะรัฐมนตรีมีรัฐมนตรีอยู่ 35 คน เราก็สามารถทำหลายอย่างได้ตามภารกิจของแต่ละกระทรวง ทำเรื่องน้ำได้ด้วย ทำเรื่องต่างๆ ได้ด้วย แต่ว่าเมื่อทำเรื่องต่างๆ ไปแล้ว เช่น ทำเรื่องประกันรายได้ จนลุล่วงไป 70-80 เปอร์เซ็นต์แล้ว มาตอนนี้หากจะมาทำเรื่องรัฐธรรมนูญบ้าง ก็เดินคู่ขนานกันไปได้
...วันนี้ประชาธิปัตย์คือพรรคร่วมรัฐบาล คำนิยามของพรรคร่วมรัฐบาล เราก็เข้าใจกันอยู่แล้วว่า ปัญหาทุกปัญหา เราไม่สามารถกำหนดหรือชี้ตามลำพังที่ใจเราอยากได้ทุกอย่าง เพราะว่าประชาธิปัตย์ภายใต้บริบทที่พรรคมี ส.ส.อยู่ 52 เสียง ก็ต้องดูว่าเราสามารถจะทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหนในฐานะที่เราเป็นพรรคร่วมรัฐบาล อันนี้เราก็ต้องรู้และเข้าใจข้อเท็จจริงกัน
“ฐานะการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลกับฐานะการเป็นพรรคแกนนำ บางครั้งเราต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่า การคิด การอ่าน หรือการจะทำอะไร มันก็ต้องทำตามสภาวะความเป็นจริง เราเล่นการเมือง เราต้องยืนอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง บางอย่างเราจะไปวาดฝันไว้สูงมาก ก็ไม่ได้ เราต้องดูความจริงแต่ละเรื่อง ข้อเท็จจริงแต่ละเรื่อง แล้วก็วินิจฉัย ตัดสินใจไปตามข้อเท็จจริง“
นิพนธ์-รมช.มหาดไทย ย้ำว่า กรอบเวลาการแก้ไข รธน.แม้ในคำแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาจะไม่ได้เขียนไว้ว่าจะทำเมื่อใดและทำอย่างไร แต่เมื่อรัฐบาลเขียนไว้เป็นนโยบาย 12 ข้อเร่งด่วน เรื่องนี้ก็ไม่ต้องพูดอะไรอีกแล้ว เพราะรัฐบาลก็ใส่ไว้โดยรัฐบาลรู้กรอบระยะเวลาอยู่แล้ว ส่วนที่หลายฝ่ายหวั่นเกรงเรื่องการเคลื่อนไหวการแก้ไข รธน.อาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่ ก็มองว่าทุกฝ่ายก็เห็นพ้อง เพราะก่อนที่จะมีการนำไปเขียนและประกาศเป็นนโยบายรัฐบาล ก็มีการคุยกันมาก่อนแล้ว เพียงแต่ว่าระยะเวลาที่เหมาะสม บางทีบางครั้ง การเมืองต้องดูระยะเวลาด้วย ว่ามันจะเหมาะสมช่วงไหนอย่างไร ซึ่งความเหมาะสมดังกล่าวมันบอกไม่ได้ว่าเมื่อใด มันต้องดูสถานการณ์ ดูหลายอย่างประกอบกัน แต่ไม่ใช่ว่าคิดวันนี้ แล้วพรุ่งนี้ทำ มันต้องมีขั้นมีตอนอยู่แล้ว ในกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราก็มีประสบการณ์กันอยู่แล้ว คนที่อยู่ในวงการการเมืองมานานๆ ก็พอจะรู้ว่าสถานการณ์แต่ละช่วงเป็นอย่างไร ต้องบริหารอย่างไรให้เป็นประโยชน์สูงสุด เพราะภายใต้บริบทของการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลร่วมกัน การเป็นรัฐบาลผสมต้องฟังเหตุผลซึ่งกันและกันด้วย
“แต่หลักคือจะทำ แต่ปัญหาว่าจะทำเมื่อใด และทำอย่างไร ก็ต้องมานั่งคุยกัน การเมืองบางครั้งมันอยู่ที่การพูดคุยกันเหมือนกัน การเข้าใจกันเป็นเรื่องสำคัญ การบริหารท่ามกลางเสียงที่คนมองกันว่ารัฐบาลมีเสียง ส.ส.ไม่มากนัก แต่ว่าการที่รัฐบาลมีเสียง ส.ส.ไม่มากนัก ก็อาจเป็นการทำให้รัฐบาลต้องตระหนักหลายเรื่อง ต้องไม่ประมาท ต้องคุยกันอย่างรอบคอบก่อน ที่จะตัดสินใจทำอะไร ความรอบคอบทำให้รัฐบาลอยู่ยาวได้” รมช.มหาดไทยจาก ปชป.กล่าวย้ำ
ปฏิทินเลือกตั้งท้องถิ่นขยับกกต.ของบรอแล้วหลักพันล้าน
นิพนธ์-รมช.มหาดไทย ที่เป็นทั้งอดีตนายก อบจ.สงขลา และยังเคยเป็นกรรมการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ซึ่งเป็นบอร์ดใหญ่ของการปกครองส่วนท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 ให้ความเห็นถึงทิศทางการเลือกตั้งท้องถิ่นที่หลายคนเฝ้าติดตาม หลังเริ่มมีความเคลื่อนไหวในแต่ละสนามมากขึ้น เช่น การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.
นิพนธ์-มท.2 กล่าวว่า ในความเห็นส่วนตัว การเลือกตั้งท้องถิ่นจะเกิดขึ้นเมื่อใด หลักก็คือต้องไปดูว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งมีความพร้อมในการจัดการเลือกตั้งเมื่อใด โดยความพร้อมดังกล่าวต้องพร้อมด้วยบุคลากร และพร้อมด้วยงบประมาณ จากการที่ผมเห็นสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ยื่นความประสงค์เรื่องการขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงบประมาณผ่านมาทางคณะรัฐมนตรี พบว่าจะต้องมีการใช้งบประมาณรายจ่ายในการจัดการเลือกตั้ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศมีการของบประมาณผ่านมาสูงพอสมควร เป็นเงินจำนวนหนึ่ง คิดว่าเป็นพันกว่าล้านบาท แต่จะได้จริงเป็นจำนวนเงินเท่าใดก็ยังไม่มั่นใจ จึงแสดงให้เห็นว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งก็ต้องได้รับการสนับสนุนงบประมาณเข้ามาด้วย จึงจะจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นได้ เว้นแต่ว่าขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งมีงบประมาณรายจ่ายในส่วนนี้อยู่แล้ว หากมีงบอยู่แล้วก็คงไม่ต้องขอไปที่สำนักงบประมาณ แต่การที่สำนักงาน กกต.ทำเรื่องของบประมาณจัดการเลือกตั้งไป
ทำให้ผมมองโดยความเห็นส่วนตัวว่า จะจัดให้มีการเลือกตั้งได้ก็ต่อเมื่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับงบประมาณมา ที่ก็คือ ต้องรอให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ผ่านออกมาจากสภาฯ จนมีผลบังคับใช้เป็นพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.2563 ซึ่งปีนี้เราคาดการณ์ว่าจะช้ากว่าปกติ อย่างน้อยร่วม 3 เดือน เพราะจากปกติ พ.ร.บ.งบประมาณจะมีการบังคับใช้เริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคมของแต่ละปี แต่ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2563 จะเข้าสู่การพิจารณให้ความเห็นชอบจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระแรกในช่วงการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ 17 ตุลาคม ซึ่งสภาฯ มีเวลาพิจารณาถึง 105 วัน จากนั้นพอผ่านความเห็นชอบจากสภาก็ต้องส่งไปให้วุฒิสภาพิจารณาอีก แล้วพอผ่านวุฒิสภาก็จะมีการนำร่าง พ.ร.บ.งบนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย
“ดูตามขั้นตอนต่างๆ เหล่านี้ก็พอจะบอกได้ว่า กระบวนการต่างๆ จะจบในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2563 จึงจะมีผลบังคับใช้ ผมจึงเห็นว่าน่าจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2563 บังคับใช้แล้ว อันนี้คือความเห็นส่วนตัวของผม เพราะไม่เช่นนั้นแล้วจะนำเงินจากส่วนไหนมาดูแลและจัดการเลือกตั้ง ซึ่งจริงอยู่ว่าการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นจะใช้งบประมาณในการพิมพ์บัตร งบประมาณด้านเบี้ยเลี้ยงให้กับเจ้าหน้าที่โดยใช้งบของท้องถิ่น แต่ก็มีงบประมาณอีกส่วนหนึ่งที่ต้องใช้งบประมาณของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ต้องขอจากสำนักงบประมาณ” รมช.มหาดไทยระบุ
สำหรับบทบาทของพรรค ปชป.ต่อสนามเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศในระดับต่างๆ ที่จะต้องมีการเลือกรวมกันร่วม 97,940 ตำแหน่ง นิพนธ์-รองหัวหน้าพรรค ปชป. บอกว่า พรรคจะดูเป็นรายจังหวัด เพราะพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังไม่ได้ประกาศว่าจะส่งคนลงทุกจังหวัด เราต้องดูความพร้อมของแต่ละพื้นที่ ทั้งความพร้อมเรื่องตัวบุคคล ความพร้อมในเรื่องสมาชิก จังหวัดไหนมีความพร้อมก็จะนำชื่อเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสรรหาของประชาธิปัตย์ ซึ่งพรรคมีระบบพิจารณาคัดเลือกอยู่แล้ว อย่างใครจะลงสมัครคัดเลือกเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดก็ต้องผ่านกลไกการคัดเลือกของพรรค โดยลำดับแรกก็ต้องผ่านกรรมการสรรหา จากนั้นก็เข้าสู่กรรมการบริหารพรรคให้พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
นอกจากนี้ นิพนธ์-มท.2 ยังกล่าวถึงความเคลื่อนไหวของ ส.ส.ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านที่ต้องการผลักดันให้มีการจัดตั้งกระทรวงท้องถิ่น โดยดึงกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นออกไปจากกระทรวงมหาดไทยด้วยว่า เรื่องนี้ก็ต้องไปพิจารณา ผมก็เคารพคนที่เสนอ แต่ต้องดูว่าคนที่เสนอแนวทางนี้เขาต้องการอะไร หากเห็นว่าการที่ให้เรื่องของท้องถิ่นยังอยู่ที่กระทรวงมหาดไทยต่อไปแล้วยังเป็นระบบราชการ ที่ต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ จากกองไปกรม แล้วก็ส่งไปยังกระทรวงมหาดไทย แต่หากตั้งขึ้นมาเป็นกระทรวงท้องถิ่นก็ต้องดูว่าก็ยังต้องผ่านระบบกระทรวงใหม่อีกหรือไม่ ก็ต้องผ่านระบบกรม มีกรมสนับสนุน กรมปฏิบัติการ ก็ยังเป็นระบบกรมแบบเดิมอีก แล้วก็ต้องมาผ่านปลัดกระทรวงอีก ก็ต้องดูว่า แล้วกลไกแบบที่เสนอจะเปลี่ยนอะไร จะเปลี่ยนความเป็นอิสระของท้องถิ่นหรืออย่างไร ต้องไปดูเจตนาในการเสนอกฎหมายว่าเขาต้องการอะไร
ต้องไปดูว่าคนที่เขาเสนอเขาต้องการอะไร ต้องการความเป็นอิสระ ความคล่องตัวในการปฏิบัติหน้าที่ หรือต้องการกฎหมาย เครื่องมือที่ต้องการทำให้เห็นว่าท้องถิ่นควรมีความเป็นอิสระหรือไม่อย่างไร ต้องไปดูให้ดี หากต้องการเอาความเป็นอิสระ ไม่เอากลไกกระทรวง แล้วจะเอาอย่างไร จะเอารูปแบบสภาฯ หรือไม่ ที่เป็นแบบสภาท้องถิ่น เพื่อไม่ให้เป็นระบบราชการ ซึ่งตอนนี้ผมก็ยังไม่เข้าใจว่าคนที่เขาเสนอแนวทางดังกล่าวเขาต้องการอะไร
“มันก็เหมือนกับหนีจากการได้ปลัดกระทรวงนี้ไปได้ปลัดอีกกระทรวงหนึ่ง แล้วก็ยังมีอธิบดีอยู่ ก็ยังรวมศูนย์อยู่ หากเขาบอกว่า มีปัญหา มีอุปสรรค ในการที่จะมาดูแลไม่สามารถมาอำนวยความสะดวกให้ท้องถิ่นได้ ก็ควรไปดูว่าปัญหามันเกิดจากตรงไหน ผมว่าเราควรแก้ให้ถูกจุดดีกว่า ในความเห็นส่วนตัวของผม” นิพนธ์ รมช.มหาดไทยเน้นย้ำ
สำหรับเรื่องเสถียรภาพรัฐบาลที่นับวันยิ่งเสียงปริ่มน้ำมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะล่าสุด พิเชษฐ สถิรชวาล จากพรรคประชาธรรมไทย ก็ประกาศถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล ซึ่ง นิพนธ์-รองหัวหน้าพรรค ปชป. มองเรื่องเสียงปริ่มน้ำว่า เรื่องเสียงปริ่มน้ำ รัฐบาลท่านชวน หลีกภัย ก็เคยเจอมาแล้ว ตอนนั้นก็เกินกึ่งหนึ่งไปสิบกว่าเสียงเอง แต่ก็อยู่ได้จนครบวาระ มันอยู่ที่การบริหารจัดการ คือไม่ใช่ว่าไม่น่าห่วง แต่หากเรารู้ว่าเราทำอะไร แล้วทำโดยที่เรารู้ว่าเรื่องไหนที่จะก่อให้เกิดปัญหาในทางการเมืองก็ไม่ควรทำ การบริหารในสภาวะที่เสียงปริ่มน้ำ มันอาจทำให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพก็ได้ ในมุมกลับกัน คือทำอะไรก็ระมัดระวังมากขึ้น ส่วนรัฐบาลจะอยู่ครบเทอมหรือไม่ อันนี้คงบอกไม่ได้ แต่หากถามว่ารัฐบาลอยู่ได้หรือไม่ ก็คิดว่าหากบริหารจัดการดี ก็อยู่ได้แน่นอน เพราะเคยเห็นมาแล้วในอดีต รัฐบาลท่านชวน หลีกภัย ตอนนั้นเกินกึ่งหนึ่งมาสิบกว่าเสียง คนก็บอกว่าอยู่ไม่ได้ แต่ในที่สุดก็อยู่ครบเทอม อยู่ก่อนครบวาระเพียง 1 สัปดาห์ ท่านชวนก็ตัดสินใจยุบสภาฯ เพราะท่านเคยพูดไว้ว่า จะอยู่ไม่ครบวาระ ก่อนครบวาระ 1 สัปดาห์ก็เลยยุบสภาฯ ผมถึงคิดว่ามันอยู่ที่การบริหารจัดการ อย่างการโหวตอะไรต่างๆ ก็อยู่ที่การประสานงานของวิปรัฐบาลที่ต้องทำอย่างละเอียดรอบคอบ
..........................
