ปัญหาของรัฐธรรมนูญ 60 เริ่มเกิดประเด็นอีกครั้ง หลังก่อนหน้ามีความเคลื่อนไหวจาก 7 พรรคฝ่ายค้าน และ พรรคประชาธิปัตย์หนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาล ยื่นญัตติตั้ง กมธ.เพื่อศึกษาและแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ขณะที่ทางฝั่งของรัฐบาล เว้น ปชป.เองยังดูสถานการณ์ แม้จะไม่ยากเข้าไปยุ่งเกี่ยวก็ตาม เพราะต้องไม่ลืมว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีไซน์มาให้ตัวเอง แต่จะเพิกเฉยก็ไม่ได้ เพราะเกรงว่าจะถูกกล่าวหาไม่สนใจเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองและเสียงของประชาชน
โดย "วิรัช รัตนเศรษฐ" ประธานวิปรัฐบาล บอก...ในส่วนการเสนอญัตติดังกล่าวคงให้หัวหน้าพรรคการเมืองต่างๆ ที่เป็นรัฐมนตรีคุยกันใน ครม.วันที่ 10 ก.ย.นี้ ว่าจะเอาอย่างไร ส่วน พปชร.คาดว่าจะเสนอญัตติในการประชุมสภาสมัยหน้า โดยจะมีการประชุม ส.ส.รับฟังความคิดเห็นในวันพรุ่งนี้ (10 ก.ย.) เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับความจริงว่า หากเรื่องนี้ฝั่งรัฐบาลและ ส.ว.ไม่เอาด้วย ก็ลำบากที่จะแก้ไข โดยเฉพาะ ส.ว.ต้องอาศัยเสียง 1 ใน 3 หรือจำนวน 84 คนเข้าร่วมด้วย
ขณะที่ตัว ส.ว.เองก็อาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนเพราะตัวเองก็ถูกมองว่าเป็นกลไกหนึ่งที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและถูกมองเป็นองค์กรของการสืบทอดอำนาจของ คสช.
ดังนั้น หนทางที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้จึงต้องใช้กระแสสังคมช่วยเหลือ อย่างเช่นพรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ดำเนินการอยู่ในเวลานี้ในการจัดเวทีสาธารณะ
ยกตัวอย่างเช่น น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรค อนค. ระบุ "เราอยากให้ทุกคนลุกขึ้นมาสู้ ฉะนั้น สิ่งแรกที่เราต้องสู้ในการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือสิทธิในการเรียกร้องของประชาชน ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เราอยู่ภายใต้ทัศนคติที่ว่ามีม็อบป่วนเมือง มีม็อบต้องมีคนตาย มีม็อบของขายไม่ได้ ต้องไม่ใช่แบบนั้น เพราะการเดินขบวนอย่างสันติเป็นเรื่องปกติในประเทศประชาธิปไตย ประเทศฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา อังกฤษ มีการเดินขบวนแทบทุกวันก็อยู่กันได้ และไม่มีใครตาย ทำตรงนี้ให้ได้ และเรียกร้องว่าสิทธิในการอยู่บนถนน เพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญของประชาชนเป็นสิทธิที่ทุกคนทำได้ และไม่ต้องตาย ไม่ต้องขัดแย้ง ไม่ต้องทะเลาะกัน"
สอดคล้องกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ได้ปักหลักชุมนุมเป็นวันแรกบริเวณหน้าองค์การสหประชาชาติ เพื่อเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาเชิงนโยบาย 9 ด้าน โดยมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย
อย่างไรก็ตาม แม้กระแสตอนนี้ยังจุดไม่ติด แต่ผู้มีอำนาจก็อย่าเพิ่งประมาท เพราะหากวันหน้าเกิดเคราะห์กรรมซัดเข้ามา อาทิ ปัญหาเศรฐกิจตกต่ำ พร้อมปัญหาการเมืองรุมเร้า หรือมีเหตุการณ์ที่ฝ่าฝืนความรู้สึกประชาชน ที่ไม่สอดคล้องประชาธิปไตย หรือละเมิดสิทธิของประชาชน
ซึ่งหากรอถึงวันนั้น รัฐบาลอาจตกที่นั่งลำบาก
ดังนั้น ในโอกาสเช่นนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ควรเล่นบทพระเอก อาสาเป็นผู้ริเริ่มแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นที่เกิดปัญหา อาทิ การนับคะแนน ส.ส.บัตรใบเดียว ให้เป็นที่ยอมรับและเข้าใจง่าย, สร้างความชัดเจนกรณียุบพรรคของกรณีไพบูลย์โมเดลทำได้หรือไม่, รวมทั้งลดคุณสมบัติเทพขององค์กรอิสระต่างๆ ลงเพราะปิดกั้นคนให้เข้ามาสมัครจำนวนมาก เป็นต้น
เมื่อทำได้เช่นนี้ จะเป็นการลดกระแสความร้อนแรงเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับลง โดยยอมแก้ไขในส่วนที่มีปัญหาหลังการบังคับใช้มาแล้ว ส่วนประเด็นอื่นๆ ยังพออธิบายได้ว่าเป็นเพียงวาทกรรมทางการเมือง และยังไม่เห็นว่าเกิดปัญหา
เชื่อว่าหากทำได้ตามนี้แล้ว จะเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม และปิดช่องฝ่ายตรงข้ามล้มล้างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และลามมาเล่นงานรัฐบาลต่อได้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |