“วิษณุ” ยัน “บิ๊กตู่-ครม.” ยังพร้อมไปชี้แจงสภาในวันที่ 18 ก.ย. เพราะญัตติยังอยู่ แต่ชี้ช่องหากมีใครทำอะไรให้ถอนก็ไม่ต้องไป พร้อมเตือนอภิปรายระมัดระวังวิจารณ์คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ประธานชวนลั่นทุกอย่างยังยึดตามกรอบเดิมไม่เปลี่ยน “พท.-อนค.” ประสานเสียงชี้ศาลเปิดช่องให้ฝ่ายนิติบัญญัติแก้ปัญหาการเมืองเอง “สมชาย-ประพันธ์” ยกมาตรา 211 ขู่ผู้อภิปราย
เมื่อวันพฤหัสบดี ยังคงมีความต่อเนื่องจากมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่รับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน ในประเด็นถวายสัตย์ปฏิญาณของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ปฏิเสธแสดงความเห็น เพียงแต่ยิ้มเมื่อถูกถาม
ในขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวในประเด็นที่สภาผู้แทนราษฎรต้องถอนญัตติดังกล่าวหรือไม่ ว่าแล้วแต่ว่าจะมีใครทำอะไร และแล้วแต่วิปรัฐบาลที่จะไปประสานงาน แต่ถ้ามีการถอนญัตติดังกล่าวออก รัฐบาลก็ไม่ต้องไปชี้แจง หรืออาจอภิปรายให้สั้นลง ไม่ต้องใช้เวลามาก หรืออาจเป็นอย่างที่ฝ่ายค้านระบุว่าจะพูดกันไปโดยที่ไม่มีความเกรงใจ อย่างไรก็ได้ หากญัตติยังอยู่ก็ไปชี้แจง เพราะญัตตินี้ไม่ได้ตกไปโดยอัตโนมัติ แต่ต้องมีใครไปทำอะไรสักอย่างหนึ่ง หากผู้ยื่นญัตติไม่ถอนรัฐบาลต้องไปชี้แจงกันเหมือนเดิม แต่ขอบเขตอภิปรายต้องเปลี่ยนจากเดิมที่คิดไว้ ซึ่งถือว่าจะดีขึ้น โดยการอภิปรายต้องอยู่ภายในข้อบังคับของสภาที่มีอยู่แล้ว และผู้อภิปรายต้องระมัดระวังกรณีจะไปวิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
“ศาลรัฐธรรมนูญได้ให้เหตุผลไว้อย่างชัดเจนว่าทำไมถึงไม่รับ ถือเป็นเหตุผลที่สำคัญ และเป็นไปตามที่ผมเคยบอกไว้ว่าเรื่องนี้จะไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าไม่รับถือว่าจบ และศาลยังได้อธิบายเหตุผลที่เป็นประโยชน์ทั้งนั้นในทุกคำพูด ส่วนจะเป็นผลดีกับรัฐบาลหรือไม่ ไม่แน่ใจ” นายวิษณุกล่าว
ถามย้ำว่า แสดงว่าไม่มีใครจะไปยื่นเรื่องต่อองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญในประเด็นดังกล่าวนี้ได้อีกใช่หรือไม่ นายวิษณุตอบทันทีว่า ใช่ เพราะมีหลายเรื่องที่เข้าข่ายเช่นนี้ แต่ถ้าไปดำเนินการทางการเมืองใดก็แล้วแต่ ไปว่ากันเอง
เมื่อถามว่า ถ้าไม่มีใครขอถอนญัตติออก ประธานสภาฯ สามารถถอนญัตตินี้เองได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ถอนเองไม่ได้ ต้องว่ากันไป แต่อย่างน้อยสมาชิกสภาจะเสียโควตาไป 1 โควตา เนื่องจากญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามมาตรา 152 กระทำได้ปีละ 1 ครั้งเท่านั้น
ถามอีกว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเช่นนี้ รัฐบาลสามารถส่งใครไปชี้แจงต่อสภาได้ใช่หรือไม่ หรือนายกฯ ไม่ต้องไปชี้แจงเอง นายวิษณุกล่าวว่า ยังไม่มีใครคิดไปถึงขั้นนั้น คิดเตรียมการไว้ อย่างไรก็ยังเป็นอย่างนั้นอยู่ โดยเฉพาะนายกฯ ไปตอบเอง ไม่ต้องสงสัยเป็นอย่างอื่นเลย ดูจากวาระงานวันที่ 18 ก.ย.แล้ว นายกฯ จะออกมางานของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่เมืองทองธานี แล้วจะกลับเข้าไปประชุมสภาต่อ หรือแม้แต่ตนเอง ก็ให้ทีมงานประสานเลื่อนวาระงานบางงานอยู่ ส่วนคณะรัฐมนตรีก็ต้องเข้าด้วยกัน เพราะยังไม่รู้ว่าในการอภิปรายจะมีใครโดนหางพายุไต้ฝุ่น
