ขาลงของสหรัฐฯ ขาขึ้นของเอเชีย!


เพิ่มเพื่อน    

             หนังสือสองเล่มนี้ยืนยันว่าจากนี้ไป "ศตวรรษแห่งเอเชีย" ได้เริ่มขึ้นแล้วอย่างจริงจัง

                แม้จะเคยมีการทำนายทายทักกันก่อนหน้านี้ว่า อเมริกาจะลดความสำคัญลง ยุโรปจะถดถอย เอเชียจะผงาดขึ้นมาเป็นแกนหลักของโลก แต่เมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในสองปีที่ผ่านมา ยิ่งทำให้เห็นชัดว่าอเมริกากำลังจะถูกลดชั้นลงไปเป็นมหาอำนาจแถบสอง

                เพราะจีนกลายเป็นมังกรพ่นไฟที่มีศักยภาพทั้งด้านเศรษฐกิจ, การเมือง, ความมั่นคง และเทคโนโลยีที่กว้างขวาง และในอีกไม่นาน เชื่อได้ว่าแม้แต่ขนาดของเศรษฐกิจของจีนก็จะแซงหน้าอเมริกาไปอย่างไม่ต้องสงสัย

                หนังสือ Easternisation บอกว่าโลกตะวันตกกำลังอยู่ในภาวะ "ขาลง"

                และเมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศนโยบาย America First อีกทั้งยังทำท่าจะสลัดบทบาทการเป็นผู้นำโลกด้วย ก็ยิ่งตอกย้ำว่าสมการการเมืองระหว่างประเทศกำลังจะเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ

                สาเหตุสำคัญที่เอเชียกำลังอยู่ใน "ขาขึ้น" ก็เพราะความเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจของเอเชียในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา

                "เดิมทีอำนาจทางการเมืองของตะวันตกอยู่ที่ความโดดเด่นทางเทคโนโลยี, ทหาร และเศรษฐกิจ แต่ข้อได้เปรียบเหล่านี้กำลังจะหดหาย" บทนำของหนังสือเล่มนี้บอก

                บทวิเคราะห์นี้บอกว่าหากคำนวณตามอำนาจการซื้อของประชาชนแล้ว จีนได้แซงหน้าสหรัฐฯ มาตั้งแต่ปี 2014 แล้ว

                กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF ประเมินว่าเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลก 3 ใน 4 แห่งอยู่ในเอเชีย

                นั่นคือ จีน, ญี่ปุ่น และอินเดีย

                ในปี 2009 จีนกลายเป็นประเทศส่งออกสินค้าใหญ่ที่สุดของโลก

                ตำแหน่งนี้เคยเป็นของสหรัฐฯ ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา แต่ก็เสียตำแหน่งให้แก่จีนไปเสียแล้ว

                เห็นได้อย่างชัดเจนเช่นกันว่าเอเชียกำลังแข่งขันทางด้านการสั่งสมอาวุธ

                อินเดียได้กลายเป็นประเทศสั่งเข้าอาวุธสูงสุดของโลกเคียงคู่กับซาอุดีอาระเบีย

                หนังสือนี้ทำนายว่าภายในปี 2020 จีนอาจจะมีกองทัพเรือที่ใหญ่กว่าของสหรัฐฯ อีกด้วย

                ขณะเดียวกันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ได้รับเงินลงทุนจากต่างประเทศอย่างคึกคัก

                ประเทศใหญ่ๆ ในเอเชียไม่ว่าจะเป็นจีน, อินเดีย, ญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ แม้จะมีความระหองระแหงในประวัติศาสตร์ แต่วันนี้ก็ได้พยายามจะแสวงหาทางอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

                เอเชียได้ก่อตั้งกลไกความร่วมมืออย่างต่อเนื่องมาตลอด เช่น ธนาคารพัฒนาเอเชียหรือ ADB,  Asean Regional Forum, RCEP, EAC และ AIIB

                กลไกเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการทำให้มีการค้าขาย, บริการ และเงินทุนหมุนเวียนอย่างสะดวกมากยิ่งกว่าเดิมหลายเท่า

                หลังจากสหรัฐฯ ชนะสงครามเย็นมาแล้ว 25 ปี โดยตลอดช่วงเวลานี้อเมริกาดำรงบทบาทเป็นพี่เบิ้มมาตลอด แต่วันนี้อเมริกาถูกกีดกันออกจากองค์กรระหว่างประเทศในเอเชียเหล่านี้เกือบทั้งหมด

                แปลว่าสหรัฐฯ ไม่สามารถทำหน้าที่เป็น "ตำรวจโลก" ได้อีกต่อไป

                แม้ว่าจีนยืนยันว่าจะไม่ทำตนเป็น "พี่เบิ้ม" เหมือนอเมริกาที่ผ่านมา แต่ในความเป็นจริงแล้ว ปักกิ่งได้ดำเนินนโยบายที่จะพยายามสร้างบารมีและอิทธิพลเหนือประเทศต่างๆ ในเอเชียอย่างคึกคัก

                เมื่อปี 2014 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนประกาศว่า

                "ถึงเวลาแล้วที่คนเอเชียจะบริหารกิจการของเอเชีย และแก้ปัญหาของเอเชียเอง อีกทั้งยังต้องดูแลรักษาความมั่นคงของเอเชียเอง"

                นั่นหมายความว่าจีนกำลังส่งสัญญาณว่า เอเชียไม่ควรจะยอมให้สหรัฐฯ และยุโรปเข้ามากำหนดชะตากรรมของภูมิภาคนี้

                ส่วนผลที่จะตามมาในยุค "เอเชียเป็นของคนเอเชียเอง" จะเป็นอย่างไร และไทยเราจะปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้อย่างไร เป็นเรื่องที่เราจะต้องสร้างวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของเราอย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพสูงสุด.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"