โลกในปัจจุบัน เราเข้าสู่ยุคธุรกิจดิจิทัลอย่างเต็มตัว และทุกประเทศต้องเผชิญกระแสโลกาภิวัตน์แบบเต็มรูปแบบ ซึ่งตอนนี้เรียกได้ว่า โลกของธุรกิจได้รวมกันเป็นหนึ่งเดียว ไม่มีเส้นแบ่งเขตแดนที่ชัดเจน ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเคลื่อนย้ายเงินทุนเสรี เคลื่อนย้ายคนเสรี และเคลื่อนย้ายบริการโดยเสรี
ยกตัวอย่างง่ายๆ ในยุคนี้ เราใช้บริการของแพลตฟอร์มใหญ่ๆ ทั้งเฟซบุ๊ก กูเกิล หรือยูทูบ แต่บริษัทที่ให้บริการเหล่านี้ ไม่ได้ประกอบธุรกิจหรือจดจัดตั้งธุรกิจในไทยเลย แต่สามารถที่จะทำรายได้จากประเทศไทยได้อย่างมหาศาล
ไม่ใช่เพียงบริษัทเทคโนโลยีเท่านั้น ในเวลานี้บรรษัทข้ามชาติหลายแห่งก็มีใช้เทคโนโลยี และช่องโหว่ของกฎหมายในการจ่ายภาษีให้กับประเทศที่ทำธุรกิจต่ำลง โดยใช้วิธีการแจ้งผลกำไรที่ต่ำกว่าความเป็นจริง
ล่าสุด ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต โดยนาย อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์ ระบุว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา บรรษัทข้ามชาติในไทยและอาเซียนมีการโยกย้ายการรายงานผลกำไรระหว่างแหล่งผลิตของบริษัทในเครือบรรษัทข้ามชาติเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในเชิงสถิติและเชิงเศรษฐศาสตร์ และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นภายใต้การทำธุรกรรมแบบออนไลน์
ปัจจัยหลักมาจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง การค้าโลกขยายตัวลดลงจากการเติบโตขึ้นของลัทธิกีดกันทางการค้าและแนวคิดต่อต้านโลกาภิวัตน์ การทวีความสำคัญของสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ เช่น สิทธิบัตรต่างๆ ซึ่งเอื้อต่อการวางแผนภาษีของบริษัทข้ามชาติ การให้บริการข้ามพรมแดนผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ มีการโยกย้ายถ่ายเทกำไรไปยังประเทศที่เป็น Tax haven ต่างๆ หรือประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำ
ประเด็นนี้มีคำถามว่า ประเทศไทยที่พยายามส่งเสริมการลงทุนต่างชาติเข้ามา เพื่อสร้างงานให้กับคนในประเทศ และเมื่อมีรายได้สร้างผลกำไรที่ได้จากการประกอบการ ก็จ่ายภาษีอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยให้กับรัฐ แต่ในปัจจุบันดูเหมือนธุรกิจข้ามชาติจะหาช่องทางในการหลบเลี่ยงภาษีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้ทำให้เกิดคำถามว่า การพยายามดึงดูดนักลงทุนต่างชาติแบบลดแลกแจกแถมเหมือนในปัจจุบัน มันคุ้มค่าหรือไม่ที่บริษัทต่างประเทศจะมากอบโกยโดยใช้ทรัพยากรของไทยจนหมด และสร้างความเสื่อมโทรมทางด้านสิ่งแวดล้อมและความร่อยหรอของทรัพยากรธรรมชาติไว้ให้กับลูกหลานของเรา
ในขณะนี้ประเด็นการโยกย้ายกำไรเพื่อหลบเลี่ยงภาษีของบริษัทข้ามชาตินี้ มีความสำคัญอย่างมากสำหรับประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศเหล่านี้ สำหรับประเทศไทยนั้นได้พึ่งพารายได้จากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นสัดส่วนมากกว่า 20% จากงานวิจัยของ นายกฤษณ์เลิศ สัมพันธารักษ์ (สถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์) และนายอธิภัทร มุทิตาเจริญ (คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ) พบว่า บริษัทข้ามชาติใน ASEAN5 มีการโยกย้ายกำไรเพื่อหลบเลี่ยงภาษีอย่างมีนัยสำคัญ
โดยบริษัทข้ามชาติลดการรายงานกำไรในประเทศแหล่งลงทุนถึง 10.3% โดยเฉลี่ย การกระทำแบบนี้ทำให้ไทยเสียประโยชน์อย่างมาก ซึ่งทางศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูปก็เสนอทางออกด้วยการ 1.การกำหนดสิทธิประโยชน์พิเศษของเรามอบให้กับนักลงทุนต่างชาติต้องมีเงื่อนไขให้บรรษัทข้ามชาติเหล่านี้ถ่ายทอดเทคโนโลยี และต้องสร้างความเป็นธรรมในการแข่งขันต่อกลุ่มทุนไทยและกิจการนอกเขต EEC ด้วย 2.ขอสนับสนุนรัฐบาลไทยในการออก พ.ร.บ.มาตรการป้องกันการกำหนดราคาโอนระหว่างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน (transfer pricing) ที่จะช่วยเพิ่มข้อมูลเพื่อให้กรมสรรพากรสามารถคัดกรอง และออกแบบกลไกการตรวจสอบบริษัทข้ามชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
"รายได้ภาษีหายไปอย่างน้อย 4% จากกรณีดังกล่าว หากไม่มีการแก้ไข แนวโน้มรายได้ภาษีนิติบุคคลของบรรษัทข้ามชาติในไทยจะเก็บได้ลดลงกว่าความเป็นจริงที่ต้องจ่ายภาษีอย่างต่อเนื่องในอนาคต รัฐบาลต้องกู้เงินมาพัฒนาประเทศมากขึ้น เพิ่มภาระทางการคลังและหนี้สาธารณะ และกลายเป็นภาระที่จะถ่วงการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวต่อไป" นายอนุสรณ์กล่าว.
ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |