หมอกควันคลุมเมือง"เสี่ยงตาย"รายวัน


เพิ่มเพื่อน    


 สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศที่แม่เหียะ เก็บข้อมูลฝุ่น PM 10 และ PM 2.5 ตลอด 24 ชม. ส่วนหนึ่งของงานวิจัย                     

  
                  
    ในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปีพื้นที่ภาคเหนือตอนบนจะเผชิญปัญหาสถานการณ์หมอกควันและไฟป่าอย่างหนัก พบค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานในหลายวัน เป็นคุณภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็ง   ปีนี้เชียงใหม่ก็น่าห่วงถูกปกคลุมด้วยหมอกควันหนาแน่นไปทั้งเมืองจนทำให้ดอยสุเทพหายไปกับตา  ขณะที่หลายจังหวัดภาคเหนือค่าฝุ่นละอองพุ่งเกินมาตรฐาน หมอกควันพ่นพิษติดอันดับเช่นกัน 

    แม้แต่ละจังหวัดจะระดมสรรพกำลังและบังคับใช้มาตรการห้ามเผาเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษแล้ว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ยังมีประชาชนลักลอบเผาในพื้นที่เกษตร พบจุดเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด  ที่ผ่านมาข้อมูลการปล่อยมลพิษจากการเผาในที่โล่ง ต้นตอปัญหาหมอกควันยังมีจำกัดและไม่ชัดเจน จึงมีการจัดทำ"โครงการติดตามตรวจสอบการเผาในที่โล่งในภาคเหนือของประเทศไทย สำหรับการประเมินการปล่อยและเคลื่อนที่ของมลพิษทางอากาศเพื่อการวางแผนการจัดการปัญหาหมอกควัน " โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) งานวิจัยชิ้นนี้น่าสนใจตรงการศึกษาข้อมูลย้อนหลัง 10  ปี  (ระหว่างปี 2549-2558  ) ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา และตาก 

ผศ.ดร.สมพร จันทระ หน.ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ม.เชียงใหม่ 

 

    ผศ.ดร.สมพร จันทระ หัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักวิจัยโครงการฯ กล่าวว่า  ปัญหาหมอกควันภาคเหนือตอนบนมาจากหลายปัจจัย เริ่มจากสภาพภูมิประเทศมีการตั้งเมืองในแอ่งและภูเขาล้อมรอบเอื้อเกิดมลพิษอากาศ  อีกทั้งสภาพภูมิอากาศช่วงปลายฤดูหนาวก่อนเข้าฤดูแล้งจะมีความกดอากาศสูงและอากาศนิ่ง เมื่อมีมลพิษเกิดขึ้นในแอ่งแล้ว การระบายมลพิษทำได้ยาก ทั้งสองปัจจัยนี้ควบคุมไม่ได้ อีกปัจจัยเป็นการเผาในที่โล่งทั้งการเผาในพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตร ซึ่งควบคุมได้ที่แหล่งกำเนิด ขณะนี้รัฐบาลได้พยายามแก้ปัญหาหมอกควันและไฟป่าอยู่ 

    อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ ม.เชียงใหม่บอกฝุ่นที่ได้จากการเผามีทั้งฝุ่นขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน หรือ PM 10 และฝุ่นขนาดเล็ก 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าเส้นผมมนุษย์ ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ยิ่งขนาดเล็กยิ่งเป็นอันตรายต่อปอด  แล้วยังมีสารที่เกาะกับฝุ่นก็อันตรายเช่นกัน  ช่วงหมอกควันที่ปริมาณฝุ่นในบรรยากาศมากยังทำให้ทัศนวิสัยในการมองเห็นแย่ลง ท้องฟ้าเมืองเชียงใหม่ขมุกขมัว มองไม่เห็นแนวภูเขา เป็นสถานการณ์ที่พบเจอทุกปีช่วงฤดูแล้ง 

    จากการวิเคราะห์ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมแลนด์แซท ย้อนรอย 10 ปี ผศ.ดร.สมพร ชี้มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินอย่างเห็นได้ชัดใน 9 จังหวัด โดยพื้นที่ป่าลดลงมากกว่า 14,000 ตารางกิโลเมตร  ขณะที่พื้นที่เกษตรเพิ่มขึ้นเกือบ 13,000 ตร.กม. เกษตรบนที่สูงเพิ่มขึ้นชัดเจน   ปี 2550 พบจุดความร้อนในพื้นที่ 9 จังหวัดหนาแน่น ทุกพื้นที่ เทียบกับปี 2554  มีปริมาณน้ำฝน และเกิดอุทกภัย ทำให้การเผาน้อยและไม่เจอหมอกควัน ดูเหมือนหากเราไม่เลือกหมอกควันก็ต้องเจอน้ำท่วมแทน 

