เกมแมวไล่จับหนู ปักกิ่ง-ฮ่องกง


เพิ่มเพื่อน    

   วันก่อน โจชัว หว่อง หนึ่งในแกนนำการประท้วงรัฐบาลฮ่องกงและจีนไปปรากฏตัวที่เบอร์ลิน, ประเทศเยอรมนี หลังจากไปร่วมแถลงข่าวที่ไต้หวัน

                นั่นย่อมทำให้สี จิ้นผิง และจีนแผ่นดินใหญ่หงุดหงุดและงุ่นง่านไม่น้อย

                เพราะเจ้าหนูตัวเล็กๆ อย่างโจชัว หว่อง สามารถเล่นเกม “แมวไล่จับหนู” ด้วยกลยุทธ์ “โลกล้อมจีน” นั้นย่อมเป็นเรื่องที่ “จักรพรรดิสี” เดือดร้อนเป็นธรรมดา

                ทันทีที่เห็นภาพโจชัว หว่อง จับมือกับรัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมัน Heiko Maas ออกในโซเชียลมีเดียอย่างกว้างขวาง โฆษกกระทรวงต่างประเทศที่ปักกิ่งก็ออกแถลงการณ์กล่าว่าการกระทำของเยอรมันเป็นการแสดง “ความไม่เคารพในอธิปไตยของประเทศจีน”

                หว่องส่งข้อความขึ้นทวิตเตอร์ว่าเขาและรัฐมนตรีเยอรมันได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น “เกี่ยวกับสถานการณ์การประท้วงและเป้าหมายของเราในการเรียกร้องให้มีสิทธิ์เลือกตั้งอย่างเสรี”

                หว่องบอกว่าเขาจะมีโอกาสได้พบปะกับสมาชิกรัฐสภาของเยอรมันอีกหลายคนในการเดินทางไปครั้งนี้

                หนีไม่พ้นว่าการที่รัฐบาลเยอรมันต้อนรับหว่องอย่างเปิดเผยนั้นย่อมเป็นการตอกย้ำว่าเยอรมันมีความเห็นใจฝ่ายประท้วงที่ฮ่องกง และต้องการให้หาทางออกที่สันติ

                หว่องเปรียบเทียบการประท้วงในฮ่องกงวันนี้เหมือนสถานการณ์ของเยอรมันตะวันออกที่เคยประท้วงเพื่อเรียกร้องเสรีภาพทางการเมืองจนนำไปสู่การล่มสลายของกำแพงเบอร์ลินเมื่อปี 1989 (ซึ่งเป็นช่วงจังหวะใกล้กับเหตุการณ์นองเลือดที่จตุรัสเทียนอันเหมินเช่นกัน)

                “หากวันนี้เราอยู่ในสถานการณ์สงครามเย็น ฮ่องกงวันนี้ก็คือเบอร์ลินนั่นเอง” หว่องกล่าวเปรียบเทียบ พยายามจะเปรียบเทียบให้เห็นถึงการเชื่อมโยงของอดีตกับปัจจุบันเพื่อให้คนเยอรมันวันนี้เห็นภาพของสถานการณ์ในฮ่องกง

                แน่นอนว่ารัฐบาลจีนและคนไม่เห็นด้วยกับการประท้วงที่ฮ่องกงย่อมจะมองการเดินทางไปหาพันธมิตรในต่างแดนของแกนนำการประท้วงว่าเป็นการ “ชักน้ำเข้าเรือ ชักเสือเข้าบ้าน”

                ฝ่ายที่เชียร์รัฐบาลจีนเห็นว่าการที่ผู้ประท้วงไม่ยอมนั่งลงพูดจากับแคร์รี หล่ำ ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกงที่ยอมถอนร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนอย่างเป็นทางการแล้ว เป็นการย้ำเตือนว่าผู้ต่อต้านมีวาระซ่อนเร้นอย่างอื่นที่อาจจะเชื่อมโยงกับผลประโยชน์ตะวันตกที่ต้องการสกัดกั้นการเติบใหญ่ของจีน

                คำว่า “ชังชาติ” หรือ “ขายชาติ” และ “ทรยศต่อชาติ” จึงถูกใช้เป็นวาทกรรมที่ทำให้เกิดภาพลักษณ์ทางลบสำหรับฝ่ายประท้วง

                ล่าสุดกลุ่มผู้ประท้วงในฮ่องกงมาแนวใหม่ ใช้วิธีการสร้าง “ความรู้สึกชาตินิยม” สำหรับคนฮ่องกงที่ไม่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของจีนแผ่นดินใหญ่

                กลยุทธ์ใหม่ล่าสุดของฝ่ายประท้วงคือ การบุกห้างสรรพสินค้าร้องเพลง Glory to Hong Kong (ความรุ่งโรจน์สู่ฮ่องกง) ปลุกใจคนฮ่องกงให้เดินหน้าเรียกร้องประชาธิปไตยต่อไป

                นั่นเป็นเพลงที่แต่งขึ้นใหม่ เป็นเอกลักษณ์ใหม่ของผู้ประท้วงที่ยังปักหลักชุมนุมอย่างต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 15 แล้ว

                และใกล้ “เส้นตาย” วันที่ 1 ตุลาคม อันเป็นวันชาติจีน ครบ 70 ปีแห่งการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งปักกิ่งเตรียมเฉลิมฉลองอย่างเอิกเกริกและอลังการทั่วโลก

                จึงน่าเชื่อว่ารัฐบาลจีนและปักกิ่งต้องการให้การประท้วงที่ฮ่องกงสงบลงก่อนจะถึงวันนั้น

                แต่ดูเหมือนความหวังเช่นนั้นจะเกิดขึ้นได้ยากแล้ว เพราะยังไม่มีทีท่าว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะสามารถหาทางเปิดเวทีคุยกันได้อย่างไรเลย

                ทางการฮ่องกงและจีนยังไม่มีท่าทีตอบสนองต่อข้อเรียกร้องหลักของผู้ประท้วง นอกจากการยอมถอนร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน และเสนอจัดเวทีพูดคุยกับตัวแทนภาคส่วนต่างๆ ของฮ่องกง

                แผนของผู้ประท้วงคือ ปรากฏตัวในห้างสรรพสินค้าต่างๆ และจุดที่เคยมีการปะทะกับตำรวจ และร่วมกันร้องเพลง Glory to Hong Kong

                และยังตอกย้ำจุดยืนว่า จะไม่เจรจากับแคร์รี หล่ำ เพราะถือว่าเป็นเพียง “หุ่นเชิด” ของรัฐบาลปักกิ่งเท่านั้น มิได้มีน้ำยาหรืออำนาจบารมีใดที่จะเจรจาต่อรองกับกลุ่มผู้ประท้วงแต่อย่างใดทั้งสิ้น              

                ความหวังแห่งสันติภาพบนเกาะแห่งนี้จึงริบหรี่มากขึ้นทุกวัน.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"