ชวนลั่น 18 ก.ย.ยังปกติ
ด้านนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรกล่าวในเรื่องนี้ว่า การอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ในวันที่ 18 ก.ย. ทุกอย่างยังเป็นไปตามกำหนดวาระปกติของสภา ส่วนศาลรัฐธรรมนูญจะมีความเห็นไม่รับเรื่องไว้พิจารณา ไม่เกี่ยวกับการทำงานของสภา เพราะการอภิปรายแบบไม่ลงมตินี้ เป็นเรื่องการตรวจสอบทางกฎหมายรัฐธรรมนูญที่เขียนกำหนดไว้ว่า ส.ส.มีสิทธิอภิปราย ซักถาม เสนอแนะ และให้คำแนะนำ ซึ่งการอภิปรายก็จะเป็นไปตามกรอบข้อบังคับการประชุมสภา
ส่วน น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญแสดงเหตุผลอย่างชัดเจนว่าทำไมถึงไม่รับ ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญมาก เพราะศาลยังไม่ได้วินิจฉัยถูกผิดในกรณีถวายสัตย์ฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ เพียงแต่วินิจฉัยเขตอำนาจของศาลว่าไม่มีอำนาจในการวินิจฉัยเรื่องนี้ ซึ่งอาจผูกพันไปถึงองค์กรตามรัฐธรรมนูญอื่นๆ หรือไม่ ไม่แน่ใจ แต่มั่นใจว่าผลการวินิจฉัยไม่น่าเกี่ยวกับการทำงานของสภาซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ
“ยิ่งศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัยในเรื่องนี้ ยิ่งเป็นความจำเป็นของสภาที่ต้องใช้กระบวนการของสภาในการซักถามข้อเท็จจริง เสนอแนะ ตรวจสอบ และหาข้อยุติด้วยวิถีทางของฝ่ายนิติบัญญัติ วันนี้เชื่อว่า ส.ส.ทุกคนคงโล่งใจ และพร้อมอภิปรายกันได้เต็มที่ หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย เพราะก่อนหน้านี้มีผู้มีอำนาจหลายคนอ้างว่าอาจเป็นการก้าวล่วงศาล ถ้าสภานำเรื่องที่กำลังอยู่ในการพิจารณามาอภิปราย ซึ่งการอภิปรายครั้งนี้ไม่ได้มีแค่เรื่องการถวายสัตย์ฯ เท่านั้น แต่ต้องอภิปรายเรื่องการแถลงนโยบายที่ไม่มีการชี้แจงแหล่งที่มาของงบประมาณด้วย”
นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ยืนยันว่า แม้ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องเรื่อง พล.อ.ประยุทธ์ถวายสัตย์ฯ ไม่ครบตามรัฐธรรมนูญ แต่ฝ่ายค้านจะเดินหน้าต่อในการอภิปรายทั่วไปในวันที่ 18 ก.ย.นี้ เพราะจากคำชี้แจงของศาลระบุว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัย และไม่มีองค์กรตามรัฐธรรมนูญใดมีอำนาจวินิจฉัย ซึ่งองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ว่านั้นคือองค์กรอิสระ เช่น ป.ป.ช. และ ปปง. เป็นต้น ก็ยิ่งชอบธรรมที่สภาต้องตรวจสอบเรื่องนี้
“สภายิ่งโล่งและต้องพูดคุยเพื่อหาข้อสรุป ประกอบการอภิปรายดังกล่าวยังมีเรื่องการแถลงนโยบายรัฐบาลไม่แสดงที่มาของงบประมาณ และเชื่อโดยสุจริตใจว่าศาลต้องการให้สภาดำเนินการเรื่องนี้ด้วยซ้ำไป” นายสุทินกล่าว
นายสุทินกล่าวอีกว่า ไม่มีการประสานจากวิปรัฐบาลให้ถอนญัตติดังกล่าว ซึ่งตัวแทนพรรคร่วมฝ่ายค้านได้หารือกับนายชวนถึงการอภิปรายดังกล่าว โดยนายชวนระบุว่า ญัตติที่ยื่นไปเดินหน้าได้ตามปกติ ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับมติของศาล เพียงแต่นายชวนกำชับว่าการอภิปรายขออย่าก้าวล่วงไปถึงเบื้องบน ซึ่งพวกเรายืนยันกับนายชวนไปว่าไม่ก้าวล่วงแน่นอน เพราะไม่จำเป็น เป็นห่วงแต่การชี้แจงของรัฐบาลเท่านั้นที่จะไปก้าวล่วงหรือแอบอ้างหรือไม่ ซึ่งนายชวนให้ความเห็นว่าการอภิปรายครั้งนี้ไม่จำเป็นต้องมีการประท้วงอะไร ถ้าทุกคนยึดตามหลักการที่คุยกันนี้
ขณะที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ในฐานะเลขาธิการพรรคกล่าวย้ำเช่นกันว่า คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมายิ่งแสดงให้เห็นถึงความชอบธรรมของสภาที่จำเป็นต้องปฏิบัติหน้าที่ในการอภิปราย เพราะเหตุผลที่ศาลหยิบยกขึ้นมาใช้ คือมองว่าประเด็นการถวายสัตย์ฯ นั้นเป็นเรื่องการกระทำของรัฐบาล องค์กรตุลาการจะไม่เข้าไปตรวจสอบ
อ้างสภาชอบธรรมบี้
"เมื่อเป็นเรื่องทางการเมืองอย่างนี้ ยิ่งแสดงให้เห็นว่าสภามีความชอบธรรมที่จะแก้ปัญหาทางการเมืองเรื่องนี้ ซึ่งการถวายสัตย์ฯ ไม่ครบของนายกฯ นี้ แสดงถึงความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ แสดงให้เห็นถึงความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญ ว่าหากมีนายกฯ ท่านหนึ่งกล่าวคำถวายสัตย์ฯ ไม่ครบ เราจะทำเช่นไร และจะมีบรรทัดฐานอย่างไร ส.ส.ในฐานะผู้แทนของราษฎรที่เป็นเจ้าของอำนาจสูงสุด เรามีความชอบธรรมและต้องอภิปรายตรวจสอบเพื่อหาทางออกให้กับ ครม." นายปิยบุตรกล่าว
นายปิยบุตรยังกล่าวถึงกรณีนายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ ขอร่วมอภิปรายในฐานะฝ่ายค้านอิสระว่า ต้องมาคุยกัน แต่อยากให้มีการอภิปรายแบบเปิดเผย เพราะคิดว่าเป็นเรื่องที่โปร่งใสที่สุด เนื่องจากในทางปฏิบัติ หากมี ส.ส.คนหนึ่งที่นั่งฟังอยู่แอบเดินมาบอกสื่อ ก็เท่ากับไม่ลับอยู่ดี
ส่วนนายสมชาย แสวงการ ส.ว. โพสต์เฟซบุ๊กในประเด็นนี้ว่า ควรจบได้แล้ว แม้สภาจะบรรจุวาระอภิปรายในวันที่ 18 ก.ย.นี้แล้ว โดยขอเตือนสติฝ่ายค้าน โปรดอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในการไม่รับร้องอย่างเป็นเอกฉันท์ให้ละเอียดถี่ถ้วน และโปรดใคร่ครวญใช้ดุลยพินิจในการอภิปรายที่ต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง อย่าให้ละเมิดอำนาจศาล และอย่าล่วงเกินด้วย มิเช่นนั้นผู้อภิปรายอาจต้องรับความเสี่ยงในคดีที่อาจเกิดขึ้น ทั้งในศาลรัฐธรรมนูญและศาลยุติธรรม
“ไม่ได้ขู่ฝ่ายค้าน และไม่ได้ปกป้องรัฐบาล แต่เตือนสติกันในฐานะสมาชิกร่วมสภาด้วยความหวังดี โดยเฉพาะบางท่านที่กำลังมีอนาคตใหม่ทางการเมือง อาจหมดอนาคตครับ” นายสมชายโพสต์
นายสมชายยังโพสต์ย้ำอีกว่า รัฐสภาต้องยุติอภิปรายปมถวายสัตย์ฯ เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 211 วรรคท้าย บัญญัติว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ทำให้ญัตติเปิดอภิปรายทั่วไปในวันที่ 18 ก.ย.มีปัญหาว่ายังจะดำเนินการประชุมและเปิดให้มีการอภิปรายต่อไปอีกได้หรือไม่
นายประพันธ์ คูณมี อดีตแกนนำเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) โพสต์เฟซบุ๊กว่า สภาผู้แทนราษฎรต้องถอนญัตติ และหยุดการอภิปรายทั่วไปเรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณ เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 211 วรรคท้าย บัญญัติไว้ สภาย่อมไม่มีอำนาจตรวจสอบโดยการเปิดอภิปรายทั่วไป ประธานสภาฯ จึงควรมีคำสั่งให้ถอนญัตติดังกล่าวเสียจากวาระการประชุม ด้วยผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นเด็ดขาดและผูกพันต่อสภาผู้แทนราษฎรด้วย ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 211
สำหรับความเคลื่อนไหวในการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงกรณีที่ฝ่ายค้านยื่นญัตติขอตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ว่าในส่วนของรัฐบาลกำลังประสานกับนายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาล เพื่อเตรียมเรื่องยื่นต่อนายชวนให้ตั้ง กมธ.ศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยคาดว่าจะมีการยื่นภายใน 12-13 ก.ย.นี้
เสี่ยหนูย้ำรื้อรธน.ไม่ด่วน
นายวิรัชยังกล่าวถึงความเป็นไปได้ว่าจะไม่บรรจุญัตติดังกล่าวเป็นญัตติด่วน ว่าหากทิ้งช่วงให้ตกผลึกสักหน่อยก็น่าจะดี เพราะปิดสมัยประชุมก็ไม่ได้นาน เดือน พ.ย.ก็เปิดประชุมแล้ว ดังนั้นให้เวลาเป็นเครื่องมือช่วยให้ตกผลึกในการทำงานก็ดี
ส่วนนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สธ. ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงการที่พรรคฝ่ายค้านและพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ยื่นตั้ง กมธ.ศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ภท.จะขอดูเรื่องดังกล่าวก่อน เพราะเราวางบทบาทตัวเองว่าต้องเป็นพรรคที่มุ่งทำงาน เรื่องใดที่ไม่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่หรือทำให้ประชาชนกินดีอยู่ดี จะไม่ถือเป็นวาระเร่งด่วน การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงไม่ถือเป็นวาระสำคัญที่สุดของพรรค แต่เราพร้อมรับฟังทุกพรรคที่มีแนวคิดจะแก้ไข ว่ามีวัตถุประสงค์อย่างไร หากฟังขึ้น เราก็พร้อมมาพิจารณา
“ตอนนี้ไปช่วยน้ำท่วม แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจก่อนดีกว่า เรื่องอะไรที่ไม่ได้เกิดประโยชน์ต่อ พรรคภูมิใจไทยมองประโยชน์ของประชาชนเป็นลำดับแรก เรื่องอื่นเป็นเรื่องรองลงมา และตอนหาเสียงก็ไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้ เราไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เท่าไหร่ แต่หากมีเจ้าภาพตั้งเรื่องขึ้นมา เราก็พร้อมดูเป็นข้อๆ ถ้าประเทศชาติและทุกฝ่ายได้ประโยชน์ เราก็พร้อมสนับสนุน” นายอนุทินกล่าว
ขณะที่นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรค พท. ในฐานะรองประธานและโฆษกคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้านและการมีส่วนร่วมของประชาชน กล่าวว่า คณะทำงานฝ่ายค้านฯ จะจัดโครงการฝ่ายค้านเพื่อประชาชนสัญจร 4 ภาค เพื่อเยี่ยมเยียนพี่น้องประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม เสวนาปัญหาเกษตร รับฟังและสะท้อนปัญหาเศรษฐกิจปากท้องในพื้นที่ จ.มหาสารคาม ในวันเสาร์ที่ 14 ก.ย. และวันอาทิตย์ที่ 15 ก.ย. จะมีการเปิดเวทีสาธารณะรับฟังและสะท้อนมุมมองต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยวิทยาลัยการเมืองการปกครองมหาวิทยาลัยมหาสารคาม จะเป็นเจ้าภาพร่วมกับร่วมฝ่ายค้าน ณ ตลาดเกษตรมหาสารคาม ตั้งแต่เวลา 09.30 น. เป็นต้นไป
ด้านนายสุรทิน พิจารณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปไตยใหม่ ในฐานะหัวหน้าพรรค กล่าวถึงกรณีนายพิเชษฐ สถิรชวาล หัวหน้าพรรคประชาธรรมไทย พร้อมนายมงคลกิตติ์ แถลงข่าวระบุว่ามีพรรคร่วมรัฐบาลอีก 3 พรรค คือ พรรคพลังไทยรักไทย, พรรคประชาธิปไตยใหม่ และพรรคครูไทยเพื่อประชาชน จะออกมาเป็นฝ่ายค้านอิสระร่วมด้วย ว่าไม่เป็นความจริง ลมปากก็พูดกันไปไม่มีในโลกนี้ ยังไม่ได้ไปไหนยังอยู่ช่วยรัฐบาล
“อย่าถือคำพูดคนนั้นคนนี้มาเป็นสาระ เขาจะพูดอะไรก็พูดไปเถอะ ใครจะแสดงความคิดเห็นก็แสดงไป เพราะคนเราเห็นต่างกันได้ ผมขอบอกให้รัฐบาลสบายใจได้ ผมไม่ได้แยกตัวไปไหน ยังช่วยรัฐบาลอยู่ เราลูกผู้ชายอยู่แล้ว คำไหนคำนั้น ไม่เคยหักหลังใคร ยืนยันว่าต่อไปจะไม่มีเรื่องนี้อีก” นายสุรทินกล่าว
วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคคนวัยทำงานในสถานประกอบการ กล่าวตอนหนึ่งว่า ทำงานมา 4-5 ปี ได้ฟังหมอมาจำนวนมาก แต่โชคดีที่ไม่ได้ป่วยหนักหนาสาหัสแบบที่หลายคนอยากให้เป็น ซึ่งหลายคนบอกบ่นมากเมื่อไหร่จะลาออกสักที ซึ่งไม่ได้บ่น แค่พูดให้ฟังเฉยๆ และบางคนก็บอกเมื่อไหร่จะตายๆ สักที ก็ดีเหมือนกัน คนเราทำไมเกลียดกันขนาดนี้ แต่คนรักก็มีเยอะ อย่างน้อยในห้องนี้ เดี๋ยวจะหาว่าพูดการเมืองอีก นอกจากนี้วันนี้อะไรก็ด่านายกฯ ไว้ก่อน แต่ไม่เป็นไร ยินดี เพราะเป็นคนรับใช้ประชาชนอยู่แล้ว ไม่ใช่เจ้านาย
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า โรคเครียดส่วนหนึ่งก็เกิดจากการเสพสื่อ วันนี้มีโรคโซเชียลซินโดรม โรคเสพสื่อโซเชียล ซึ่งวันนี้ก็มีสื่อจำนวนมาก และไม่ใช่ศัตรูกับสื่ออยู่แล้ว แต่อย่าทำให้เสียชื่อเสียงประเทศชาติ เพราะเรื่องในประเทศก็คือเรื่องภายในประเทศ หากเราไม่แก้ไขแล้วใครจะแก้ เหมือนเรื่องสุขภาพ หากเราไม่ดูแลแล้วใครจะดูแลให้ โดยต้องขอขอบคุณสื่อ แต่ขออย่าทำให้คนไทยทั้งประเทศเครียด เพราะหากทำให้คนเป็นโรคขึ้นมาก็จะอันตราย ดังนั้นวันนี้ขอให้ทุกคนร่วมกันดูแลในเรื่องสุขภาพและเรื่องอื่นๆ ที่เป็นปัญหาของประเทศไทยไปด้วยกัน
ในพิธีเปิดตัวยานเกราะล้อยางสไตรเกอร์ ที่กองทัพบก พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ได้เดินมาถ่ายรูปร่วมกับนักศึกษาวิชาทหารพร้อมกับกล่าวว่า ขอให้ทุกคนตั้งใจเรียนและช่วยเหลือพ่อแม่ รวมทั้งอย่าไปเชื่อข่าวลืออะไรทั้งหลาย ขอให้ใช้วิจารณญาณในการรับฟังข้อมูล โดยเฉพาะทางโซเชียลออนไลน์ และขอให้ช่วยกันป้องสถาบันพระมหากษัตริย์
“ลุงเคยพูดไปแล้วว่า ทุกคนก็มีบ้านเป็นของตัวเอง และมีที่ดินกันมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ช่วยปกป้องประเทศไว้ เราต้องศึกษาประวัติศาสตร์กันให้ดี” พล.อ.อภิรัชต์กล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |