12 ก.ย. 2562 นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงกรณีที่มีการตรวจสอบราคายาจากเว็บไซต์กรมการค้าภายใน www.dit.go.th แล้วพบว่าโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งมีกำไรจากการขายยาสูงตั้งแต่ 100% จนเกิน1000% ว่า ราคายาที่ปรากฏในเว็บไซต์ของกรมฯ เป็นราคาซื้อและขายที่โรงพยาบาลเอกชนกว่า 300 แห่งได้ส่งมาให้ จากนั้นกรมฯ ได้นำไปทำเป็นคิวอาร์โค้ดจัดส่งให้กับโรงพยาบาล เพื่อให้ติดตั้งไว้ในที่ที่เห็นได้ชัดเจน เช่น เคาน์เตอร์ยา หรือเคาน์เตอร์จ่ายเงิน เพื่อให้ประชาชนให้สแกนตรวจสอบราคายาได้ รวมถึงได้นำไปเผยแพร่บนเว็บไซต์ เพื่อให้ประชาชนได้ตรวจสอบราคาได้อีกช่องทางหนึ่งด้วย
“ได้แจ้งให้โรงพยาบาลเอกชนทราบแล้วว่า ราคาที่จะจัดส่งให้กรมฯ ต้องเป็นราคายาที่บวกกำไรเพิ่มได้นิดหน่อย ไม่ใช่เป็นราคาที่เอาค่าใช้จ่ายอื่นๆ มารวม และต้องเป็นราคาที่โรงพยาบาลนั้น ผูกพันว่าจะขายให้กับประชาชน ถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลงราคา ต้องแจ้งให้กรมฯ ทราบล่วงหน้าก่อนการเปลี่ยนแปลงราคา 15 วัน”
ทั้งนี้ กรมฯ เตรียมจะเชิญโรงพยาบาลเอกชนที่มีการคิดราคายาสูงเกินจริง มาสอบถามข้อเท็จจริง หากไม่สามารถบอกที่มาที่ไปของการคิดราคายาได้ หรือชี้แจงแล้วเหตุผลฟังไม่ขึ้น กรมฯ เตรียมใช้พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการพ.ศ.2542 ดำเนินการ โดยกรณีการขายยาราคาสูงเกินจริง จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ มีข่าวว่า จากการตรวจสอบเว็บไซต์กรมการค้าภายใน www.dit.go.th พบว่า ยา 20 ชนิดที่คนไทยใช้อย่างแพร่หลาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นยาแก้ปวด ลดไข้ บรรเทาอาการแน่นเฟ้อ จุกเสียด แก้คลื่นไส้ อาเจียน คลายกล้ามเนื้อ ลดความดัน แก้ปวดท้องประจำเดือน เป็นต้น โรงพยาบาลเอกชนมีส่วนต่างราคาซื้อและขายสูงตั้งแต่ระดับ 100% จนถึง เกิน 1000%
นายประโยชน์ เพ็ญสุต รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า กรมฯ อยู่ระหว่างการจัดกลุ่มโรงพยาบาลเอกชน 354 แห่ง เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มโรงพยาบาลที่คิดค่ายาและค่าบริการแบบแพงเกินจริง , กลุ่มที่คิดราคายาและค่ารักษาระดับกลาง และกลุ่มที่คิดราคายาและค่าบริการแบบอนุเคราะห์ผู้ป่วย เพื่อนำไปเผยแพร่บนเว็บไซต์ของกรมฯ ให้ประชาชนได้รับทราบ และพิจารณาในการเข้าไปใช้บริการ คาดว่า จะจัดกลุ่มได้เสร็จกลางเดือนต.ค.นี้ หลังจากที่กรมฯ มีข้อมูลเกี่ยวกับราคายาของโรงพยาบาลเอกชนเกือบทั้งหมดแล้ว
ส่วนกรณีที่โรงพยาบาลเอกชน 48 แห่ง จากทั้งหมด 354 แห่ง ยังไม่จัดส่งข้อมูลราคาซื้อและขายยา มาให้กรมฯ ซึ่งสิ้นสุดตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมานั้น กรมฯ ได้ทยอยออกหนังสือเรียกให้มาชี้แจง และทยอยมาชี้แจงแล้ว หากโรงพยาบาลใดฝ่าฝืน ไม่มาชี้แจง หรือไม่ส่งข้อมูลมา จะดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งมีโทษทั้งจำทั้งปรับ ส่วนการร้องเรียนค่ารักษาพยาบาลแพง ผ่านศูนย์รับแจ้งความคดียา เวชภัณฑ์ และค่าบริการทางการแพทย์ ล่าสุดมีผู้ร้องเรียนแล้ว 30 ราย ส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเรื่องที่ร้องเรียนมากที่สุด คือ ค่ารักษาพยาบาลแพง มีการเก็บค่ารักษาซ้ำซ้อน และรักษาเกินความจำเป็น ซึ่งกรมฯ จะเร่งสืบสวนข้อเท็จจริงต่อไป
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |