เฉพาะกับ "พระมหากษัตริย์"


เพิ่มเพื่อน    

                               

                เอาไงต่อ...?????

                กับประเด็นถวายสัตย์ปฏิญาณตน

                ย้อนไปดูคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกันอีกครั้ง

                ".....ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้วเห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่า นายภาณุพงศ์ ชูรักษ์ ได้ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน และผู้ตรวจการแผ่นดิน เห็นว่าการกระทำที่ถูกกล่าวอ้างว่าละเมิดสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๓ ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๖๑ มาตรา ๗ (๑๑) และมาตรา ๔๖ ก็ตาม

                แต่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๖๑ มาตรา ๔๗ (๑) บัญญัติว่า

                "การใช้สิทธิยื่นคำร้องตามมาตรา ๔๖ ต้องเป็นการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพอันเกิดจากการกระทำของหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานซึ่งใช้อำนาจรัฐ และต้องมิใช่เป็นกรณีอย่างหนึ่งอย่างใด           ดังต่อไปนี้ (๑) การกระทำของรัฐบาล"

                และมาตรา ๔๖ วรรคสาม บัญญัติว่า "... ถ้าศาลเห็นว่า เป็นกรณีต้องห้ามตามมาตรา ๔๗ ให้ศาลสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา"

                เห็นว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์เป็นการกระทำทางการเมือง (Political Issue) ของคณะรัฐมนตรีในฐานะที่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญฝ่ายบริหารในความสัมพันธ์เฉพาะกับพระมหากษัตริย์ อันอยู่ในความหมายของการกระทำของรัฐบาล (Act of Government) ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๖๑ มาตรา ๔๗ (๑)

                ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจรับคำร้องไว้พิจารณาได้ ตามมาตรา ๔๖ วรรคสาม

                ประกอบกับเมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๒ เวลา ๑๗.๔๕ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรี ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณ ก่อนเข้ารับหน้าที่ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

                หลังจากนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณจบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำรัส เพื่อให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีได้น้อมนำไปเป็นแนวทางในการบริหารราชการแผ่นดิน

                และต่อมาเมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๒ เวลา ๐๙.๐๐ น. นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะรัฐมนตรีได้เข้ารับพระราชดำรัสในโอกาสเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ซึ่งพระราชทานเป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมทั้งทรงลงพระปรมาภิไธยโดยเข้ารับต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ณ ห้องรับรอง ชั้น ๕ ตึกบัญชาการ  ทำเนียบรัฐบาล

                การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ดังกล่าวจึงไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด

                ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๓ ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๖๑ มาตรา ๔๖ วรรคสาม และมาตรา ๔๗ (๑)....."

                คำวินิจฉัยปรากฏชัดว่า

                การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ดังกล่าวจึงไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด

                องค์กรตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญ มีอะไรบ้าง

                "ศาล" ประกอบด้วย

                -ศาลรัฐธรรมนูญ

                -ศาลยุติธรรม

                -ศาลปกครอง

                -ศาลทหาร

                องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย

                -คณะกรรมการการเลือกตั้ง

                -ผู้ตรวจการแผ่นดิน

                -คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

                -คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน

                -คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

                -สำนักงานอัยการสูงสุด

                มีข้อถกเถียงว่า แล้วสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา เป็นองค์กรตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญหรือไม่

                พรรคฝ่ายค้านเขาบอกว่า ไม่ใช่ ไม่เกี่ยว

                แต่นี่ไม่ใช่ประเด็นใหญ่ เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๑ บัญญัติเอาไว้ชัดเจนว่า

                "คําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ"

                รวมถึง สภาผู้แทนราษฎรด้วย

                นั่นหมายความว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ ไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบของสภาผู้แทนราษฎร

                แต่ฝ่ายค้านตีความต่างออกไป

                มองเพียงว่าไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบของศาล

                ไม่ได้หมายความว่า ศาลวินิจฉัยว่าการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถวายสัตย์ปฏิญาณตนไม่ครบนั้น ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 

                "ปิยบุตร แสงกนกกุล" ตั้งประเด็นว่า การกระทำทางรัฐบาล หรือ การกระทำทางการเมือง จะถูกตรวจสอบได้ด้วยวิธีใด

                .........ตามหลักกฎหมายมหาชน การกระทำทางรัฐบาล หรือ การกระทำทางการเมือง คือ การกระทำที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และการกระทำที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสภากับรัฐบาล

                การกระทำเหล่านี้อาจหลุดพ้นไปจากการตรวจสอบทางกฎหมายโดยองค์กรตุลาการ ทั้งนี้ ก็เพื่อป้องกันมิให้องค์กรตุลาการหรือศาลได้เข้ามาตัดสินชี้ขาดประเด็นทางการเมืองหรือทางนโยบาย จนเกิดสภาพ “การปกครองโดยผู้พิพากษา” เว้นแต่รัฐธรรมนูญกำหนดให้อำนาจการตรวจสอบการกระทำทางการเมืองเป็นของศาลรัฐธรรมนูญ.....

                แล้วขมวดปมว่า....การที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องโดยให้เหตุผลว่า การถวายสัตย์ฯ เป็น “การกระทำทางการเมือง” หรือ “การกระทำทางรัฐบาล” จึงไม่อยู่ภายใต้การตรวจสอบองค์กรใด เหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญเช่นนี้ ยิ่งทำให้สภาผู้แทนราษฎรมีความชอบธรรมอย่างยิ่งในการทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลในทางการเมือง

                การอภิปรายในญัตติตามมาตรา ๑๕๒ ในวันที่ ๑๘ กันยายนนี้ จึงเป็นหนทางที่ยังพอเหลืออยู่ในการตรวจสอบทางการเมืองและหาทางออกร่วมกันต่อกรณีนายกรัฐมนตรีถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ.........

                ก่อนที่จะตีความว่า "การกระทำทางการเมือง" เข้าทางฝ่ายค้าน ให้อภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ได้นั้น "ปิยบุตร" ต้องไปดูคำพิพากษาให้ครบ

                เพราะศาลรัฐธรรมนูญยังยกเหตุผลอื่นมาประกอบด้วย ๒ ประเด็น

                ๑.วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๒ เวลา ๑๗.๔๕ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรี

                หลังจากนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณจบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำรัส เพื่อให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีได้น้อมนำไปเป็นแนวทางในการบริหารราชการแผ่นดิน

                ๒.เมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๒ เวลา ๐๙.๐๐ น. นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะรัฐมนตรีได้เข้ารับพระราชดำรัสในโอกาสเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ซึ่งพระราชทานเป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมทั้งทรงลงพระปรมาภิไธยโดยเข้ารับต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ณ ห้องรับรอง ชั้น ๕ ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล

                นี่คืออะไร?

                เป็นการตอบคำถามที่ "ปิยบุตร" สงสัย

                การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์เป็นการกระทำทางการเมือง (Political Issue) ของคณะรัฐมนตรีในฐานะที่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญฝ่ายบริหารในความสัมพันธ์เฉพาะกับพระมหากษัตริย์ อันอยู่ในความหมายของการกระทำของรัฐบาล (Act of Government) ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๖๑ มาตรา ๔๗ (๑)

                ไม่ใช่การกระทำระหว่างการเมืองกับการเมือง

                แต่เป็นการเมืองในความสัมพันธ์เฉพาะกับพระมหากษัตริย์  

                อีกประเด็น "ปิยบุตร" อย่าไปห่วงว่า จะเกิดสภาพ “การปกครองโดยผู้พิพากษา" เพราะศาลไปชี้ขาดประเด็นทางการเมืองหรือทางนโยบาย

                ยกตัวอย่างประเทศในตะวันตก ที่ "ปิยบุตร" มักนำมากล่าวอ้างเสมอ       

                ปลายปีที่แล้ว ศาลชั้นต้นนครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ระงับคำสั่งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐอเมริกา

                เป็นคำสั่งที่ประกาศไว้ให้บุคคลใดที่ลักลอบเข้าสู่สหรัฐด้วยวิธีผิดกฎหมายนั้นจะไม่มีสิทธิ์ขอลี้ภัย หลังมีคาราวานผู้อพยพจากอเมริกากลางหลายพันคนมุ่งหน้าสู่สหรัฐ

                นั่นคือหนึ่งในนโยบายหลักของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์

                อย่าไปปั่นกระแสว่าศาลทำเกินหน้าที่ 

                ฉะนั้น ปมถวายสัตย์ ให้จบที่..........

                การเมืองในความสัมพันธ์เฉพาะกับพระมหากษัตริย์. 

                     ผักกาดหอม

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"