    "  จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีการเผาซ้ำที่ตำแหน่งเดิมในระยะ 2-5 ปีมากที่สุด  รองลงมาตาก เชียงใหม่ ส่วนการเผาในที่โล่งพบสูงสุดในเดือนมีนาคม จะเริ่มเผาตั้งแต่เดือนธันวาคม ใน จ.เชียงราย พะเยา เดือนมกราคม กุมภาพันธ์และมีนาคม จะเผาในที่โล่งมากใน จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ตาก และน่าน  สรุปจากภาพถ่ายดาวเทียมและการเดินสำรวจ พบป่ามีจุดความร้อนเพิ่มมากเดือนกุมภาพันธ์ สูงสุดเดือนมีนาคม  ส่วนการเผาพืชไร่บนที่สูงก็สูงสุดเดือนมีนาคมเช่นกัน " ผศ.ดร.สมพร เผยงานวิจัย 

    ในปี 2558  นักวิจัยบอกว่า ปริมาณเชื้อเพลิงชีวมวลที่ถูกเผาทุกชนิด 9 จังหวัดอยู่ที่ 4 ล้านตัน  มากสุดที่แม่ฮ่องสอน 0.9 ล้านตัน รองลงมา จ.เชียงใหม่ น่าน และตาก พบการเผาในป่าเบญจพรรณที่แม่ฮ่องสอนมากสุด 0.3 ล้านตัน ส่วนเผาไร่ข้าวโพดพบมากสุดที่น่าน 0.4 ล้านตัน เผานาข้าวมากสุดในเชียงใหม่   ส่งผลต่อมลพิษอากาศรุนแรง 

    สำหรับปริมาณมลพิษที่เกิดขึ้นจากการทดสอบการเผาฟางข้าว เศษต้นข้าวโพด เศษใบไม้จากป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ โดยใช้เตาจำลองการเผาชีวมวลในที่โล่ง ติดตั้งที่คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่   และใช้เครื่องมือตรวจวัดก๊าซและเก็บตัวอย่างฝุ่นที่ปล่อยออกมาจากการเผาชีวมวลทั้งฝุ่น PM10 และ PM 2.5  นักวิจัย พบว่า การเผาชีวมวลทุกชนิดให้มลพิษใกล้เคียงกัน  แต่การเผาฟางข้าวและใบไม้จากป่าปล่อยฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 มากกว่าเผาข้าวโพด แต่ข้อค้นพบที่น่าสนใจ คือ ฝุ่นจากเผาฟางข้าวมีปริมาณโพแทสเซียมและคลอไรด์สูงกว่าพืชป่า เพราะมีการใช้ปุ๋ยและสารเคมีกำจัดศัตรูพืชปลูกพืชเกษตร  ส่วนสารพอลิไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHs)  เป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งการเผาพืชทุกชนิดให้สารพีเอเอชใกล้เคียงกัน การรับฝุ่นควันกระทบสุขภาพ 

    " การเสี่ยงภัยภาวะหมอกควัน สรุปได้ว่า เดือนมกราคมและกุมภาพันธ์มีเพียง 1-5 วันต่อเดือนที่ค่าฝุ่น PM10 เกินค่ามาตรฐาน กระทบต่อสุขภาพ แต่เดือนมีนาคมตลอดทั้งเดือน มีสถานการณ์มลพิษทางอากาศรุนแรงที่สุด และจากข้อมูลย้อนหลังพบช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน มีการระบายอากาศดีที่สุด เดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ อัตราระบายอากาศแย่  ข้อมูลเหล่านี้เราเสนอให้นำไปใช้ประโยชน์เพื่อกำหนดนโยบายห้ามเผา เพราะปัจจุบันภาครัฐกำหนดห้ามเผา 2 เดือนต่อเนื่อง ไม่มีข้อยกเว้น อาจจะง่ายต่อการจัดการของเจ้าหน้าที่  แต่ขาดความยืดหยุ่น สร้างความยากลำบากในการจัดการชีวมวลในพื้นที่ จากการวิจัยเดือนมกราคมถึงเมษายน มีวันที่อัตราการระบายอากาศดี แต่ต้องอาศัยการพยากรณ์ล่วงหน้าเพื่อประเมินสภาพอากาศ และอัตราระบายอากาศรายวัน  ผู้ถือนโยบายต้องมีความพร้อม  นอกจากนี้ งานวิจัยช่วยให้เกษตรกรมีทางเลือกจัดการชีวมวลในพื้นที่  " ผศ.ดร.สมพร 

    อย่างไรก็ตาม แม้ 9 จังหวัดภาคเหนือจะกำหนดมาตรการห้ามเผาราว 15 ก.พ.-15 เม.ย.  แต่นักวิจัยชี้ภาพถ่ายดาวเทียมยังตรวจพบจุดความร้อนจำนวนมากในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งสอดคล้องกับฝุ่น PM10 ในอากาศที่รายงานโดย คพ.ส่วนปี 2560 ได้จัดทำโครงการวิจัย"ประเทศไทยไร้หมอกควัน"  มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศที่แม่เหียะ แยกจากสถานีของ คพ. โดยเก็บตัวอย่างรายวัน 24 ชม. และนำไปวิเคราะห์ในห้องแล็ป  เริ่มทำเดือน มี.ค. และเม.ย  ปีที่แล้วมีหลายวันที่ PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน 

    " ปีนี้เชียงใหม่ PM 10 ยังไม่เกินค่ามาตรฐาน แต่ PM 2.5 เกินไปแล้ว ถ้าโฟกัสเฉพาะฝุ่น PM 10 เรายังปลอดภัยอยู่ แต่ถ้าฝุ่นขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน อันตรายแล้ว เกินค่ามาตรฐานตั้งแต่เดือน ก.พ. ผลกระทบจึงไม่จริงเท่ากับความเป็นจริง การแก้ปัญหาหมอกควันภาคเหนืออย่างยั่งยืน มีนโยบายห้ามเผา พยายามลดปัญหาที่ต้นตอ ง  จริงๆ แล้วต้องอาศัยงานวิจัยช่วยพิสูจน์ว่า ช่วงที่มีมาตรการห้ามเผาลดมลพิษทางอากาศได้จริงหรือไม่ โดยไม่ดูที่ HOTSPOT เพียงอย่างเดียว เพราะมีจุดอ่อนตรวจไม่พบ หากการเผาฃนาดไม่ใหญ่พอ ต้องใช้ข้อมูลตรวจวัดจริงในพื้นที่ที่ๆเป็นตัวแทน ปัจจุบันสถานีตรวจวัดของ คพ. อยู่ในเขตเมือง ขณะที่การเผาส่วนใหญ่เกิดในพื้นที่รอบนอก ห่างไกลจากตัวเมือง แต่ส่งผลกระทบทั่วถึง ฉะนั้น ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ประชาชน ต้องช่วยกันและหาจุดยืนร่วมกัน หาทางออกที่ดีที่สุด  "      หัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มช. กล่าวในท้าย 

    ศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ หัวหน้าหน่วยวิชาโรคระบบการหายใจ เวชบำบัด วิกฤตและภูมิแพ้ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยผลกระทบของหมอกควันห่มคลุมเมืองว่า มลพิษทางอากาศอันตรายยิ่งกว่าบุหรี่ เพราะกระทบตั้งแต่ในครรภ์มารดา ทั้งคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐาน ติดเชื้อง่าย เกิดความพิการในครรภ์ จนถึงลมหายใจสุดท้ายของชีวิต  โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่มีภูมิต้านทานต่ำเป็นกลุ่มเสี่ยงจากฝุ่นพิษ   ผลกระทบต่อสุขภาพไม่ใช่แค่แสบตา ระคายผิว อย่างที่ภาครัฐพูด  แต่ทำให้สมรรถนะร่างกายถดถอย เจ็บป่วยรุนแรง เป็นโรคมะเร็ง นอนโรงพยาบาล เข้าห้องฉุกเฉิน และเสียชีวิต กว่า 10 ปีที่ตนนำเสนอข้อมูลผลกระทบของมลพิษตามฤดูกาลจากการเผาพื้นที่เกษตรต่อสุขภาพ  มีผลกระทบทั้งระยะสั้นและระยะยาว  แต่ภาครัฐยังขาดการแก้ไขอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ 

ศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ คณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่

 