ตำบลขับขี่ปลอดภัย ดึงท้องถิ่น ร่วมแก้อุบัติเหตุ หลังสถิติยังสูงลิ่ว
ในการบริหารงานกระทรวงมหาดไทย นิพนธ์-รมช.มหาดไทย (มท.2) จากพรรคประชาธิปัตย์ ดูแลรับผิดชอบหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทยที่สำคัญๆ ก็เช่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ซึ่งนิพนธ์บอกว่าจะมีการขับเคลื่อนนโยบายโครงการ ตำบลขับขี่ปลอดภัย เพื่อลดสถิติอุบัติเหตุบนท้องถนนที่ประเทศไทย หลังประเทศไทยมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุดังกล่าวสูงติดอันดับต้นๆ ของโลก
...ปัญหาที่ประเทศไทยกำลังประสบอยู่ตอนนี้ก็คือ การเสียชีวิตของประชาชนบนท้องถนน ซึ่งต้องยอมรับข้อเท็จจริงอยู่อย่างหนึ่งว่า ประเทศไทยมีสถิติการเสียชีวิตของประชาชนบนท้องถนนมากติดอันดับต้นๆ ของโลก บางปีเช่นเมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมาติดอันดับหนึ่งหรือสองของโลก แต่จากการร่วมมือกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ทำให้ปัจจุบันพบว่าอันดับสถิติของประเทศไทยลงมาเหลืออันดับเก้า แต่ก็ยังติดอันดับหนึ่งของเอเชียอยู่ในเวลานี้
เราไม่ควรภูมิใจกับตัวเลขดังกล่าว เพราะแต่ละปีประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ร่วมสองหมื่นสองพันกว่ารายต่อปี อันนี้เฉพาะเสียชีวิตยังไม่นับรวมผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมากมาย เรากำลังนำผลการวิจัยที่ได้ไปทำมาว่า การเสียชีวิตของคนบนท้องถนนหนึ่งราย เราต้องสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจคิดเป็นเงินเท่าใด ขณะนี้ตัวเลขสองส่วนพบว่ายังไม่ตรงกัน บางฝ่ายก็บอกว่าอยู่ที่สิบล้านต่อผู้เสียชีวิตหนึ่งคน แต่บางฝ่ายบอกว่าอยู่ที่ห้าล้านต่อผู้เสียชีวิตหนึ่งราย แต่ไม่ว่าจะเป็นมูลค่าเท่าใดก็ตามมันก็คือความสูญเสีย
การที่มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยต่อปีถึง 20,000 กว่าราย ก็เท่ากับมีผู้เสียชีวิตบนท้องถนนเฉลี่ยแล้วตกเดือนละร่วม 2,000 ราย หากเราจะลดตัวเลขการสูญเสียดังกล่าวให้ได้ ผมคิดว่าบัดนี้เราต้องปรับเปลี่ยนวิธีการบ้าง เราเริ่มใช้ 7 วันอันตรายมาหลายปีแล้ว ซึ่งเมื่อก่อนทราบว่าตัวเลขสถิติที่พบ เราเคยสูญเสียประชาชนจากอุบัติเหตุบนท้องถนนในช่วงเจ็ดวันอันตรายร่วม 600-700 รายต่อปี แต่เมื่อมีการเข้มงวดมากขึ้นในช่วง 7 วันอันตราย ก็ทำให้ตอนนี้ตัวเลขลดลงเหลือ 300-400 ราย ที่ก็ยังสูงอยู่
เราก็ต้องพยายามทำให้ช่วง 7 วันอันตราย ตัวเลขการเกิดสถิติอุบัติเหตุบนท้องถนนต้องลดลงกว่านี้ ก็นำไปสู่การคิดว่าวันนี้หากเราต้องมาทบทวน มาประเมินว่าในช่วงที่ผ่านมา สิ่งที่ได้ทำอยู่ภายใต้อัตรากำลังที่ร่วมกันของแต่ละฝ่าย แล้วตัวเลขสถิติอุบัติเหตุโดยเฉพาะการเสียชีวิตของประชาชนบนท้องถนน ปีหนึ่งๆ ร่วม 20,000 กว่าราย แล้วเราควรต้องมีมาตรการอื่นๆ มาเพิ่มเติมหรือไม่ เพื่อไม่ให้ตัวเลขเพิ่มมากกว่านี้ หรือว่าในที่สุดอีก 5-10 ปีข้างหน้า ตัวเลขต้องลดลงมากกว่านี้
นิพนธ์-มท.2 กล่าวต่อไปว่า บัดนี้เราก็ได้แนวคิด เราเห็นช่องว่างแล้วว่าหากเราต้องการลดการเสียชีวิตบนท้องถนนลง เราต้องลงไปที่พื้นที่โดยใช้ยุทธศาสตร์ ตำบลขับขี่ปลอดภัย วันนี้คำว่าตำบลขับขี่ปลอดภัย เราต้องนำทุกภาคส่วนมาบูรณาการกัน เราจะมีทั้งระดับจังหวัดที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน มีทั้งระดับอำเภอ มีคณะกรรมการความปลอดภัยบนท้องถนนระดับจังหวัด คณะกรรมการความปลอดภัยบนท้องถนนระดับอำเภอ และคณะกรรมการความปลอดภัยบนท้องถนนระดับท้องถิ่น ก็คือ อบต.และเทศบาล ที่จะต้องให้คนกลุ่มนี้มาช่วยดูแลในพื้นที่ต่างๆ มาบูรณาการกันทำงาน
วันนี้การตายบนท้องถนนนอกจากจะมีสาเหตุมาจากการดื่มสุราแล้วขับ หรือการขับขี่ด้วยความเร็วแล้วยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกด้วย เช่นมาตรฐานของถนนได้มาตรฐานทางวิศกรรมหรือไม่ หรือจุดเสี่ยงทางถนนบนแต่ละเส้นทางมีมากเกินไปหรือไม่ ไฟฟ้าและแสงสว่างบนท้องถนนมีพอหรือไม่ จุดเสี่ยงเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นจุดเสี่ยงที่ก่อให้เกิดการเสียชีวิตของคนบนท้องถนนได้ทั้งสิ้น ดังนั้นหากเราจะลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นบนท้องถนน ทางพื้นที่ท้องถิ่นจะบอกเราได้ดีที่สุด ว่าการเกิดอุบัติเหตุแต่ละครั้งเกิดบนถนนเส้นไหน เกิดในเวลาใด
...พอเรารู้เส้นทางที่เกิดอุบัติเหตุซ้ำแล้วซ้ำเล่า เราก็ถือว่าถนนสายดังกล่าวคือจุดเสี่ยงแล้ว และยิ่งหากรู้ว่าถนนดังกล่าวมักจะเกิดอุบัติเหตุในช่วงเวลาใด ก็จะทำให้เรายิ่งได้รู้ว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเกิดกับบุคคลกลุ่มใด เช่นอุบัติเหตุเกิดขึ้นตอนเช้า เราก็รู้แล้วว่าผู้ปกครองส่งลูกมาโรงเรียน ใช่เพราะเกิดจากคนกลุ่มนี้หรือไม่ ก็ต้องไปดู หรือว่าพบว่าส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงเย็น เราก็จะได้รู้แล้วว่าเกิดเพราะเหตุใด หรือเกิดช่วงตั้งแต่ 19.00 น.ก็ต้องดูว่าเป็นไปได้หรือไม่ว่าจะเกิดจากพอค่ำมืด รถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ไม่มีแสงสว่างพอ ถนนมืดไป ทำให้วิสัยทัศน์การมองไม่เห็นในระยะไกล สิ่งต่างๆ เหล่านี้เราจะนำมาประมวล หรือแม้กระทั่งว่าอุบัติเหตุมักจะเกิดขึ้นซ้ำๆ ช่วงหลังสามทุ่มถึงตีสอง แบบนี้ก็สันนิษฐานได้ว่าอาจเกิดจากการแข่งรถ รถซิ่ง
นิพนธ์-รมช.มหาดไทย ย้ำว่าการเก็บข้อมูลเหล่านี้จะทำได้ ท้องถิ่นต้องมีส่วนร่วมในการเก็บข้อมูล เมื่อก่อนเราอาจไม่ให้ความสำคัญกับการจัดเก็บข้อมูลสถิติต่างๆ ของการเกิดอุบัติเหตุ เราเลยวินิจฉัยโรคไม่ถูก ต่อจากนี้ไปการเก็บข้อมูล รวบรวมข้อมูลมาไว้ในที่เดียวกัน ถังเดียวกัน ต่อไปจะมีความจำเป็น การจะเก็บข้อมูลให้ละเอียดและได้มากเท่าไหร่จะต้องใช้คนเยอะ จึงทำให้จำเป็นต้องให้ท้องถิ่นเข้ามาสนับสนุน เพราะในประเทศไทยไม่มีพื้นที่ไหนที่ไม่มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็คิดว่าต่อไปนี้การกำหนดให้ท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้น เพื่อแก้ปัญหาเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนมีความจำเป็น
โครงการตำบลขับขี่ปลอดภัยจึงเป็นมิติใหม่อีกมิติหนึ่ง ในการที่จะพัฒนาก้าวไปสู่การแก้ปัญหาในเชิงระบบมากขึ้น และจะเป็นการแก้ปัญหาความปลอดภัยบนท้องถนนอย่างยั่งยืนด้วย อย่างเวลานี้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยก็มีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ต่างๆ ไปแล้วหลายเวที เช่นที่กรุงเทพมหานครเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่เป็นเวทีรับฟังความเห็นในพื้นที่ภาคกลาง เพื่อต้องการฟังความเห็นจากฝ่ายต่างๆ ว่าการจะแก้ไขปัญหาเรื่องการสูญเสียบนท้องถนนอย่างยั่งยืน แต่ละฝ่ายมีความคิดเห็นอย่างไร เพราะเราไม่อยากใช้วิธีการแบบสั่งจากข้างบนลงไปข้างล่าง วันนี้เราอยากฟังคนจากข้างล่างว่าเขาคิดกันอย่างไรกับการแก้ปัญหานี้เพื่อมาแลกเปลี่ยนกัน โดยเฉพาะการฟังความเห็นจากแต่ละจังหวัด เพราะบางจังหวัดก็ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหา แต่บางจังหวัดยังไม่เกิด เพื่อนำกรอบแนวคิดมาหารือแลกเปลี่ยนกัน และจะมีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นลักษณะดังกล่าวให้ครบทั้งสี่ภาค ที่จะมีตัวแทนทั้งจากภาครัฐ เอกชน องค์กรต่างๆ เช่นเอ็นจีโอที่ทำงานด้านนี้เพื่อมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน
จากนั้นจะนำมาประมวลเพื่อให้เห็นภาพรวมทั้งประเทศว่า การลดจำนวนผู้เสียชีวิตบนท้องถนนจะมีมาตรการต่อไปอย่างไร และหลังจากนั้นจะประกาศยุทธศาสตร์ ตำบลปลอดภัย ทั้งประเทศ ที่จะขับเคลื่อนเรื่องนี้ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข กลไกหลายกลไกเราต้องคุยกันแบบบูรณาการกัน รวมถึงสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินก็ต้องมาคุยเรื่องเหล่านี้กัน
