”ธนาคารน้ำใต้ดินหนองมะโมง”โมเดล" แก้น้ำท่วม-น้ำแล้ง "ซ้ำซาก      


เพิ่มเพื่อน    

       
    ธนาคารน้ำใต้ดิน (Groundwater Bank)  หรือการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำไว้ เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้ โดยอาศัยการดูดซึมของหินใต้พื้นผิวดินที่มีน้ำหรือการส่งต่อน้ำบาดาลผ่านบ่อซึม  ซึ่งธนาคารน้ำใต้ดินมี 2แบบ คือ การเติมน้ำลงในแอ่งน้ำ (Basin) โดยตรง กับการใช้การแทนที่เพื่อเติมน้ำลงในแอ่งน้ำ ซึ่งจากทั้ง 2 วิธี จะทำให้ได้น้ำบาดาลที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ภายหลัง   ธนาคารน้ำใต้ดินจึงนับว่าเป็น“ทางเลือกใหม่ต้านภัยแล้ง”ที่ดี ซึ่งรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ดินแดนแหล่งผลิตอาหารหลักของสหรัฐอเมริกา มักประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ได้นำ"ธนาคารน้ำใต้ดิน"มาใช้  และกลายเป็นตัวอย่างความสำเร็จ 


    สำหรับประเทศไทย ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา  ได้มีการนำแนวคิดการทำ"ธนาคารน้ำใต้ดิน"มาใช้ โดยองค์กรปกครองท้องถิ่นหลายแห่ง(อปท.) หลายจังหวัด ได้สร้างธนาคารน้ำใต้ดิน ไว้เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง และน้ำท่วม แต่บางแห่งก็ประสบความสำเร็จ แต่ก็มีอีกหลายแห่งทำแล้วแต่ล้มเหลว 


    ในการรับมือปัญหาน้ำท่วม ซึ่งปีนี้ถล่มอีสานหลายจังหวัดอ่วมอรทัย  ล่าสุด  พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) ไปศึกษาแนวทางจัดการน้ำ รวมถึงแผนการทำแก้มลิงบริเวณที่น้ำท่วมซ้ำซาก โดยจะต้องมีมาตรการเยียวยาประชาชน  รัฐบาลอนุมัติงบกลางปี 62 กรณีฉุกเฉินกว่า 2.6 แสนล้านบาท ตามที่ สทนช.เสนอเพื่อทำโครงการแก้ไขและบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากน้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือของกรมชลประทานและกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) รวม 78 โครงการ 


    แนวทางแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง สทนช.ก่อนหน้านี้ ได้ชูเรื่องการแก้ปัญหาพื้นที่อย่างเป็นระบบ แบ่งเป็น 66 พื้นที่ทั่วประเทศ  หรือ  Area Based 66 ทั้งพื้นที่ที่มีปัญหาน้ำซ้ำซาก พื้นที่ที่ต้องพัฒนาเรื่องน้ำอย่างเร่งด่วน ซึ่งการแก้ปัญหาลดทุกข์ร้อนชาวบ้านมีเครื่องมือหลากหลายทั้งแก้มลิง ประตูระบายน้ำ อ่างเก็บน้ำ การผันน้ำ สร้างระบบป้องกันน้ำท่วม ขึ้นกับสภาพปัญหาของพื้นที่   แต่ในแผนของสทนช. ยังไม่มีเรื่องการทำ"ธนาคารน้ำใต้ดิน" รวมอยู่ด้วย


    แต่เมื่อเร็วๆนี้  สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ(องค์การมหาชน)หรือ NIA ได้เสนอโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน(ระบบปิด) และโครงการการบริหารจัดการธนาคารน้ำใต้ดินด้วยเทคโนโลยีระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์พื้นที่ ณ ชุมชนหนองมะโมง อ.หนองมะโมง จ.ชัยนาท  เพื่อเป็นต้นแบบการทำธนาคารน้ำใต้ดินแก่พื้นที่อื่นๆ   นำคณะลงพื้นที่ตรวจติดตามความก้าวหน้าของทั้งสองโครงการเมื่อวันก่อน  หลังเทศบาลตำบลหนองมะโมง ที่ทำธนาคารน้ำใต้ดินมา ตั้งแต่ปี 2560 ประสบความสำเร็จ   เพราะสามารถช่วยแก้น้ำท่วมน้ำแล้งในพื้นที่ ซึ่งก่อนหน้านี้ประสบปัญหาซ้ำซากทุกปีได้  และพลิกพื้นที่จากแห้งแล้งกลับอุดมสมบูรณ์มีน้ำใช้ตลอดปี   


    อาจกล่าวได้ว่า  ธนาคารน้ำใต้ดิน ที่ชุมชนหนองมะโมง มีความก้าวหน้ามากกว่าธนาคารน้ำใต้ดิน แห่งอื่นๆ เพราะมีการผนวกเอาเทคโนโลยีสารสนเทศ เข้ามาใช้ร่วมด้วย ทำให้การบริหารจัดการน้ำ ที่มาจากธนาคารน้ำใต้ดินในชุมชน มีประสิทธิภาพสูง ได้ผลสมบูรณ์ 


    วิเชียร สุขสร้อย รองผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมแห่งชาติ(องค์การมหาชน) หรือNIA กล่าวว่า โครงการธนาคารน้ำระบบปิดเป็นนวัตกรรมเพื่อสังคม โดยประยุกต์ใช้ความคิดใหม่ๆและเทคโนโลยีที่เหมาะสมแก้ปัญหาสังคมยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นสำหรับชุมชนหนองมะโมงมีนวัตกรรมต้นแบบที่สำเร็จแล้วขยายผลสู่ชุมชน  4 โครงการ  มี 2 ผลงานนวัตกรรมแก้น้ำท่วมและแห้งแล้ง คือโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน(ระบบปิด) เป็นการจัดการน้ำทั้งระบบใช้เทคโนโลยีด้านธรณีวิทยาสำหรับทิศทางการไหลของน้ำประยุกต์ใช้กับระบบธนาคารน้ำใต้ดินกักเก็บน้ำที่เหลือบนผิวดินในฤดูฝนลงใต้ดิน ทำให้มีแหล่งน้ำธรรมชาติ ชาวบ้านนำน้ำขึ้นมาใช้หน้าแล้งได้  อีกโครงการเป็นการบริหารจัดการธนาคารน้ำใต้ดินด้วยเทคโนโลยีระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ในชุมชนหนองมะโมงเพื่อวางแผนและออกแบบการทำธนาคารน้ำใต้ดิน จัดสรรการใช้น้ำให้ชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม 

    “ ทุกโมเดลมาจากการวิเคราะห์ปัญหาชุมชน ไม่ได้ยัดเยียด พบปัญหาน้ำซ้ำซากจึงใช้วิทยาศาสตร์และข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์พื้นที่เพื่อออกแบบแก้ปัญหาเกิดนวัตกรรมธนาคารน้ำใต้ดินสำหรับเทศบาลตำบลหนองมะโมงถือเป็นตัวอย่าง ทำแล้วได้ผล มีแผนจะขยายผลส่งเสริมกับชุมชนต่างๆโดยประสานกับกระทรวงมหาดไทยนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม  “ วิเชียร กล่าว


    เทคโนโลยีสารสนเทศ ที่นำมาใช้กับธนาคารน้ำใต้ดินหนองมะโมงนี้   NIA ได้รับความร่วมมือจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มธจ.)เข้ามาติดตั้งระบบ   ดร.ปริเวท วรรณโกวิท หัวหน้าศูนย์วิศวกรรมสารสนเทศภูมิศาสตร์และนวัตกรรม(KGeo)  มธจ.   กล่าวว่า  ตั้งเป้าให้ธนาคารใต้ดินหนองมะโมง  ให้เป็นจุดถ่ายทอดความรู้ เพราะเป็น  อบต.ที่เก่งจริงเจ๋งจริง   ในพื้นที่มีข้อมูลด้านต่างๆ มีการพัฒนาต่อยอด นำมาสู่การเก็บคุณภาพน้ำและจัดทำแผนที่แสดงข้อมูลต่างๆ อนาคตจะต่อยอดทำบัญชีน้ำแต่ละตำบล หากรู้และผนวกกับข้อมูลกรมอุตนิยมวิทยาจะบริหารจัดการน้ำได้ง่ายขึ้นและคัดเลือกพืชมาเพาะปลูกอย่างเหมาะสม ขณะนี้มีการอบรมธนาคารน้ำใต้ดิน อปท. ทั่วประเทศ    


    หากกางแผนที่ประเทศไทย พื้นที่ตรงไหน สามารถทำงธนาคารน้ำใต้ดินได้บ้าง หัวหน้าศูนย์ KGeo กล่าวว่า  ภาคเหนือมีแนวเทือกเขาหรือชั้นหินแกรนิตขุดเจาะยาก ต้องใช้งบเยอะ ภาคอีสานระดับชั้นหินอุ้มน้ำไม่ลึกมาก บางพื้นที่มีแผ่นเกลือ ควรหลีกเลี่ยง ส่วนภาคใต้พื้นที่แคบและติดชายฝั่งทะเล 2 ฝั่ง ภาคกลางมีปัญหาดินเหนียวหรือดินดาน ทำได้ถ้าขุดให้ทะลุก็ลึกหน่อย  


    ดังนั้น ก่อนทำธนาคารน้ำใต้ดิน  แต่ละพื้นที่จะต้องมีการศึกษาเก็บข้อมูลพื้นฐานด้านทรัพยากรธรณี การสำรวจชั้นดิน และข้อมูลด้านน้ำในชุมชน รวมทั้ง ทิศทางการไหลของน้ำใต้ดิน ในพื้นที่ลุ่มน้ำระดับชุมชนการเจาะสำรวจชั้นดิน   ต้องมีการวางแผนและกำหนดจุดระบบการเติมน้ำลงในแผน  ซึ่งในอนาคตการออกแบบระบบธนาคารน้ำใต้ดิน   ควรมีการใช้ภาพถ่ายดาวเทียมมากำหนดจุด   เพราะจะสามารถเจาะจง


    "การทำธนาคารน้ำใต้ดิน ปัจจุบันยังเป็นข้อมูลกระจัดกระจายเฉพาะพื้นที่ ขณะนี้กำลังปรึกษากรมทรัพยากรน้ำบาดาลจัดทำข้อมูลเหล่านี้ออกมา  ซึ่ง คีย์เวิร์ด หลักการสำคัญ คือ การหน่วงน้ำ การผันน้ำในพื้นที่ รวมน้ำที่ท่วมหลากนำมาเก็บไว้และใช้ยามแล้ง ปราชญ์ชาวบ้านในแต่ละชุมชนฉลาดกว่านักวิชาการ สามารถชี้เป้าได้ว่า จุดรวมน้ำอยู่ที่ไหนเพราะอยู่กับพื้นที่มายาวนาน  “ ดร.ปริเวท กล่าว 

 

    ทั้งนี้ หัวหน้าศูนย์KGeo  ยังกล่าวอีกว่า ขณะนี้ได้เสนอให้ สทนช.พิจารณาผนวก"ธนาคารน้ำใต้ดิน "ให้เป็นหนึ่งในวิธีการปัญหาเรื่องน้ำ ทั้งน้ำแล้ง หรือน้ำท่วมซ้ำซาก ซึ่ง NIA เองยังยอมรับ และให้การสนับสนุนเพราะเห็นว่าเป็นนวัตกรรมแก้ปีญหาเรื่องน้้ำ  ที่ลงทุนน้อย ประหยัด สามารถทำได้ระดับชุมชน  ซึ่งไม่จำเป็นต้องนำโครงการใหญ่ระดับพันล้านมาแก้ปัญหา   แต่สามารถนำนวัตกรรมชุมชนไปประยุกต์ใช้  แล้วเอางบที่เหลือมาส่งเสริมการเกษตรหรือพัฒนานวัตกรรมอื่นๆต่อไป  

     “ สทนช. มีระบบแก้ปัญหาน้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ไข่แดง  66 Area Based ที่ท่วม-แล้งซ้ำซาก จะเป็นการระดมงบฯจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และทำเป็นโครงการขนาดใหญ่ หรือเมกะโปรเจ็ค  ซึ่งบางพื้นที่ไม่จำเป็นต้องทำถึงระดับนั้น เป็นการเปลืองงบฯไปเปล่า ๆ   ซึ่งโครงการขนาดเล็กๆ ได้ผลประโยชน์สูงอย่างธนาคารน้ำใต้ดิน  มีประสิทธิภาพเติมระบบจัดการน้ำให้ยั่งยืน  มีความน่าสนใจในตัวเอง  ล่าสุด สทนช.ตอบรับมาว่าสนใจที่จะมาดูโครงการแล้ว  และวันที่ 26 กันยายนนี้   ดร.สมเกียรติ    ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. จะลงพื้นที่เยี่ยมธนาคารน้ำใต้ดิน ที่ จ.นครพนม  เพื่อจะนำแนวทางนี้ ทำในพื้นที่ อบต.ที่มีปัญหาน้ำซ้ำซากกว่า 400 แห่ง “ ดร.ปริเวท กล่าว 

    ด้วยจุดเด่นธนาคารใต้ดินหนองมะโมง  หลักๆต้องให้เครดิตกับท้องถิ่น ที่มีความเข้มแข็ง สามารถเรียนรู้เทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์ และนำความรู้ที่ได้  ไปใช้วางแผนบริหารจัดการน้ำได้อย่างดี    ซึ่งแผนขั้นต่อไปของชุมชน ดร.ปริเวทเผยว่า  เมื่อมีน้ำประกอบอาชีพอย่างเพียงพอ  ชุมชนก็มีแผนจะศึกษาการปลูกส้มโอ มัลเบอร์รี่ ข้าว เพื่อพัฒนาสู่สินค้าที่มีสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์(GI) ช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ มีการทำเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่จะต้องลุยต่อหาช่องทางทางการตลาดสร้างเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน 

     เจาะลึกธนาคารน้ำใต้ดินหนองมะโมง โมเดลกักเก็บน้ำที่หลากท่วมไว้ใช้ยามแห้งแล้ง สายัณห์ ฉุนหอม วิทยากรธนาคารน้ำใต้ดิน อปท.ต้นแบบ ภาคกลาง ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า อำเภอหนองมะโมง พื้นที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของ จ.ชัยนาท ลักษณะเป็นที่ราบสูงไม่ได้รับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาแต่ได้รับน้ำจากอ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี โดยต้องรอฝนตกทางอุทัยธานีทำให้พื้นที่ประสบปัญหาความแห้งแล้งและน้ำท่วมซ้ำซากมายาวนานเป็นร้อยปี เวลาฝนตกได้รับมวลน้ำมหาศาลจากอุทัยธานี ปราการธรรมชาติคือต้นไม้ถูกตัดทำลายบวกกับแหล่งน้ำตื้นเขิน 

    วิทยากรธนาคารน้ำใต้ดิน กล่าวว่าก่อนหน้านี้มีสระเก็บน้ำขนาดใหญ่และสระพวงกระจายหลายจุดเพื่อเก็บน้ำในหนองมะโมงไว้ให้มากที่สุด แต่ก็ค้นหาวิธีเก็บน้ำผิวดินมาไว้ใต้ดิน จึงเริ่มศึกษาโครงการธนาคารน้ำใต้ดินโดยไปศึกษาดูงานที่อบต.เก่าขาม อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี  แต่สภาพชั้นดินสภาพภูมิประเทศและการผันน้ำในชุมชนนำมาสู่การทดลองทำธนาคารน้ำใต้ดิน เพราะมีมวลน้ำจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถบริหารจัดการได้จะไหลลงแม่น้ำและทะเล หน้าแล้งขาดแคลนน้ำ นี่คือการน้อมนำการจัดการน้ำตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของ”ในหลวง” รัชกาลที่9 โดยหาที่ให้น้ำอยู่ สร้างฝาย หาที่ให้น้ำไป สร้างคลองระบายน้ำ และกักเก็บน้ำ ทำธนาคารน้ำใต้ดิน  สำหรับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านนี้มีถ้ำห้วยลึกเชียงใหม่และถ้ำน้ำฮูรายทางเชียงรายทำให้เกษตรกรมีน้ำใช้ทำเกษตร ธนาคารน้ำใต้ดินต้องทำระบบปิดและระบบเปิดควบคู่กันถึงจะมีประสิทธิภาพมากที่สุด 

    จากการศึกษาข้อดีธนาคารน้ำใต้ดินสายัณห์ กล่าวว่า ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมขังแก้ปัญหาพื้นที่แห้งแล้ง ช่วยเพิ่มระดับน้ำใต้ดินบาดาลน้ำตื้น เพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวดินทำให้ต้นไม้และพืชเขียวทั้งปี ลดการระเหยของน้ำลดน้ำเสียในชุมชน ช่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำและดินไปในตัว  ลดความเสียหายด้านโครงสร้างพื้นฐานเพราะถนนขวางทางน้ำกัดเซาะของถนนหรือน้ำป่าไหลหลาก ช่วยป้องกันไฟป่า ปีนี้ไม่มีไฟไหม้ในพื้นที่  นอกจากนี้ แก้ปัญหาน้ำเค็ม  โดยส่งน้ำจากผิวดินลงไปกดทับน้ำเค็มที่มีความถ่วงจำเพาะมากกว่าไม่ให้ขึ้นมาปนเปื้อนน้ำเพื่อกินน้ำใช้

    “ ธนาคารน้ำใต้ดินสามารถเติมน้ำลงชั้นใต้ดินได้ไม่น้อยกว่า 6 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง หรือ 6,000 ลิตรต่อชั่วโมง แต่ก็มีข้อจำกัดของการทำธนาคารน้ำใต้ดินก็ศึกษา  ไม่สามารถทำได้ในเขตอุตสาหกรรม มีบ่อบัดน้ำเสียโรงงาน หรือพื้นที่พบการใช้สารเคมียาฆ่าแมลงสูง และต้องศึกษาข้อมูลบริบทพื้นที่ สภาพธรณีวิทยา ลักษณะชั้นดินตามธรรมชาติหลักการทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิดสำรวจจุดรวมน้ำหรือที่เป็นทางไหลของน้ำจากนั้นขุดหลุมให้ทะลุชั้นดินเหนียวเพื่อให้น้ำซึมสู่ชั้นใต้ดินได้รวดเร็วขึ้นปลูกแฝกรอบบ่อเพื่อดักตะกอนสำหรับวัสดุอุปกรณ์ที่ทำไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม  “ สายัณห์กล่าวในท้าย  ก่อนจะพาชมธนาคารน้ำใต้ดินที่มีกระจายเต็มพื้นที่ ปัจจุบันหนองมะโมงกลายเป็นศูนย์ต้นแบบธนาคารน้ำใต้ดินมีผู้สนใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้ดูงานอย่างต่อเนื่องเป็นการชี้ทางออกดีๆ อีกทางหนึ่งแก้วิกฤตน้ำท่วม 
    

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"