    " ฝุ่นขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน จะเข้าสู่ทางเดินหายใจส่วนล่าง ถ้าอนุภาคเล็กกว่า 2.5 ไมครอนเข้าสู่กระแสเลือด สะสมรอเวลาเป็นมะเร็ง  องค์การอนามัยโลกศึกษามลภาวะอากาศ พบว่า ทุกๆ 10 ไมโครกรัมของฝุ่น PM 10 ที่เพิ่มขึ้น มีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 0.6% ความตายรายวันสัมพันธ์กับระดับควันพิษแบบเดียวกับเงาตามตัว    ตายจากโรคระบบทางเดินหายใจเพิ่มขึ้น 1.3% ตายจากระบบหลอดเลือดเพิ่มขึ้น 0.9% ระยะยาว 7-20 ปี อัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 4% นอกจากนี้ ทุกๆ 10 ไมโครกรัมของฝุ่นพิษ 2.5 ไมครอนเสี่ยงมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น 8-14%   ประเทศที่พัฒนาแล้วเมื่อควบคุมระดับมลพิษได้ตามเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดแล้ว ยังปรับลดค่ามาตรฐานให้ต่ำลงอีกเพื่อให้อัตราผู้ป่วยลดลง  แต่ประเทศไทยยอมรับค่ามาตรฐานที่สูง ปล่อยให้ประชาชนเสี่ยงชีวิตมากขึ้น " ศ.นพ.ชายชาญ กล่าว

     นอกจากนี้ หน.หน่วยวิชาโรคระบบการหายใจฯ ม.เชียงใหม่ ย้ำชัดคุณภาพอากาศในพื้นที่เชียงใหม่ตลอดเดือดกุมภาพันธ์จนถึงวันที่ 5 มีนาคม พบค่าฝุ่น PM 2.5  เกินมาตรฐานทุกวัน  ตั้งแต่วันแรกที่รับฝุ่นส่งผลให้โรคหอบหืด โรดปอด โรคทางเดินหายใจกำเริบ    ถ้ารับมลภาวะติดต่อกัน 7 วัน ฝุ่น PM 2.5 ซึมลึกในกระแสเลือดส่งผลผู้ป่วยเส้นเลือดในสมองแตก อัมพาตและเสียชีวิตที่บ้านเพิ่มขึ้น สำหรับข้อ แนะนำให้ประชาชนป้องกันสุขภาพตัวเอง สวมใส่หน้ากากป้องกันที่เหมาะสมเมื่อต้องอยู่ในที่โล่งแจ้ง หรือทำม่านน้ำลดฝุ่นละอองในบรรยากาศ  สำหรับในพื้นที่เสี่ยงผู้มีอาการป่วยต้องอพยพออกนอกพื้นที่ 

    โรคที่ตายสูงสุด 5 อันดับแรกของคนไทย โรคมะเร็งเป็นอันดับ 1 ตามด้วยโรคหลอดเลือดในสมอง ปอดอักเสบ โรคหัวใจขาดเลือด และการบาดเจ็บจากการจราจรทางถนน และจากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข พบว่าภาคเหนืออัตราเสียชีวิตจากโรคมะเร็งติดอันดับ 1 ศ.นพ.ชายชาญ บอกว่า ผู้ป่วยโรคมะเร็งในภาคเหนือสัมพันธ์กับจุดสะสมความร้อนย้อนหลัง ซึ่งแสดงถึงมลพิษทางอากาศที่สะสมให้พื้นที่ นำไปสู่โรคมะเร็ง     นอกจากนี้ ตนได้ทำโครงการวิจัยผลกระทบมลพิษต่อสุขภาพในพื้นที่ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ยืนยันการตายเพิ่มขึ้นจากฝุ่นขนาดเล็กที่เพิ่มสูงขึ้นทั้ง PM 10 และ PM 2.5 

    " การแก้ปัญหาหมอกควันต้องผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ มีความท้าทาย จะแก้เฉพาะในประเทศกำชับแต่ละอำเภอ ตำบล ห้ามเผาเป็นพื้นที่ไร้ควัน ขณะที่เพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา  พม่า ลาวก็เผา ปัญหาก็ไม่บรรเทา เพราะจากการศึกษามีการเคลื่อนที่ของมลพิษทางอากาศ เราปล่อยให้ความเสี่ยงสะสมต่อสุขภาพมาตลอด ถึงเวลาต้องบูรณาการวางแผนจัดการปัญหาหมอกควันร่วมกัน ผู้นำของแต่ละประเทศในเออีซีต้องพูดคุยกัน " ศ.นพ.ชายชาญ ฝากถึงผู้บริหารระดับนโยบายมุ่งสู่อากาศบริสุทธิ์ปราศจากมลพิษในอนาคต . 

ฝุ่นบนกระดาษกรองจากเครื่องเก็บตัวอย่างฝุ่น PM 2.5 ของสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มช.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"