วันเดียวก็เที่ยวได้ "เชียงแสน" ชุมชนริมโขง


เพิ่มเพื่อน    

(ชมวิวสามเหลี่ยมทองคำ)

    เชื่อว่าหลายคนคงเคยไปเชียงรายกันมาแล้ว แต่ในทริปนี้องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. พาชาวคณะไปที่ชุมชนริมโขง ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เป็นพื้นที่ชุมชนขนาดไม่ใหญ่มาก อันเต็มไปด้วยเรื่องราวของประวัติศาสตร์ล้านนาและยังหลงเหลือให้เห็นในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นวัดเก่าแก่ หรือวัดร้างกว่า 70 วัด กำแพงโบราณ หรือวัตถุโบราณ สถาปัตยกรรมต่างๆ ที่หาชมได้ยาก ซึ่งชาวบ้านในชุมชนและบริเวณใกล้เคียงก็มีความน่ารัก ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชนให้น่าไปสัมผัสมากยิ่งขึ้น

(พระพุทธนวเจ้าล้านตื้อ ริมน้ำโขง)

    ก่อนจะเข้าสู่ตำบลเวียง มาถึงเชียงแสนทั้งทีก็ต้องแวะไปที่สามเหลี่ยมทองคำที่อยู่ในเขตบ้านสบรวก อำเภอเชียงแสน เพราะชาวคณะบางคนมาเชียงรายก็หลายครั้ง แต่ยังไม่มีโอกาสแวะมาที่สามเหลี่ยมทองคำสักครั้ง เราเดินทางมาถึงก็ช่วงบ่ายสามกว่าๆ นักท่องเที่ยวก็บางตาลงแล้ว ร้านค้าริมถนนเริ่มดึงประตูเหลือครึ่งหนึ่ง เป็นสัญญาณเตรียมปิดร้าน แต่ก็ยังสามารถเข้าไปสักการะพระพุทธนวเจ้าล้านตื้อ ที่ประดิษฐานอยู่บนเรือแก้วกุศลธรรม บริเวณด้านข้างก็คืออนุสาวรีย์พญาแสนภู ที่ฉากหลังเป็นตุงหลวงเฉลิมพระเกียรติ มีจุดชมวิวพื้นที่สามเหลี่ยมของทั้ง 3 ประเทศ ไทย ลาว เมียนมา แต่จริงๆ ถ้าไม่รีบก็นั่งชิวๆ รับลมเย็นๆ ชมวิวฝั่งลาวก็เข้าท่านะ แต่คณะเราต้องรีบเข้าที่พัก เก็บแรงไว้ไปลุยต่ออีกวัน

(ตุงหลวงเฉลิมพระเกียรติ อนุสาวรีย์พญาแสนภู)

    วันถัดมาที่ตำบลเวียง ขอเรียกว่าวันเดย์ทริป เพราะเราจะมาทำความรู้จักที่นี่ในหนึ่งวัน มัชฌิมา ยกยิ่ง เจ้าของกิจการสปาสุขภาพในชุมชน เล่าที่มาของการท่องเที่ยวชุมชนให้ฟังคร่าวๆ ว่า ที่นี่เพิ่งเริ่มทำท่องเที่ยวได้ 2-3 ปี จากการร่วมมือกันของชาวบ้านทั้งที่อยู่ในเวียงเวียงเชียงแสน และนอกเวียงที่มีประมาณ 15 คน ใครที่อยากแวะเข้ามาเที่ยวก็สามารถมาได้เลย หรือใครต้องการแบบโปรแกรมท่องเที่ยวก็มีให้เลือก แต่ราคาไม่ได้กำหนดว่าอยู่ที่เท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับสถานที่ท่องเที่ยวและกิจกรรมที่เลือกทำ ซึ่งคณะของเราได้เลือกแบบเป็นโปรแกรมท่องเที่ยว ราคาประมาณ 800 บาท (เหมารวมทั้งคณะ) ไม่รวมอาหาร

(กำแพงเมืองโบราณที่ปกคลุมไปด้วยหญ้าเขียวขจี)

    เริ่มต้นด้วยการนั่งรถรางชมเมือง ซึ่งจะมีไกด์คอยบรรยายเกี่ยวกับผังเมืองที่มีลักษณะคล้ายรูปสี่เหลียมผืนผ้า ไม่สม่ำเสมอ ซึ่งในสมัยก่อนเชียงแสนได้ถูกวางให้เป็นศูนย์กลางเมืองตอนบนและป้องกันข้าศึกทางด้านทิศเหนือ อีกทั้งยังเป็นที่ประทับของพญาแสนภูตลอดพระชนม์ชีพอีกด้วย ฟังเรื่องราวในอดีตสลับกับมองออกไปยังบ้านเรือนในปัจจุบัน ที่นี่ก็เหมือนกับชนบทในต่างจังหวัดอื่นๆ รถราไม่หนาแน่น การเดินทางจึงสะดวก แต่อาจจะแปลกตาอยู่บ้างตรงที่บางจุดมีซากอิฐของวัดเก่าๆ หรือซากกำแพงเมือง หรือจุดไหนที่มีพระเก่าแก่ที่พุพังก็จะมีบ้านของชาวบ้านสร้างอยู่ใกล้ๆ แต่ชาวบ้านก็ไม่ได้เข้าไปยุ่งหรือทำลาย

(พระธาตุเจดีย์หลวง)

    พอรถเริ่มเลี้ยงเข้าสู่บริเวณเส้นกำแพงเมือง ที่ตั้งของวัดต่างๆ จุดแรกคือที่ วัดเจดีย์หลวง วัดเก่าแก่ที่มีอายุราวๆ 700 ปี ซึ่งเป็นวัดที่สำคัญและเป็นที่ศรัทธาอย่างยิ่งของชาวบ้าน ก่อนจะเข้าไปกราบไหว้และชมวัดเราก็ได้มาร่วมทำ สวยดอกไม้ กับชาวบ้าน ซึ่งก็คือกรวยดอกไม้ที่ทำเพื่อไหว้พระของวัดแห่งนี้ ที่จะมีความงดงามในการประณีตพับใบตองและตกแต่งด้วยดอกไม้สิริมงคล อาทิ ดอกโกสน ดอกบานบุรี ดอกพุธให้สวยงาม นำไปกราบไหว้ที่วิหารหลวงพ่อเชียงแสนสิงห์ 1 พระประธานประจำวัด เดินชมบริเวณรอบๆ วัด ด้านหลังวิหารเป็นที่ตั้งของพระธาตุเจดีย์หลวงทรงระฆังแบบล้านนา มีความสูงถึง 88 เมตร นับว่าใหญ่ที่สุดในเชียงแสน มีความเก่าแก่แต่ดูมีความขลังอย่างบอกไม่ถูก ด้านข้างยังพบยอดเจดีย์ที่หักลงมาและซากโบราณสถานอื่นๆ

(เศียรพระพุทธรูปปูนปั้นศิลปะล้านนา)

    ใครไม่กลัวเมื่อยก็สามารถเดินเท้าไปยังจุดต่อไปใกล้ๆกัน ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงแสน ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เก่าแก่สุดในภาคเหนือ แค่ทางเข้าก็ต้องสะดุดตากับ เศียรพระพุทธรูปปูนปั้น ซึ่งเป็นศิลปะล้านนาในช่วง พุทธศตวรรษที่ 19-20 ซึ่งย้ายมาจากวัดพระนอน เมืองเชียงแสน ส่วนของด้านในจะจัดแสดงโบราณวัตถุและเรื่องราววิถีชีวิตของชนเผ่าต่างๆ ที่อยู่ในเชียงแสนซึ่งมีไฮไลต์ก็คือ เปลวรัศมีพระเจ้าล้านตื้อ ที่สะท้อนเทคนิคการทำโลหะสำริดของพระพุทธรูปขนาดใหญ่ หรือประติมากรรมปูนปั้นหน้ากาลที่นำมาจากวัดป่าสัก ที่ใบหน้าคล้ายกึ่งมนุษย์กึ่งสัตว์ ทำให้เห็นฝีมือเชิงช่างของล้านนาได้ดีทีเดียว พระพุทธรูปปางมารวิชัยที่ผสมผสานศิลปะล้านนาและสุโขทัยได้อย่างงดงาม ประติมากรรมรูปพระฤาษีกัมมะโล ที่บริเวณฐานมีจารึกอักษรธรรมล้านนา ไทใหญ่ ไทย และบาลี ที่ระบุเป็นชื่อของผู้สร้าง คำไหว้พระธาตุ และจารึกกษัตริย์ราชวงศ์มังราย เป็นต้น ในส่วนอื่นๆ ก็จัดเป็นโซนให้เราได้เรียนรู้วิถีล้านนาได้อย่างเพลิดเพลิน เปิดทำการในวันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา 08.30-16.30 น. (ปิดวันจันทร์-อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์) ค่าเข้าชมประมาณ 10 บาท ส่วนชาวต่างชาติอยู่ที่ 100 บาท

(พระพุทธรูปปางลีลาที่วัดป่าสัก)

    เพื่อให้ได้อรรถรสอย่างต่อเนื่อง เราก็จะเดินทางต่อไปที่วัดป่าสัก ที่เรียกวัดป่าสักก็เพราะมีต้นสักถึงกว่า 300 ต้น แต่ไฮไลต์ที่เราจะไปชมกันก็คือ หน้ากาลที่ได้เห็นอยู่ในพิพิธภัณฑ์ ก็ยังคงมีอยู่บนเจดีย์ทรงปราสาทยอดระฆังแบบห้ายอด ส่วนด้านในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระธาตุกระดูกตาตุ่มข้างขวาของพระพุทธเจ้า ข้อชวนให้สงสัยอีกอย่างของเจดีย์แห่งนี้คือ รอบพระเจดีย์จะมีพระพุทธรูปทั้งศิลปะล้านนา หรือที่มีเครื่องแต่งกายคล้ายกับของประเทศเมียนมา ซึ่งล้วนแต่เป็นพระพุทธรูปยืน มีเพียงองค์เดียวที่เป็นองค์ปางลีลา ซึ่งก็สร้างความฉงนให้กับเราเหมือนกัน

(ขนมวิเศษเชียงแสน)

    จุดต่อไปใครที่ชอบกินขนมไทยห้ามพลาด ขนมวิเศษเชียงแสน ที่บ้านขนมที่มีขายที่นี่ที่เดียว ต้องโทรมาสั่งล่วงหน้า เรียกได้ว่าเป็นสูตรเฉพาะที่คิดขึ้นเองของลูกชายป้าศรีไว หมุดใหม่ โดยนำเอาขนมโลเลของเวียดนามมาผสมขนมบุหลันดั้นเมฆของไทย ผสมกับมะพร้าวห้าวทำให้หอมหวานมัน รสชาติดีทีเดียว

(ป้าศรีไวสอนทำขนมวิเศษเชียงแสน)

    เดินทางต่อไปที่จุดสุดท้ายของทริป คือ การได้ผ่อนคลายร่างกายที่ โฮงฮอมผญ๋า ของพี่มัชฌิมา สปาเพื่อสุขภาพ มีตั้งแต่สปาเท้าด้วยหินจากแม่น้ำโขง และน้ำต้มสมุนไพร หรือการบำบัดรักษาอาการเจ็บทางร่างกายด้วยภูมิปัญญาล้านนาโบราณ ที่รู้จักกันคือ ย่ำขาง วิธีนวดก็จะนำเท้าจุ่มน้ำสมุนไพรหรือน้ำมันงา และไปย่ำที่ขางหรือผานไถที่วางไว้บนเตาไฟ เพราะโบราณที่มีความเชื่อว่าผานไถสามารถไถ่พื้นดินได้ ก็สามารถไถ่โรคภัยไข้เจ็บได้ จากนั้นก็มาเหยียบ นวดบนร่างกาย ตั้งแต่เท้าไปจนถึงส่วนบ่า หลัง ยังมีการตอกเส้นที่จะช่วยให้หายปวดเมื่อย เราเองก็ลองตอกเส้น เจ็บจี๊ดๆ เพราะกล้ามเนื้อแข็งมาก แต่หลังจากนั้นก็จะเริ่มผ่อนคลายขึ้นนะ หายเหนื่อยเลยทีเดียว

(ย่ำขาง ภูมิปัญญาล้านนา)

    จบทริปสั้นๆ ด้วยรถรางนำเที่ยว แต่มีความสนุกและผ่อนคลายสุดๆ แต่หากใครมีเวลาสัก 2 วัน 1 คืนน่าจะได้สัมผัสวิถีคนล้านนาที่นี่อย่างเต็มที่เลยแหละ ใครสนใจมาเที่ยวชุมชนริมโขงก็สามารถติดต่อได้ที่ พี่มัชฌิมา โทร. 06-2969-1946 หรือจะแบกเป้มาเองก็ลองดูนะ ไม่ผิดหวังแน่นอน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"