นอกจากนี้ นิพนธ์-มท.2 ซึ่งดูแลรับผิดชอบ กรมที่ดิน ยังกล่าวถึงแผนการบริหารงานกรมที่ดินว่า ต้องยอมรับว่ากรมที่ดินเป็นกรมที่มีหน้าที่ต้องดูแลการถือครองที่ดิน เรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินของประชาชนเป็นหลัก ซึ่งในขณะนี้ประชาชนก็ยังมีความต้องการเอกสารสิทธิที่เราเรียกกันว่าโฉนดที่ดินเป็นจำนวนมาก กรมที่ดินก็มีขีดจำกัดในเรื่องขีดความสามารถในการเร่งรัดออกโฉนดให้ประชาชน ให้ทันกับความต้องการ ซึ่งส่วนหนึ่งก็พยายามที่จะเร่งรัดสนับสนุนเครื่องไม้เครื่องมือ ในการที่จะให้นำไปสู่การเดินสำรวจเพื่อนำไปสู่การออกโฉนด เพื่อรังวัดที่ดินให้ประชาชนได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งเรื่องนี้กรมที่ดินก็ได้พยายามที่จะสนับสนุนเรื่องงบประมาณต่างๆ เพื่อที่จะนำไปสู่การออกโฉนดให้ประชาชน ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กรมที่ดินได้กำหนดเอาไว้
ปกติในปัจจุบันกรมที่ดินจะเดินออกสำรวจเพื่อออกโฉนดที่ดินได้ ก็ประมาณแสนกว่าโฉนดต่อปี โดยแบ่งกันไป 26 จังหวัด ก็คิดแล้วจังหวัดละก็ประมาณหมื่นแปลงต่อปี ในส่วนของที่ดินที่เป็นปัญหามากก็คือที่ดินที่เรียกว่าที่ดินสาธารณะ การบุกรุกที่สาธารณะ ซึ่งตรงนี้ยังเป็นประเด็นการโต้เถียงกันอยู่ระหว่างประชาชนที่เข้าไปใช้ประโยชน์ในที่สาธารณะ ที่ก็ยังมีปัญหาโต้แย้งกันอยู่ในเวลานี้ กับปัญหาเรื่องที่สองคือที่ดินที่เรียกว่า ที่ดินซึ่งใช้ร่วมกันอยู่ในชุมชน ซึ่งเดิมโฉนดชุมชนขึ้นอยู่กับสำนักนายกรัฐมนตรี แต่ปัจจุบันมีกฎหมายกำหนดให้มีหน่วยงานที่มาดูแลเรื่องนี้โดยตรง โดยอยู่ในขั้นตอนการออกระเบียบต่างๆ
สิ่งเหล่านี้ทำให้ขั้นตอนอยู่ระหว่างการออกเป็นกฎกระทรวงอยู่ในเวลานี้ เพื่อที่จะมาดูแลเรื่อง โฉนดชุมชน เพื่อจะมาเร่งรัดให้เป็นไปตามความต้องการของชุมชนต่อไป
นิพนธ์-มท.2 กล่าวว่า สองเรื่องหลักที่กรมที่ดินรับผิดชอบดูแลก็คือ เรื่องที่สาธารณะกับที่ดินของชุมชน ก็ต้องมาจัดการดูแลให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งส่วนราชการและประชาชน เพื่อลดความขัดแย้ง เพราะเรื่องที่ดินเป็นพื้นฐานของการนำไปสู่การประกอบอาชีพ การทำประโยชน์ต่างๆ เช่น การทำนา ทำสวน เป็นแหล่งที่มาที่ทำให้เกิดรายได้เกิดอาชีพของประชาชน เราจึงต้องทำเรื่องนี้อย่างระมัดระวัง เพราะหากเราไม่ระมัดระวัง ปล่อยให้ทุกคนเข้ามาแล้วได้กรรมสิทธิ์ ใครบุกรุกแล้วได้ที่หลวง ถือครองที่หลวงได้ ทำให้ต่อไปจะมีการบุกรุกที่ป่า บุกรุกที่สาธารณะกันมากขึ้น
กรมที่ดินในฐานะที่เป็นหน่วยในการออกเอกสารที่ดิน ก็ต้องดูแลเรื่องเหล่านี้ให้รอบคอบที่สุด เวลาจะเดินสำรวจก็ต้องไปดูแนวเขตกันให้ดี ต้องดูกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประกาศ กฎกระทรวงต่างๆ ถ้าหากว่าเป็นการไปออกโฉนดที่เกี่ยวข้องกับที่ป่าอยู่ด้วย หรือที่สงวน ไม่ว่าจะเป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์ หรือที่ดินสาธารณประโยชน์ใช้ร่วมกัน เจ้าหน้าที่ก็ต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น แต่ทั้งหลายทั้งปวงกรมที่ดินก็พยายามจะเร่งรัด อันไหนที่จะแยกกันออกได้ หรือว่ากันส่วนออกมาได้ว่าไม่ใช่เขตป่าแล้ว หรือไม่ใช่ที่สาธารณะแล้ว ก็จะเร่งรัดการออกโฉนดให้ประชาชน
เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้เดินทางไปราชการที่เชียงของ จังหวัดเชียงราย ก็มีประชาชนที่รอคอยโฉนดที่ดินกันมา 3-4 ปี มีการยื่นเรื่องกัน แล้วกรมที่ดินมีการส่งเจ้าหน้าที่ไปรังวัดและมีการมอบโฉนดที่ดินให้ ซึ่งก็ได้มีการสอบถามว่าที่ดินส่วนใหญ่ใช้ในการทำอะไร ก็ได้ความว่าประชาชนส่วนใหญ่ใช้ในการทำไร่ทำนา เป็นที่อยู่อาศัยเล็กน้อย ก็มีการออกโฉนดให้ถูกต้อง อันนี้คือสิ่งที่กรมที่ดินพยายามเร่งรัด หรือก่อนหน้านี้ที่รัฐบาลมีการไปมอบโฉนดที่ดินให้ประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่นนายกรัฐมนตรีไปมอบที่จังหวัดยะลา ผมก็ไปมอบที่นราธิวาส ซึ่งบริเวณเทือกเขาบูโดเดิม ประชาชนไม่ได้รับเอกสารสิทธิเหมือนกัน เพราะว่าไม่สามารถชี้แนวเขตได้ ประชาชนทำมาหากินกันในที่ดินบริเวณดังกล่าว โดยมีการครอบครองต่อเนื่องมายาวนาน เมื่อมีการพิสูจน์สิทธิ์ได้ ตอนนี้ก็มีการทยอยออกเอกสารสิทธิ โฉนดที่ดินให้ประชาชน รัฐบาลก็มีการดำเนินการลักษณะดังกล่าว ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งยะลา นราธิวาส ปัตตานี รวมถึงบางส่วนในจังหวัดสงขลา ก็มีการเร่งรัดออกโฉนดให้ ภายใต้การประสานงานกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) อย่างรอบคอบที่สุด เพื่อที่จะทำให้ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายทุกประการ และเพื่อเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงในครอบครัวให้ประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในพื้นที่เก้าอำเภอ เช่น อำเภอรามัน อำเภอสุไหงปาดี เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่มีมาอย่างยาวนาน
นิพนธ์-รมช.มหาดไทย กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้มีการเตรียมแผนงานสำหรับโครงการในปี 2563 แล้ว ว่าจะมีการไปเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินให้จังหวัดใดบ้าง โดยมีแผนงานชัดเจน ซึ่งเราตั้งเป้าไว้ว่า ปีหนึ่งๆ เราน่าที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการกำหนดเป้าหมาย โดยกำหนดไว้ว่าแต่ละปีจะต้องทำให้ได้ประมาณ 80,000 กว่าแปลง เช่นปี 2562 เรากำหนดไว้ว่าเราจะทำให้ได้ 80,000 แปลง แต่ปรากฏว่าเมื่อสิ้นสุดแผนงานเราทำได้ 80,038 แปลง ก็เกินเป้าที่วางไว้เล็กน้อย โดยคิดเป็นเนื้อที่ได้ทั้งหมดคือ 175,781 ไร่ ตัวเลขนี้คือที่ดินซึ่งเราสามารถนำมาออกโฉนดที่ดินให้ประชาชนทั้งประเทศ เพราะฉะนั้นแต่ละปีเราจะมีเป้าหมายชัดเจน อย่างปี 2563 เราก็มีเป้าหมายแบบนี้ ภายใต้อัตรากำลังที่เรามีอยู่ โดยเราก็พยายามจะทำกันอย่างเต็มที่ เพราะกรมที่ดินก็มีความพยายาม ความตั้งใจในการที่จะเร่งรัดการออกโฉนดที่ดินให้ประชาชน ซึ่งแม้การปฏิบัติหน้าที่เครื่องไม้เครื่องมือเราอาจไม่เพียงพอ รัฐบาลก็มีการจัดงบประมาณให้เพื่อจัดซื้อเครื่องมือเพิ่มขึ้น เช่นเครื่องมือที่ใช้ในการเดินสำรวจ จัดทำรูปที่ดิน ที่เรียกว่า ระบบโครงข่ายการรังวัดด้วยดาวเทียมแบบ RTK GNSS NETWORK ก็จะมีการจัดทำงบประมาณปี พ.ศ.2563 จัดซื้ออุปกรณ์ให้เพิ่มเติม โดยปัจจุบันช่างสำรวจอาจมี 3 คนต่อ 1 เครื่อง เราก็จะทำให้ช่างสำรวจมีหนึ่งเครื่องต่อหนึ่งคน ที่จะทำให้การเดินสำรวจมีประสิทธิภาพในการออกโฉนดให้ประชาชนมีความรวดเร็วมากขึ้น นอกจากนี้ก็พยายามจะเดินตามกฎหมายในการให้ประชาชนได้เป็นเจ้าของเอกสารสิทธิ มีการถือครองที่เป็นความมั่นคงในครอบครัว แต่ก็อยากบอกประชาชนว่าเวลาได้โฉนดไปแล้วพยายามรักษาดูแลให้ดี โดยหากจำเป็นต้องนำหลักทรัพย์โฉนดที่ดินไปเป็นหลักประกัน ก็ไม่ควรนำไปสู่การกู้นอกระบบ หากจำเป็นจริงๆ ก็ขอให้กู้ในระบบเพื่อทำให้ทรัพย์สินอยู่กับครอบครัวได้ยาวนาน
อีกเรื่องที่กังวลก็คือการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดิน ที่สาธารณประโยชน์ กรมที่ดินก็มีแผนดำเนินการในการออกรังวัด การตรวจสอบการออกหนังสือสำคัญ ในที่หลวง ซึ่งมีเป้าหมายทำให้ได้อย่างน้อยปีละหนึ่งพันแปลง จากที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ยังไม่มีการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง จำนวน 6,975 แปลง ตอนนี้ยังไม่ได้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ก็จะเร่งรัดการออก เพื่อที่จะให้ได้เอกสารสิทธิ หรือมีเอกสารในการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินแต่ละแปลง
-ช่วงเลือกตั้งประชาธิปัตย์เคยชูนโยบายเรื่องธนาคารที่ดิน หรือโครงการโฉนดสีฟ้า ในฐานะดูแลกรมที่ดินจะผลักดันให้สิ่งที่พรรคเคยหาเสียงไว้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างไร?
สิ่งที่ทำไว้จะนำไปสู่การจัดการที่ดินทั้งระบบ วันนี้เมื่อพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคร่วมรัฐบาล ก็ต้องนำนโยบายพรรคมาสู่นโยบายรัฐบาล เมื่อรัฐบาลประกาศนโยบายเรื่องที่ดินไว้อย่างไร เราก็ต้องดำเนินการตามสิ่งนั้น อย่างเรื่องโฉนดชุมชน แต่เวลานี้กำลังเคลื่อนจากที่เคยใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ต่อไปก็มีกฎหมายมารองรับเรื่องโฉนดชุมชน โฉนดสีฟ้ามากขึ้น ทุกอย่างจะเดินหน้าไปสู่การจัดที่ดินให้ประชาชน อย่างน้อยแม้อาจไม่ถึงกับเป็นสิทธิส่วนตัว แต่ก็ต้องมีสิทธิชุมชนในการได้ดูแลที่ดินแปลงนั้นๆ ร่วมกัน มีการจัดการในนามชุมชน ให้ประชาชนมีหลักประกันร่วมกันว่าอย่างน้อยเขาจะมีสิทธิ์ได้ใช้ที่ดินในนามชุมชนได้ ซึ่งนโยบายที่พรรคประชาธิปัตย์เคยหาเสียงไว้ พรรคเราก็กำลังดำเนินการอยู่ อย่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องนโยบายการปฏิรูปที่ดินก็มีการดำเนินการอยู่ ในส่วนของกระทรวงมหาดไทยก็รับผิดชอบงานในส่วนที่ได้รับมอบหมายอยู่ แต่งานส่วนใดที่อยู่ในกระทรวงเกษตรฯ ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานปฏิรูปที่ดินก็รับผิดชอบต่อไป
นิพนธ์-รมช.มหาดไทยจากพรรค ปชป. กล่าวอีกว่า สำหรับสิ่งที่พรรคเคยหาเสียงไว้เวลานี้ก็เร่งเดินหน้าอยู่ โดยเฉพาะนโยบายโครงการรายได้สินค้าเกษตร เพราะประชาธิปัตย์ได้ดำเนินการไปมากพอสมควรแล้ว โดยเฉพาะในสองพืชหลักขณะนี้คือ ปาล์มกับข้าว ส่วนยางพาราก็คิดว่าอีกสักหนึ่งอาทิตย์หรือไม่เกินสองอาทิตย์ต่อจากนี้ก็คงจะมีมติคณะรัฐมนตรีออกมา โดยเรื่องปาล์มกับข้าว ครม.ได้มีมติประกันรายได้ให้เกษตรกร โดยชาวสวนปาล์มได้กิโลกรัมละสี่บาท ส่วนประกันราคาข้าวให้เกษตรกรชาวนา เช่น ข้าวหอมมะลิ 15,000 บาท หากเกษตรกรขายไม่ได้ รัฐบาลจะดูแลส่วนต่างให้ เช่น ขายปาล์มได้ 3.50 บาท อีก 50 สตางค์ รัฐจะจ่าย หรือขายปาล์มได้ 3 บาท แต่รัฐประกันรายได้ไว้ที่ 4 บาท ก็เท่ากับ 1 บาท คือส่วนต่างรัฐก็จะจ่ายส่วนต่างนี้ให้กับเกษตรกร เช่นเดียวกับข้าวที่รัฐประกันรายได้ไว้ที่ 15,000 บาท เมื่อเกษตรกรขายได้ 12,000 บาท รัฐก็จะรับผิดชอบจ่ายส่วนต่างให้ไป 2,000 บาท ก็เป็นการสร้างหลักประกันรายได้ให้เกษตรกร สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์เคยหาเสียงไว้เรื่องนโยบายประกันรายได้สินค้าเกษตรก็จะทำทั้งหมด มีการเดินหน้าอย่างเต็มที่ในเวลานี้.
โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร
………………………..
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |