กรุงเทพฯ/ พอช.จับมือขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เป้าหมายชุมชน ‘กินอิ่ม นอนอุ่น ทุนมี หนี้ลด’ ใช้ 9 กระบวนการจัดทำแผนธุรกิจเพื่อชุมชน ใช้จุดเด่นของชุมชนสร้างแบนด์หรือผลิตภัณฑ์ของตนเองขึ้นมา ตั้งเป้าปี 2563 สนับสนุนชุมชนทั่วประเทศจัดทำแผนธุรกิจ 500 กลุ่ม ด้านกลุ่มวิสาหกิจเกาะลิบง จ.ตรัง เตรียมนำของดีชุมชน ‘ปลิงกามาต’ บรรจุแคปซูลเพิ่มมูลค่า ก.ก.ละ 35,000 บาท
ระหว่างวันที่ 11-12 กันยายนนี้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ร่วมกับเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนจัดงาน “เวทีสรุปผลการดำเนินงานเศรษฐกิจและทุนชุมชน แผนธุรกิจเพื่อชุมชน คานงัดการพัฒนาที่ยั่งยืน” ที่โรงแรมทาวน์อินทาวน์ เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ มีกิจกรรมต่างๆ เช่น เวทีเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์-พื้นที่รูปธรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและทุนชุมชน ฯลฯ โดยมีนายสากล ม่วงศิริ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นประธานในการเปิดงาน มีผู้แทนชุมชนที่ทำโครงการเศรษฐกิจและทุนชุมชนจาก 5 ภาคเข้าร่วมงานประมาณ 120 คน
นายสากล ม่วงศิริ ผู้ช่วย รมว.พม. (ขวาสุด) เยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ชุมชน
นายสากล ม่วงศิริ ผู้ช่วย รมว.พม. กล่าวว่า รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โดยได้กำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ เพราะเศรษฐกิจฐานรากเป็นเสาหลักความมั่นคงของประเทศ มีเป้าหมายเพื่อเร่งช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเศรษฐกิจฐานรากที่มีรายได้ไม่เกิน 5,344 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งมีถึง 40% หรือ 26.9 ล้านคนจากประชากรทั้งประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตร รัฐบาลจึงมีนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากไปสู่ประชากรกลุ่มเป้าหมาย
“นโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากของรัฐบาลจะเป็นกลไกขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวให้เป็นรูปธรรม เพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำของภาคเกษตรและอุตสาหกรรม โดยมีเป้าหมายในการดูแลเศรษฐกิจฐานราก เพื่อทำให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถพึ่งตนเองได้ ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีคุณธรรม และเป็นระบบเศรษฐกิจที่เอื้อให้เกิดการพัฒนาด้านอื่นๆ ทั้งเรื่องสังคม ผู้คน วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติ” ผู้ช่วย รมว.พม.กล่าว
นายอัมพร แก้วหนู รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้เป็นการสรุปบทเรียนประจำปี โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 100 กว่าคน มาจากทุกภาคทั่วประเทศ จำนวน 40-50 ตำบลที่จัดทำแผนพัฒนาธุรกิจชุมชน ซึ่งการจัดทำแผนธุรกิจชุมชนนั้น พอช.ได้สนับสนุนการดำเนินการในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา
“การจัดทำแผนธุรกิจชุมชนจะทำให้ชุมชนเกิดความมั่นคงและยั่งยืน โดย พอช. มีตัวชี้วัด 2 เรื่อง คือ 1.ทำแล้วต้องทำให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้ 2.ทำแล้วชุมชนมีความเข้มแข็งขึ้น หากทำกิจกรรมแล้วองค์กรชุมชนอ่อนแอก็ต้องทบทวนตัวเองเช่นกัน” นายอัมพรกล่าว
‘แผนธุรกิจเพื่อชุมชน 9 ขั้นตอน คานงัดสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน’
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ เริ่มสนับสนุนให้ชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศสร้างระบบเศรษฐกิจและทุนชุมชนที่มั่นคง สามารถพึ่งพาตนเองได้มาตั้งแต่ปี 2543 มีเป้าหมายหลัก คือ “กินอิ่ม นอนอุ่น ทุนมี หนี้ลด” และถือเป็นภารกิจหลักด้านหนึ่งของสถาบันฯ (นอกจากเหนือจากภารกิจอื่น เช่น การพัฒนาที่อยู่อาศัย-ที่ดินทำกินผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท การส่งเสริมสวัสดิการชุมชน สภาองค์กรชุมชน ฯลฯ) โดยมีแผนการส่งเสริมเศรษฐกิจและทุนชุมชน เช่น จัดอบรมเพื่อสนับสนุนให้มีการวางแผนธุรกิจชุมชน พัฒนาผู้นำเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหรือนำไปขยายผลต่อ ประสานภาคีเครือข่ายเพื่อขยายผลความร่วมมือ เช่น ร่วมมือกับบริษัทประชารัฐรักสามัคคี จำกัด ส่งเสริมการผลิต การแปรรูป การตลาดและจัดจำหน่าย ฯลฯ
นางสุภานิตร จุมผา ผู้จัดการสำนักเชื่อมโยงขบวนองค์กรชุมชนและประชาสังคม พอช. กล่าวว่า ในปี 2562 ที่ผ่านมา พอช.ได้สนับสนุนให้กลุ่มและองค์กรต่างๆ ทั่วประเทศจัดทำแผนธุรกิจเพื่อชุมชนแล้ว รวม 119 กลุ่ม แยกเป็น ภาคเหนือ 16 พื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 21 พื้นที่ ภาคกลางและตะวันตก 39 พื้นที่ กรุงเทพฯ ปริมณฑลและตะวันออก 21 พื้นที่ และภาคใต้ 22 พื้นที่ นอกจากนี้ยังเกิดผู้นำในการเปลี่ยนแปลงทั่วประเทศรวม 119 คน
“ส่วนในปี 2563 มีเป้าหมายสนับสนุนให้กลุ่มและองค์กรต่างๆ ทั่วประเทศจัดทำแผนธุรกิจเพื่อชุมชนจำนวน 500 กลุ่ม สนับสนุนการจัดทำแผนธุรกิจฯ ระดับตำบลจำนวน 100 ตำบล สนับสนุนศูนย์บ่มเพาะธุรกิจชุมชน 50 ศูนย์ นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้มีการจัดทำชุดความรู้ และจัดเวทีการเรียนรู้เชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจชุมชนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและทุนชุมชนด้วย” นางสุภานิตรกล่าว
แผนธุรกิจเพื่อชุมชน มีเป้าหมายให้องค์กรชุมชนนำผลผลิตหรือต้นทุนที่ชุมชนมีอยู่มาเพิ่มรายได้ ทำให้ชุมชนมีเศรษฐกิจและทุนที่เข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยมีกระบวนการจัดทำแผนธุรกิจเพื่อชุมชน 9 ขั้นตอน คือ 1.ค้นหาจุดขายที่โดดเด่น หรือแตกต่างของชุมชนเพื่อสร้างแบนด์ 2.ค้นหากลุ่มลูกค้าให้ชัดเจนทั้งปัจจุบันและอนาคตว่าเป็นใคร อยู่ที่ไหน 3.มีการสื่อสารการตลาด 4.ปิดการขายและให้กลับมาซื้อซ้ำ ด้วยความประทับใจ 5.ที่มาของรายได้ (เพิ่มผลิตภัณฑ์และลูกค้า,ลดค่าใช้จ่าย ฯลฯ) 6.เสริมกิจกรรม เพื่อให้ข้อ 3-5 เป็นจริง 7.(จากข้อ 6) อะไรบ้างที่เราทำได้ เพื่อลดรายจ่าย 8.สิ่งที่จำเป็นต้องทำ แต่ทำเองไม่ได้ ต้องร่วมมือกับภายนอก และ 9.ค่าใช้จ่ายที่น้อยที่สุด ที่จำเป็นต้องใช้ หลังจากนั้นจึงนำข้อมูลที่ได้จากกระบวนการดังกล่าวมาจัดทำแผนระยะสั้น-ระยะยาว เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติจริง
กลุ่มวิสาหกิจฯ เกาะลิบงชูของดี ‘ปลิงกามาตแคปซูล’ เพิ่มมูลค่า
อีสมาแอน (ซ้าย) ฝึกการใช้โดรนหรืออากาศยานไร้คนขับเพื่อดูแลฝูงพะยูนและเพื่อการท่องเที่ยว
นายอีสมาแอน เบ็ญสอาด ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวและพัฒนาอาชีพเกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง กล่าวว่า ชาวตำบลเกาะลิบงส่วนใหญ่มีอาชีพทำประมง ทำสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน แต่มีลักษณะต่างคนต่างทำ ในปี 2553 จึงจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ ขึ้นมา เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนและพัฒนาอาชีพ มีสมาชิก 60 ครอบครัว มีกิจกรรมหลัก คือ 1.แปรรูปอาหารทะเล เช่น ปลาอินทรีย์เค็ม ปลาหมึกแห้ง
2.ทำเกษตรอินทรีย์และประมงพื้นบ้าน เช่น เลี้ยงกุ้งมังกร ปลิงขาวและปลิงกามาต และ 3.การท่องเที่ยวชุมชน มีสมาชิกโฮมสเตย์ จำนวน 10 หลัง ผลกำไรจากกลุ่มต่างๆ เมื่อหลักค่าใช้จ่ายแล้วจะนำเข้ากลุ่มวิสาหกิจฯ จำนวน 30 เปอร์เซ็นต์ เพื่อเป็นทุนในการดำเนินการ เป็นทุนในการพัฒนาชุมชน และช่วยเหลือสวัสดิการสมาชิก ปัจจุบันมีเงินกองทุนประมาณ 80,000 บาท
“เมื่อก่อนเรายังไม่มีความรู้เรื่องการทำแผนและทำธุรกิจชุมชน เวลาเอาสินค้าจากเกาะลิบงไปขาย บางครั้งก็ขาดทุน เพราะเราไม่ได้คำนวณต้นทุน ไม่ได้คำนวณค่าขนส่ง และยังผลิตสินค้าแบบเดิม เหมือนกับเรามีวัตถุดิบอยู่แล้ว แต่เราไม่ได้ปรุงแต่ง จึงทำให้ขายสินค้าได้ราคาต่ำ แต่เมื่อเรามีความรู้แล้ว เราจึงเอามาใช้วางแผนการผลิตและวางแผนขาย ผลิตสินค้าให้ได้เกรดพรีเมี่ยมสำหรับลูกค้าที่มีเงิน และสินค้าสำหรับตลาดทั่วไป ทำให้เราขายได้เงินเพิ่มมากขึ้น ไม่ต้องขนของเป็นคันๆ รถเพื่อเอาไปขายในกรุงเทพฯ เหมือนแต่ก่อน แต่สามารถขนขึ้นเครื่องบินหรือส่งทางบริษัทขนส่งได้” ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ เกาะลิบงยกตัวอย่าง
ประธานกลุ่มฯ ยังบอกถึงแผนธุรกิจที่กำลังดำเนินการขณะนี้ว่า กลุ่มฯ กำลังทำวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลา นครินทร์ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิจัยประโยชน์ของปลิงกามาตซึ่งเป็นปลิงทะเลที่เลี้ยงบนเกาะลิบง จากเดิมที่กลุ่มเลี้ยงปลิงกามาตเพื่อตากแห้งและรมควันขายตลาดต่างประเทศ ราคากิโลกรัมละ 7,000 บาท แต่มีแผนธุรกิจที่จะแปรรูปปลิงกามาตเป็นอาหารเสริมในรูปแบบของแคปซูลเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกประมาณ 5 เท่า หรือประมาณกิโลกรัมละ 35,000 บาท เพราะเท่าที่ทราบเบื้องต้นปลิงกามาตมีสารมิวโคโปรตีน ( Mucoprotein) มีสรรพคุณบำรุงข้อต่อ เอ็น ป้องกันโรคกระดูกพรุน ฯลฯ ตามแผนคาดว่าประมาณปีหน้าหลังจากได้ผลจากการศึกษาวิจัยแล้ว จะขอทะเบียนอนุญาตจาก อย.เพื่อผลิตจำหน่ายได้
การเลี้ยงปลิงกามาตที่เกาะลิบงปัจจุบันมีกว่า 10,000 ตัว
“นอกจากนี้เรายังร่วมกับ ม.สงขลานครินทร์ศึกษาเรื่องการตลาดออนไลน์เพื่อเตรียมที่จะขายสินค้าทางออนไลน์คล้ายกับบังฮาซัน แต่เราจะไลฟ์สดทางเฟสบุ๊ค เช่น ตกปลาอินทรีย์สดๆ เพื่อให้คนซื้อได้เห็นว่าปลาของเราสดจริง รวมทั้งยังมีแผนในการฟื้นฟูการปลูกข้าวไร่ ปลูกแตงโมพันธุ์พระยาลิบง ซึ่งเป็นพันธุ์ดั้งเดิม ลูกใหญ่ รสชาติหวานกรอบ ทำให้เรามีอาหารบนเกาะครบถ้วน ไม่ต้องซื้ออาหารจากบนฝั่ง วางแผนว่าจะเริ่มหลังมรสุมปีนี้” ประธานกลุ่มฯ บอก และขยายความว่า ปัจจุบันกลุ่มฯ มีรายได้จากการขายสินค้าชุมชน (หักค่าใช้จ่ายแล้ว) เข้ากลุ่มประมาณปีละ 300,000-500,000 บาท เมื่อดำเนินการตามแผนที่วางเอาไว้จะทำให้กลุ่มมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อยปีละ 10 %
กลุ่มเกษตรฯ อ.พบพระ แปรรูป ‘อะโวคาโด้’ บำรุงผิว
สิริมนตร์ กึมรัมภ์ ประธานกลุ่มเกษตรยั่งยืน ต.ช่องแคบ อ.พบพระ จ.ตาก บอกว่า กลุ่มจัดตั้งในปี 2547 มีสมาชิกที่ปลูกผักเกษตรอินทรีย์ และอะโวคาโด้ จำนวน 35 ราย แต่ยังไม่ได้แปรรูปผลผลิต และเริ่มนำผลอะโวคาโด้ที่สมาชิกปลูกมาแปรรูปเป็นสบู่ตั้งแต่ปี 2559 แต่ยังเป็นในลักษณะทำเอง ใช้เอง ยังไม่ได้ผลิตเพื่อขายอย่างจริงจัง เพราะยังขาดความรู้ความมั่นใจ แต่เมื่อได้เข้าอบรมเรื่องการจัดทำแผนธุรกิจชุมชนกับ พอช. ในเดือนเมษายน 2562 ที่ผ่านมา จึงทำให้ตนและสมาชิกกลุ่มเกิดความเข้าใจเรื่องการทำแผนธุรกิจชุมชน และค้นคว้าเรื่องประโยชน์ของอะโวคาโด้จนเกิดความมั่นใจ นำไปสู่การแปรรูปอะโวคาโด้เพื่อจำหน่าย
สิริมนตร์ กึมรัมภ์ ประธานกลุ่มเกษตรยั่งยืน
“จากการศึกษาข้อมูลพบว่า อะโวคาโด้มีประโยชน์เรื่องการบำรุงผิวพรรณให้สวยงาม มีน้ำมีนวล มีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความแก่ และยังช่วยลดความดันโลหิต ลดไขมันในเส้นเลือด ช่วยลดน้ำหนัก เราจึงเอาผลอะโวคาโด้มาทำสบู่บำรุงผิว เอาเมล็ดมาทำเป็นชาผงบรรจุถุง มีสรรพคุณคุณต่างๆ มากมาย” ประธานกลุ่มฯ บอก
ปัจจุบันกลุ่มผลิตสบู่อะโวคาโด้จำหน่ายประมาณเดือนละ 400 ก้อน เป็นการผลิตแบบแฮนด์เมด ราคาจำหน่ายก้อนละ 79-89 บาท และมีแผนจะผลิตสบู่เพิ่มขึ้น รวมทั้งขยายไปจำหน่ายในตลาดออนไลน์ นอกจากนี้ยังมีแผนนำอะโวคาโด้มาผลิตเป็นครีมขัดผิว ครีมอาบน้ำ รวมทั้งเครื่องสำอางอื่นๆ ที่มีสรรพคุณในการบำรุงผิวพรรณ ฯลฯ เพื่อให้สมาชิกกลุ่มมีรายได้เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม นอกจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ ตำบลเกาะลิบง จ.ตรัง และกลุ่มเกษตรยั่งยืนตำบลพบพระ จ.ตาก แล้ว การจัดงาน “เวทีสรุปผลการดำเนินงานเศรษฐกิจและทุนชุมชน ‘แผนธุรกิจเพื่อชุมชน คานงัดการพัฒนาที่ยั่งยืน’ ในครั้งนี้ยังมีกลุ่มธุรกิจชุมชนจากทั่วประเทศที่เข้าร่วมด้วย เช่น กลุ่มท่องเที่ยวชุมชนตำบลวันยาว อ.ขลุง จ.จันทบุรี ซึ่งมีจุดเด่นด้านการท่องเที่ยวทางทะเล ดูเหยี่ยวแดง ชิมหอยนางรมสด และอาหารทะเล, กลุ่มวิสาหกิจหมู่บ้านบางกะจะ อ.เมืองจันทบุรี ฯลฯ
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |